วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

เมืองศรีเทพ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ทับหลังปราสาท เมืองโบราณศรีเทพ”...ควรได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น

กลุ่มปราสาทก่ออิฐ/หินขนาดใหญ่ของเมืองโบราณศรีเทพ ประกอบด้วยปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง  ตั้งอยู่ภายในเมืองในฝั่งทางตะวันตก หันหน้าไปทางตะวันตก อาจเกี่ยวเนื่องกับ “คติชีวิตหลังความตาย” เทวาลัยพระเมรุมาศเพื่อการเดินทางไปสู่ปรมาตมัน ตามแบบปราสาทนครวัด ตั้งบนฐานบัวลูกฟักก่อด้วยศิลาแลงสูงผังจัตุรมุขสองชั้น  ตัวเรือนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จประธานออกมาแคบ ๆ ชิดกับผนังเพียงชั้นเดียว แล้วยกมุขซุ้มประตู ซ้อน มีหน้าบันแบบใบหอกซ้อนสูงทิ้งห่างกัน 2 ชั้น ด้านหน้ายกมุขซุ้มประตูยาวกว่าด้านอื่น เป็นประตูเข้าทางเดียวแต่มีคูหาคั่นระหว่างกรอบประตู 2 ชั้น อีกสามด้านเป็นประตูหลอกประดับผนัง มีหน้าบันสองชั้นติดแนบไปกับผนังเรือนธาตุ เส้นลวดบัวเชิงผนังเรือนธาตุกับซุ้มประตูมีระดับแนวระนาบใกล้เคียงกัน ลวดบัวเชิงเสาตรงซุ้มประตูต่ำกว่าเล็กน้อย  
.
เหนือชั้นเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชั้นหลังคาทรงวิมานจำลองซ้อน ที่มีผนังสูงลดหลั่นขึ้นไป 5 ชั้น เหนือหน้ากระดานลวดบัวเชิงบาตรแต่ละชั้นทำคล้ายกับหลังคาลาดของวิมาน ตรงกลางเรือนวิมานจำลองแต่ละด้านทำเป็นซุ้มบัญชรกว้างใหญ่ มีเครื่องปักประดับมุมหลักแบบกลีบขนุน/บัวกาบขนุนทรงชะลูดสูง เหนือมุมของวิมานแต่ละชั้นครับ
.
*** ทับหลังขนาดใหญ่สองแผ่นที่พบจากปรางค์ศรีเทพ รวมถึงเสากรอบประตูและเสารองรับทับหลัง (ที่มีรูปฤๅษีสวดบริกรรมพระเวทในท่าโยคาสนะในซุถ้มที่ฐานล่าง) มีร่องรอยถูกทุบทำลายอย่างยับเยิน ถึงลวดลายของทับหลังจะถูกกะเทาะจนเสียหาย แต่โครงร่างที่เหลือก็แสดงให้เห็นรูปประธานในซุ้มบัญชรตรงกลางคือรูป “พระวรุณทรงหงส์” (Varuṇa/Haṃsa) อันเป็นเทพเจ้าในกลุ่มทิศปาลกะ (Dikpālakas) ผู้รักษาทิศตะวันตกอย่างชัดเจน ประกอบกับขนาดของกรอบประตูปราสาท ทับหลังพระวรุณจึงควรเป็นทับหลังของมุขด้านหน้าสุดของตัวปราสาท  โดยมีทับหลังสลักหินทรายที่แตกหักชำรุดเป็น 2 ชิ้นส่วนอีกแผ่นหนึ่ง ที่ควรเป็นทับหลังของกรอบประตูด้านใน ยังคงเหลือลวดลายท่อนมาลัยและใบไม้ขดม้วน 
.
*** ทับหลังทั้งสองชิ้นนี้ควรมีอายุในช่วงศิลปะนิยมแบบพิมาย ประมาณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ครับ  
.
คงด้วยเพราะในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2527 ยังไม่มีการจัดการพื้นที่ การขุดค้นและจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ทับหลังของปราสาททั้งสองหลังและเสารองทับหลัง/ประดับกรอบประตูบางส่วนที่ถูกพบบนผิวดิน จึงได้ถูกเคลื่อนย้ายนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงกลางแจ้งที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย มาจนถึงในปัจจุบันครับ  
.
ต่อมาเมื่อมีการขุดแต่ง ในช่วงปี พ.ศ. 2527 - 2529 จึงได้พบชิ้นส่วนของทับหลังพระวรุณทรงหงส์ที่เดิมมี 2 ชิ้น เพิ่มอีกชิ้นหนึ่งจนครบสมบูรณ์ โดยชิ้นส่วนที่พบได้ถูกนำมาจัดแสดงภายในอาคารสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมาจนถึงปัจจุบัน มิได้ถูกนำไปรวมกับ 2 ชิ้นที่พบก่อนหน้า ซึ่งต่อมาได้มีการจำลองทับหลังทั้งสองแผ่นด้วยปูนซีเมนต์มาตั้งแสดง รวมกับชิ้นส่วนหินทรายประกอบ/ประดับปราสาทอื่น ๆ ทางทิศใต้ของปรางค์ศรีเทพ
------------------------------
***  ถึงเวลานี้ ทับหลังที่เป็นหินทรายแกะสลักของจริงจากปราสาทเมืองโบราณศรีเทพทั้งสองแผ่นและเสาประดับกรอบประตูที่ถูกเคลื่อนย้ายออกไปเมื่อนานมาแล้ว ควรได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น มาตั้งจัดแสดงที่หน้าตัวปราสาทให้เห็นถึงความงดงามอย่างสมบูรณ์ในอดีตเมื่อได้มาท่องเที่ยวเรียนรู้ โดยสลับของจำลองที่มีอยู่แล้ว กลับไปจัดแสดงแทนในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งที่พระนครศรีอยุธยาและสุโขทัย ....ดีกว่าไหมครับ ? 
เครดิต :FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น