วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระนาคปรกทรงเครื่องกษัตริย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
“พระพุทธเจ้านาคปรก มีวัตถุทรงกลมอยู่ในพระหัตถ์” ในงานศิลปะเขมรโบราณ ไม่ใช่ “พระไภษัชยคุรุ” 

ชื่อนาม “พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวทูรยประภาสุคต” (Bhaiṣajyaguru Vaidūryaprabha rāja -Sugata) หรือ “พระไภษัชยคุรุตถาคต” (Bhaiṣajyaguru Tathagata) (มหาแพทยราชาพุทธะ – มหาไภษัชยราชพุทธเจ้า) ที่ปรากฏใน “จารึกประจำอโรคยศาลา” (ĀrogyaŚālā Stele) ว่า
.
“...ขอนมัสการพระชินะผู้พิชิต คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยะประภาราชา (Bhaiṣajyaguru Vaidūryaprabha rāja) ด้วยเพราะพระองค์ จึงทำเกิดความสุขและความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้ได้สดับแม้เพียงชื่อพระนาม อีกทั้ง... พระศรีสูรยะไวโรจนจันทราโรจิ (Śrī -sūrya-vairocana-caṇḍa-rociḥ) และพระศรีจันรไวโรจนโรหิณีศะ (Śrī -candra-vairocana-rohiṇīśaḥ) ผู้ขจัดความมืด อันได้แก่โรคร้ายของประชาชน ผู้ชนะที่อยู่เคียงข้างพระสุเมรุแห่งผู้ปฏิบัติ... 
...พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาลและรูปพระโพธิสัตว์ไภษัชยสุคต (Bhaiṣajya Saugata) พร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสองที่อาโรคยศาลา เพื่อความปราศจากโรคของประชาชนตลอดไป...พระองค์ได้สถาปนาอโรคยศาลาหลังนี้ พร้อมด้วยวิหารของ “พระสุคตาลัย – ลยมะ” (Sugatālayam) ประดิษฐานรูปพระไภษัชยสุคตนี้....” 
.
*** พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภาสุคต จากจารึกอาโรคยศาลาและจารึกร่วมสมัยในยุคราชสำนักบายน เมื่อมาประกอบกับคติความเชื่อและงานศิลปะในอินเดียเหนือ ทิเบต จีน ญี่ปุ่น ที่อธิบายว่า บนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุข้างหนึ่งจะมีหม้อยาโอสถ รัตนเจดีย์ ผลสมอหรือถือบาตร ภายในบาตรบรรจุทิพยโอสถ ชื่อว่า “อคทะ” ที่มีความหมายว่า ยาบำบัดโรค ต้นยาสมุนไพร เป็น “พุทธราชาแห่งโอสถ” (King of Medicines) สามารถปลดเปลื้องความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานของมวลมนุษย์ นำทางไปสู่พระนิพพาน “...พระองค์เป็นแพทย์ที่ประทานพระโอสถอันได้แก่น้ำอมฤต ทรงเป็นผู้นำ และเป็นผู้ชี้ทางสู่สวรรค์...” จึงได้ถูกนำมาใช้อธิบายพระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิทรงเครื่องกษัตริย์ ในงานศิลปะเขมรโบราณ ที่มี “วัตถุทรงกลม” หรือ “ทรงกรวย” วางอยู่บนพระหัตถ์ รวมทั้งหากเมื่อพบพระพุทธรูปที่มีรูปกลมและกรวย ในงานศิลปะยุคใกล้เคียงก็จะอธิบายว่าเป็นพระไภษัชยคุรุทุกองค์มาโดยตลอดครับ
.
แต่พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุของฝ่ายธิเบต-จีน จะฉลองพระองค์แบบพระภิกษุ ไม่สวมเครื่องประดับใด ๆ มีลักษณะของมหาบุรุษต่าง ๆ อย่าง อูรณา อุษณีษะ และพระกรรณยาว แบบเดียวกับพระพุทธเจ้าอมิตาภะ ไม่ทรงเครื่องกษัตริย์ตามแบบ “พระอาทิพุทธะ” ( Ādi) -พระวัชรสัตว์–พระมหาไวโรจนะ” (Vajrasattva - Mahāvairocana) พระพุทธเจ้าในพุทะภาวะระดับสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) ในคติฝ่ายมหายาน 
.
พระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาสุคต จากจารึกอาโรคยศาลาและงานศิลปะเขมร จึงเป็นเพียงรูปประธานในปราสาทสุคตาลัย ที่กำลังแสดงท่า “วัชร หุมกะระมุทรา” (Vajrahumkara-mudrā ) ยกพระกรขึ้นในระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือ “วัชระ” (Vajra) อยู่ด้านบน พระหัตถ์ซ้ายถือ “วัชระกระดิ่ง-วัชระฆัณฏา” (Vajra-Ghaṇṭā) บุคลาธิษฐานของวัชรธร-ผู้ใช้ปัญญา (Vajradhara) ที่มีความหมายถึงการใช้ปัญญาและอุบายเพื่อการบรรลุ (การปฏิบัติ,การรักษา) โดยมีเป้าหมายให้หายจากโรค ผ่านการสวดภาวนามนตราธาริณี เพื่อการบรรลุได้โดยเร็ว (ฉับพลันดั่งสายฟ้า) ไม่ใช่รูปพระพุทธรูปนาคปรกที่มีวัตถุทรงกลมในพระหัตถ์ ที่ยังไม่เคยขุดพบเจอในปราสาทแบบอาโรคยศาลาเลยครับ
.
*** พระพุทธรูปนาคปรกในงานศิลปะเขมรโบราณทั้งหมด หากทรงเครื่องกษัตริย์ ก็ควรหมายถึง “พระอาทิพุทธ–พระมหาไวโรจนะ” ราชาแห่งเหล่าตถาคต พระพุทธเจ้าในสภาวะสูงสุด หากทรงจีวรซ้อนทับก็ควรหมายถึง “พระศากยมุนี” (Shakyamuni) พระพุทธเจ้ากายเนื้อ (นิรมาณกาย - Nirmāṇakāya) ของพระฌานิพุทธเจ้าไวโรจนะ (Vairocana Dhyāni Buddha) ในพุทธภาวะสัมโภคกาย (Sambhoga-kāya) และพระอาทิพุทธะในพุทธภาวะสูงสุดแห่งธรรมกาย (Dharma-kāya)  
.
และยังอาจหมายถึง “พระฌานิพุทธเจ้าพระอมิตาภะ” (Amitabha Dhyāni Buddha) ปางสมาธิ-ประจำทิศตะวันตก พระพุทธเจ้าผู้ดูแลโลกมนุษย์ในกัลป์ปัจจุบัน หนึ่งใน 5 ของพระพุทธเจ้า/ชินพุทธะ 5 พระองค์ในพุทธะภาวะสัมโภคกาย ที่เรียกว่า “ปัญจสุคต–ปัญจชินะ-ศรีฆนะ” (Paῆca Sugatā - Paῆca jina – Śrīghana Buddhas) ผู้ให้กำเนิดพระโพธิสัตว์ประจำพระองค์ (Celestial - Bodhisattva) คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Avalokiteśvara) และศักติเทวีปรัชญาปารมิตา(Prajñāpāramitā)     
.
*** สำหรับรูปทรงกลมและทรงกรวย (ทั้งแบบแหลมและมน) ที่อยู่ในพระหัตถ์ ไม่ใช่ “หม้อยาโอสถทิพย์” ตามคติพระไภษัชยคุรุแบบธิเบต–จีน แต่เป็น ”พุ่มดอกไม้บายศรี” กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องหอมดอกไม้ในการถวายการสักกาบูชาแก่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 
.
*** จึงได้พบรูปศิลปะของพุ่มดอกไม้-ดอกไม้บูชา บนพระหัตถ์ในงานพุทธศิลป์แบบเขมรโบราณที่หลากหลาย ทั้งแบบกรวยแหลมแบบพุ่มบายศรี แบบกลม (ดอกไม้-พวงมาลัย) ปรากฏบนพระพุทธรูปที่ชัดเจนว่าไม่ใช่รูปพระไภษัชยคุรุ อย่างรูปพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ พระพุทธเจ้าอมิตาภะในกลุ่ม “วัชรยานไตรลักษณ์” เรียงรูปตันตระ-วิภัติ 3 องค์ (Triad-Trinity) บนระนาบ-ฐานสนานโทรณีเดียวกัน โดยเฉพาะรูป “พระพุทธเจ้าอาทิพุทธ-มหาไวโรจนะทรงเครื่องกษัตริย์” ที่เข้าใจผิดกันมาโดยตลอดครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น