พุทธศิลป์ “สัปตมานุษิพุทธเจ้า” เอกลักษณ์เฉพาะงานศิลปะแบบพิมาย
พุทธศาสนา “นิกายมหายาน” (Mahāyāna Buddhism) ที่พัฒนาขึ้นมาจาก “นิกายมหาสังฆิกะ” (Mahāsāṃghika) ผสมผสานกับคติ “บารมี 6 ประการแห่งพระโพธิสัตว์” ในพระสูตรของ “นิกายสรวาสติวาท” (Sarvāstivāda) ฝ่ายสถวีรวาทิน-วิภาชยวาทิน (Sthāvirīya - Vibhajjavāda) มาตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 7 ได้มีการจัดระดับพระพุทธเจ้าออกเป็น 3 พุทธภาวะ เรียกว่า “ตรีกาย” (Tri-kāya) โดยมี พุทะภาวะระดับสูงสุดเรียกว่า “ธรรมกาย” (Dharma-kāya) มี “พระอาทิพุทธ” ( Ādi) “พระวัชรสัตว์ – พระมหาไวโรจนะ” (Vajrasattva - Mahāvairocana) เป็นพระพุทธเจ้าในภาวะสูงสุดแห่งพุทธะ เป็นผู้ให้กำเนิด-สั่งสอนเหล่าพระพุทธเจ้าและตถาคตทั้งมวล กำเนิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของโลก คือเมื่อโลกเกิดเป็นรูปร่าง อาทิพุทธะก็ปรากฏพระกายในแสงสว่างประดุจเปลวเพลิง ไม่เห็นเบื้องต้น ไม่มีจุดสิ้นสุด ทรงเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหาปัญญาอันสูงสุด เป็นองค์ปฐมมูลฐานของทุกสรรพสิ่ง.
รองลงมาคือระดับ “สัมโภคกาย” (Sambhoga-kāya) คือ “พระพุทธเจ้า 5 พระองค์” ที่เรียกว่า “ปัญจสุคต” – “ปัญจชินะ” (Paῆca Sugatā - Paῆca jina Buddhas) หรือ “พระธยานิพุทธเจ้า – ฌานิพุทธเจ้า” (Dhyāni Buddha) พระชินพุทธะ 5 พระองค์ เป็นตัวแทนของธาตุทั้ง 5 ในจักรวาล ตามคติ “วัชรธาตุ” ประกอบด้วย อากาศ ดิน น้ำ ลม ไฟ และเป็นตัวแทนของขันธ์ 5 แห่งมนุษย์ ประกอบด้วย “พระไวโรจนะ” (ผู้รุ่งโรจน์) ประจำทิศเบื้องบน แทนความหมายของ “รูปะ” “พระอักโษภยะ” (ผู้ไม่หวั่นไหว) ประจำทิศตะวันออก แทน “วิญญาณ” ,“พระอมิตาภะ” (ผู้มีแสงสว่างเป็นนิรันดร) ประจำทิศตะวันตก แทน “สัญญา” ,“พระรัตนสัมภวะ” (ผู้เกิดจากรัตนะ) ประจำทิศใต้ แทน “เวทนา” และ “พระอโมฆสิทธิ” (ผู้สำเร็จโดยไม่พลาด) แทนขันธ์ “สังขาร”ครับ
แต่ละพระชินะพุทธะท-ฌานิพุทะ-ปัญจสุคต ทั้ง 5 พระองค์ ก็จะแบ่งภาคมาเป็น “พระฌานิโพธิสัตว์” (Celestial - Bodhisattva) ประจำของแต่ละพระองค์ เพื่อลงมาช่วยเหลือมวลมนุษย์ โดยพระไวโรจนะพุทธเจ้าจะแบ่งภาคเป็น “พระโพธิสัตว์สมัตรภัทร” ,พระอักโษภยะ–พระโพธิสัตว์วัชรปาณี ,พระอมิตาภะพุทธเจ้า–พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร,พระรัตนสัมภาวะพุทธเจ้า-พระโพธิสัตว์รัตนปาณี และพระอโมฆสิทธิพุทธเจ้า–พระโพธิสัตว์วิศวปาณี
พุทธภาวะระดับล่างสุดคือ “นิรมาณกาย” (Nirmāṇakāya) หมายถึง “รูปกาย” หรือกายมนุษย์ (กายเนื้อ) เป็นพุทธสภาวะของพระตถาคต – พระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้ และสั่งสอน เพื่อให้ได้ตระหนักรู้ถึงกฎแห่งไตรลักษณ์ ความไม่จีรังยั่งยืนของสังขาร การเกิด แก่ เจ็บ และตาย แก่เหล่าสรรพสัตว์บนโลก เป็นตัวแทนเพื่อการสั่งสอนพระธรรมจักรของพระพุทธเจ้าเจ้าในระดับธรรมกายและระดับสัมโภคกายที่ลงมาปรากฏตัวในร่างมนุษย์บนโลกครับ
“พระศากยมุนี” (Shakyamuni) ของฝ่ายมหายาน คือตัวแทนของพระอาทิพุทธ – วัชรสัตว์พุทธเจ้าในพุทธภาวะแห่งธรรมกาย และเป็นพระพุทธเจ้ากายเนื้อของพระฌานิพุทธเจ้าไวโรจนะ หนึ่งในห้าของพระชินะพุทธเจ้าในในระดับสัมโภคกายพุทธภาวะอีกด้วย ซึ่งพระศากยมุนี ก็คือ พระโพธิสัตว์ที่ลงมาประสูติเป็นเจ้าชาย“สิทธัตถะ” (Siddhartha) หรือพระสมณโคตม (Samaná Gautama) พระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาท นั่นเอง
พระพุทธเจ้า-ตถาคตทั้งหลายที่มีกายเป็นมนุษย์ของฝ่ายมหายานนั้น จะเรียกว่า “พระมานุษิพุทธเจ้า” (Mortal Buddhas) ที่จะมีอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ประทับใน “จักวาลแห่งมันดารา” (Mandala Universe) หรือ “พุทธเกษตร” (Buddha Kaset) แต่ฝ่ายมหายานก็ได้เลือกไปใช้ “อดีตพระพุทธเจ้า” จากคติของนิกาย “สถวีรวาท” (Sthāvirīya) - หีนยาน (Hīnayāna) หรือเถรวาท (Theravāda) ที่มีจำนวน 28 พระองค์ จาก 9 กัปป์ โดยเลือกเฉพาะกัปหลัง 3 กัปป์ อันได้แก่สารกัปป์ มัณฑกัปป์และภัทรกัปป์ (กัปป์ปัจจุบัน) รวม 7 พระองค์ มาจัดเป็นกลุ่มตัวแทนของพระมานุษิพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบัน เรียกว่า “พระสัปตมานุษิพุทธเจ้า” (Sapta Mortal Buddha) หรือ “พระพุทธเจ้า 7 พระองค์”
---------------------
*** ในสมัยราชวงศ์วากาฏกะ (Vākāṭaka Dynasty) ผู้ปกครองเขตเดกข่านตะวันตก (Western Deccan) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 เป็นราชวงศ์มีความนิยมในพุทธศาสนานิกายมหายาน ได้มีการสร้างงานพุทธศิลป์ “พระสัปตมานุษิพุทธเจ้า” ขึ้นหลายแห่ง อย่างที่ หมู่ถ้ำอชันต้า (Ajanta Caves ) และหมู่ถ้ำเอลโลร่า (Ellora Caves) เมืองออรังกาบัด รัฐมหาราษฏระ หรือหมู่ถ้ำกัณเหรี (Kanheri Caves - Kānherī-guhāḥ ใกล้นครมุมไบ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย
ถ้ำเจติยะในคติมหายาน ที่สร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 11 หลายแห่งมีภาพสลักของพระสัปตมานุษิพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ไมเตรยะอนาคตพุทธะ (Bodhisattva Maitreya) เรียงเป็นแถวอยู่ทั้งหมด 8 องค์ โดยที่หน้าถ้ำอชันต้าหมายเลข 17 มีภาพเขียนจิตรกรรมเหนือช่องประตู เป็นภาพของพระสัปตมานุษิพุทธเจ้าแต่ละองค์แตกต่างกัน โดยช่องแรกทางซ้ายสุด คือ “พระพุทธเจ้าวิปัสยี – วิปัสสี” (Vipasyi) จากสารกัปป์ ทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (ต้นแคฝอย) , “พระพุทธเจ้าสิขิ” (Sikhi) จากยุคมัณฑกัปป์ ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (ต้นปุณฑริกะ) , “พระพุทธเจ้าวิศวภูหรือเวสสภู” (Visavabhu) จากยุคมัณฑกัลป์ จะตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (ต้นรัง) , “พระพุทธเจ้าพระกรกุจฉันทะ (Krakuchuchanda) หรือกกุสันธะ” (ภัทรกัปป์-องค์แรกในยุคปัจจุบัน) ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (ต้นซึกใหญ่) , “พระพุทธเจ้ากนกมุนี – โกนาคม” (Kanakamuni) (ภัทรกัปป์) ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (ต้นอุทุมพร) , “พระพุทธเจ้ากาศยปะ-กัสสปะ” (Kasyapa) (ภัทรกัปป์) จะตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (ต้นนิโครธหรือต้นไทร) ,พระพุทธเจ้าศากยสิงห์ (Sakyasinha) พระศากยมุนี หรือ “สมณโคตม” พระนามในฝ่ายเถรวาท) จากยุคภัทรกัลป์ ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (ต้นอัสสัตถะ) ปิดท้ายรูปด้วย พระโพธิสัตว์ไมเตรยะอนาคตพุทธะ จะตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (ต้นกากระทิง) ครับ
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 พุทธศาสนาฝ่ายมหายานในอินเดียเหนือได้มีพัฒนามาเป็น “มหายานตันตระ” (Mahāyāna –Tantra) “พุทธตันตระยาน” (Tantric Buddhism) หรือ “วัชรยานตันตระ” (Vajrayāna) ยังคงมีความนิยมในคติ “พระปัญจสุคต-ชินะพุทธะ- พระพุทธเจ้า 5 พระองค์” (สัมโภคกายพุทธภาวะ) และ “ พระสัปตมานุษิพุทธเจ้า-พระพุทธเจ้า 7 พระองค์” (นิรมาณกายพุทธภาวะ) มาอย่างต่อเนื่อง จึงปรากฏงานพุทธศิลป์ของกลุ่มพระพุทธเจ้าจาก 2 พุทธภาวะ ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่าง ๆ อย่างจีนและธิเบต รวมทั้งเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คติและพุทธศิลป์ “พระพุทธเจ้า 5 พระองค์” และ “พระพุทธเจ้า 7 พระองค์ ” ของฝ่ายวัชรยานตันตระจากราชวงศ์ปาละในอินเดียเหนือ ที่มีกลิ่นอายของอดีตพระพุทธเจ้าจากฝ่ายเถรวาทนั้น จะได้รับความนิยมที่เมืองพิมาย (วิมายะปุระ) เป็นครั้งแรก ๆ ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ก่อนส่งอิทธิพลเข้าสู่อาณาจักรกัมพุชะเทศะ ในเวลาต่อมา
แต่กลับดูเหมือนว่าในเขตลุ่มเขมรต่ำ คติและงานพุทธศิลป์พระศากยมุนีและพระสัปตมานุษิพุทธเจ้า 7 พระองค์ ตามแบบที่พบจากเมืองพิมาย จะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับลัทธิการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือลัทธิ “โลเกศวร” (Lokeśvara) คติวัชรยานไตรลักษณ์ (Vajrayāna Triad -Trinity) และคติการบูชา“ปัญจสุคต-พระพุทธเจ้า 5 พระองค์” ที่ปรากฏความนิยมเป็นอย่างมากในจักรวรรดิบายน และในงานศิลปะของราชสำนักของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งแต่ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18
--------------------------
*** พุทธศิลป์ “พระสัปตมานุษิพุทธเจ้า” หรือ “พระพุทธเจ้า 7 พระองค์” ในคติวัชรยานตันตระจากยุคแรกของอาณาจักรกัมพุชเทศะที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเหนือ จึงมาหยุดอยู่ที่เพียงแค่ปราสาทหินพิมาย เป็นศิลปะนิยมแบบพิมายในคติแบบพุทธศาสนาวัชรยานตันตระ ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เท่านั้น ไม่ปรากฏความนิยมคติและพุทธศิลป์ “พระพุทธเจ้า 7 พระองค์” ในงานศิลปะแบบเขมรโบราณในที่อื่น ๆ ทั้งในประเทศไทยและในประเทศกัมพูชาเลย
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น