วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี อู่ทองสุพรรณบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.
ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี หุงเนื้อดำ-ขีดเส้นสี “ส้ม-ดำ-ขาว” เม็ดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เมื่อราวกว่า 60-70 ปีที่แล้ว มีการขุดหาลูกปัดและวัตถุโบราณในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กันอย่างกว้างขวาง เริ่มต้นจากเนินพลับพลาบริเวณหน้าโรงพยาบาล บ้านวังขอน บ้านปลายน้ำ บ้านสะพานดำ บ้านนาลาว สะพานท่าพระยาจักร เนินหลังพิพิธภัณฑ์ วัดช่องลม ขยายตัวไปทั่วอำเภอและต่างอำเภอทั้งในเขตบ้านนาลาว บ้านหนองหลุม บ้านโคกสำโรง บ้านสะพานดำ บ้านดอนสุโข รวมไปถึง สวนแตง ดอนระฆัง ดอนเจดีย์ ขยายต่อออกไปจนไปทั่วจังหวัด 
.
“ลูกปัดหินกึ่งอัญมณี” (Semi-Precious Beads) “ลูกปัดแก้ว” (Glass Beads) และ “ลูกปัดแก้วโมเสก” (Mosaic Glass Beads) จากยุคเหล็กถึงยุคต้นประวัติศาสตร์ช่วงต้นการรับวัฒนธรรมอินเดีย ได้รับความนิยมจากผู้มีอันจะกินทั้งข้าราชการและพ่อค้าหลายหน้าหลายตาจากกรุงเทพ ฯ ด้วยเพราะความเก่าแก่สวยงาม ความเชื่อว่ามีคุณค่าเป็นเครื่องของขลังยอดนิยม นำไปสู่การสะสม จนเกิดเป็นความนิยมในการนำ "ลูกปัดโบราณ" มาออกแบบเป็นเครื่องประดับเข้ากับทองคำรูปพรรณ บ่งบอกถึงความชอบ รสนิยมส่วนตัวของแต่ละบุคคล ความสวยงามและเสน่ห์แห่งสีสันได้ดึงดูดใจให้ผู้คนเกิดความผูกพันอย่างลึกซึ้ง จนทำให้เกิดกระแสความต้องการ "ลูกกำปัด” แบรนด์เนมจากเมืองโบราณอู่ทองอย่างกว้างขวางครับ
.
คุณพิสิทธิ์ ลีรัตนนุรัตน์ (พลอย อู่ทอง) เล่าให้ฟังว่า “...ในช่วงปี พ.ศ. 2510 ได้เริ่มเกิดความนิยมลูกกำปัดโบราณขึ้นที่อู่ทอง เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยผู้คนในท้องถิ่นเริ่มให้ความสนใจลูกกำปัด หลายคนเริ่มเก็บลูกกำปัดที่หาได้ง่ายตามผิวดิน นำมาร้อยขายเป็นสายสร้อยให้กับแขกผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพ ฯ นอกเหนือจากลูกกำปัดโบราณแล้ว ยังมีเครื่องทองอย่างแหวนทอง จี้ทอง กำไลสำริด กำไลทองและกำไลหิน ก็เป็นเครื่องประดับที่สามารถนำมาขายเป็นเงินตราในตลาดอู่ทองได้ 
.
...ลูกกำปัดกลายเป็นที่สนใจและอยากได้กันไว้ เพราะเป็นของที่ระลึกถึงการมาเที่ยวเยือนเมืองอู่ทอง เป็นของสวยงาม หลากหลายสีสัน มีอายุเก่าแก่ แต่ก็มีราคาค่างวดมากขึ้นกว่าเรื่อย ๆ เด็ก ๆ และชาวบ้านในท้องถิ่นรอบ ๆ ตัวเมืองอู่ทองจึงเริ่มไปเสาะหา เก็บลูกกำปัดและเครื่องประดับโบราณตามเนินดินที่เคยพบในอดีตอย่างตั้งใจ ลูกกำปัดที่เคยพบเห็นบนผิวดินจึงหาได้ยากขึ้น
.
...ความต้องการในสินค้าที่ระลึกอันทรงคุณค่าจากเมืองโบราณอู่ทองที่มีมากขึ้น ได้กระตุ้นให้เกิดการค้นหาอย่างไม่มีขอบเขต จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2515 - 2520 ความสนใจลูกกำปัดในเชิงการค้าพาณิชย์จึงได้เริ่มต้นขึ้น จากการที่มีพ่อค้าในตลาดขายลูกกำปัดไปให้พ่อค้าต่างถิ่น จนนำพาให้พ่อค้า นักสะสมลูกกำปัดรวมทั้งวัตถุโบราณเดินทางเข้ามาหาซื้อลูกกำปัดกันถึงในเมืองอู่ทองมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของการขุดหาลูกกำปัดตามเนินดินในเขตพื้นที่อำเภออู่ทองเป็นช่วงแรก ๆ ทั้งที่บ้านวังขอน บ้านปลายน้ำ บ้านสะพานดำ บ้านนาลาว สะพานท่าพระยาจักร หน้าโรงพยาบาล เนินหลังพิพิธภัณฑ์ วัดช่องลม.....” 
.
*** ซึ่งก็ติดตามมาด้วยหายนะทางโบราณวิทยา เมื่อเกิดความต้องการสูง แหล่งฝังศพโบราณใกล้เคียงจึงได้ถูกไล่ขุดทำลาย เพื่อหาลูกปัดโบราณมาป้อนอุปสงค์ที่มีมากขึ้น 
.
----------------------------------
*** ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2522 – 2523 ลูกปัดพิเศษขนาดใหญ่ชิ้นหนึ่งถูกขุดได้จากแหล่งฝังศพโบราณที่บ้านโคกสำโรง อำเภออู่ทอง เป็นลูกปัดที่มีลักษณะพิเศษ ทั้งมีขนาดใหญ่และอาจมีคุณค่ามากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ 
.
ลูกปัดเม็ดนี้มีความยาว 15 เซนติเมตร รูปทรงบูมเบอแรง เป็นลูกปัดพิเศษที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานเทคนิคการเขียนเส้นสีขาวและการปรับเปลี่ยนสีหิน (หุงน้ำตาล) ไปพร้อม ๆ กัน ที่นิยมกันในช่วง 2,500 – 2,300 ปี จากหุบเขาสาโมน (Samon Valley) วัฒนธรรมพยู (Pyu) ในลุ่มน้ำอิรวดี
ในเทคนิคการผลิต ได้มีการเปลี่ยนแปลงสีของเนื้อหินกึ่งรัตนชาติประเภทคาลซีโดนี (Chalcedony) อย่าง “คาร์เนเลี่ยน” (Carnelian) เป็นหินที่มีแร่เฮมาไทต์ (เหล็ก) ผสมอยู่ในเนื้อ มาหุงสีด้วยความร้อนเสถียรให้ออกมาเป็นสีส้มสด 
.
จากนั้นก็ใช้วิธีการแปลงเนื้อหินบางส่วนให้เป็นสีดำด้วยกรดคาร์บอนิค (น้ำตาล) และความร้อนที่มีความสม่ำเสมอ ซึ่งในขั้นตอนนี้ทำพร้อมกับการขีดเส้นสี แบบเดียวกับการทำลูกปัดเอซบีด (Etched Beads) โดยการใช้กรดโซดาขีดเป็นลายเส้นไปบนลูกปัดอาเกต พร้อม ๆ กับการใช้กรดน้ำตาลเพื่อทำสีดำ ตัวกรดโซดาจะซึมลงเฉพาะผิวหน้าของลูกปัด เมื่อผ่านกระบวนการหุงสีด้วยความร้อน จะปรากฏสนิมหินสีขาวและเนื้อสีดำ (ที่เปลี่ยนมาจากเนื้อสีส้ม) คล้าย ๆ กับการทำลวดลายผ้าบาติกในปัจจุบัน กรรมวิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในเขตวัฒนธรรมพยู ในช่วงประมาณ 2,000 – 2,500 ปีที่แล้ว 
.
ลูกปัดส้มดำขีดเส้นขาวนี้ เรียกกันในภาษาจีน/ทิเบตว่า “จุงซี” (Chung dZi) จัดเป็นลูกปัดโบราณที่หาพบได้ยาก จึงเชื่อว่ามีคุณค่ามากที่สุดในบรรดาลูกปัดโบราณที่พบในประเทศไทย ซึ่งในความเชื่อลูกปัดส้มดำขีดเส้นสีขาว ถือเป็นลูกปัดแห่งอำนาจและวิญญาณ เป็นลูกปัดศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในเขตอินเดียเหนือ ทั้งยังเป็นตัวแทนแสดงสถานะอันสูงส่งทางสังคมและอำนาจวาสนาของผู้ครอบครอง เสริมสร้างบารมี อำนวยโชคลาภและความร่ำรวย มีพลังควบคุมอำนาจเหนือธรรมชาติรอบตัวครับ  
ซึ่งในเวลาต่อมา ลูกปัดส้มดำขีดขาวรวมทั้งลูกปัดลายขีดเส้นสีขาวแบบโซดากัดผิวได้กระจายตัวเข้าสู่ทิเบต เนปาล วัฒนธรรมหิมาลัย กลายมาเป็นลูกปัดที่ทรงคุณค่าในโลกแห่งอำนาจเหนือธรรมชาติที่เราเรียกว่า ซีบีด (dZi Beads) รวมทั้งการเกิดขึ้นของลูกปัด "เพียวซี" (Pure dZi) ซึ่งนั่นก็คือ "ลูกปัดมนตร์ตา (Magical Eye Beads)" อีกประเภทหนึ่งที่มีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นขีดขาวเป็นจังหวะลวดลายเฉพาะ มีวงกลมเป็นความหมาย "ตา" ตั้งแต่ 1 – 12 ตา ลูกปัดซีบีดแบบนี้ เป็นที่รู้จักกันดีของผู้ที่นิยมและชื่นชอบลูกปัดโบราณและลูกปัดตระกูลทิเบต/เนปาลมาจนถึงในปัจจุบัน
.
*** ปัจจุบันลูกปัดอันทรงคุณค่าจากอดีตเม็ดนี้ ยังอยู่ที่เมืองโบราณอู่ทอง โดยมีคุณแม่มุ่ยเซี้ยม ลีรัตนนุรัตน์ และคุณพิสิทธิ์ ลีรัตนนุรัตน์ (พลอย อู่ทอง) เป็นเจ้าของครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น