ใบเสมา
ใบเสมา” เมืองพระนคร ยุคหลังบายน
ถึงร่องรอยของคติพุทธศาสนาแบบเถรวาท (Theravāda – Theravādin) จากลังกา-มอญ-ละโว้ จะเริ่มปรากฏในงานศิลปะของราชสำนักเมืองพระนครในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ดังพบรูปสลักประดับอาคารตามคติแบบเถรวาทที่ปราสาทโต๊ปตะวันตก (Western Prasat Top Temple) แต่หลักฐานของคติความเชื่อและงานศิลปะแบบเถรวาท-ลังกาวงศ์ที่ชัดเจนนั้น เริ่มต้นในกลางพุทธศตวรรษที่ 19 จากหลักฐาน “จารึกโคกสวายเจก” (KôkSvàyČek Inscription - K.754) พบจากวัดโคกโพธิ์ (Vằt Kôk Khpŏs) ทางใต้ของบารายตะวันตก ที่จารขึ้นในปีพ.ศ. 1851 ช่วงรัชสมัยของ “พระเจ้าศรีนทรวรมัน – อินทรวรมันที่ 3” (Srindravarman) เป็นจารึกภาษาบาลี (Pali-engraved) หลักแรกของอาณาจักรกัมพุชเทศะ ภายหลังจากที่พระองค์ได้สละราชบัลลังก์เพื่อออกผนวชเป็นพระภิกษุ โดยมอบให้พระราชโอรส “พระเจ้าศรีนทรชัยวรมัน” (Srindrajayavarman) ที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนาเถรวาทเช่นเดียวกับพระองค์ ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อมา
“...พระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่ ....ได้ถวายหมู่บ้าน “ศรีศิรินทรตนะกรรม” (Sruk ŚrŚndraratnagrāma) ถวายแก่พระเถระ “ศรีศรินทรโมฬี” ทรงโปรดให้อุบาสิกา นามว่า “ศรีมาลินีรัตนะลักษมี” ปฏิบัติหน้าที่ .....สร้างวิหาร ขุดคูน้ำสระน้ำ.....ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน .....ถวายข้าทาสชายหญิง ....ถวายหมู่บ้าน 4 แห่ง ...ทรงรับสั่งให้ผูกสีมาทั้ง 8 โดยรอบ เพื่อเป็นการพุทธบูชา...”
.
ในรัชสมัยของพระเจ้าศรีนทรวรมัน เป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่มีการสร้างปราสาทหินตามแบบฮินดูในอาณาจักรกัมพุชเทศะ ในสมัยนี้ได้มีการดัดแปลง ปรับเปลี่ยน “ปราสาทพระป่าลิไลย์” (Preah Palilay) ที่ก่อสร้างตามขนบแบบแผนปราสาทก่อหินทราย (วิมานเทวาลัย) ในคติฮินดู จากยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 แต่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ปรากฏภาพสลักเทพเจ้าฮินดูอยู่บนทับหลังและภาพสลักรามายณะตามแบบศิลปะปราสาทพระปิถุ เปลี่ยนมาเป็น “สังฆาราม” (Monastery) ที่มีภาพสลักและการประดับตามคติพุทธศาสนาแบบเถรวาทลังกาแทน
.
ในเมืองพระนครหลวง (นครธม-ศรียโสธระปุระ) จึงไม่มีการสร้างปราสาทหินแบบเดิมในอาณาจักรกัมพูชายาวนานมาอีกกว่า 100 ปี ก่อนเสียเมืองให้กับอาณาจักรอยุทธยาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 นอกจากมีการสร้างวัดพุทธศาสนาแบบเถรวาท ที่ประกอบด้วยด้วยอาคารหลักอย่าง พระอุโบสถ (Uposathāgāra) ที่มีใบเสมาคู่ (Sīmā – Double-slab marker stones- Stone boundary markers) ตามคติ “สีมันตริก” (ระยะของช่องว่างที่จะต้องเว้นไว้ระหว่างเขตคามวาสี-มหาเสมา กับเขตอรัญวาสี -ขัณฑเสมา ในคติลังกาวงศ์) ปักล้อมรอบ 8 ทิศ วิหาร (Vihāra) อาคารมีลักษณะเดียวกันคือก่อฐานด้วยการเรียงหินศิลาแลงหรือหินทราย บดอัดดินแน่นบุด้านใน ปูพื้นด้วยหิน และสร้างเป็นอาคารเครื่องไม้ วางใบเสมาคู่ล้อมรอบ สร้างพระพุทธรูปก่อเรียงหินเป็นประธานของศาสนสถาน จัดวางพระเจดีย์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุก่อเรียงหินทรงระฆังแบบลังกาไว้ด้านหลังอุโบสถ ไม่นิยมการใช้อิฐ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 25 แห่ง (รวมการสร้างเพิ่มเติมในเขตปราสาทยุคก่อนหน้า อย่างในเขตปราสาทพระปิถุ Preah Pithu X (Ta Tuot)) อย่าง วัดปรัมปีลเวง (Pram Pi Lveng) วัดพระโง๊ก (Wat Preah Ngok) วัดพระอังโคกโธลก (Preah Ang Kok Thlok) วัดพระอินทร์เทพ (Wat Preah Int tep) ฯลฯ จนถึงยุคของนักองค์จัน (Ang Chan) ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรละแวก (Lovek) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 ที่กลับมาฟื้นฟูเมืองนครธมโบราณในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงเกิดวัดเถรวาทเพิ่มขึ้นรวม 59 แห่งภายในตัวเมืองครับ
------------------------------------
*** ใบเสมาในคติเถรวาทที่เก่าแก่ที่สุดหลังศิลปะบายนของเมืองพระนคร พบจากปราสาทนครธม อายุในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นใบเสมาแบบแผ่นตั้งในรูปแบบของซุ้มบัญชร-บันแถลง ด้านบนเป็นซุ้มหน้านางประยุกต์ให้แคบลง ยอดตรงกลางวางหัวเม็ดแบบการวางหม้ออมลกะบนยอดสุดของปราสาท มีรูป “พระโลกบาล” (Lokapalas) หรือ “จตุโลกบาล (Cātum-Lokapala) -จตุมหาราชิกา” (Cātummahārājika) สวมศิราภรณ์ทรงเทริด มีกระบังหน้าตามแบบเขมร ยอดมวยผมแหลมบัวกลุ่ม 3 ชั้น 3 ยอด พระหัตถ์ถือพระขรรค์และจับเข่า นั่งในท่ามหาราชาลีลาสนะ คล้ายกับงานศิลปะที่ปรากฏบนภาพ พุทธประวัติ สลักนูนสูงบนประติมากรรมหลักหิน (Stele) ใช้ประดับศาสนสถานในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 เมืองพระนคร ยังมีความนิยมใบเสมาในรูปแบบแท่งตรง ทั้งแผ่นหน้าเรียบไม่มีลวดลาย และแบบมีสันตรงกลางที่มียอดบนเป็นเส้นหยักของซุ้มหน้าบันประยุกต์ อย่างใบเสมาของวัดพระอังโคกโธลก ใกล้กับปราสาทบายนทางตะวันตก และใบเสมาที่พบจากปราสาทโต๊ปตะวันตกครับ
.
ในช่วงเวลาเดียวกันยังมีความนิยมใบเสมาแบบแท่งตรง ทั้งแผ่นหน้าเรียบไม่มีลวดลาย แบบมีลวดลายและมีสันตรงกลางที่มียอดโค้งเป็นกลีบบัว ตรงสันกลางของยอดประดับด้วยกลีบบัวทำเป็นบัวหัวเม็ด ที่พบจากวัดหลายแห่ง เช่นวัดพระโง๊ก ติดกับปราสาทบายนทางทิศเหนือ ใบเสมาที่พบจากวัดเทพพนม (Tep Pranam Temple) ด้านหน้าของวัดป่าลิไลย์ ทางเหนือของพระราชวังหลวง
.
ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา รูปแบบของใบเสมาเมืองพระนครหลวง เริ่มนิยมรูปทรง “กลีบบัวคอดเอว” มีแก้มใบ สลักลวดลายตรงกลางทั้งส่วนล่าง (ท้องใบเสมา) และส่วนบน (หน้าใบเสมา) มีทั้งแบบมีบัวเม็ดยอดด้านบนและแบบเป็นสันแหลมกลีบบัว ใบเสมาแบบที่มียอดเป็นซุ้มหน้าบันประยุกต์อย่างในยุคก่อนหมดความนิยมไปทั้งหมด ดังตัวอย่างของใบเสมาวัดร้างที่ติดกับด้านหลังทางตะวันตกของวัดพระอังโคกโธลก ทำลวดลาย ท้องใบเป็นซุ้มสามเหลี่ยมกลีบใบระกา ต่อด้านข้างเป็นกาบสามเหลี่ยม หน้ากระดานลายกลีบดอกต่อเนื่อง แกนกลางเป็นสันนูน ทำเป็นก้านตรงขึ้นไปแตกพุ่มกลีบดอกกลีบใบด้านบนสุด มีลักษณะคล้ายกับใบเสมาบางแผ่นที่พบในอยุธยา แต่ยังไม่พัฒนาหน้าใบเป็นลายปากแตรหรือปีกค้างคาวที่มีโก่งคิ้วครับ
.
ใบเสมาแบบกลีบบัวคอดเอว มีสันกลาง มีลวดลายประกอบ ยังพบแบบที่มีบัวหัวเม็ดเรียบอยู่ที่บนยอดใบ อย่างที่วัดปรัมปีลเวง ทางตะวันออกของสนามชัย หน้าลานพระราชวังหลวง
.
ภายหลังการเสียเมืองพระนครหลวงให้กับอาณาจักรอยุทธยาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 จึงปรากฏงานศิลปะใบเสมาทรงกลีบบัว-สันแหลม-เอวคอด มีลวดลายหน้าใบเป็นปากแตร มีเส้นโก่งคิ้ว แก้มใบ มีสันกลางและมีท้องใบเป็นทรงสามเหลี่ยมร่างแห สลักลวดลายพรรณพฤกษา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะแบบอยุทธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 ที่ปราสาทพระขรรค์และปราสาทนครวัดอีกด้วยครับ
.
-----------------------------------
*** งานศิลปะและคติความเชื่อของใบเสมาเถรวาทเมืองพระนคร มีพัฒนาการที่เกี่ยวเนื่องและมีความคล้ายคลึงกับงานศิลปะของฝ่ายอยุทธยาโดยตรง ซึ่งก็น่าคิดว่า คติและศิลปะของใบเสมาระหว่างอยุทธยากับเมืองพระนคร ฝ่ายใดเริ่มต้นคติสีมันตริกขึ้นก่อนกัน ฝ่ายใดเป็นฝ่ายส่งอิทธิพลให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง และใบเสมาที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรอยุทธยา หน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนกันแน่
.
คงต้องมาหาคำตอบร่วมกันในกิจกรรม “ชมศิลป์ใบเสมา – อยุทธยาตะวันตก” One Day - Edutainment Trip ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาแบบ Update ในวันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม นี้ครับ
.
*** สอบถามรายละเอียด ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม ที่ คุณอัฐพงษ์ บุญสร้าง โทร. 089 089 6169
ประวัติศาสตร์หลังเที่ยงคืน https://web.facebook.com/Bond3.001
.
ถ้าสนใจอย่าช้านะครับ ตัดสินใจได้เลย รับจำนวนจำกัดตามขนาดของรถเดินทางครับ
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_