วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

พระร่วง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระร่วง” มหาไวโรจนะ/ศากยมุนีในนิกายกัมโพช พุทธศิลป์ลูกผสมแห่งลุ่มเจ้าพระยา 

ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ภายหลังการสิ้นอำนาจของจักรวรรดิบายน รวมถึงอำนาจจากราชสำนักเมืองพระนครจากเครือข่ายพระญาติที่ยังคงมีอยู่ในช่วงระยะหนึ่ง ราชสำนักใหม่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รัฐขอมเจ้าพระยา รัฐลูกครึ่งเขมร-รามัญ ละโว้/ลโวทยปุระ(หลอหู่) สุวรรณปุระ (เสียน กั๋ว กวั่น) ศรีชยเกษมปุรี(ซั่งสุ่ยสูกูตี่ - สุโขทัย) ต่างได้ลดความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจกับราชสำนักในเมืองพระนคร เกิดรัฐและระบบการปกครองขึ้นในแต่ละภูมิภาค 
.
ซึ่งในช่วง “ยุคหลังบายน”(Post-Bayon Period) นี้ กลุ่มรัฐขอมเจ้าพระยาได้รับอิทธิพลคติความเชื่อและงานพุทธศิลป์จากลังกา ปาละ พุกาม รามัญ/มอญ/หริภุญชัย เกิดพัฒนาการในคติความเชื่อที่นำไปสู่การสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นใหม่ครับ
.
คติและงานพุทธศิลป์จากฝ่ายเถรวาท (Theravāda) ลังกาวงศ์และรามัญนิกาย และมหายาน (Mahāyāna Buddhism) จากราชวงศ์ปาละและจีน เข้ามาผสมผสานกับคติและพุทธศิลป์แบบวัชรยานตันตระ (Vajrayāna /Tantric Buddhism ) เดิมจากยุคจักรวรรดิบายนช่วงก่อนหน้า เกิดขึ้นเป็นนิกาย “อริยารหันตปักขะภิกขุสงฆ์” (Ariyā rahantapakkha bhikkhu sangha) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลพบุรี (ละโว้) นิยมเรียกพุทธศิลป์ที่พบในนิกายนี้ว่า “กัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha) ตามความหมายในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ที่เรียกเมืองละโว้ว่า “กัมโพช” หรือ “นิกาย/ศิลปะละโว้” นิกายลูกผสมในกลุ่มรัฐเจ้าพระยา ที่เน้นคติความเชื่อไปทางเถรวาทแต่ยังรักษารูปงานศิลปะแบบวัชรยานจากยุคบายน มีพุทธศิลป์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รวมทั้งท่าจีน แม่กลอง เพชรบุรี ยม) ที่ไม่ปรากฏความนิยมในราชสำนักกัมพุชเทศะในช่วงเวลาเดียวกัน 
.
คณะกัมโพชสงฆ์ปักขะเป็นนิกายใหม่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ที่ได้รับเอาคติความเชื่อพิธีกรรมและการปฏิบัติธรรมจากนิกายเถรวาทมหาวิหารเดิม (ทวารวดี-มอญ-พุกาม) มาผสมกับขนบแบบแผนทางบาลีของรามัญนิกาย มหายาน (ปาละเสนะ-จีน) วัชรยาน (ตันตระยาน – บายน) เกิดเป็นงานพุทธศิลป์ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยุคหลังบายนก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ครับ
.
----------------------
*** พระเครื่องที่เรียกกันตามความนยิมในปัจจุบันว่า “พระร่วง” ก็คืองานพุทธศิลป์แบบ “กัมโพชสงฆ์ปักขะ/ศิลปะละโว้” ในช่วงหลังยุคบายน คือ “พระอาทิพุทธ/พระวัชรสัตว์/พระมหาไวโรจนะ” ( Ādi/Vajrasattva /Mahāvairocana) ในคติฝ่ายมหายาน เป็นพระพุทธเจ้าในพุทธภาวะ “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) อันถือเป็นพุทธภาวะสูงสุดแห่งพุทธะ ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดชินพุทธะ(ผู้ชนะ)/ปัญจสุคต/ปัญจชินะ/ศรีฆณะ/พระธยานิพุทธเจ้า/ฌานิพุทธเจ้า” หรือ “พระพุทธเจ้า 5 พระองค์” ทรงสั่งสอนเหล่าพระพุทธเจ้าและตถาคตทั้งมวล ทรงกำเนิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของโลก คือเมื่อโลกเกิดเป็นรูปร่าง อาทิพุทธะก็ปรากฏพระกายในแสงสว่างประดุจเปลวเพลิง ไม่เห็นเบื้องต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด ทรงเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหาปัญญาอันสูงสุด เป็นองค์ปฐมมูลฐานของทุกสรรพสิ่ง ที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า “องค์ปฐม”
.
*** ทรงแบ่งภาคในพุทธภาวะ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) หรือกายมนุษย์ (กายเนื้อ) เป็น “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) /พระโพธิสัตว์สิทธัตถะ (Siddhartha) เพื่อโปรดสรรพสัตว์ในโลกกัลป์ปัจจุบัน
.
**** พุทธศิลป์ของพระร่วง คือพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ในฐานะของราชาแห่งเหล่าตถาคต สวมศิราภรณ์ทรงเทริด รัดเกล้าเป็นกรวยมงกุฎ ตามแบบศิลปะเขมรโบราณ ยังคงนิยมทำเค้าพระพักตร์เหลี่ยมแบบบายนที่มีพระขนงเชื่อมกันเป็นเส้นตรง ครองจีวรห่มคลุม ชายจีวรเป็นแถบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชายผ้าเป็นแถบใหญ่ ขอบสบงด้านบนคาดด้วยรัดพระองค์เป็นแถบคาดประดับลวดลาย สบงมีแถบพับหน้านางซ้อนตรงกลางแบบเรียบและแบบมีลวดลายประดับ ยกพระหัตถ์ขวาแสดงท่าปางประทานอภัย (อภยมุทรา/Abhaya Mudra) ทิ้งพระกรซ้ายแนบพระวรกาย แบพระหัตถ์หันออกในท่าปางประทานพร (วารทมุทรา/Vāraḍa Mudra) ในรูปลักษณ์ “พระสองปางในองค์เดียวกัน” ซึ่งเป็นอิทธิพลเด่นของงานพุทธศิลป์ฝ่ายมหายานจากราชวงศ์ปาละที่ส่งอิทธิพลผ่านมาทางพุกาม-หริภุญชัยครับ
.
*** ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ช่างศิลปะในนิกายกัมโพช/ละโว้ ได้ตั้งใจปรับเปลี่ยนรูปศิลปะ “พระร่วง” พระมหาไวโรจนะที่เคยทรงเครื่องกษัตริย์ห่มจีวรคลุมแบบบายน ในคติฝ่ายวัชรยาน มาเป็น พระพุทธเจ้าศากยมุนี (กายเนื้อของพระมหาไวโรจนะ) ที่มีพุทธศิลป์/และพุทธประวัติแบบเดียวกับ “พระสมณโคตม” (Samaná Gautama) ของฝ่ายเถรวาท ครองจีวรแบบห่มดอง/เฉียง มีผ้าสังฆาฏิพาดพระอังสะ ไม่ทรงเครื่องกษัตริย์ (ไม่สวมเทริดมงกุฏ (รวบพระเกศาและมวยผมอุษณีษะ) แต่ยังคงรักษารูปสองปางในองค์เดียวและลวดลายประดับทั้งที่รัดพระองค์และผ้าทบหน้านางของผ้าสบงตามแบบมหายานเดิมเอาไว้ 
.
*** งานพุทธศิลป์ลูกผสมจากอิทธิพลระหว่างฝ่ายมหายานจากปาละผ่านหริภุญชัย วัชรยานตันตระจากจักรวรรดิบายนและฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์/รามัญนิกาย ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ได้กลายมางานศิลปะในยุคเริ่มแรกของกลุ่มรัฐเจ้าพระยา ทั้งละโว้ สุพรรณภูมิ เพชรบุรีและสุโขทัย ที่ต่อมาได้พัฒนามาเป็นงานศิลปะต้นทางของรัฐอยุทธยานั่นเองครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น