พุทธศิลป์ปางป่าลิไลยก์ ทรงเครื่ององค์แรกในโลก ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์
พุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์ –ปาลิเลยยกะ (Pārileyyaka) ในช่วงยุคราชวงศ์คุปตะในอินเดียเหนือ ราวพุทธศตวรรษที่ 10 -11 ยังคงนิยมสร้างงานศิลปะตามพุทธประวัติตอนโปรดพระยาวานรที่กูฎาคารศาลาในป่ามหาวัน เมืองเวสาลี (Vaishali) ทางเหนือของกรุงปัตนะ สลักทำเป็นรูปปางประทานพร หรือรูปประทับนั่งถือบาตร ประกอบรูปพญาวานรถวายรวงผึ้งเท่านั้น
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 พุทธประวัติแบบเถรวาท ลังกาวงศ์ ได้สร้างคติเรื่องช้างถวายผลไม้และลิงถวายรวงผึ้ง (The elephant bringing fruit and the monkey bringing a honeycomb) เข้ามาแทนที่พุทธประวัติตอนโปรดพญาวานร เกิดเป็นพุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้ส่งอิทธิพลความนิยมมาสู่งานศิลปะและคติของราชวงศ์ปาละและพุทธศาสนาฝ่ายรามัญมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 แต่ก็ยังคงนิยมเป็นปางประทับนั่งสมาธิเพชรแบบขัดตะหมาดครับ
.
ต่อมาความนิยมในปางป่าเลไลยก์ได้ส่งต่อมายังศิลปะพุกาม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ซึ่งในงานศิลปะพุกาม ได้นำท่านั่ง “ปรลัมพปาทาสนะ” หรือนั่งห้อยขาแบบยุโรปบนภัทรบิฐ -บัลลังก์มีขาตั้งพนักพิงแบบเก้าอี้ ที่นิยมในการสร้างรูปปางปฐมเทศนาในงานศิลปะแบบราชวงศ์ปาละ ทำพระหัตถ์ทั้งสองข้างวางบนพระเพลาอุ้มบาตรตามแบบปางโปรดพญาวานรในศิลปะคุปตะ- ปาละเดิม ประกอบรูปช้างและรูปลิงขึ้นเป็นครั้งแรก
.
พุทธประวัติฝ่ายเถรวาทลังกาวงศ์ได้เล่าถึงปางป่าเลไลยก์- ปาลิเลยยกะไว้ว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ได้ไปประทับอยู่ที่ป่าลิไลยกะ (Pārileyyaka Forest) หรือป่ารักขิต ในแคว้นเจตี (Cedi) ทางใต้ของนครโกสัมพี (Kosambhi) มีโขลงช้างและฝูงลิงคอยปรนนิบัติถวายภัตตาหารทั้งน้ำสะอาดและผลไม้ ครั้งหนึ่งที่ทรงประทับใต้ต้นสาละ ได้มีลิงตัวหนึ่งได้นำรวงผึ้ง (Honeycomb) มาถวาย แต่พระองค์มิได้รับไว้ ด้วยในรวงผึ้งนั้นมีตัวอ่อนที่ยังมีชีวิตเป็นจำนวนมากครับ
.
ลิงนั้นไม่ได้ละความพยายาม เขาได้นำรวงผึ้งมาบรรจงแคะเอาตัวอ่อนออกทีละช่องจนหมด ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้เห็นถึงความพยายามนั้น เมื่อลิงได้นำรวงผึ้งมาถวายอีกครั้ง จึงได้ทรงรับเอาไว้ แต่กระนั้นพระองค์ก็มิได้ฉัน ด้วยเพราะเป็นการเบียดเบียนชีวิต
.
แต่กระนั้น ลิงก็มีความตื่นเต้นในใจที่พระพุทธเจ้าทรงรับรวงผึ้งที่เขาตั้งใจถวาย เขากระโดดจากต้นไม้หนึ่งไปอีกต้นหนึ่งแล้วก็พลัดตกลงมา กระแทกไม้แหลมจนสิ้นชีวิต อย่างไรก็ตาม ด้วยกุศลผลบุญจากความตั้งใจในการกระทำบุญ จากความเอื้ออาทรของเขาที่บริสุทธิ์ใจแก่ผู้อื่น ลิงจึงได้เกิดใหม่เป็นเทพบุตรบนสรวงสวรรค์ไตรตรึงษ์ (Trāyastriṃśa) ครับ
------------------------------------
*** พุทธศาสนาเถรวาทสายรามัญ-พุกาม ก็ยังไม่ปรากฏความนิยมในคติปางป่าเลไลยก์อย่างชัดเจนในงานศิลปะของฝ่ายไทย จนมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 จึงได้เริ่มปรากฏความนิยมการสร้างพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เป็นช่วงแรก ๆ ในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งช่างปฏิมากรฝ่ายอยุธยาก็ได้เปลี่ยนแปลงการวางพระหัตถ์ขึ้นใหม่ โดยวางปลายพระกรขวาและซ้ายแนบไปบนพระเพลา หงายพระหัตถ์ขวาขึ้นเหนือพระชานุด้านหนึ่ง (มีทั้งซ้ายและขวา) ในความหมายว่า เป็นฝั่งที่พระพุทธเจ้าทรงรับน้ำและผลไม้จากช้าง โดยจะมีการวางรูปประติมากรรมช้างชูงวงถวายกระบอกไม้ไผ่ใส่น้ำไว้ทางด้านหน้าเยื้องไปทางพระหัตถ์นั้น อีกพระหัตถ์หนึ่งเหนือพระชานุจะวางคว่ำลง ในความหมายว่าไม่ทรงรับรวงผึ้งจากลิง ที่ก็จะมีการวางรูปประติมากรรมลิงไว้ทางด้านหน้าเยื้องไปทางพระหัตถ์ขององค์พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท
.
การเกิดความนิยมในการสร้างพุทธศิลป์ปางป่าเลไลยก์ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 22 ของกรุงศรีอยุธยา สอดรับกับหลักฐานวรรณกรรมคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง (2543) ที่พระเจ้าปราสาททองทรงกล่าวอ้างว่า ในอดีตชาติพระองค์คือช้างป่าลิไลยก์ (ช้างป่าลิไลหัตถี) ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่ลงมาปกครองกรุงศรีอยุธยาเพื่อให้ผ่านพ้นจากกลียุค และจะทรงได้ตรัสรู้เป็นพระสุมงคลพุทธเจ้า (อนาคตโตทศพุทธ-อนาคตา ทสพุทฺธ-อนาคตพระพุทธเจ้า) ครับ
.
จากร่องรอยพระราชนิยมของพระเจ้าปราสาททองจากคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติ ยังสอดรับกับความนิยมการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ ในความหมายของพระอนาคตพุทธเจ้า (สุมงคลพุทธเจ้า) ในช่วงสมัยพระเจ้าปราสาททอง และยังอาจหมายถึง พระมหาจักรพรรดิ” ในปางทรมานพระยามหาชมพู” ที่ปรากฏใน “ชมพูบดีสูตร” ที่มีความนิยมมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอีกด้วย
.
----------------------------------------------------
*** พระพุทธรูปสลักไม้ทรงเครื่องปางป่าเลไลยก์องค์หนึ่ง จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ จังหวัดนครราชสีมา (พระครูสิริธรรมาทร เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นผู้มอบให้) เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามคติพระอนาคตพุทธเจ้า (สุมงคลพุทธเจ้า) และปางป่าเลไลยก์ผสมกันในองค์เดียว สอดคล้องกับหลักฐานพระราชนิยมในยุคพระเจ้าปราสาททอง มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ทับจีวร (ลงสีแดงชาด) ประทับนั่งบนฐานบัวหงาย ประทับห้อยพระบาททั้งสองข้างบนฐานสี่เหลี่ยมยกสูง พระหัตถ์ขวาคว่ำเหนือพระชานุขวา พระหัตถ์ซ้ายหงายเหนือพระชานุซ้าย สวมศิราภรณ์อุณหิสยอดชฎาประดับกระจก ยอดกลีบซ้อน 4 ชั้น บนสุดเป็นพระเกศมาลาทรงเปลว กรรเจียกจร กรองศอ สังวาลคู่แต่งด้วยกระจังใบเทศ กลางพระอุระประดับตาบทับทรวง รัดพระองค์ พาหุรัดและทองพระกร 3 ชุด สวมพระธำมรงค์ทุกนิ้วพระหัตถ์ ฉลองพระบาท
.
พระพุทธรูปสลักไม้ทรงเครื่องปางป่าเลไลยก์ มีพระพักตร์กลมรูปไข่ พระขนงเป็นวงโค้ง พระเนตรเหลือบมองต่ำ ปลายพระเนตรชี้ขึ้น พระนาสิกโด่ง ตามแบบงานศิลปะช่างหลวงสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่มีพระโอษฐ์เล็ก คล้ายงานพุทธศิลป์ท้องถิ่นของฝ่ายลาว-ล้านช้าง คงถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ได้ทรงโปรด ฯ ให้ย้ายเมืองโคราชเดิมจากอำเภอสูงเนินมาสร้างใหม่ โดยให้ช่างชาวฝรั่งเศสออกแบบเมืองที่มีป้อมปราการแบบตะวันตก ซึ่งก็ได้การสร้างวัดวาอารามขึ้นหลายแห่งทั้งภายในและรอบกำแพงเมือง ทั้ง วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) วัดบูรพ์ วัดอิสาน วัดพายัพ วัดสระแก้ว วัดบึงและวัดสะแก
.
พุทธศิลป์ปางป่าลิไลยก์ทรงเครื่อง ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ จึงนับเป็นงานพุทธศิลป์ชิ้นเอกอุที่สอดรับกับคติพระราชนิยมและงานศิลปะในสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่คงถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชบิดา เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญในความหมายของพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ที่ได้ทรงโปรด ฯ ให้สร้างไว้ที่เมืองราชสีมา ในคราวสถาปนาเมืองนครราชสีมาขึ้นใหม่ และยังเป็นพุทธรูปแบบปางป่าลิไลยก์ทรงเครื่ององค์แรกที่มีการสร้างขึ้นโลกครับ
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_