วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระเจ้าชัยวรมันที่8

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“ศิลปะแบบพระปิถุ” ความนิยมในคติไศวนิกายครั้งสุดท้ายในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่รัฐสุวรรณปุระ
เมื่อ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 8” (Jayavarman 8 ) ขึ้นครองราชย์สำนักศรียโสธระปุระแห่งอาณาจักรเขมรโบราณประมาณปี พ.ศ. 1786 (ปลายพุทธศตวรรษที่ 18) ในยุคหลังจักรวรรดิบายนหรือ “ยุคหลังบายน” (Post-Bayon Period) ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในลัทธิฮินดูไศวนิกาย–ปศุปตะ (Pāśupata - Shavisim) อย่างแรงกล้า ทั้งยังทรงมีความนิยมใน “ลัทธิเทวราชา” (Devarāja) ที่สมมุติให้กษัตริย์คือสมมุติเทพแห่งองค์พระศิวะในร่างมนุษย์ ทรงเริ่มต้นฟื้นฟูลัทธิไศวะนิกาย-ปศุปตะให้กลับคืนมา ลดบทบาทและอิทธิพลของนักบวชในคติความเชื่อเดิมของราชสำนักเก่าในยุคบายน ที่มีความนิยมในคติและงานพุทธศิลป์แบบ “วัชรยานตันตระ-ลัทธิโลเกศวร” ((Mahāyāna Buddhism-Vajrayāna-Tantra-Lokeśvara) เมื่อขึ้นครองราชย์ในทันที
.
ดูเหมือนว่าความนิยมในลัทธิไศวนิกาย-ปศุปตะในยุคก่อนหน้า จะไม่นิยมสร้างรูปพระศิวะที่มีรูปลักษณ์ตามแบบมนุษย์มากนัก แต่ในยุคการฟื้นฟูไศวนิกาย รูปลักษณ์ขององค์พระศิวะและพระนางปารวตี ได้ถูกนำเข้ามาแทนที่รูปเคารพแบบ 3 องค์ (Trinity) บนระนาบ-ฐานสนานโทรณีเดียวกัน แบบ “รูปวิภัติ 3 เพศ (ลิงค์)”ตามวีถี “ตันตระ” (Tantra-Tantric) ที่ให้ความสำคัญกับพลังของเพศหญิงที่เรียกว่า “ศักติ” (Shakti) ครับ
.
รูปพระพุทธเจ้าอมิตาภะ (ไวโรจนะ) นาคปรก ที่เคยวางอยู่บนฐานเดียวกับรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (เบื้องขวา) และเทวีปรัชญาปารมิตา (เบื้องซ้าย) ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นรูปขององค์พระศิวะ 2 กร ถือตรีศูล (Trishula -Triśūl) และดอกบัวนิโลทบล (Nilotpala) รูปเทวีศักติเปลี่ยนมาเป็นพระนางปารวตี ถือดอกบัว-ปัทมะ(Padma) ทั้งสองพระหัตถ์ ทางเบื้องขวาเปลี่ยนเป็นรูปพระวิษณุ 4 กร 
.
รูปศิลปะเครื่องแต่งกายของรูปประติมากรรมในยุค “พระปิถุ-ชัยวรมันที่ 8” เปลี่ยนแปลงไป ไม่นุ่งผ้าแบบยุคบายน อย่างการชักผ้าใต้พระโสณีโค้งหน้าเข็มขัด ที่จะมีทั้งแบบโค้งตรงและโค้งด้านข้าง ภูษาสมพตขาสั้นฝ่ายขายจะรั้งขึ้นสั้นกว่า ทิ้งชายผ้าหน้าขาแบบซ้อนทบปลายแหลม (ทั้งรูปเทพเจ้าและเทวี) ไม่นิยมแบบชายผ้าหางปลา หัวเข็มขัดมีขนาดใหญ่ สวมศิราภรณ์ทรงเทริด แบบไม่มีผูกด้านหลัง มวยผมมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบการัณฑมงกุฎ (ซ้อนเป็นชั้น ๆ ) ครอบมวยผมทรงกระบอกแผ่ที่ฐานสอบด้านบน ทั้งแบบกลมและแบบตัด มียอดแหลมและไม่มียอดแหลมแบบฝาคนโทเหนือทรงกระบอก และแบบครอบทรงหมวกฤๅษีครับ
.
การนุ่งผ้าของรูปเทวีที่พบในเขตลุ่มเจ้าพระยา (รัฐละโว้-รัฐสุวรรณปุระ) มีรูปแบบการนุ่งผ้าที่แตกต่างไปจากศิลปะเมืองพระนคร โดยจะนุ่งแบบเหมือนจริงที่เรียกว่า “ซิ่นบ่วง-จีบป้าย” ปลายผ้านุ่งพันมาทบเกิดเป็นเส้นซ้อนกันฝั่งหนึ่ง โค้งลงมาจากเข็มขัด การรั้งผ้าทำให้เกิดการแยกเป็นช่องที่ตีนซิ่น
.
ช่วงยุคศิลปะแบบพระปิถุ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 นี้ นิยมสร้างรูปประติมากรรมสำริดในคติไศวะนิกาย-ปศุปตะแบบพระปิถุ โดยเน้นไปที่รูปพระศิวะกับรูปพระนางปารวตี อย่างรูปอุมามเหศวรทรงโคนนทิ รูปพระสทาศิวะ รูปศิวะนาฏราช รูป 3 องค์แบบตันตระ ที่มีรูปของพระวิษณุประกอบ รูปพระวิษณุในอวตารเป็นพระฤๅษี รูปพระศักติ-วิษณุแบบฤๅษีครับ      
.
-----------------------------
*** ดูเหมือนว่า ภายหลังการครองราชย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 กลุ่มบ้านเมืองทางตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มรัฐสุวรรณปุระ-รามัญ (Svarṇapura) ในเขตลุ่มน้ำท่าจีนและท่าว้า และบางส่วนของรัฐละโว้ ยังคงมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ยังคงอยู่ภายในอิทธิพลของราชสำนักเมืองพระนครเป็นอย่างดีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีการพบรูปประติมากรรมสำริดในยุคฟื้นฟูไศวะนิกาย-หลังยุคบายน-พระปิถุ ในรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีหลายแห่ง ทั้งที่เมืองโบราณหนองแจง บางขวาก สามชุก ดอนเจดีย์ พิหารแดง (รวมทั้งในพื้นจังหวัดลพบุรีบางส่วน) โดยมีลักษณะเป็นงานช่างฝีมือในท้องถิ่นที่มีรูปแบบศิลปะแตกต่างไปจากงานช่างหลวงเมืองพระนคร แต่ยังคงรักษาคตินิยมในยุคฟื้นฟูคติฮินดูไศวะนิกาย-ปศุปตะ ในช่วงงานสิลปะแบบปราสาทพระปิถุอย่างชัดเจนครับ  
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น