วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563

เทพารักษ์หลักเมืองกรุงเทพมหานคร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
เทพารักษ์ มเหศักดิ์หลักเมืองกรุงเทพมหานคร 
   “ เทพารักษ์ ” นั้น มาจากคำว่า เทพ + อารักษ์ แปลว่า " เทพหรือเทวดาผู้รักษา " ซึ่งเชื่อกันว่ามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ในต้นไม้ใหญ่ๆ ก็มีเทพารักษ์ช่วยดูแลรักษา แต่สำหรับเทพารักษ์องค์สำคัญที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประจำพระนคร มีหน้าที่ดูแลปกปักรักษาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัย มีอยู่ด้วยกัน ๕ องค์ คือ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าหอกลอง และเจ้าเจตคุปต์ ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ “ หอเทพารักษ์ ” เป็นอาคารจตุรมุขยอดปรางค์ อยู่ภายในศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร
   ตามประวัติกล่าวว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงสถาปนาหลักเมืองกรุงเทพมหานครขึ้นมา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า " พระราชพิธีนครฐาน " ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกอบด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดโคนเสา ๒๙ เซนติเมตร สูง ๑๘๗ นิ้ว กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน ๑๐๘ นิ้ว ฝังลงในดินลึก ๗๙ นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูมสวมลงบนเสาหลักแล้วลงรักปิดทอง เจาะภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง
   เมื่อแล้วเสร็จได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลประดิษฐานรูปเทพารักษ์สำคัญสำหรับพระนครขึ้น ๓ ศาล คือ ศาลพระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง และศาลพระกาฬไชยศรี ตรงบริเวณระหว่างหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ( วัดโพธิ์ ) กับคลองคูเมืองเดิม ซึ่งในบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเจตคุปต์หรือเจตคุก ซึ่งอยู่ที่หน้าคุกของกรมพระนครบาล และศาลเจ้าหอกลองอยู่ที่หน้าหอกลองประจำเมือง
   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดเสาหลักเมืองเดิมขึ้น และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด เป็นแกนไม้สัก ประกอบนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ๖ แผ่น สูง ๑๐๘ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง ๗๐ นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า ๕ เมตร และเชิญหลักเมืองเดิมและหลักเมืองใหม่ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ มียอดปรางค์ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๕
   ลุมาแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีการสร้างสถานที่ราชการและตัดถนนเพิ่ม จึงต้องรื้อศาลเทพารักษ์ทั้ง ๕ แล้วเชิญมาประดิษฐานรวมกันใน ศาลหลักเมือง ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะศาลหลักเมืองรวมทั้งสิ่งต่างๆ อันเนื่องในศาลหลักเมืองด้วย ดังนั้นกรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการซ่อมบูรณะรูปเทพารักษ์ที่ชำรุดอยู่บางส่วนให้บริบูรณ์
เทพารักษ์ทั้ง ๕
๑. พระเสื้อเมือง เป็นรูปหล่อด้วยสำริดปิดทอง สูง ๙๓ เซนติเมตร ประทับยืนบนฐานสิงห์ พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลาเชิงงอน นุ่งภูษา ทับด้วยชายไหวชายแครง ประดับด้วยสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่งรัดพัสตร์ สวมกรองศอ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาลตาบทิศ ทับทรวงสวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงคทาวุธ พระหัตถ์ขวายกชูขึ้นเสมอพระนลาฏทรงจักราวุธ
๒. พระทรงเมือง เป็นรูปเทพารักษ์หล่อด้วยสำริดปิดทอง สูง ๘๘ เซนติเมตร ประทับยืนบนฐานปัทม์ ฉลองพระองค์ทรงเครื่องเช่นเดียวกับพระเสื้อเมือง พระหัตถ์ซ้ายท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ขวายกชูขึ้นเสมอพระนลาฏทรงสังข์
๓. พระกาฬไชยศรี เป็นรูปเทพารักษ์สี่กรหล่อด้วยสำริดปิดทอง สูง ๘๖ เซนติเมตร ประทับบนหลังนกแสก ซึ่งอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยมปิดทอง ฉลองพระองค์ทรงเครื่องเช่นเดียวกับพระเสื้อเมือง พระหัตถ์ซ้ายบนยกชูเสมอพระอังสา ทรงเชือกบาตสำหรับคล้องมัดปราณของมนุษย์ผู้ถึงฆาต พระหัตถ์ซ้ายล่างยกเสมอพระนาภี แสดงกิริยาตักเตือนสั่งสอนมิให้กระทำความชั่วร้าย พระหัตถ์ขวาบนยกชูเสมอพระอังสา ทรงชวาลา คือดวงวิญญาณเปรียบดังธาตุไฟในร่างกายคนเรา ซึ่งหากแตกดับลงเมื่อใดก็เท่ากับสิ้นชีวิตดวงวิญญาณออกจากร่างแล้วนั่นเอง พระหัตถ์ขวาล่างท้าวที่บั้นพระองค์ทรงพระขรรค์
๔. เจ้าหอกลอง เป็นรูปเทพารักษ์ทรงมงกุฏหล่อด้วยสำริดปิดทอง สูง ๑๐๕ เซนติเมตร ประทับยืนบนแท่นแปดเหลี่ยม พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลามีเชิง นุ่งภูษาทับด้วยห้อยหน้า ประดับด้วยสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ทั้งสองยกเสมอระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาทรงดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายทรงเขาสัตว์ สำหรับใช้เป่าเป็นสัญญาณเรียกประชุมไพร่พลให้มาเข้าประจำหน้าที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติกันในสมัยโบราณ
๕. เจ้าเจตคุปต์ เป็นรูปเทพารักษ์ที่จำหลักด้วยเครื่องไม้ปิดทองทั้งองค์ สูง ๑๓๓ เซนติเมตร ประทับยืนบนแท่น พระเศียรทรงมงกุฎยอดชัย สวมสนับเพลามีเชิง นุ่งภูษาทับด้วยห้อยหน้า ประดับด้วยสุวรรณกระถอบ คาดปั้นเหน่งทับรัดพัสตร์ ต้นพระพาหารัดด้วยพาหุรัด ใส่สังวาล ตาบทิศ ทับทรวง สวมทองพระกร ทองพระบาท ฉลองพระบาท มีรูปนาครัดที่ข้อพระพาหาไพล่ไปเบื้องหลัง พระหัตถ์ทั้งสองยกเสมอระดับพระอุระ พระหัตถ์ขวาถือเหล็กจาร พระหัตถ์ซ้ายถือใบลานอัครสันธานาสำหรับจดความชั่วร้ายของชาวเมืองที่ตายไป


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ