วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างหัตถี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างหัตถี
พระพุทธเจ้าเล่านิทาน.
"หัตถีชาดก - พญาช้างสละชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น"
เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้าง(หัตถี) อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่งใกล้กับทะเลทราย วันหนึ่งเขาได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญ พญาช้างได้มาพบผู้คนจำนวนมาก จึงถามว่า เหตุใดจึงได้เดินทางมาถึงทะเลทรายแห่งนี้ได้ พวกเขาจึงได้เล่าว่าถูกกษัตริย์เนรเทศออกมาจากบ้านเมืองของเขา เดินทางกันมา 1,000 คน ตอนนี้เหลืออยู่ 700 คน แต่ละคนไม่ได้ดื่มน้ำหรือได้กินอาหารกันมาหลายวัน หลายคนกำลังจะอดตาย 
ผู้คนต่างวิงวอนขอน้ำและอาหารอย่างน่าเวทนาในความทุกข์ พญาช้างโพธิสัตว์ทรงเกิดความสงสาร ด้วยรู้ว่า ไม่มีอาหารใดสำหรับมนุษย์ในทะเลทรายแห่งนี้ จึงกล่าวแก่ผู้ถูกเนรเทศทั้ง 700 คนว่า 
“ ...พวกเจ้าจงเดินไปทางนั้น ใต้หน้าผาแห่งนั้นที่อยู่ใกล้ทะเลสาบ เจ้าจะพบกับซากช้างตายที่เพิ่งตกจากภูเขาลงไปตาย พวกเจ้าจงนำเนื้อของช้างนั้นมากินเพื่อประทังชีวิต จงแล่เนื้อช้างทั้งหมดเพื่อใช้เป็นเสบียงกรังและจงได้นำกระเพาะอาหารของช้างนั้นไปใช้เป็นถุงเก็บน้ำจากทะเลสาบ มันจะพอเพียงสำหรับพวกเจ้าทุกคน ....”
.
“ พวกเจ้าต้องให้สัตย์สัญญาแก่เรา...ต้องกินเนื้อช้างและต้องมีสติ รอดออกไปจากทะเลทรายอันกันดารแห่งนี้...”
ผู้ถูกเนรเทศทั้งหมดต่างดีใจ ถึงจะก็ยังสงสัยคาใจว่าทำไมต้องให้สัตย์สัญญา โดยหารู้ไม่ว่า พญาช้างโพธิสัตว์ที่เดินจากไปนั้น กลับได้มุ่งหน้าขึ้นไปบนยอดเขาสูงและได้กระโดดลงมาสิ้นชีวิตที่ใต้หน้าผาแห่งนั้น เมื่อผู้คนเดินทางมาตามที่พญาช้างแจ้งไว้ ก็ได้มาพบซากของพญาช้าง ต่างก็จำได้ว่าเป็นพญาช้างตัวเดียวกับที่ได้ช่วยชี้ทางให้แก่พวกเขาไว้ 
ทุกคนต่างก็เสียใจ แต่กระนั้นคำสัตย์สัญญาที่พญาช้างได้ขอให้รักษาไว้ พวกเขาจึงได้ตัดสินใจกินเนื้อของพญาช้างนั้นด้วยหัวใจที่ปิติยินดีและเศร้าโศก 
“...พญาช้าง ท่านได้เสียสละชีวิตเพื่อรักษาเราทั้ง 700 ชีวิตไว้ พวกเราขอให้คำสัตย์สัญญาว่า จะขอเสียสละชีวิตเพื่อรักษาผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณา อย่างที่ท่านได้กระทำบารมีด้วยชีวิตนี้ไว้...”
----------------------------------
*** “หัตถีชาดก” (Hasti Jātaka) เป็นวรรณกรรมนิทานชาดกที่ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาบาลีของฝ่ายเถรวาทที่เริ่มตั้งแต่เอกนิบาต (ekanipāta) ไปจนถึงมหานิบาต (mahānipāta) รวมทั้งสิ้น 547 เรื่อง แต่ไปปรากฏในบทกวีสันสกฤต “ชาดกมาลา” (Jātaka-mālā)  ที่รจนาขึ้นโดยท่าน “อารยศูร” (Ᾱryaśūra)  จำนวน 34 เรื่อง เป็นชาดกเก่าแก่ที่นิยมใช้ในคติพระพุทธศาสนานิกาย “สถวีรวาท” (Sthāvirīya nikāya)  ยุคราชวงศ์คุปตะ-วากาฏกะ (Gupta-Vakataka)  ช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 – 12 ในอินเดียเหนือครับ
 .
---------------------------------------------
*** งานศิลปะเรื่องหัตถีชาดกนั้นพบเห็นได้ไม่มากนัก โดยมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง มุมตะวันตกเฉียงใต้ (ทางซ้ายมือจากประตูทางเข้า) วิหารถ้ำอชันตาหมายเลข 17 ศิลปะในราชวงศ์วากาฏกะ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 11  เป็นภาพวาดต่อเนื่อง ด้านบนเป็นตอนที่พญาช้างโพธิสัตว์พบกับกลุ่มผู้ถูกเนรเทศ ส่วนภาพด้านล่างเป็นตอนที่ผู้คนกำลังแล่เนื้อพญาช้างกิน และภาพผู้คนกำลังสรรเสริญในความเสียสละของพญาช้าง
.
ในประเทศไทย พบงานศิลปะเรื่องหัตถีชาดกเพียงแห่งเดียว เป็นภาพปูนปั้น 2 แผ่น ประดับผนังฐานประทักษิณด้านตะวันตกเฉียงใต้พระสถูปจุลประโทนเจดีย์ จังหวัดนครปฐม  อายุในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ที่ถูกสร้างขึ้นตามคติความเชื่อของนิกายมูลสรรวาสสติวาท (สถวีรวาทิน) ที่นิยมใช้เรื่องราว “ชาดกมาลา” และนิทานคติธรรมอย่าง “โพธิสัตวอวทาน” (Bodhisattva-avadāna)  เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่คติธรรมทางพุทธศาสนาในช่วงต้นวัฒนธรรมทวารวดี แผ่นหนึ่งเป็นตอนที่ผู้ถูกเนรเทศกำลังขอความช่วยเหลือจากพญาช้าง (แตกพังไปแล้ว) และภาพตอนที่เหล่าผู้ถูกเนรเทศกำลังแล่เนื้อพญาช้างกิน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐมครับ
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น