“พระนอนเขาพระราชทรัพย์” กับภาพสลักสัญลักษณ์มงคล 108 ประการตามคติอยุธยา
นครอุดงค์ (Oudong - อุดงฦาไชย หรือ อุดงมีชัย) ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดกำปงสปือ(Kampong Speu) และห่างไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ (เมืองจัตุมุข) ประมาณ 40 กิโลเมตร เคยเป็นที่ตั้งของราชสำนักแห่งกษัตริย์อาณาจักรกัมพูชา ที่มีอำนาจในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 – 24 ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา "พนมอุดง" (Phnom Oudong) หรือ "เขาพระราชทรัพย์" (Preah Reach Trop Mountain) ที่มียอดเขาฝั่งทางเหนือเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระราชทรัพย์ มีพระเจดีย์ขนาดใหญ่หลายองค์ตั้งอยู่
.
ส่วนยอดเขารองลงมาทางฝั่งทิศใต้ของเขาพระราชทรัพย์ เป็นที่ตั้งของวัดและพระเจดีย์ “พระจันทราชา” (Preah Chan Reachea) อันเป็นชื่อนามของปฐมกษัตริย์อาณาจักรละแวก ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ด้านหน้าของพระเจดีย์ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีวิหารพระนอนไสยาสน์ ปางมหาปรินิพพาน-นิรวาณ (Mahaparinirvana-Nirvana) เป็นพระนอนโบราณ อายุการสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 แบบเดียวกับ “พระองค์ธม” (Preah Ang Thom) ที่เขาพนมกุเลน ใช้การก่อหินทรายเป็นก้อน ๆ มาเรียงสร้างขึ้นเป็นองค์ หันพระเศียรไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ พระพักตร์หันไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ พระบาทหันมาทางตะวันตกเฉียงใต้ ตามสภาพของภูมิประเทศบนยอดเขาครับ
.
ในปัจจุบัน พระนอนวัดพระจันทราชาและตัววิหารก่อหินศิลาแลงอยู่ในสภาพถูกทำลาย คงเหลือชิ้นส่วนส่วนของพระเศียร พระหัตถ์ พระวรกายและส่วนพระบาทคู่ที่มีการสลักลวดลายมงคล 108 ประการทั้งสองฝ่าพระบาทเหลืออยู่ แต่ละชิ้นส่วนพังทลาย กระจัดกระจายไม่เป็นรูปองค์พระนอนอย่างในอดีต
.
จารึก K.1006 อักษรเขมร ภาษาไทย ที่จารขึ้นในปี พ.ศ. 2126 พบที่เขาพนมกุเลน รวมถึงจารึกภาษาเขมร K.285 และ K.465 ได้กล่าวถึงสมเด็จพระราชมุนีที่มาจากกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทางมายังเขาพนมพระราชทรัพย์ ได้บูรณะพระพุทธรูปพระปรินิพพานที่ปรักหักพังและลงรักปิดทองอย่างสวยงามสำหรับหมู่บ้าน และได้สร้างและพระวิหารที่สมบูรณ์ เพื่อสืบรักษาพระพุทธศาสนาครับ
.
สอดรับกับลวดลายและคติของภาพสลักมงคล 108 ประการ ที่ปรากฏอยู่บนฝ่าพระบาทของพระนอนที่ยังคงตั้งเทินกันอยู่ในจุดเดิมทั้งสองข้าง แต่ละข้างมีความยาวประมาณ 1 เมตร มีนิ้วพระบาทเท่ากัน แต่ละนิ้วสลักเป็นลวดลายดอกบัวและพรรณพฤกษา ไม่ทำเป็นปล้อง ฝ่าพระบาททสลักเป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมแบ่งด้วยเส้นลวด 10 ช่อง * 11 ชั้น ภายในช่องเป็นรูปสัญลักษณ์มงคล ตรงกลางเป็นรูปธรรมจักร จัดวางสุคติภูมิแห่งจักรวาลในมิติด้านตั้ง (ถือนิ้วพระบาทเป็นด้านบน) มีโสฬสพรหมโลกอยู่ในระดับสูงที่สุด ไล่ลงมาเป็นเทวโลก เขาพระสุเมรุ ทวีป จักรวาลและมหาสมุทร โลกมนุษย์ ไล่ระดับลดหลั่นลงมา ซึ่งเป็นการจัดวางรูปมงคลที่เป็นความนิยมในสมัยอยุธยา
.
รูปสลักสัญลักษณ์มงคลบนฝ่าพระบาทพระนอนพระจันทราชา เริ่มจากรูปพรหมและเทวดา 24 ช่อง ในความหมายของพรหมโลกและเทวโลก ถัดลงมาเป็นเครื่องสูง เขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์คีรี 34 ช่อง รูปสัตว์ 26 ช่อง รูปพืชพรรณ 14 ช่อง พานพุ่มบายศรีขนาดใหญ่ 7 กระทง และรูปปลาในวงโค้ง ในความหมายของมหาสมุทรและแม่น้ำที่ปลายส้นพระบาทครับ
.
---------------------------------------------------------------
*** จากหลักฐานที่พระราชมุนี พระเถระผู้ใหญ่และคณะที่ได้เดินทางมาบูรณะพระนอนที่เขาพระราชทรัพย์ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ยุคอาณาจักรอุดงค์ จึงน่าจะมีการแกะสลักสัญลักษณ์มงคล 108 ประการขึ้นใหม่ ตามคติพุทธศาสนาที่นิยมในกรุงศรีอยุธยาบนฝ่าพระบาทของพระพุทธรูปที่ถูกสร้างมาแล้วในยุคก่อนหน้า ด้วยงานศิลปะแบบเขมรอุดงค์ในช่วงเวลาเดียวกับการบูรณะในครั้งนั้น ซึ่งคงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ และมีการแกะสลักรูปประติมากรรมพระสาวกแสดงการอัญชลันมัสการในครั้งมหาปรินิพาน เรียงรายที่ด้านหน้าองค์พระนอนในยุคของนักองค์จัน-พระญาจันทราชา ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 มาก่อนหน้าแล้วครับ
เครดิต :
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_