วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

พุทธศิลป์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
พุทธศิลป์ “ปางลีลา” ที่ปราสาทโต๊ปตะวันตกในเมืองพระนคร  
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19  พุทธศาสนาเถรวาท นิกายอรัญวาสี /อุมทุมพรคีรี/ทิมพลุคละ (Āraṇya-vāsī/Udumbaragiri Dimbulagala) ที่กำลังได้รับความนิยมจากราชสำนักในเกาะลังกา ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในเขตชายฝั่งเบงกอล เรียกว่า นิกายอุทุมพรคีรี ตามแบบลังกา หรือรามัญ/รัมมนะนิกาย มีศูนย์กลางเมืองนครพัน/พะอัน/เมาะตะมะ (Pa-an /Martaban) ได้ส่งต่ออิทธิพลในคติความเชื่อและงานพุทธศิลป์ไปยังกลุ่มรัฐต่าง ๆ ทางตะวันออก ทั้งในเขตล้านนา สุโขทัย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงราชสำนักเมืองพระนคร
.
นิกายอรัญวาสี สายรามัญนิกายที่เมืองพัน อาจเป็นจุดเริ่มต้นของงาน “พุทธศิลป์ปางลีลา” (Walking Buddha) ยกพระหัตถ์ขวาแสดงประทานอภัยเป็นครั้งแรก  ตามความหมายการเดินจงกรมที่ “รัตนจงกรมเจดีย์”ของพระพุทธองค์ในช่วงเสวยวิมุตติสุข การเดินจงกรมเพื่อการฝึกปฏิบัติ/เจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยอนุสติ  และการเดินประทักษิณ (Pradakṣiṇā /Circumambulation) บูชา แบบเดินเวียนขวารอบเจติยะสถาน
.
*** พระพุทธรูปปางลีลา จึงไม่ใช่พุทธศิลป์ที่เริ่มต้นในงานศิลปะแบบสุโขทัย แต่เป็นงานศิลปะของนิกายอรัญวาสีฝ่ายรามัญนิกายจากเมืองพัน ที่ส่งอิทธิพลให้แก่รัฐสุโขทัยและรัฐสุพรรณภูมิในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
.
---------------------
*** ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19  พระเจ้าศรีนทรวรมัน/อินทรวรมันที่ 3” (Srindravarman) พระชามาดา (ลูกเขย) ได้เข้าชิงบัลลังก์จากพระเจ้าชัยวรมันที่ 8  (jayavarman VIII) ราชสำนักใหม่ของเมืองพระนครได้หันไปเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาเถรวาทจากเกาะลังกา (Theravāda) ที่ผ่านมาจากแดนตะวันตก ทั้งนิกายกัมโพชสงฆ์ปักขะ (Kambojsanghapakkha) ตามแบบรัฐละโว้ และนิกายอรัญวาสี/รามัญนิกาย จากรัฐสุพรรณภูมิ
.
*** พุทธศิลป์ปางลีลาแบบพระบาทเดินเฉียงข้าง เวียนขวา พระหัตถ์ขวาแสดงประทานอภัย พบเป็นภาพสลักบนผนังประตูหลอกซุ้มประตูฝั่งทิศเหนือ ปราสาทบริวารหลังทิศเหนือของ“ปราสาทโต๊ปตะวันตก” (Western Prasat Tob/Top Temple /Monument 486) ในคติการเดินประทักษิณาวัตรเช่นเดียวกับที่พบจากสุโขทัยและสุพรรณภูมิครับ
.
ปราสาทโต๊ปตะวันตก  เป็นปราสาทหลังเดี่ยวแบบปราสาทยกฐานสูงในคติฮินดูไศวะนิกาย สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ได้ไปรื้อถอนทับหลังจากปราสาทอิฐในยุคศิลปะบันทายสรีช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 มาใช้งานใหม่  แต่การก่อสร้างคงไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาได้ถูกเสริมฐานและก่อปราสาทบริวารขนาบข้าง จนกลายเป็นปราสาทสามหลังในสมัยพระเจ้าศรีนทรวรมัน หรือในสมัยของพระโอรส “พระเจ้าศรีนทรชัยวรมัน (Srindrajayavarman) มีการแปลงปราสาทด้วยการปัก “หลักนิมิต/ใบสีมาคู่” (Sīmā – Double-slab marker stones- Stone boundary markers) ตามคติ “สีมันตริก” ของฝ่ายรามัญนิกาย/สุพรรณภูมิ  ให้กลายมาเป็นวัดและเจติยะสถานในคติเถรวาท มีการแกะสลักหน้าบันปราสาทบริวาร รูปพระพุทธเจ้าปางมารวิชัยใต้ต้นโพธิ์ภายในกรอบรวยนาคสามเหลี่ยม รวมทั้งภาพสลักพระพุทธรูปปางลีลาเวียนซ้ายและพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยนุ่งห่มจีวรแบบเถรวาทบนผนังประตูหลอกภายในซุ้มประตู
.
*** ถึงแม้ว่าจะมีการอธิบายจากเอกสารของฝ่ายกัมพูชาว่า ปราสาทบริวารทั้งสองหลังของปราสาทโต๊ปตะวันตก ถูกสร้างขึ้นในยุคนักองค์จันหรือพญาจันทราชา กษัตริย์พระองค์สำคัญในยุคเมืองละแวก ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ก็ตาม แต่จากหลักฐานของลวดลายการสลักที่ยังคงรักษาโครงร่างหน้าบันแบบมีปลายกรอบเป็นนาค 5 เศียร ตามขนบแบบแผนปราสาทหินยุคก่อนหน้า มีรายละเอียดของลวดลายและรูปสลักพระพุทธเจ้าปางมารวิชัยใต้ต้นโพธิ์ตามแบบพุทธศิลป์ของปราสาทพระป่าลิไลย ที่สร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19  ทั้งในยุคของนักองค์จันก็มิได้มีความนิยมในการสร้างวัด ในสถาปัตยกรรมปราสาทหินตามแบบยุคเมืองพระนคร อีกทั้งในยุคนักองค์จันก็ไม่พบความนิยมพุทธศิลป์ปางลีลาในการบูรณะปราสาทนครวัดและวัดในเมืองพระนครแต่อย่างใดครับ 
.
พุทธศิลป์ของพระยืนและปางลีลาในซุ้มประตูหลอกของปราสาทโต๊ปตะวันตก แตกต่างไปจากพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปในยุคนักองค์จัน แต่มีรูปศิลปะที่สอดรับกับคติปางลีลาและศิลปะของพระเกตุมาลาเปลวเพลิงแบบลังกา ที่ปรากฏในงานศิลปะสุโขทัยและสุพรรณภูมิ ทั้งยังมีพระพักตร์ตามแบบศิลปะบายนเดิมในยุคก่อนหน้า
.
*** พุทธศิลป์พระพุทธรูปเดินลีลาอ่อนช้อยที่พบจากปราสาทโต๊ปตะวันตกในเมืองพระนคร จึงควรถูกสลักขึ้นจากในคติฝ่ายเถรวาทรามัญนิกาย/อรัญวาสี ที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐสุพรรณภูมิไปในช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
*** ขอบคุณภาพ จาก 
Ea TaingKea 
Kimhong 
Srisovannkubera Khmer

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น