วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ปรางค์ฤๅษี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ปรางค์ฤๅษี” ปราสาทวิมานที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองโบราณศรีเทพ  

“ปรางค์ฤๅษี /ปรางค์นอก/ปรางค์หลวงพ่อฉาว” ล้วนเป็นชื่อนามที่ตั้งขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน ไม่ปรากฏชื่อนามในจารึก ร่วมสมัยใด ๆ  โดยครั้งหลังในปี พ.ศ. 2531 ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ปรางค์ฤๅษี”  (Prang Ruesi) โดยมีเหตุผลที่มาของชื่อนามว่า เป็นเทวาลัยที่ตั้งอยู่ในเขตป่ารกชัฏนอกเมือง เหมาะสมกับการบำเพ็ญตบะของพวกดาบสฤๅษี ประกอบกับนิทานพื้นบ้านเมืองศรีเทพเรื่อง “ฤๅษีตาวัว-ฤๅษีตา กับบ่อน้ำเป็น/บ่อน้ำตาย”.
.
ปราสาทปรางค์ฤๅษี ตั้งอยู่บ้านนาน้ำโครม ตําบลนาสนุ่น อําเภอศรีเทพ ทางทิศเหนือ ระยะห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตรจากคูน้ำคันดินกำแพงเมืองโบราณศรีเทพและทางตะวันออกของเขาคลังนอก มีปราสาททรงวิมาน 2 หลัง โดยปรางค์ฤๅษีอยู่ทางทิศเหนือยังคงสภาพชั้นวิมานอยู่ เป็นปราสาทก่ออิฐบนฐานเขียงศิลาแลงแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวประมาณ 7.50 เมตร ตัวเรือนธาตุปราสาทผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4.6*4.6 เมตร ยกมุขซุ้มประตูซ้อน 2 ระดับ หน้าบันเจาะช่องเป็นซุ้มโค้งติดผนัง  บัวเชิงเรือนธาตุเป็นชุดบัวปัทม์ 3 ชั้น ในระดับเดียวกัน บัวหัวเสาต่อเนื่องทั้งซุ้มประตูและชั้นซ้อน เหนือลวดบัวรัดเกล้า ซ้อนเรือนวิมานเรือนลดหลั่นขนาดขึ้นไป อีก 4 ชั้น (คงเหลือเพียง 1 ชั้นในปัจจุบัน) ยอดปราสาทเป็นหม้อน้ำอมลกะ (Āmālaka) ทรงครึ่งวงกลม (ขุดค้นได้ตรงบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของตัวปราสาท)  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงศิลาแลง ขนาด 33 * 24 เมตรล้อมรอบ ด้านหน้าคงเหลือฐานเขียงศิลาแลงของโคปุระ อาคารบรรณาลัย/พลับพลาพิธีกรรม ชาลาทางเดินยาวชั้นนอกไปยังสระน้ำด้านหน้า  และชาลาทางเดินด้านในปูพื้นด้วยอิฐมาสุดที่ฐานของพลับพลาเครื่องไม้ด้านหน้าปราสาท ติดกับฐานปราสาททางทิศเหนือ ยังมีฐานศิลาแลงเตี้ย ๆ ขนาดเล็ก ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับการประกอบยัญกรรมบูชาไฟ “โหมกูณฑ์-โหมกุณฑ์” ครับ
.
โบราณวัตถุที่พบจากการขุดแต่งบูรณะในปี พ.ศ. 2551  พบฐานโยนีสนะบริเวณด้านข้างองค์ปรางค์ประธานทางทิศเหนือ ศิวลึงค์และชิ้นส่วนรูปโคนนทิบริเวณฐานอาคารโคปุระด้านหน้า เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ปราสาทปรางค์ฤๅษีเกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อในลัทธิฮินดู โดยเฉพาะไศวะนิกายอย่างชัดเจน
.
*** ถึงแม้ว่า จะมาการค้นพบจารึกบนแผ่นทับหลังจากปราสาทอิฐ (ที่พังทลายหมดแล้ว/ก่อจำลองขึ้นไปใหม่) ทางทิศใต้ของปราสาทปรางค์ฤๅษี จารด้วยอักษรเขมรโบราณ ภาษาเขมรและสันสกฤต  มีข้อความที่ค่อนข้างลบเลือน 19 บรรทัด คงแปลได้เพียงตำแหน่งและชื่อนาม “...เสตงอัญศรี วรปติ...”และ “กมรเตง” โดยกำหนดอายุอยู่ที่กลางพุทธศตวรรษที่ 16 แต่กระนั้น การจารอักษรบนแผ่นทับหลังฝั่งด้านในห้องครรภคฤหะ  เป็นการจารลงบนทับหลังที่ยังมิได้มีการแกะสลักลวดลายใด ๆ ไม่ได้จารบนหินที่ตั้งใจทำเป็นแผ่นจารึกหรือจารข้อความบนกรอบประตูตามขนบแบบแผนนิยม แสดงว่า ปราสาทหลังทางทิศใต้เป็นปราสาทที่ถูกสร้างทิ้งค้างคาไว้มาจากยุคก่อนหน้า แล้วจึงค่อยมาจารข้อความขึ้นในภายหลังเท่านั้น มิได้อยู่ร่วมสมัยกันกับการก่อสร้างตัวปราสาทแต่อย่างใดครับ
.
อีกทั้งหลักฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวปราสาทปรางค์ฤๅษี ทั้งหน้ากระดานล่างที่ยังไม่ยื่นล้ำออกมาจากชุดลวดบัวเชิงมากนัก ชุดบัวเชิงแบบพันธะเวที/ อธิษฺฐานะซ้อน 3 ชั้น ซุ้มหน้าบันแบบเจาะช่องเว้าโค้งเหนือประตูผนังบนไว้สลักรวยนาค ยังไม่นิยมเครื่องปักประดับมุมวิมาน ซึ่งทั้งหมดยังเป็นสถาปัตยกรรมนิยมของปราสาทวิมานแบบก่ออิฐในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15  อย่างที่พบจากปรางค์แขก ปราสาทตำหนักไทร/ทามจาน ปราสาทโดนตวล ปราสาทกระวาน ปราสาทพระนาคบวช ฯ ประกอบกับร่องรอยโบราณวัตถุอย่างทับหลัง ที่มีการสลักโกลนในแบบศิลปะ “แปรรูป” (Pre Rup Style) ที่พบจากเมืองศรีเทพ (จัดแสดงที่ศูนย์ ฯ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ) ล้วนแต่แสดงให้เห็นว่า ปราสาทปรางค์ฤๅษีควรจะถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน (Rājendravarman)  ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีหลักฐานการขยายอิทธิพลของอาณาจักรกัมพุชะเทศะขึ้นมาทางเหนืออย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก 
.
*** ปราสาทปรางค์ฤๅษีจึงเป็นร่องรอยหลักฐานการเข้ามามีอิทธิพลของอาณาจักรกัมพุชะเทศะในช่วงแรกที่เมืองโบราณศรีเทพ ต่อเนื่องกับยุคสมัยรัฐศรีจานาศะ (Śrī Cānāśa /Chanasa) ที่กำลังถูกลดบทบาทจนหายไปครับ   
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น