วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระเจ้าสายน้ำผึ้ง🐝

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
#ประวัติพระเจ้าสายน้ำผึ้งกษัตริย์กรุงอโยธยา 📌
#โศกนาฏกรรมของพระนางสร้อยดอกหมาก 📌
#ที่มาของชื่อวัดพนัญเชิง 📌

...ณ วัดพนัญเชิง จ.อยุธยา 😊😊😊

เรื่องราวระหว่าง #พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กับ #พระนางสร้อยดอกหมาก มีบันทึกไว้ในพงศาวดาร นักประวัติศาสตร์ค้นพบว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" เป็นกษัตริย์ที่ครอง "กรุงอโยธยา" มาก่อน "พระเจ้าอู่ทอง" ปฐมกษัตริย์แห่ง "กรุงศรีอยุธยา" 

พระนามของ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ปรากฏอยู่ในรายพระนามกษัตริย์แห่ง "กรุงอโยธยา" ซึ่งเป็นเมืองที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกของ "กรุงสุโขทัย" และปรากฏชื่อเป็นเมืองแฝดคู่กับ "กรุงละโว้" 

ในพงศาวดารฉบับ "คำให้การของขุนหลวงหาวัด" ได้ระบุรายพระนามกษัตริย์แห่ง "กรุงอโยธยา" ว่ามี 19 พระองค์ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" เป็นลำดับที่ 12 นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ยังพบว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายของ "กรุงอโยธยา" ก็คือ "พระเจ้าอู่ทอง" ซึ่งทรงย้ายราชธานีข้ามฟากแม่น้ำมาสร้าง "กรุงศรีอยุธยา"

นักประวัติศาสตร์พบว่า "คติในการสร้างวัด" ของ "กรุงอโยธยา" นิยมหันหน้าลงแม่น้ำ ส่วนในสมัย "กรุงศรีอยุธยา" นิยมหันหน้าไปทิศตะวันออก 

>>> วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สร้างมาตั้งแต่สมัย "กรุงอโยธยา" อย่างเช่น วัดมเหยงค์ / วัดกุฎีดาว / วัดใหญ่ชัยมงคล / และพนัญเชิง ต่างหันหน้าลงแม่น้ำทั้งนั้น 📌

นักประวัติศาสตร์ยังพบอีกว่า "กษัตริย์ของกรุงอโยธยาเปลี่ยนราชวงศ์กันบ่อย" เพราะมีความเชื่อในเรื่อง "กฎแห่งกรร" คือ ผู้ที่เป็นกษัตริย์จะต้องเป็นผู้สะสมบุญบารมีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน จึงไม่ถือการสืบราชบัลลังก์ทางสันตติวงศ์ อย่างเช่นการได้ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" มาเป็นกษัตริย์ 

พงศาวดารเหนือกล่าวว่า.....

"...ครั้นสิ้นกษัตริย์ หามีผู้ใดจะบำรุงพระพุทธศาสนาและอาณาประชาราษฎร์ไม่ พราหมณ์ปุโรหิตคิดกันว่าจะเสี่ยงเรือสุพรรณหงส์เอกไชยกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไป

ครั้นไปถึงตำบลหนึ่ง... พบเด็กเลี้ยงโคอยู่ 47 คน มีเด็กคนหนึ่งขึ้นนั่งบนจอมปลวกเพื่อว่าราชการ แล้วสั่งลงโทษคนที่เล่นเป็นข้าราชการ โดยให้เพชฌฆาตแสดงท่าประหารตามคำสั่งด้วยไม้ขี้ตอก ปรากฏว่าหัวก็ขาดจริง !!

เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตที่ออกมาเสี่ยงหาคนไปเป็นกษัตริย์ ผ่านมาถึงตรงนั้นพอดี อีกทั้งเรือสุพรรณหงส์เอกไชยก็หยุดดื้อๆ

เมื่อเห็นว่าเด็กเลี้ยงโคหัวขาดไปด้วยไม้ขี้ตอกอย่างอัศจรรย์ ตามคำประกาศิตของหัวโจกที่นั่งว่าราชการอยู่บนจอมปลวก จึงคิดว่าใช่แน่ ต่างเป่าแตรสังข์ แตรงอน แตรฝรั่งขึ้นพร้อมกัน แล้วรับเอาหัวโจกเด็กเลี้ยงโคผู้นั้นไปครองราชย์สมบัติ..."

>>> ทรงมีพระนามว่า "เจ้าดวงกฤษณราช" ส่วนพระนามว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" พงศาวดารเหนือเล่าไว้เมื่อตอนที่กำลังจะเสด็จไป "เมืองจีน" 📌

ความว่า... จุลศักราช 395 ปีมะเมีย "เจ้าดวงกฤษณราช" ยกพยุหไปทางชลมารคพร้อมด้วยเสนาบดี เสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลอง พอน้ำขึ้นจึงประทับเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด ทอดพระเนตรเห็น "ฝูงผึ้ง" อยู่ที่ใต้ช่อฟ้าหน้าบัน 

จึงทรงพระดำริว่าจะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร ถ้าเดชะบุญญาภิสังขารของเรา จะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์อย่างร่มเย็นแล้วไซร้ ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมา เมื่อจบคำอธิษฐาน "น้ำผึ้ง" ก็หยดลงมาจริงๆ

"เจ้าดวงกฤษณราช" ทรงเปลื้องเอาพระภูษาทรง สักการะบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้น คณะสงฆ์ได้ถวายพรชัยมงคลว่า "มหาบพิตรพระราชสมภารจะสำเร็จความปรารถนา จะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทุกทิศ" แล้วจึงถวายนามว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง"

ส่วนเรื่องของ "พระนางสร้อยดอกหมาก" ในพงศาวดารเหนือเล่าว่า.....

"...ขณะนั้น "พระเจ้ากรุงจีน" ได้บุตรบุญธรรมที่นำมาเลี้ยงไว้ มีชื่อว่า "นางสร้อยดอกหมาก" ครั้นวัยเจริญขึ้น จึงให้โหรมาทำนายว่า "ลูกกูคนนี้ จะควรคู่ด้วยกษัตริย์เมืองใด" 

โหรพิเคราะห์ดูก็เห็นว่าจะอยู่แห่งใดไม่ เห็นอยู่แต่ทิศตะวันตกกรุงไทย มีบุญญาภิสังขารมากนัก เห็นจะควรกับพระราชธิดา จึงกราบทูลว่า "จะได้กับพระเจ้ากรุงไทยเป็นแน่"

เมื่อโหรชี้ตัวเนื้อคู่ของพระราชธิดามาเช่นนี้ "พระเจ้ากรุงจีน" จึงให้ "ขุนแก้วการเวท" ถือพระราชสาส์นมาถึง "พระเจ้ากรุงไทย" ข้อความในพระราชสาส์นก็แจ้งพระราชประสงค์ไม่อ้อมค้อมว่า

"...ด้วยเราจะยกพระราชธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี ให้เสด็จออกมารับโดยเร็ว..."

ตอนนั้น "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ได้ลูกสาวมอญขายผ้ามาเป็นเอกอัครมเหสีอยู่แล้ว แต่เมื่อ "พระเจ้ากรุงจีน" จะพระราชทานลาภลอยมาเช่นนี้ จะปฏิเสธไปก็ใช่ที่ จึงทรงยกพยุหไปทางชลมารค แล้วแวะอธิษฐานที่หน้าวัด จนได้พระนามว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง"

ด้วยอำนาจพระราชกุศลที่ได้สร้างมาแต่หนหลัง "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" เสด็จไปโดยสะดวกจนถึงเมืองจีน พวกคนจีนเห็นดังนั้นก็แปลกใจ เพราะทรงเสด็จข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยเรือลำเล็ก ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ตามแม่น้ำลำคลองเท่านั้น 

จึงได้นำความขึ้นกราบทูล "พระเจ้ากรุงจีน" เมื่อพระองค์ได้ทราบอิทธิฤทธิ์ของว่าที่พระราชบุตรเขยแล้ว ทรงแปลกพระทัยเช่นกัน จึงส่งเสนาบดีให้ไปจัดที่พักแรมไว้ที่อ่าวนาค 1 คืน อ่าวเสืออีก 1 คืน แล้วให้แอบดูว่ามีบุญญาธิการจริงหรือไม่ประการใด

ทั้ง 2 คืนที่ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ประทับแรมอยู่ในเมืองจีนก่อนจะเข้าเฝ้านั้น เสนาบดีผู้ใหญ่ของจีนที่มาแอบดูก็ได้ยินเสียงดนตรีครึกครื้น ด้วยเทพยดาบันดาลขึ้น จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล 

"พระเจ้ากรุงจีน" จึงทรงทราบว่า "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" มีบุญญาธิการแน่ตามที่โหรทำนายไว้ จึงแต่งขบวนมารับเสด็จเข้าวัง และเมื่อจัดการอภิเษก "พระนางสร้อยดอกหมาก" กับ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" เรียบร้อยแล้ว จึงได้สั่งให้แต่งสำเภา 5 ลำ พร้อมกับบรรทุกเครื่องอุปโภคบริโภค ให้คน 500 คนมาส่งพระราชธิดาถึง "กรุงอโยธยา"

เมื่อกลับมาถึง "กรุงอโยธยา" พระราชาคณะ 150 รูปจึงไปรับเสด็จที่เกาะ ภายหลังจึงเรียกเกาะนั้นว่า "เกาะพระ" แล้วเชิญเสด็จมาจอดเรือที่ท้ายเมืองปากแม่น้ำเบี้ย เหล่าเสนาบดีและพระราชาคณะจึงเชิญเสด็จเข้าวัง

แต่เป็นเพราะว่าทิ้งอัครมเหสีไปเมืองจีนเสียหลายวัน "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" จึงให้ "พระนางสร้อยดอกหมาก" คอยอยู่ในสำเภาก่อน แล้วเสด็จเข้าวังไปเพียงพระองค์เดียว 

เมื่อทรงจัดการธุระต่างๆเรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้นจึงส่งเถ้าแก่นำเรือพระที่นั่งมารับ "พระนางสร้อยดอกหมาก" แต่เมื่อไม่เห็นพระสวามีออกมารับด้วยพระองค์เอง จึงเกิดอาการงอน

พระนางรับสั่งกับเถ้าแก่ไปว่าข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยกันอย่างลำบาก เมื่อถึงบ้านถึงเมืองแล้ว ไม่มารับด้วยพระองค์เอง นางก็จะไม่เข้าไป "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" จึงแต่งขบวนไปรับด้วยพระองค์เอง แต่นางก็ยังทูลว่า "ไม่ไป"

>>> "ไม่ไปก็อยู่ที่นี่แหละ" เมื่อ "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง" ตกพระโอษฐ์เช่นนั้น "พระนางสร้อยดอกหมาก" จึงกลั้นใจตายทันที ท่ามกลางความตกตะลึงของพสกนิกร 📌

พงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า.....

"...จุลศักราช 406 ปีมะโรงศก จึงเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามชื่อ "วัดพระเจ้าพระนางเชิง" ตั้งแต่นั้นมา..."

"หลวงประเสริฐอักษรนิติ" บันทึกไว้ว่า.....

"...จุลศักราช 696 แรกสถาปนา "พระพุทธเจ้าพแนงเชิง" หมายความว่า "หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง" สร้างหลังจากที่สร้างวัดแล้วถึง 290 ปี..."

เกี่ยวกับ "ชื่อวัด" มีการเรียกเพี้ยนไปต่างๆนานา สมัย "กรุงศรีอยุธยา" เรียกว่า "วัดพระพแนงเชิง" บ้าง "วัดพระเจ้าพแนงเชิง" บ้าง "วัดพระนางเชิง" บ้าง โดยมากเรียกกันสั้นๆว่า "วัดพแนงเชิง"

คำว่า "พแนงเชิง" เป็นคำไทยโบราณ มีความหมายว่า "นั่งขัดสมาธิ" ปัจจุบันมีชาวภาคใต้ยังใช้อยู่บ้าง แต่ก็เพี้ยนไปเป็น "แพงเชิง" ซึ่งหมายถึง "ขัดสมาธิ" เช่นกัน 

>>> "วัดพแนงเชิง" หรือ "วัดพระเจ้าพแนงเชิง" จึงหมายถึง "วัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ" คือ "หลวงพ่อโต" หรือ "พระพุทธไตรรัตนนายก" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ 📌

แต่ก็ยังมีผู้สันนิษฐานอีกว่า "ชื่อวัด" อาจจะมาจากที่ "พระนางสร้อยดอกหมาก" ได้ "นั่งขัดสมาธิกลั้นใจตาย" เพราะผู้หญิงจีนคงไม่นั่งพับเพียบแบบไทย เมื่อเห็นเป็นเรื่องแปลกจึงอาจนำมาเรียกเป็นชื่อวัดก็ได้

>>> ในปี พ.ศ.2417 "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" (รัชกาลที่ 5) ทรงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เรียกเป็น "วัดพนัญเชิง" ชื่อของวัดเลยยุติลงที่ชื่อนี้ 📌

เมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับบันทึกไว้ตรงกันว่า "ด้วยอายุแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยาถึงกาลขาด จึงอาเพศให้เห็นประหลาดเป็นนิมิต พระประธานในวัดพระนางเชิง น้ำพระเนตรไหลลงมาจนถึงพระนาภี..."

ที่มา : โรม บุญนาค

#แก้วเสียงธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น