วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ทำดีต่อผู้คิดร้ายเรา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
#ตอนทำดีกับคนที่ไม่ดีกับเรา ตอนที่ ๓

มีครั้งหนึ่งที่พระพุททธเจ้าท่านตรัสว่า...
#ท่านรักราหุลเช่นไรท่านก็มีเมตตาต่อพระเทวทัตเช่นนั้น!! คือ ราหุลนี่เป็นลูกของท่าน ความรักของความเป็นพ่อหนึ่งที่ต้องรักลูกนี่มันต้องมีอยู่แล้วนะ รักจนขนาดให้มาบวช คืออยากให้ลูกนี่ได้ประโยชน์สูงสุด

นางพิมพายโสธรา ส่งให้ราหุลนี่เป็นขอสมบัติจากพระราชบิดา คือพระพุทธเจ้านี่ พระพุทธเจ้าก็ทรงมองว่าถ้าให้ราหุลนี่เป็นกษัตริย์ต่อ ก็จะได้รับความทุกข์จากความเป็นกษัตริย์ ถึงแม้จะมีเกียรติมียศเป็นกษัตริย์ แต่ชีวิตก็ต้องเกี่ยวข้องกับการปกครอง เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจ แล้วอาจจะเป็นบาปกรรมได้

สมบัติทางโลกนี่จึงไม่ใช่สมบัติที่ประเสริฐ คือไม่ใช่สมบัติที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง และที่สุดท้ายตายแล้วก็เอาสมบัตินั้นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระสารีบุตรและทรงให้พระสารีบุตรนี่บวชราหุล

พอพระเจ้าสุทโธทนะทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงบวชให้กับราหุลนี่ "โอ้ย...เสียใจมาก" จะว่าไม่พอใจก็ว่าใช่ แต่พูดอะไรทำอะไรไม่ได้ ก็เลยไปกราบทูลสอบถามว่า..."ทำไมถึงบวชให้ราหุล ?"

ราหุลมาทูลขอสมบัติ แต่พระองค์ก็คิดว่าสมบัติภายนอกนี่ มันไม่ใช่สมบัติที่ประเสริฐ พระองค์ก็ทรงมอบสมบัติที่ประเสริฐให้...คืออะไร คือการบวช ก็ทรงบวชให้ราหุลเป็นสามเณร พระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าวก็มาสอบถาม จนทราบว่าบวชแล้ว จนได้ขอตั้งแต่วันนั้นมาว่า ถ้าพระองค์จะบวชใคร ขอให้สอบถามถึงพ่อแม่ว่าเขาอนุญาตไหม (แต่จะว่าท่านผิดท่านก็ไม่ผิดนะ เพราะว่าท่านเป็นพ่อแต่ว่าไม่ได้ขออนุญาตแม่เท่านั้น)

อันนี้คือความรักของพ่อที่ท่านมีให้ อันนี้สมบัติคืออยากให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด จนสามารถที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ความรักที่มีต่อราหุลซึ่งถือว่าเป็นความรักที่อยากจะให้สิ่งที่ประเสริฐที่สุด

"เรารักราหุลเช่นไรเราก็รักพระเทวทัตเช่นนั้น"
ทั้งที่พระเทวทัตนี่ก็เป็นญาติได่ ว่าเป็นพี่ชายของนางพิมพายโสธราเป็นญาติกัน แต่ว่าด้วยความมักใหญ่ อยากปกครองสงฆ์ ด้วยความโกรธ ด้วยการเป็นคู่กรรมคู่เวรกันมาด้วย ก็เลยคิดจะทำลายพระพุทธเจ้า ก็เลยไปคบกับพระเจ้าอชาตศัตรู หลอกให้พระเจ้าอชาตศัตรูนี่ศรัทธาด้วยฤทธิ์ แล้วก็ให้ปล่อยช้างนาฬาคีรีที่เมาเหล้า คือเมาแล้วมันก็เหมือนกับช้างตกมัน แต่ด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าก็ปราบช้างนาฬาคีรี ไปจ้างนายขมังธนู

จนสุดท้ายตัวเองลงมือเอง ด้วยการขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏ แล้วก็ไปกลิ้งหินเพื่อหวังว่าจะให้หินนั้นลงมาทับพระศาสดา แต่ด้วยพุทธบารมีของพระพุทธเจ้า หินนั้นมันกลิ้งลงมาโดนกับหินอีกก้อนหนึ่งกระเด็นแตกไป มีสะเก็ดเล็กๆที่กระเด็นไปโดนนิ้วพระศาสดาห้อพระโลหิต อันนั้นก็เป็นกรรมของพระองค์เด้นะ ถึงขนาดนั้นนะพระองค์ก็ยังทรงให้อภัยพระเทวทัตได้นะ

แต่ด้วยกรรมของพระเทวทัตเอง สุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากนรกได้ ว่ากันว่าโดนแผ่นดินสูบ ในวาระสุดท้ายท่านก็ได้ขอขมาต่อพระศาสดา แล้วก็มีเรื่องเล่าต่อว่า พระเทวทัตจะบรรลุธรรม คือหมดกรรมจากการไปตกนรกแล้ว หรือว่าไปเป็นเปรตแล้ว ก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า

แต่ว่าไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้าในแบบพระพุทธเจ้าของเรา คือเป็น "พระปัจเจกพุทธเจ้า"องค์หนึ่งในอนาคตข้างหน้า (เป็นพระพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง ที่ตรัสรู้เฉพาะตัว มิได้ประกาศพระพุทธศาสนา )

ไม่ธรรมดาเด้พระเทวทัตนี่ พญามารก็เหมือนกัน (ท้าววสวัตตี) ก็จะไปเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง พระเทวทัตนี่ก็จะไปเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

ฉะนั้นคนที่ทำบาปทำกรรมมา ทำอะไรไม่ดีนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีตลอดเด้ ถ้าเกิดว่าเขาคิดได้ อย่างพระเทวทัตนี่วาระสุดท้ายคิดได้ กราบขอขมาต่อพระศาสดาและก็ถูกธรณีสูบลงไปสู่นรก ด้วยบาปด้วยกรรมอันหนัก แม้แต่พื้นแผ่นดินนี่ก็ไม่สามารถจะรองรับพระเทวทัตได้ ต้องร่วงไปสู่นรก แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีความเมตตาต่อพระเทวทัตเหมือนกับราหุลเน๊าะ

ถอดจากเทปโอวาทคำสอน
พระอาจารย์จรัน อนังคโณ ประธานสงฆ์สำนักปฏิบัติธรรมอุทยานธรรมดงยาง ตำบลคลีกลิ้ง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ ในค่ำคืนวันที่ 21 ก.ค.62

(พระอาจารย์จรัญ อนงฺคโณ ท่านเป็นลูกศิษย์ของ ท่านพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ ประธานสงฆ์แห่งวัดไตรสิกขาทลามลตาราม และวัดนิพเพธพลาราม ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร)

ถอดเทป/เรียบเรียง : นรินทร์ ศรีสุทธิ์
ภาพโดย : ตากล้อง ข้างธรรมาสน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น