เลขประจำตัวประชาชนไทย
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก
เลขประจำตัวในบัตรประชาชนของคนไทย มีด้วยกัน 13 หลัก โดยแต่ละหลัก มีความหมายแตกต่างกันไป ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการกำหนดเลขประจำตัว แก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักร คนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน และอาจยกเว้นแก่บุคคลบางจำพวก[1] เช่นสมเด็จพระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า เป็นต้น
โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 กรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบทะเบียนราษฎร ประกาศกำหนดให้บุคคลภายในประเทศไทย ต้องมีเลขประจำตัวประชาชน ปรากฏในทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน และกำหนดให้ต้องดำเนินการจนเสร็จสิ้นทั้งหมด ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 เนื่องจากก่อนหน้านี้ ประเทศไทยยังไม่เคยกำหนดเลขประจำตัวเช่นนี้มาก่อน ดังนั้นจึงกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เพื่อจัดระบบทะเบียนราษฎรให้เทียบเท่านานาประเทศ โดยบุคคลภายในประเทศไทยทั้งหมด จะต้องมีเลขประจำตัวประชาชน เพื่อแสดงตนว่าเป็นบุคคลประเภทใด โดยดูตามเงื่อนไขในแต่ละกรณี
ตัวเลขหลักที่ 1
1 2345 67890 12 3
แสดงตัวเลขหลักที่ 1
หมายถึงประเภทบุคคล ซึ่งมีอยู่ 9 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1
คือคนที่เกิดและมีสัญชาติไทยและได้แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา หมายความว่า เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มแรกที่กรมการปกครอง ประกาศให้ประชาชนทุกคนต้องมีเลขประจำตัว 13 หลัก เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือสำนักทะเบียนในเขตที่อยู่ภายใน 15 วัน นับแต่เกิดมาตามที่กฎหมายกำหนด เด็กคนนั้นก็ถือเป็นบุคคลประเภท 1 และจะมีเลขประจำตัวขึ้นด้วยเลข 1 เช่น เด็กหญิงส้มจี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2527 และพ่อไปแจ้งเกิดที่เขตดุสิตภายในวันที่ 17 มกราคม 2527 เด็กหญิงส้มจี๊ด ก็จะมีหมายเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 และก็ต่อด้วยเลขหลักอื่นๆ อีก 12 ตัว เป็น 1 1001 01245 29 9 เป็นต้น ซึ่งเลขนี้จะเป็นเลขประจำตัว ปรากฏในทะเบียนบ้าน และจะปรากฏบนบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อส้มจี๊ดไปทำบัตรประชาชนตอนอายุ 15 ปี
ปัจจุบัน พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 กำหนดให้เด็กอายุครบ 7 ปี ต้องยื่นคำขอมีบัตรประชาชนครั้งแรก ภายใน 60 วัน[3] จากเดิมคือต้องเป็นผู้มีอายุครบ 15 ปี ทั้งนี้ คำนำหน้าชื่อบนบัตรของเด็กอายุ 7-14 ปี ยังคงเป็น ด.ช. หรือ ด.ญ. ตามเดิม
ประเภทที่ 2
คือคนที่เกิดและมีสัญชาติไทยได้แจ้งเกิดเกินกำหนดเวลา หมายความว่า เด็กคนใดก็ตามที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไป แล้วผู้ปกครองลืมหรือติดธุระไม่สามารถไปแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตภายใน 15 วันตามกำหนด เมื่อไปแจ้งภายหลังเด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นบุคคลประเภท 2 มีตัวเลขตัวแรกในทะเบียนบ้านขึ้นด้วยเลข 2 เช่น ในกรณีส้มจี๊ด หากพ่อไปแจ้งเกิดให้ ในวันที่ 18 มกราคม 2527 หรือเกินกว่านั้น ส้มจี๊ดก็จะมีเลขประจำตัวเป็น 2 1001 01245 29 9 ในทะเบียนบ้าน และเมื่อไปทำบัตรประชาชนในภายหน้า
ประเภทที่ 3
คือคนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในสมัยเริ่มแรก (คือตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527) หมายความว่า บุคคลใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 คนนั้นถือว่าเป็นบุคคลประเภท 3 และก็จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3 เช่น ส้มจี๊ด เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแล้ว ส้มจี๊ดก็จะมีเลขประจำตัวในทะเบียนบ้าน และบัตรประชาชนเป็น 3 1001 01245 29 9
ประเภทที่ 4
คือคนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว แต่แจ้งย้ายเข้าโดยยังไม่มีเลขประจำตัวประชาชนในสมัยเริ่มแรก หมายความว่า คนไทยหรือคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญคนต่างด้าว ที่อาจจะเป็นบุคคลประเภท 3 คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดิมอยู่แล้ว แต่ยังไม่ทันได้เลขประจำตัวก็ขอย้ายบ้านไปเขตหรืออำเภออื่นก่อนช่วง 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ก็จะเป็นบุคคลประเภท 4 ทันที
ประเภทที่ 5
คือคนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านในกรณีตกสำรวจหรือกรณีอื่น ๆ เช่น คนที่ถือ 2 สัญชาติ
ประเภทที่ 6
คือผู้ที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ในลักษณะชั่วคราว กล่าวคือ คนที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทยเพราะทางการยังไม่รับรองทางกฎหมาย เช่น ชนกลุ่มน้อยตามชายแดนหรือชาวเขา กลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อยู่ชั่วคราว เช่น นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย แม้บางคนจะถือพาสปอร์ตประเทศของตน แต่อาจจะมีสามีหรือภรรยาคนไทยจึงไปขอทำทะเบียนประวัติเพื่อให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านสามีหรือภรรยา คนทั้งสองแบบที่ว่านี้ถือว่าเป็นบุคคลประเภท 6
ประเภทที่ 7
คือบุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ซึ่งเกิดในประเทศไทย คนกลุ่มนี้ในทะเบียนประวัติจะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 7
ประเภทที่ 8
คือคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย คือผู้ที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวหรือคนที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทย และคนที่ได้รับการให้สัญชาติไทยตั้งแต่หลังวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นไปจนปัจจุบัน
คนทั้งแปดประเภทนี้จะมีเพียงประเภทที่ 3, 4 และ 5 เท่านั้นที่จะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้เลย ส่วนประเภทที่ 1 และ 2 จะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน คืออายุ 7 ปี แต่สำหรับบุคคลประเภทที่ 6, 7 และ 8 ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย จะมีเพียงทะเบียนประวัติเล่มสีเหลืองเท่านั้น จะไม่มีการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ บุคคลประเภทที่ 8 ที่ได้รับสัญชาติไทยจะมีบัตรประจำตัวประชาชนได้
ประเภทที่ 9
หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีสัญชาติและยังไม่ได้รับการให้สัญชาติไทย ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว
ตัวเลขหลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5
1 2345 67890 12 3
แสดงตัวเลขหลักที่ 2-5
หมายถึงรหัสของสำนักทะเบียนหรืออำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนขณะที่ให้เลข กล่าวคือ เลขหลักที่ 2 เป็นเขตการปกครองของไทยโดยอ้างตามเขตรับผิดชอบของกรมการปกครองและตำรวจ ที่มีตั้งแต่ภาค 1-9 และ เลขหลักที่ 3 จะหมายถึงจังหวัดที่อยู่ในภาคนั้น ๆ ส่วนหลักที่ 4 และ 5 หมายถึงเขตหรืออำเภอในจังหวัดนั้น ๆ โดยที่เลขอำเภอจะเริ่มจากเลข 01ไล่ลงไป เช่นเลข 01 คืออำเภอเมือง และถ้าเป็นเขตเทศบาลจะเริ่มจากเลข 99 ย้อนลงมา
ตัวเลขหลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10
1 2345 67890 12 3
แสดงตัวเลขหลักที่ 6-10
หมายถึงกลุ่มของบุคคลแต่ละประเภทตามหลักแรก ซึ่งทางสำนักทะเบียนในแต่ละแห่งก็จะจัดกลุ่มเรียงไปตามลำดับหรือหากเป็นเด็กเกิดใหม่ในปัจจุบันเลขดังกล่าวก็จะหมายถึงเล่มที่ของสูติบัตร (ใบแจ้งเกิดที่อำเภอหรือเขตออกให้) ซึ่งก็คือเลขประจำตัวในทะเบียนบ้านของเด็กที่แต่ละอำเภอหรือเขตออกให้ และจะปรากฏในบัตรประชาชนเมื่อถึงอายุต้องทำบัตรนั่นเองแต่ถ้ายังไม่ถึงเกณฑ์เลขนี้ก็จะปรากฏอยู่แค่ในทะเบียนบ้านของเด็กเท่านั้น
ตัวเลขหลักที่ 11 ถึงหลักที่ 12
1 2345 67890 12 3
แสดงตัวเลขหลักที่ 11-12
หมายถึงลำดับที่ของบุคคล
ตัวเลขหลักที่ 13
ตัวเลขหลักที่ 13 เป็นตัวเลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขทั้ง 12 หลักแรก
การคำนวณเลขหลักที่ 13 ของเลขประจำตัวประชาชน ใช้หลักการคำนวณเลขคณิตมอดุลาร์ จากเลข 12 หลักแรก
ให้เลขหลักแรกทางซ้ายคือ N1 หลักต่อไปคือ N2 ไปเรื่อย ๆ
N13 คือหลักที่ต้องการคำนวณ
1 2345 67890 12 3
แสดงตัวเลขหลักที่ 13
จากสมการแสดงให้เห็นว่า x ได้จากการ 13×เลขหลักที่ 1 โดยตัวตั้งจะลดลงมาถึงเลข 2 และตัวคูณคือเลขประชาชนตั้งแต่หลักแรกถึงหลักที่ 12 ตามลำดับ จากนั้นนำผลคูณแต่ละหลักรวมกันแล้วนำไปหารด้วย 11 โดยผลลัพธ์จะได้ค่ามอดูลัส นั่นหมายถึงเศษของผลหารที่ได้จากการนำผลรวมจากการคูณแต่ละหลักหารด้วย 11 เช่น 200 หารด้วย 11 จะเหลือเศษคือ 2 นั่นคือผลของมอดูลัส x จะมีค่าเป็นจำนวนเต็มตั้งแต่ 0 ถึง 10 จากนั้นก็ทำตามเงื่อนไขโดย
ถ้าค่า x น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ให้ 1−x จะได้ผลของเลขหลักที่ 13 เช่น 1−1 = 0ถ้าค่า x มากกว่า 1 ให้ 11−x จะได้ผลของเลขหลักที่ 13 เช่น 11−2 = 9
ตัวเลขหลักที่ 6 ถึงหลักที่ 13
หมายเหตุ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ไขล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อนโดย MildyManUnited
หน้าที่เกี่ยวข้อง
หนังสือเดินทางชนิดอ่านด้วยเครื่องได้
บัตรประจำตัวประชาชนจีน
บัตรประจำตัวประชาชนไทย
เนื้อหาอนุญาตให้เผยแพร่ภายใต้ CC BY-SA 3.0 เว้นแต่ระบุไว้เป็นอื่น
นโยบายความเป็นส่วนตัวข้อกำหนดการใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_