ศิลปะแห่ง “พาลีรบสุครีพ- พาลีสอนน้อง” ความตายเพื่อการรักษาความถูกต้อง
“พาลีรบสุครีพ – พาลีสอนน้อง” เป็นเรื่องราวในวรรณกรรมรามายณะ (Rāmāyaṇa Sanskrit epic) ตอน “กีษกินธากัณฑ์” (Kishkindha Kanda) ที่ได้นำเอาเรื่องราวมาใช้เป็นเครื่องมือในการสั่งสอนสาธุชนในของการปฏิบัติคุณความดี โดยการสอดแทรกปรัชญาและตัวอย่างผ่านเนื้อหาเรื่องราวของ “พญาวานรพาลี” (Vaali - Vali) และ “สุครีพ” (Sugriva) วานร (Vānara ) สองพี่น้อง ในงานศิลปะหลายยุคสมัย
การต่อสู้ระหว่างพี่น้องพญาวานร หรือ “ศึกสองพญาวานร” ในรามายณะ ฉบับวาลมิกิ (Vālmīki) เล่าว่าองค์รามได้กระทำสัตย์สัญญาต่อหน้าไฟที่จะช่วยสุครีพสังหารพาลี จากความบาดหมางเรื่องอสูรควาย “ทุนทุพะ” (Dundub) เพื่อชิงเมืองกีษกินธ์คืนให้กับสุครีพ โดยสุครีพจะมอบกองทัพวานรไปรบกับ “ท้าวราพณ์” หรือ “ราวณะ” (Ravana) ที่ชิงตัวนางสีดาไปครับ
.
แตกต่างต่างจากวรรณกรรม “รามเกียรติ์” (Ramakian) ที่เล่าถึงเหตุของการต่อสู้ ว่าเกิดขึ้นจากการไม่รักษาสัตย์สัญญาในครั้งที่พญาพาลีได้เอา “เทวีดารา” ที่เป็นรางวัลของสุครีพในคราวกู้เขาพระสุเมรุไปครอบครองไว้เอง แต่กระนั้น เหล่าทวยเทพก็ได้เคยกำชับแก่พาลีไว้แล้วว่า “หากเจ้าแย่งชิงเอารางวัลของน้องรักของเจ้าไปครอบครองด้วยกิเลสราคะเสียเอง เจ้าจะตายด้วยศรแห่งพระวิษณุ”
.
ความผิดใจกันระหว่างพี่น้องก็ยังไม่เกิดขึ้น จนเมื่อพาลีเข้าใจผิดคิดว่าสุครีพหักหลังตน ในครั้งที่ปราบควายทรพี ที่สุครีพเอาหินปิดถ้ำแก้วสุรกานต์ด้วยเพราะน้ำฝนเจือสีเลือดจนจาง พาให้สุครีพคิดว่าพาลีเสียทีแก่ทรพีไปแล้ว จึงขับไล่ออกจากเมืองขีดขินนครครับ
.
ศึกสายเลือดพญาลิงจึงเกิดขึ้น สุครีพมาพบพระรามผู้เป็นอวตารแห่งองค์พระวิษณุและได้ขอให้พระรามคืนความเป็นธรรมให้กับตน ทั้งสองพญาลิงเข้าต่อสู้กันหลายครั้ง แต่พาลีผู้มีฤทธาอำนาจจากพรแห่งพระศิวะ “หากต่อสู้กับผู้ใด ผู้นั้นจะสิ้นพลังไปกึ่งหนึ่งและพลังนั้นจะมาอยู่ที่เจ้า” พาลีจึงเป็นพญาลิงที่ไม่เคยพ่ายแพ้แก่ใคร แม้แต่ท้าวทศกัณฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ก็ยังกลายเป็นของเล่นของพาลีหลายครั้งหลายคราว ที่น่าเจ็บใจที่สุดก็คงเป็นตอนที่พาลีชิงนางมณโฑไปเชยชมจนมีลูกคนแรก (องคต - Angada) ไปก่อน
.
ในรามายณะ องค์รามไม่ได้ต้องการสังหารพาลี แต่สุครีพได้ยกคำสัญญาที่องค์รามได้ให้ไว้ องค์รามจึงยิงศรสังหารแค่ “เท่าเส้นผมผ่าเจ็ด”แต่พญาพาลีได้ขอตายเพื่อไถ่โทษที่เข้าใจผิดในตัวสุครีพและแย่งชิงนางรูมา (Rumā) มเหสีของสุครีพมาเป็นของตนอย่างไม่ถูกต้อง โดยได้มอบคำสอนแก่สุครีพน้องและทูลขอโทษ องค์รามจึงได้ประทานพรให้พญาพาลีไปเกิดบนสวรรค์ครับ
.
แตกต่างจากรามเกียรติ์ที่เล่าถึงการต่อสู้ของมหาวานรทั้งสองจบลงด้วยการช่วยเหลือขององค์ราม แต่ลูกศรพรหมมาสตร์ของพระรามนั้นก็ไม่อาจทำร้ายพาลีได้ แต่ด้วยเพราะพาลีได้เห็นภาพอวตารขององค์พระวิษณุในพระราม จึงได้เกิดสำนึกถึงความไม่ถูกต้องที่ตนได้แย่งนางดาราเทวีจากสุครีพน้องของตนมาครอบครองไว้เอง
.
“ ....พระรามเจ้าข้า หาใช่ว่าลูกศรอันทรงอานุภาพของพระองค์จะปักเข้าเพียงผิวกายของข้าได้โดยง่าย แต่ลูกศรของพระองค์นั้น ได้ย้ำเตือนในสิ่งที่ข้าได้กระทำผิดพลาดในอดีตมาทั้งหมด ซึ่งจะชำระล้างด้วยลูกศรแห่งพระวิษณุเจ้าอันยิ่งใหญ่เท่านั้น
.
...ข้าจึงรำลึกได้ ถึงคำสัตย์ของข้าได้ถวายไว้แด่องค์ศิวะเจ้าและทวยเทพ หากข้าแย่งชิงเอารางวัลของน้องรักมาครอบครองด้วยกิเลสราคะ ก็ขอให้ตายด้วยศรพระวิษณุเจ้าเถิด... และข้าก็ได้กระทำผิดคำสัตย์นั้น...”
.
เมื่อพระรามเห็นว่า พญาพาลีได้สำนึกผิดด้วยความจริงใจจึงหวังจะรักษาไว้ โดยแนะนำว่า ให้เอาหัวศรสะกิดเป็นแผลเล็ก ๆ ให้พอเลือดไหลเท่าปลายเส้นผม ความผิดก็จะหายไป แต่พญาพาลีมิยินยอม
.
“พระราม อวตารแห่งพระวิษณุเจ้าข้า ถึงแม้แผลจากลูกศรของพระองค์จะเกิดขึ้นเพียงน้อยนิด แต่มันจะเป็นรอยแผลของตราบาปที่จะฝังลึกในใจของข้าไปตลอดกาล ข้าจึงขอเลือกล้างความผิดด้วยความตายเสียดีกว่าจะมีชีวิตอยู่ ...”
.
แล้วพญาพาลีก็ได้เรียกสุครีพเข้ามาสั่งเสีย สอนน้องให้จงรักภักดีต่อพระราม
.
“...สุครีพน้องรักของข้า ขอให้เจ้าจงเป็นข้ารองพระบาทให้เหนือเกล้า รับใช้พระรามผู้เป็นพระอวตารด้วยความจงรักภักดียิ่งชีวิต สิ่งใดที่ข้าได้เคยล่วงเกินเจ้าไว้นั้น ขอเจ้าได้โปรดให้อภัยในความผิดพลาดของข้าที่ได้กระทำต่ำช้าแก่เจ้า น้องรักของข้า...
.
....พระรามเจ้าข้า โปรดได้รับน้องข้าและเหล่าราษฎรแห่งนครขีดขีน ไว้ใต้เบื้องพระยุคลบาทด้วยพระเมตตาด้วยเถิด...”
.
พญาพาลีสั่งเสียแก่สุครีพด้วยความอ่อนโยน ดั่งเมื่อครั้งในอดีตที่ทั้งสองได้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา น้ำตาของทั้งสองพี่น้องวารนรยิ่งไหลนอง
.
เมื่อสิ้นคำสั่งเสียอันยิ่งใหญ่ พาลีได้จับลูกศรปักย้ำเข้าไปในอกของตนเอง จนสิ้นใจกลับคืนไปเกิดเป็นเทพบุตรพาลีบนสรวงสวรรค์แห่งองค์พระอิศวร
.
“...ความตายของข้า จะเป็นการรักษาความถูกต้องให้คงอยู่คู่โลกตลอดกาล”
.
ในรามเกียรติ์เล่าว่า สุครีพได้ขึ้นปกครองเมืองขีดขินแทนพญาพาลี รับนางดาราเป็นมเหสี ตั้งองคตเป็นพระยุพราช พร้อมกับจัดงานพิธีถวายพระเพลิงศพให้แกพญาพาลีอย่างสมเกียรติ โดยพระรามได้พระราชทานศรอัคนิวาตเพื่อทำการปลงศพพญาพาลี ไปสู่สรวงสวรรค์ครับ
.
ส่วนรามายณะเล่าว่า เมื่อพญาสุครีพได้ปกครองเมืองกีษกินธ์ก็เกิดลืมตัว มัวเพลิดเพลินอยู่กับการเสวยสุข องค์ลักษมัณจึงเดินทางมาหมายทำลายนครวานรทิ้งเสีย แต่นางดาราเทวีผู้เป็นชายาได้ขอให้พญาสุครีพทำตามคำสัญญา
ภาพศิลปะจากเรื่องราวศึกสองพญาวานร ใน“กีษกินธากัณฑ์” จึงถูกนำมาใช้เล่าขานเป็นคติธรรมคำสอนแก่ผู้คนตามแบบจารีตของฮินดู ทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับอิทธิพลทางวรรณกรรมและความเชื่อกันมาอย่างกว้างขวางครับ
เครดิต:
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
..............................................
พาลีสอนน้อง(ย่อ)
ในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” นอกเหนือไปจากหนุมาน พญาลิงเผือกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ยังลิงอีกตัวหนึ่งที่ถูกกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอ นั่นคือพาลี ผู้ครองนครขีดขิน พาลีนี้เป็นลูกของพระอินทร์กับนางกาลอัจนา เดิมมีกำเนิดเป็นคน แต่เพราะถูกฤาษีโคดม สามีของแม่จับได้ว่าเป็นลูกชู้เลยถูกสาปให้เป็นลิง เช่นเดียวกับสุครีพ ที่เป็นลูกของพระอาทิตย์ (ชู้อีกคนของแม่) ทั้งคู่มีศักดิ์เป็นน้าของหนุมาน เพราะเป็นน้องชายของ นางสวาหะ แม่หนุมานที่เป็นพี่สาวร่วมแม่ แต่ต่างพ่อกัน โดยนางสวาหะเป็นลูกสาวแท้ๆของฤาษีโคดมและเป็นลูกคนแรกของนางกาลอัจนา ลักษณะของพาลี เป็นลิงที่มีกายสีเขียวส่วนสุครีพมีกาย สีแดง ทั้งสองเมื่อถูกสาปก็ซัดเซพเนจรอยู่ในป่า พระอินทร์พระอาทิตย์ผู้พ่อ เกิดความสงสารลูกตัวจึงได้สร้างเมืองที่ชื่อว่าขีดขิน ให้ลูกไปอยู่ โดยพาลีมีชื่อเดิมที่พ่อตั้งให้ว่า “พระยากากาศ” เป็นเจ้าเมือง ส่วนสุครีพน้องชายให้ดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราช
พาลีเป็นลิงที่ทั้งเจ้าชู้และเจ้าอารมณ์ไม่น้อย เพราะเมื่อทศกัณฑ์พานางมณโฑเหาะผ่านมา พาลีก็ไปแย่งชิงมาเป็นเมีย ต่อมาสุครีพได้ทำความดีความชอบโดยช่วยยกเขาพระสุเมรุที่ทรุดเอียงให้ตั้งตรงใหม่ได้ พระอิศวรก็เลยปูนบำเหน็จฝากผอบแก้ว (ที่มีนางฟ้าดาราอยู่ข้างใน) ให้พาลีเอาไปให้สุครีพซึ่งไม่ได้มาด้วย ส่วนพาลีในฐานะพี่และเจ้านายก็ได้ชื่อใหม่ว่า “พาลีธิราช” พร้อมทั้งได้ตรีเพชรเป็นอาวุธ และพรที่ว่าหากสู้กับใคร ก็จะได้พลังของฝ่ายนั้นมาอีกครึ่งหนึ่ง แต่กระนั้น เมื่อพาลีเปิดผอบ เห็นนางดาราก็เกิดอาการ หลงรักแล้วยึดนางเป็นเมียทันที สุครีพก็พูดไม่ออก ครั้นต่อมาทรพี ควายโหด ฆ่าทรพาผู้พ่อได้ ก็เกิดอาการฮึกเหิมท้ารบไปทั่ว จนมาเจอกับพาลี ก็ไปสู้กันในถ้ำ ปรากฏว่าพาลีชนะ แต่บังเอิญฝนตกทำให้เลือดทรพีที่ไหลออกมาเจือจางเป็นสีใส สุครีพเข้าใจผิดคิดว่าพี่ตาย ก็ทำตามคำสั่งคือให้ปิดถ้ำ พอพาลีออกจากถ้ำได้ก็โกรธ คิดว่าน้องทรยศ จึงขับไล่ออกจากเมืองไป
ครั้นต่อมาเมื่อหนุมานได้ไปรับใช้พระราม ก็มาชักชวนสุครีพน้าชายให้มารับราชการกับพระรามด้วย สุครีพก็เลยแนะว่า หากต้องการกำลังพลไปสู้กับทศกัณฑ์ต้องไปฆ่าพาลีเพื่อยึดเอาเมืองขีดขินมา พระรามก็ต่อว่าสุครีพว่าเป็นน้องชายคิดฆ่าพี่ชายได้อย่างไร สุครีพก็เลยท้าวความว่าที่ฆ่าได้เพราะพาลีผิดคำสาบานที่เอานางดารามาเป็นเมีย แทนที่จะนำมาให้ตน ดังนั้น จึงต้องตายด้วยศรของพระรามตามคำสัตย์ที่ให้ไว้กับพระนารายณ์ตอนรับผอบมา พาลีเมื่อต้องศรพระรามก็รู้ตัวว่าต้องตายแน่ ก็รู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาสอยู่ช่วยพระรามปราบยักษ์ ส่วนพระรามเองก็เสียดายความสามารถของพาลี จึงแนะว่าให้เอาเลือดพาลีสักครึ่งหยดๆลงไปบนศรพรหมาสตร์ก็จะพ้นคำสาบานไม่ต้องตาย เพียงแต่จะมีแผลเป็นขนาดเส้นผมผ่าเจ็ดที พาลีคิดแล้วเห็นว่าแม้แผลจะเล็กน้อย แต่ก็ดูเสียศักดิ์ศรี เสียสัตย์สาบาน น่าอับอาย เลยยอมตายดีกว่า ว่าแล้วก็เรียกสุครีพ และองคตลูกชายมาสั่งลา พร้อมกับแนะนำสุครีพถึงการปฏิบัติตนในการรับใช้พระรามและคำสอน
........................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_