พระร่วงโรจนฤทธิ์
"พระร่วงโรจนฤทธิ์" มีชื่อเต็ม คือ "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร" ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พุทธศักราช 2466 แต่ประชาชนทั่วไป เรียกขานว่า "หลวงพ่อพระร่วง" หรือ "พระร่วงโรจนฤทธิ์"
เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ทำด้วยทองเหลืองหนัก 100 หาบ ศิลปะสุโขทัย สูง 12 ศอก 4 นิ้ว ประทับยืนบนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยมนิ้วพระหัตถ์ พระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นไปข้างหน้า มีพระอุทรพลุ้ย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือในปี พ.ศ.2451 ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมาก เหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท
จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2456 ณ วัดพระเชตุ พนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ออกแบบ คือ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร)
จากนั้นได้อัญเชิญมาสู่จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2457 ทางรถไฟ ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ องค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราช วรมหาวิหาร จนถึงปัจจุบัน
เมื่อครั้งอัญเชิญพระร่วงฯ มาประดิษฐานยังองค์พระปฐมเจดีย์ จำเป็นต้องแยกชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกัน เสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2458
หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่า ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระร่วงฯ ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2469 จึงได้ทำพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรังคาร ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ตามพระราชประสงค์
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_