วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พระกาฬ ลพบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระกาฬ” พระนารายณ์แห่งเมืองลพบุรี
ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22  มีการรื้อหินทรายและหินศิลาแลงกองทับถมกันจากการพังทลายที่กระจายตัวอยู่โดยรอบศาลสูง/ศาลพระกาฬ มาจัดเรียงเป็นฐานของวิหารด้านตะวันตก ทั้งยังมีการสร้างพระเจดีย์ย่อมุมขึ้นติดมุขด้านทิศใต้ และอาคารวิหารก่ออิฐทางด้านหน้ามุขทิศเหนือ รวมทั้งยังมีการสร้างอาคารวิหารขึ้นบนยอดของฐานศิลาแลงสูงใหญ่ 
.
วิหารบนยอดฐานศิลาแลงของศาลสูง อาจเคยเป็นที่ประดิษฐานรูปประติมากรรมพระนารายณ์ 4 กร เป็นประธานตามคติแบบพราหมณ์ฮินดูที่กำลังเป็นที่นิยมในราชสำนักยุคนั้น สอดรับกับพระนามของสมเด็จพระนารายณ์ ที่กลับเข้ามารื้อฟื้นนครลพบุรีขึ้นใหม่ครับ  

ราวสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ-พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้มีการสร้างวิหารแบบ “ตกท้องสำเภา” ขึ้นแทนอาคารหลังเดิมทางตะวันตก โดยก่อเป็นฐานยกสูง ทำบันไดขึ้นด้านหน้า อาจมีหน้าต่างและประตูมีกรอบซุ้มทรงปราสาทยอดแหลม 
.
*** จนในปี พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเล่าถึงการเสด็จประพาสถึงสภาพของศาลพระกาฬ ในพระราชนิพนธ์ ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา ไว้ว่า
.
“...ออกจากพระปรางค์สามยอดเดินไปสักสองสามเส้น ถึงศาลพระกาล ที่ศาลนั้นมีต้นไทรย้อย รากจดถึงดิน เป็นหลายราก ร่มชิดดี เขาทำแคร่ไว้สำหรับนั่งพัก ที่ศาลพระกาลนั้นเป็นเนินสูงขึ้นไปมาก มีบันใดหลายสิบขั้น ข้างบนเป็นศาลหรือจะว่าวิหารสามห้อง เห็นจะเป็นช่อฟ้า ใบระกา แต่บัดนี้เหลืออยู่เพียงแต่ผนัง ที่แท่นมีรูปพระนารายณ์สูงประมาณ 4 ศอก เป็นเทวรูปโบราณทำด้วยศิลา มีเทวรูปเล็ก ๆ เป็นพระอิศวรกับพระอุมาอีก 2 รูป ...ออกทางหลังศาลมีบันใดขึ้นไปบนเนินสูงอีกชั้นหนึ่ง มีหอเล็กอีกหอหนึ่ง มีแผ่นศิลาเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีรูปนารายณ์ประทมสินธุ์แผ่นหนึ่งวางเปะปะ ไม่ได้ตั้งเป็นที่...”
.
*** จากความในพระราชนิพนธ์ระยะประพาสมณฑลอยุธยา เป็นหลักฐานที่แสดงว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น รูปประติมากรรมพระนารายณ์ยังคงประดิษฐานอยู่ในวิหารสมัยอยุธยาบนยอดศาลสูง ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “พระกาฬ” ครับ   

ประมาณปี พ.ศ. 2465 ได้มีการย้ายรูปพระนารายณ์และรูปประติมากรรมอื่น ๆ บนยอดศาลสูง มารวมไว้ในอาคารทางตะวันตก/ศาลพระกาฬในปัจจุบัน ในความหมายของศาลเทพารักษ์
.
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2485 – 2487 รูปประติมากรรมพระนารายณ์บนวิหารศาลสูงคงได้รับผลกระทบจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ด้วยเพราะตั้งอยู่ใกล้กับทางรถไฟอันเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญ มีเรื่องเล่ากันว่า 
.
“...ในคืนหนึ่งเป็นคืนที่ฝนตกหนัก พลันก็มีเสียงสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้น ชาวบ้านรีบดับไฟตะเกียงกัน เพื่อไม่ให้นักบินมองลงมาเห็น ชาวบ้านหลายคนวิ่งมาหลบกันที่หลุมหลบภัย/สถานีรถไฟลพบุรีในปัจจุบัน ในคืนนั้นเครื่องบินได้ทิ้งระเบิดลงมาตามทางรถไฟ มีแสงสว่างวาบและเสียงดังสนั่นเป็นที่น่าหวาดกลัว มีชาวบ้านหลายคนเห็นเงาทะมึนรูปร่างสูงใหญ่ยืนอยู่กลางสายฝน ใกล้ ๆ กับอาคารโรงเก็บฟืนของสถานีรถไฟ ซึ่งได้มีระเบิดลูกหนึ่งตกลงมามาบริเวณนั้นพอดี แต่ระเบิดด้าน ไม่ระเบิด พอตอนเช้าชาวบ้านต่างมามุงดูลูกระเบิดที่ด้าน จังหวะเดียวกันได้มีคนขึ้นบนศาลสูง เห็นรูปพระนารายณ์พระกรหักหายไป จึงเล่าลือกันว่า ท่านได้เอามือมาปัดลูกระเบิด ป้องกันคุ้มครองชาวบ้าน...” 
.
รูปประติมากรรมพระนารายณ์คงถูกแรงระเบิด จนพระกรซ้ายแตกหักเสียหาย ส่วนพระเศียรหลุดออกจากพรวรกายแต่ได้รับการบูรณะมาต่อพระศอเข้าใหม่ในช่วงระหว่างสงครามครับ 
.
*** คงด้วยเพราะรูปพระนารายณ์มีสีดำเพราะคราบราดำความชื้นและขาดการดูแลรักษา ประกอบกับเป็นช่วงเวลาวิกฤตของสงคราม จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของคติความเชื่อเรื่อง “พระกาฬ” ที่คนโบราณมีความกลัวและหวาดหวั่นต่อความตาย (จากสงคราม) จึงพากันมากราบไหว้รูปเคารพสีดำเรียกว่าพระกาฬ (พระกาล/พระกาฬไชยศรี) เพื่อขอให้ปกป้องคุ้มครอง มิให้มาเอาชีวิตของตนไปก่อนเวลาอันควร     
.
ประมาณปี พ.ศ. 2495 จึงได้มีการสร้างศาลพระกาฬ/วิหารฝั่งตะวันตก ขึ้นใหม่แบบในปัจจุบันครับ
.
------------------------
*** เมื่อพิจารณารูปประติมากรรมพระกาฬ/พระนารายณ์ น่าจะเป็นงานศิลปะอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีความนิยมในงานศิลปะแบบฮินดู ส่วนพระเศียรขนาดและรูปศิลปะรับกับส่วนพระวรกาย สวมอุณหิส-ศิราภรณ์ เป็นเทริดมงกุฎ ตาบข้าวหลามตัดประดับที่หน้ากระบังสูง ยอดมวยผมที่หายไปอาจเป็นรัดเกล้าทรงกรวยใหญ่เป็นชั้น ๆ แบบกรัณฑมงกุฎ สวมกรอศอ พาหุรัดและกำไลข้อพระกร ต้นพระกรสลักแยกเป็นคู่ไม่ซ้อนกันทำให้พระพาหาดูกว้าง มีสายธุรำ/ยัชโญปวีท (Yajñopavīta) จากพระพาหาซ้ายย้อยลงมาถึงพระอุทร  
.
ส่วนพระวรกายใต้พระอุทรลงมา เมื่อพิจารณาจากภาพเก่าของ EFEO ดูเหมือนจะเป็นชิ้นส่วนเทวรูปอีกองค์หนึ่งที่ถูกนำมาต่อเข้ากันแล้วปั้นปูนแต่ง (ในช่วงสงครามโลก) ด้วยเพราะมีขนาดเล็กกว่าและไม่ปรากฏร่องรอยของสายธุรำต่อโค้งลงมา และจากภาพเก่าอีกภาพหนึ่งยังได้แสดงว่า พระหัตถ์ซ้ายบนที่ถือก้านยาวของปลายหอยสังข์ที่เห็นในปัจจุบัน ถูกสับเปลี่ยนมาจากพระหัตถ์ซ้ายบน ภายหลังรูปประติมากรรมได้รับความเสียหายจากแรงระเบิด จึงย้ายมาต่อไว้ที่ด้านขวา ส่วนพระกรซ้ายนั้นถูกปั้นขึ้นใหม่ทั้งหมดครับ
เครดิต : FB
วรณัย  พงศาชลากร 
EJeab  Academy
*** ขอขอบพระคุณเรื่องเล่าลพบุรีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  พี่ปภาณ วงศ์รัตนาวิน  ครับ     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น