วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ทับหลังปราสาทโล้น สระแก้ว

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved. 
ทับหลังปราสาทเขาโล้น 
จารึกภาษาสันสกฤต-เขมรบนกรอบประตูด้านทิศใต้ของปราสาทบนยอดเขาโล้น (ชื่อเดิม พนมสันเกโคน-Phnoṃ Saṅkè Kòṅ) บ้านเจริญสุข ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า “...กำเสตงศฺรีนฺฤปตีนฺทราธิปติวรมะ (Kaṃsteṅ Śrī Nrpatīndrādhipativarma) รับพระราชทานดินแดนจากพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ได้สร้างเทวสถานไว้บนภูเขาดิน “มฤตสังชญกะ” (Mṛta Sanchyaka)  เพื่อประดิษฐานรูปพระศัมภู (พระศิวะ) พระเทวีและพระศิวลึงค์ (อีศลิงคะ) เมื่อมหาศักราช 929 (พ.ศ. 1550)  
.
ส่วนจารึกภาษาสันสกฤต-เขมรบนกรอบประตูฝั่งทิศเหนือ (K.232 N) ระบุว่าในมหาศักราช 938 (พ.ศ. 1559) พระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 โปรดให้ “มรตาญโขลญศรีวีรวรมัน”(Martāñ Khloñ Śrī Vīravarman) ประดิษฐานเสาจารึก (śilāstambha) ที่ภูเขาหญ้า (’āy vnaṃ ti nā) ถวายข้าทาสชายหญิงจำนวน 89 คน พร้อมด้วยครัวเรือน ธัญพืชและผ้าแพรพรรณชั้นดี   
.
ประธานของภาพสลักบนทับหลังเป็นรูปเทพเจ้ารวบพระเกศาไม่สวมศิราภรณ์ นั่งชันเข่าถือพระขรรค์ในซุ้มรวยนาคสามเหลี่ยม 5 หยักแง่ง พวยกระหนกใบไม้ เหนือรูปเกียรติมุขคายท่อนพวงมาลัย ที่ใช้มือจับก้านแยกออกจากปากทั้งสองด้าน พวงมาลัยขมวดเป็นใบม้วนวงโค้ง 2 วง ต่อก้านสลับวงตามแนวขวางตรงกลาง มีรูปแบบเดียวกับหน้าบันของปราสาทเมืองต่ำ ด้านบนและด้านล่างของใบม้วนแตกกระหนกใบไม้สามเหลี่ยมเป็นพวยโค้งแหลมลู่โค้งไปทางด้านข้าง
.
*** รูปแบบของลวดลายศิลปะบนทับหลังจัดเป็นศิลปะแบบพระวิหาร (ก่อนบาปวน) ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 สอดรับกับข้อความในจารึก ที่กล่าวถึงพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ไว้อย่างชัดเจนครับ 
.
*** ขอบคุณภาพเก่าและเนื้อหา : เพจ สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี  5 พฤษภาคม 2021
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น