วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

เหตุข้างขึ้นข้างแรม

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ข้างขึ้นข้างแรม
เพราะพระจันทราเทพ มีเรื่องกับพระคเณศ จึงเกิดเป็น “ข้างขึ้น – ข้างแรม”  

"พระจันทราเทพ" หรือ “เทพโสมะ” (Chandra deity – Soma Deva) เป็นเทพเจ้าในกลุ่มเทพนพเคราะห์ทั้ง 9 (Navagraha) ที่ในปกรณัมฮินดูเล่าว่ากำเนิดจากฤๅษีอัตริกับพระนางอนสูยา (บางสำนวนก็ว่า ฤๅษีกศยปะเทพบิดรและนางอทิติ) มีกายสีเหลืองอ่อน ซึ่งในปกรณัมของฝ่ายไทยเล่าว่า พระจันทร์ถูกสร้างขึ้นมาจากที่พระอิศวรทรงนำมหาอัปสราทั้ง 15 นาง มาบดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีขาวนวล ประพรมด้วยน้ำอมฤต
.
พระจันทราเทพจะทรงราชรถบุษบกเรือนแก้ว มีเพียง 3 ล้อ เทียมด้วยม้าขาวนวลดั่งสีมุกดา 10 ตัว ถือบัวขาบอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ บ่วงบาศและคทา ทรงเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนเยาว์ นุ่นนวล ความงดงามชวนให้หลงใหลรัญจวนในยามค่ำคืนครับ
.
พระจันทราเป็นผู้ส่องสว่างแสงโสมะ (แสงนวลอ่อน ๆ) ในทุกราตรี ซึ่งในปุราณะฮินดูจะเล่าว่า แต่เดิมพระจันทราจะอยู่ในรูปกลมเต็มดวง ส่องสว่างอยู่เสมอ ไม่เคยมีข้างขึ้นและข้างแรม (lunar phase) แบบเว้า ๆ แหว่ง ๆ อย่างที่เห็น แต่ด้วยเพราะดันไปมีเรื่องกับพระคเณศ (Ganesha)  โดยเล่ามาว่า “ในวันเกิดของพระคเณศคราวหนึ่ง ซึ่งจัดงานเฉลิมฉลองที่จัดถวายโดยท้าวกุเวร (Kubera) โดยในงาน มีขนมโมทกะ (Modaks) ของโปรดของพระคเณศมาถวายมากมาย พระองค์ได้เสวยอย่างเอร็ดอร่อย เสวยมากจนรู้สึกแน่นท้อง
.
“เราได้ทานโมทกะมากเกินไปแล้ว จนรู้สึกไม่สบายตัว”
.
“เราต้องการไปสูดอากาศภายนอก จงพาเราไปด้วยเถิด” พระองค์ได้กล่าวกับหนูเกราญจะ (Krauncha) ผู้เป็นวาหนะของพระองค์
.
คืนนั้น พระจันทร์สุกสว่างและงดงามเหมือนเช่นในทุกวัน หนูเการาญจะ (มุสิกะ) จึงพาพระคเณศ เหินลอยไปในนภา แต่ในทันใดก็ปรากฏพญางู (นาค) พุ่งเข้ามาตัดตรงหน้าอย่างกะทันหัน จนพระองค์เสียหลักกระเด็นตกมาจากหลังหนูเกราญจะ กระแทกพื้นอย่างรุนแรง ทรงอาเจียนขนมโมทกะที่ได้เสวยไปแล้ว (บ้างก็ว่าท้องแตก) ออกมากระจายไปทั่ว พญางูได้รีบก้มลงขอขมาต่อพระคเณศ
.
“ข้าไม่ได้มีประสงค์ร้ายต่อพระองค์และวาหนะ มันเป็นอุบัติเหตุที่สุดวิสัย”  พระคเณศเห็นว่าพญางูไม่ตั้งใจ ก็ทรงให้อภัย
.
แต่พระจันทราเทพที่ส่องสว่างอยู่และได้เห็นเรื่องราวทั้งหมด กลับได้แสดงอาการขบขัน หัวเราะเยาะอย่างสนุกสนานในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่มีที่ท่าว่าจะหยุดหย่อน พระคเณศรู้สึกโกรธที่ถูกเย้ยหยัน พระองค์ได้นำพญางูมาเคียนมัดไว้ที่รอบเอวเพื่อเป็นการลงโทษ (บ้างก็ว่ารัดท้องที่แตก) (รูปประติมากรรมพระคเณศในบางศิลปะ จะพบปั้นเหน่งเป็นรูปพญางูรัดอยูที่พระอุทร) แล้วได้ทรงหักงาด้านขวา ซัดเป็นหอกพุ่งเข้าใส่พระจันทราในทันที
.
“เจ้าจันทราผู้โง่เขลา เจ้าได้บังอาจดูถูกเราผู้เป็นใหญ่ ข้าขอสาปเจ้าให้หายไปจากจักรวาล บัดเดี๋ยวนี้เลย”
.
ในทันใดนั้น โลกในยามค่ำคืนที่เคยมีแสงจันทราอันโสมะอันนุ่มนวล ก็มืดมิดลง ผู้คนบนโลกต่างหวาดกลัวและตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับพระจันทร์ ผู้สร้างความกล้าหาญแก่มวลมนุษย์
.
พระจันทราเทพจึงได้สำนึกความผิดต่อพลังอำนาจแห่งองค์พระคเณศ เหล่าเทพเจ้าจึงได้นำมาเข้าเฝ้าพระคเณศเพื่อทูลขออภัยโทษ “.. ข้าได้รับบทเรียน และจะไม่กระทำเช่นนั้นอีก..” พระอินทรา จึงได้ทูลขอให้ถอนคำสาป เพื่อให้โลกในยามค่ำคืนกลับมาสุกสว่าง ไม่มืดมิดอย่างที่กำลังเป็นอยู่
.
แต่องค์พระคเณศ ไม่อาจสามารถถอนคำสาปของพระองค์เองได้ แต่พระองค์ได้บรรเทาคำสาปด้วยการให้พรสำทับแก่พระจันทราเทพว่า
.
“...ถึงเจ้าจะไม่ได้มีแสงสุกสว่างในทุกค่ำคืน แต่เจ้าจะมีคืนที่สุกสว่างสร้างความกล้าหาญให้กับมวลมนุษย์ในหนึ่งวันและกลับเป็นวันที่เจ้าหายไป ซึ่งจะเป็นคืนที่มืดมิด สลับกันเป็นดิถีทุกเดือนตลอดไป...”
.
ซึ่งนั่นก็คือการเกิดขึ้นของ "ปรากฏการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรม" (Lunar's Phases) นั่นเองครับ
.
------------------------------------
*** ในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันเกิดขององค์พระคเณศ  “คเณศจตุรถี – วินายะกะจตุรถี” (Ganesha Chaturthi - Vināyaka Chaturthī) ชาวฮินดูเชื่อว่า หากเงยหน้ามองพระจันทร์ในวันนี้ จะต้องคำสาปให้ชีวิตมืดมน จึงห้ามไม่ให้มองพระจันทร์ในวันพิธีคเณศจตุรถีอย่างเด็ดขาด หากผู้ใดพลาดเผลอเงยหน้าขึ้นไปมองพระจันทร์อย่างตั้งใจ ก็จะถูกคนรอบข้างรีบเข้าไปด่าว่าและสาปแช่งอย่างรุนแรง เพื่อจะช่วยให้ผู้นั้นพ้นจากคำสาปจากองค์พระคเณศที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ (เป็นการแย่งสาปแทน เพราะคำด่าว่าสาปแช่งของคนทั่วไปไม่มีอำนาจเช่นคำสาปแช่งของพระคเณศ)

*** เล่ากันว่า งาของพระคเณศ ที่ปักอยู่บนดวงจันทร์ คือปล่องภูเขาไฟขนาดใหญ่ เป็นจุดด่างดำที่มองเห็นได้จากโลกนั่นเองครับ
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น