วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

ขอม-ขแมร์ แลเขมร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
“ขอม” ขแมร์ แล เขมร 
“ชื่อนามดั้งเดิม” (Toponyme) ที่ปรากฏในแต่ละหลักฐานและถูกนำมาใช้กันนั้น ล้วนมีบริบท (context) ของการนำเสนอชื่อนามนั้นแตกต่างไปจากกัน การนำมาใช้ ก็ควรที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจบริบทของหลักฐานที่พบชื่อนามนั้นมาประกอบด้วย ซึ่งชื่อนามของคำว่า “ขอม” ก็ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง แต่แปลกตรงที่ว่า กลับไม่นำบริบทจากหลักฐานที่พบของคำนั้น มาใช้ประกอบในการอธิบายด้วยในเบื้องต้น คงมีแต่การตีความ สันนิษฐานหรือมโนชื่อนามนั้นไปอย่างไร้ขอบเขต โดยใช้บริบทของความเป็น “โลกทัศน์หรือมุมมองในปัจจุบัน” ของผู้ตีความ มากกว่าจะทำความเข้าในชื่อนามและบริบทของชื่อนามนั้นจากหลักฐานชั้นต้น
ซึ่งชื่อนาม “ขอม” นั้น มี 2 บริบทสำคัญที่ต้องศึกษาจากตัวหลักฐานชั้นต้น ในบริบทแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า 1. เป็นชื่อนามที่ใช้เรียกตนเอง (ขะแมร์-เขมร ใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14) หรือ 2. เป็นชื่อนามที่ใช้เรียกผู้อื่น (ขอม) ซึ่งผู้ถูกเรียกไม่ได้ใช้ชื่อนามนี้เรียกตนเอง และ 3. เป็นนามที่ถูกเรียกมาจากอิทธิพลของแดนไกลออกไป (เจินละ) ครับ
บริบทที่ 2 คือการไล่ Timeline เวลามีการบันทึกชื่อนาม “ขอม” โดยนำไปศึกษาร่วมกับประวัติศาสตร์ คติความเชื่อ สังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในช่วงเวลาเดียวกันกับหลักฐานที่ปรากฏชื่อนามนั้น โดยไม่เอามาใช้แบบยำข้ามเวลากันอย่างขาดความเข้าใจแบบที่เป็นอยู่   
------------------------------------
*** หลักฐานของชื่อนาม “ขอม” ที่เก่าที่สุดที่พบในประเทศไทย พบใน “จารึกวัดศรีชุม” ที่มีอายุไม่เกินปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ขึ้นไป ระบุชื่อนาม "ขอมสบาดโขลญลำพง" และ" ขอมเรียกพระธม" รวมทั้ง “จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด” อายุในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20  ที่บันทึกว่า “....มหาศักราชได้ 1314  ขอมปีวอก ไทยปีเต่าสัน เดือนสี่ปูณมี ขอมวันพฤหัสบดี ไทยวัน เต่าเม็ด...” ซึ่งเป็นการนับเวลาแบบอาณาจักรเขมร-ขะแมร์ – กัมโพช – กัมพุชเทศะในเวลานั้น
.
ชื่อนาม “ขอม” ในจารึกสุโขทัยเป็นชื่อนามที่ใช้เรียกผู้อื่น ไม่ได้เรียกตนเอง ขอมจึงไม่ใช่คนสุโขทัยหรือคนไท ซึ่งก็ได้มีการตีความจากเสียง “ขอม” ว่ามาจาก “กรอม” ในคำตระกูลไท และคำว่า “กรอม” (Krom) ในภาษาเขมร ที่หมายถึงผู้คนที่อยู่ในต่ำ ด้านล่าง หรือภาคใต้ของรัฐสุโขทัยลงไป ซึ่งก็รวมถึงกลุ่มรัฐในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงเมืองพระนคร ที่ในพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น คือ ผู้คนชาวขะแมร์ – เขมร ยังไม่ได้เป็นผู้คนตระกูลไท
*** คำว่า “ขอม” ที่เก่าแก่ที่สุดจากหลักฐานจารึกสุโขทัย ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 จึงหมายความถึงชาวขะแมร์ – เขมรที่ยังคงมีอิทธิพลในเขตทางใต้ของกรุงสุโขทัย  ปรากฏร่องรอยหลักฐานสิ่งก่อสร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 - 19 จากลุ่มรัฐลุ่มเจ้าพระยา แม่กลอง เพชรบุรี ไปจรดเมืองพระนครหลวงทางตะวันออก ยังไม่ได้เป็นลูกครึ่งตระกูลไทเขมรทั้งหมดครับ
----------------------------------
*** ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20  ชื่อนาม “ขอม” ปรากฏใน “กฎหมายตราสามดวง” ได้กล่าวว่า 
“...อนึ่ง พิริยะหมู่แขก ขอม มอญ พม่า เมง มอญ มสุม แสง จีน จาม ชวา นานาประเทษทังปวง แลเข้ามาเดินยังท้ายสนมก็ดี ทั้งนี้ไอยการขุนสนมห้าม...” 
.
ขอม ในกฎหมายตราสามดวง ใช้แทนความหมายของชาติขะแมร์-เขมรครับ
.
ในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ยังปรากฏชื่อนาม “ขอม” ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับบริติชมิวเซียม ที่บันทึกว่า 
.
“... แล้วให้ขึ้นไปเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระราเมศวรลงมาแต่เมืองลพบุรี ซึ่งกรุณาตรัสว่า “ขอมแปรพักตร์” จะให้ออกไปกระทำเสีย พระราเมศวรได้ฤกษ์ยกพลห้าพันไปถึงกรุงกัมพูชาธิบดีเพลาพลบค่ำ..”  
.
และฉบับ“จุลยุทธการวงศ์” ที่แต่งโดยสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพนฯ 
.
“ ....สมเด็จพระเจ้าอู่ทองมีพระราชประสงค์จะตีเมืองกัมพูชาจึงโปรดให้หาพระราเมศวราชบุตรซึ่งอยู่ ณ เมืองละโว้เข้าเฝ้าแล้วมีพระราชดำรัสว่า เจ้าผู้เป็นราชบุตรเจ้าจงคุมพลโยธาที่กล้าแข็งให้มาก ยกไปตีเมืองเขมรแปรพักตร์...”
.
ชื่อนาม “ขอม” ในประโยค “ขอมแปรพักตร์” และการยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา จึงหมายความถึงชาวขะแมร์ – เขมร ตามการเรียกชื่อนามผู้อื่น (เขมร) ตามแบบสุโขทัยครับ
.
ร่องรอยของการสงครามระหว่างอาณาจักรอยุทธยากับกรุงกัมพูชาธิบดี ในช่วงพุทธศตวรรษที่  20 ในเอกสารของฝ่ายไทย สอดรับกับ “พงศาวดารฉบับนักองค์เอง”ของฝ่ายเขมร ที่บันทึกไว้ว่า กรุงศรีอยุทธยาได้ส่งทูตมา แต่ถูกฝ่ายกัมพูชาฆ่าทิ้ง สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีจึงให้ยกทัพมาตีเมืองพระนคร กองทัพอยุทธยาล้อมเมืองพระนครไว้หนึ่งปีจึงตีเมืองพระนครได้สำเร็จ  กวาดต้อนเชลยกรุงกัมพูชาธิบดีกลับไปยังกรุงศรีอยุทธยา 90,000 คน แล้วได้ส่งพระราชบุตรของพระองค์เองไปปกครองเมืองพระนครแทนที่เจ้าเขมรเดิม
.
*** ในต้นพุทธศตวรรษที่ 20 นี้  เอกสารฝ่ายขะแมร์-เขมร ก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่า “ขอม” แต่เป็นชื่อนามที่ฝ่ายอยุทธยาเรียกผู้อื่น (เขมร) ครับ 
------------------------------------
*** ชื่อนาม “ขอม” ยังพบในหลักฐานพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ อายุราวต้นพุทธศตวรรษ 22 ได้บันทึกเหตุการณ์ในสมัยพระนเรศวร ว่า
 “....ศักราช ๙๖๔ ขาลศก (พ.ศ. 2145) เสด็จไปประพาสลพบุรี ...ศักราช ๙๖๕ เถาะศก (พ.ศ. 2146) ทัพพระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้...” 
.
*** ความหมายของ “ขอม” ที่พบในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ในพุทธศตวรรษที่ 22 นี้ ยังคงเป็นชื่อนามที่กรุงศรีอยุธยาเรียกผู้อื่น ที่หมายถึงชาวขะแมร์ – เขมรครับ 
.
---------------------------------------
*** มาถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 23  สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปรากฏชื่อนาม “ขอม” ในหนังสือจินดามณี ความว่า 
.
“....ศักราช ๖๕๕ มะแมศก ปีมแมศก พญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไลย แล้วแต่งหนังสือไทย แลแม่อักษรทังหลาย ตามพากยทังปวง อันเจรจาซึ่งกันแลกัน ... แลอนึ่งแม่หนังสือแต่ ก กา ถึง กน ฯลฯ จนถึงเกยนั้น เมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว พญาร่วงเจ้าจึงแต่งรูปอักษรไทต่างต่าง แลอักษรขอม คำสิงหลพากยนั้น เดิมมีแต่ดั่งนี้ พระอาจาริยะเจ้าผู้มีปัญญาจะให้วิจารณ จึงแต่งกำกับไว้ดั่งนี้ เพื่อจะให้กลบุตรอันเล่าเรียนพิจารณาเหนแต่เดิมมีแต่แม่อักษรขอมดั่งนี้...” 
*** ความหมายของคำว่า “ขอม” ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ยังคงหมายถึง ชาวขะแมร์-เขมร และ อักษรเขมรครับ  
--------------------------------------
*** หลักฐานฝ่ายไทยเริ่มมาใช้ชื่อนาม “เขมร” ร่วมกับคำว่า “ขอม”เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ปรากฏใน  “จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา แผ่นที่ 31” ที่ติดอยู่กับผนังเฉลียง ศาลารายวัดพระเชตุพนฯ แต่งโดยหลวงลิขิตปรีชา อธิบายถึงลักษณะของชนชาติต่าง ๆ  32 ชนชาติ โดยจารึกใช้คำว่า “ภาพเขมร” เป็นหัวเรื่องของบทโคลงที่มีความว่า 
“ขอมขําดําสะดวกแท้    ธรรมดา 
ถือพุทธเพียรตามโอ    วาทไหว้ 
กัมพุชประเทศสิมา    เมืองทิศ บูรพ์พ่อ 
โผอนภพนบน้อมไท้    ถิ่นสยาม ฯ...” 
.
มีความหมายว่า ชนชาติขอม (เขมร) นั้นมีผิวดำ นับถือพุทธศาสนา ประเทศกัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของสยาม ชาวเขมรแต่งกายโดยนุ่งผ้าปูม สวมเสื้อสีคราม คาดแพรญวนที่เอว และไว้ผมทรงดอกกระทุ่มครับ 
.
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4  จึงปรากฏชื่อนาม “เขมร” ร่วมกับคำว่า “ขอม” ใน “ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔ ภาคปกิณณกะ ภาค ๑” ความว่า
.
 “....แผ่นดินเขมรเป็น ๔ ภาค คือส่วนที่โบราณเรียกว่าขอมแปรพักตร์ และจะว่าให้รู้ง่ายอีกอย่างหนึ่ง เขมรไทย คือเขตแขวงตั้งแต่ฝั่งน้ำปะดงข้างตะวันออกไปจนฝั่งข้างตะวันตกของทะเลสาบ ชื่อบ้านเมืองเหล่านี้เป็นชื่อไทยบ้างชื่อเขมรบ้าง เป็นสองชื่อทั้งไทยทั้งเขมรบ้าง อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร เมืองแปดริ้วเป็นชื่อไทย เมืองประจิมเป็นชื่อเขมร เพราะอยู่ทิศตะวันตกของพระนครหลวง เมืองบางคางเป็นชื่อไทย เมืองนครนายกเป็นชื่อสันสกฤตเขมรตั้ง บ้านนาเป็นชื่อไทย ด้วยนัยนี้ ที่ต่างๆ เป็นตลอดไป เป็นชื่อไทยบ้างชื่อเขมรบ้าง คนที่อยู่ในเมืองเหล่านั้น ก็เป็นไทยบ้างเขมรบ้างปนกันมาแต่โบราณจนทุกวันนี้...” 
“...เหมือนอย่างเมืองนครเสียมราฐ ทุกวันเขมรเรียกว่านักกร แต่คำโบราณเขมรเรียกว่าเสียมเงียบบ้าง เสียมเรียบบ้าง ไทยเรียกว่าเสียมราฐ ตามคำเขมรโบราณ ก็คำนั้นแปลว่าเมืองไทยทำปลาแห้ง คือแต่ก่อนเป็นบ้านเมืองไทยทำปลาแห้งขาย อย่างเมืองฉะเชิงเทราที่ไทยเรียกว่าเมืองแปดริ้วนั้น เขมรก็มามีอยู่มากจนทุกวันนี้ ...”
.
“....ในจังหวัดวงเขมรเจือไทยนี้ เมื่อใดไทยมีกำลังมาก ก็ครอบงำออกไปจนหมดบ้างไม่หมดบ้าง เมื่อไรเขมรมีอำนาจขึ้นก็ครอบงำเข้ามาจนถึงเมืองนครนายก เมืองประจิม เมืองฉะเชิงเทรา ที่ไทยเรียกว่าบ้านนา บางคาง แลแปดริ้วนั้นบ้าง ไพร่บ้านพลเมืองสองอย่างปะปนกันอยู่ดังนี้มานาน แต่จังหวัด “ขอมแปรพักตร์” นี้ ได้ตกเป็นของไทยทั้งสิ้นขาดทีเดียว จนเจ้านายฝ่ายเขมรหรือญวนก้ำเกินเข้ามาไม่ได้เลยทั้งสิ้น ตั้งแต่เมืองปัตบอง เมืองนครเสียมราฐเข้ามาดังนี้นั้น ตั้งแต่ต้นพระบรมราชวงศ์นี้ เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ ตรงกับคริสตศักราช ๑๗๘๒ นั้นมาจนบัดนี้ ในเขตแขวงแผ่นดินขอมแปรพักตร์ที่ว่ามานี้ ไทยได้ไปตั้งบ้านตั้งเมืองลงใหม่หลายเมือง คือมงคลบุรี ศรีโสภณ วัฒนานคร อรัญญประเทศ ถึงเมืองปัตบอง เมืองเสียมราฐ แต่ก่อนก็ไม่มีป้อมและกำแพง ฝ่ายไทยได้ไปสร้างขึ้นเกือบสามสิบปีมาแล้ว ส่วนนี้เป็นส่วนที่หนึ่ง....”
----------------------------------
*** ชื่อนาม “ขอม” หรือ “กรอม” จึงเป็นคำเรียกผู้อื่นในภาษาตระกูลไท เพื่อใช้เรียกผู้คนที่อยู่อาศัยทางใต้ของรัฐสุโขทัย หรือผู้คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 นั้น ยังคงเป็นผู้คนเชื้อสายขแมร์และยังคงใช้ภาษาเขียนและพูดในตระกูลเขมรโบราณอยู่ครับ 
จากต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา บริบททางประวัติศาสตร์ คติความเชื่อ สังคมและวัฒนธรรมของผู้คนในช่วงเวลานั้นเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาตระกูลไทได้ลงมามีอิทธิพลในราชสำนักเดิมของชาวขอมในรัฐละโว้ อาณาจักรลูกครึ่งอย่างกรุงศรีอยุทธยาจึงยังคงใช้คำในตระกูลไทเรียกชาวขะแมร์-เขมรโบราณว่า “ขอม” ตามแบบอักษร-เสียงสุโขทัย ที่หมายถึงชาวเขมรในกรุงกัมพูชาต่อเนื่องมาอย่างชัดเจน
.
ถึงชาวขะแมร์-เขมรโบราณ ในอาณาจักรกัมพุชะเทศะในอดีตจะไม่เคยเรียกตัวเองว่า “ขอม” แต่ชื่อนามนี้ก็เป็นชื่อนามแบบที่คนตระกูลไท ลูกครึ่งในอาณาจักรลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ใช้เรียกชาวเขมรในประเทศกัมพูชา มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ครับ
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า 

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ