วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

นครวัด

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
การเสด็จกลับสู่สวรรคาลัยของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2  ที่พระเมรุมาศมหาปราสาท “นครวัด”  
“บรมวิษณุโลก- พระบาทมหาวิษณุโลก” (Paramavishnuloka - Phra Bat Mahā Viṣṇuloka)  คือชื่อพระนามภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2  (Suryavarman II) หรือ  "วรบาท กมรเตงอัญ ปรมวิษณุโลก" (Vora Bat Kamradeng An Paramavishnuloka)  ผู้สร้างมหาปราสาทนครวัด(Angkor Wat) อันยิ่งใหญ่
ภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงของระเบียงคดทิศใต้ปีกตะวันตกและตะวันออก เป็นภาพสลักต่อเนื่อง ที่กำลังบอกเล่าเรื่องราว “การเสด็จกลับคืนสู่สวรรคาลัยของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2”  โดยทมีการจัดเรียงลำดับภาพ เริ่มจากฝั่งตะวันตกเพื่อให้เกิดกสนเดินแบบ “อุตราวรรต” (เวียนซ้าย ทวนเข็มนาฬิกา) ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นการเดินในคติความหมาย “อวมงคล” 
ภาพสลักช่วงแรกอยู่ที่ระเบียงคดปีกตะวันตก เริ่มจากผนังกำแพงที่ติดมณฑปมุมตะวันเฉียงใต้ แสดงเรื่องราวการเคลื่อนขบวน “พยุหแสนยากร-พยุหยาตราทัพ” ในพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2  ประกอบด้วยแม่ทัพบนช้าง 20 กองทัพ ขบวนแห่พระเพลิงกลาโหม และขบวนทัพม้านำหน้า รวม 22 กลุ่มภาพ ซึ่งชื่อนามและความหมายที่จารึกไว้ในแต่ละกลุ่มภาพนั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับเหล่าความเป็น พระญาติพระวงศ์ ผู้ภักดี และนามของผู้ปกครองบ้านเมือง “วฺร กมฺรเตง อัญ” ที่อยู่ภายในจักรวรรดิกัมพุชะเทศะอันรุ่งเรือง ในยุคสมัยของพระองค์เท่านั้น
ภาพสลักขบวนกองทัพนี้ ไม่ใช่ภาพการของการเดินทัพไปรบกับจามปาหรือการเดินสวนสนามเพื่อแสดงแสงยานุภาพ ในโลกแห่งความเป็นจริงในยุคสมัยนั้น ด้วยเพราะภาพสลักบนผนังกำแพงระเบียงระเบียงคดปีกตะวันออก ได้เล่าเรื่องราวอันมีความต่อเนื่อง คือภาพ “การพิพากษาตัดสินความดีงาม” ของพระเจ้าสูรยวรมัน พระมเหสี นางใน ขุนศึกและข้าราชบริพารของพระองค์ทั้งหมดในโลกแห่งความเป็นจริง สลักเป็นรูปขบวนเดินเท้า ช่วงเริ่มต้นภาพสลักจะเดินผ่านรูป “พระยมราชา” 18 กร ทรงกระบือ เทพเจ้าแห่งความความตาย และผู้ช่วย “ธรรมบาล - จิตรคุปต์”  โดยผู้คนชั่วร้าย/ ผู้เป็นศัตรูของพระองค์ จะถูกตัดสินความโดยเหล่าคณะยมทูต  แยกพาไปลงทัณฑ์ในนรก 33 ขุม ที่สลักไว้ในแถวล่าง
ปราสาทนครวัดก็คือ “พระเมรุมาศมหาปราสาท”  รูปภาพขบวนมหากองทัพฝั่งซีกตะวันตก ก็คือภาพเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงเรื่องราวการเสด็จคืนสู่สวรรคาลัย ด้วยขบวนกองทัพและเหล่าผู้ภักดีเป็นขบวนตามเสด็จ  
----------------------------------------------
***  เริ่มต้นภาพสลักกลุ่มแรกของการส่งเสด็จพระเจ้าสูริยวรมันสู่สวรรคาลัย ทางฝั่งซ้ายสุด เป็นภาพการตระเตรียมกองทัพ ผู้คนและพระเพลิง  บนยอดเขา “ศิวบาท” มหาสถานแห่งความเชื่อมโยงสู่ปรมาตมัน สรวงสวรรค์พระสุเมรุแห่งเทพตรีมูรติ  ปรากฏภาพของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 และจารึก “สมตจ วรปาท กมรเตง อัญ ปรมวิษณุโลก” ฉลองพระองค์ด้วยเครื่องทรงกษัตริย์ พระหัตถ์ขวาถือหางแส้ พระหัตถ์ซ้ายถือผ้า ประทับนั่งบนนาคะบัลลังก์ที่แวดล้อมด้วย “ฉัตรสัปทน” 14 คัน เครื่องราชกกุธภัณฑ์ “แส้จามร” 4 ด้าม “เครื่องพัดโบก” 5 ด้าม และ“พัดวาลวิชนีหางนกยูง” 1 คู่ ท่ามกลางหมู่ข้าราชบริพารนางในแห่งราชสำนัก พราหมณ์บัณฑิตผู้ทรงเกียรติ แม่ทัพ ขุนพล นายกอง ทหาร และผู้คน 
ทรงกำลังได้รับการสรรเสริญสักการะจากเหล่าทวยราษฎร์ผู้ภักดีของพระองค์ เพื่อส่งเสด็จในครั้งสุดท้าย
ภาพสลักเหมือนกำลังเล่าว่า ...ทรงมีพระราชโองการ แก่ “วฺระ กมฺรเตง อัญ ศรีวีรสิงหวรรมม” มหาเสนาบดีผู้รับสนองพระราชโอการ “วฺระ กมฺรเตง อัญ มูล ศรีวรรทธะ - กมฺรเตง อัญ ธนัญชัย” เสนาบดี ซ้าย ขวา และ “วฺระ กมฺรเตงอัญ คุณโทษ ต ปฺวฺน” ผู้พิพากษาความเป็นคุณ (ดี) และความเป็นโทษ (ร้าย) ทั้ง 4 
“เจ้า....จงจัดเคลื่อนมหากองทัพอันเกรียงไกร ผู้ภักดีแก่เราทั้งหลาย เคลื่อนขบวนไปสู่โลกของความเป็นนิรันดรแห่งพระวิษณุเจ้า ร่วมไปพร้อมกัน...กับเราเถิด” 
*** มหากองทัพ จึงเริ่มต้นจัดขบวนขึ้นเพื่อร่วมกลับสู่สวรรค์ เริ่มจากขบวนกองทัพแรก ใกล้กับทางลงจากยอดเขาศิวบาท คือ “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีชเยนทรวรรมม” ผู้ปกครอง “ลเทา” สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ข้าง ถือโล่และหอกซัด ยืนสง่าบนสัปคับหลังช้าง มีธงชัยยาวริ้วปลายแหลม 2 ผืน และพลม้านำขบวน ประดับด้วยฉัตรสัปทน 9 คัน อยู่ปลายขบวน 
*** ขบวนกองทัพ ที่ 2 นำโดยขุนศึก “อนัก สัญชัก วนยะ ผลาน” ตำแหน่ง“วฺร กมฺรเตง อัญ วิเรนธราธิปติวรรมม (แห่ง) โฉกวกุล” สวมเกราะหนัง ถือ “ผดาก” (พร้าแป๊ะกั๊ก) พาดไว้บนบ่า เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้าย ยืนสง่าบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 9 คัน และธงชัยยาวริ้วปลายแหลม 2 ผืน 
สำหรับชื่อนาม “กมฺรเตง อัญ วิเรนธราธิปติวรรมม ” ของขบวนทัพนี้ เป็นชื่อนามเดียวกันกับชื่อผู้ปกครอง “ศรีวิเรนธราศรม” หรือเมืองวิมายปุระ จากจารึกกรอบวงกบประตูของปราสาทหินพิมายที่มีการบ่งบอกเวลาไว้ในช่วงยุคเดียวกัน ขบวนทัพนี้จึงหมายถึงกองทัพจากเมืองพิมาย (โฉกวกุล - ป่าพิกุล) ผู้เป็นพระญาติสนิทแห่งราชวงศ์มหิธระปุระอย่างไม่ต้องสงสัย
*** ขบวนกองทัพ ที่ 3 นำโดยขุนศึก “อนัก สัญชัก กันจัสปรยัก” ตำแหน่ง“วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีวีรายุทธวรรมม” สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้าย ถือธนูและลูกศร ฮึกเหิมบนสัปคับหลังช้าง มีธงชัย “ครุฑพ่าห์” และพลม้านำขบวน ประดับด้วยฉัตรสัปทน 6 คัน พัดโบก 2 ผืน
*** ขบวนกองทัพ ที่ 4 นำโดยขุนศึก “อนัก สัญชัก มัตคนัน” (ผู้มีความโกรธในสายตา) ตำแหน่ง“วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีวชยา ยุทธวรรมม” สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้าย ถือ “ผดาก” (พร้าแป๊ะกั๊ก) และโล่ ยืนสง่าบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 8 คัน มีธงชัยกระบี่ธุชและพลม้านำขบวน พลเดินเท้าของกองทัพนี้สวมหมวกเทริดยอดหัวกวางทั้งหมด
*** ขบวนกองทัพ ที่ 5 นำโดย “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีมหิปตินทรวรรมม” ผู้ปกครอง “จันลัตไต” สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้าย ถือ “ผดาก” (พร้าแป๊ะกั๊ก) และโล่ ยืนสง่าบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 6 คัน พัดวาลวิชนีหางปลา มีธงชัยกระบี่ธุชแกว่างคทาและพลม้านำขบวน
*** ขบวนกองทัพ ที่ 6 นำโดย “อนัก สัญชัก วิทยาศรม” (ผู้ให้ปัญญา) ตำแหน่ง“วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีวีรวรรมม” สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้าย ถือโล่และหอกซัด ยืนสง่าบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 7 คัน มีธงชัย “ครุฑพ่าห์” และพลม้านำขบวน 
*** ขบวนกองทัพ ที่ 7 ( ยังหาชื่อนามที่แปลมาแล้วไม่ได้ครับ) สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้าย ถืออาวุธไว้ที่ไหล่ นั่งหันหน้ามาข้างหลัง สบาย ๆ บนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 13 คัน มีธงชัยยาวริ้วปลายแหลม 2 ผืน และพลม้านำขบวน
*** ขบวนกองทัพ ที่ 8 มีขุนศึก “อนัก สัญชัก วนยะ ผลาน” (ผู้ทรงปัญญา) ตำแหน่ง“วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีวิเรนทราธิปติวรรมม” สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้าย ถือ “ผดาก” (พร้าแป๊ะกั๊ก) และโล่ ยืนสง่าบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 9 คัน คัน มีธงชัยยาวริ้วปลายแหลม 2 ผืนและพลม้านำขบวน
*** ขบวนกองทัพ ที่ 9 มีขุนศึก “อนัก สัญชัก อนักจิ ” (ผู้ชำนาญการรบ) ตำแหน่ง “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรี นรปตีนทรวรรมม” ถือคันธนูและลูกศร ยืนบนหลังช้างดูองอาจ สง่างามบนหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 10 คัน และเสาธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 2 ผืน 
*** ขบวนกองทัพ ที่ 10 มีขุนศึก “อนัก สัญชัก วนิสัตร ” ตำแหน่ง“วฺร กมฺรเตง อัญ ศรี สูราธิปวรรมม” สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้าย ถือหอกซัดและโล่ ฮึกเหิมบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 8 คัน และธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 3 ผืน มีธงชัยกระบี่ธุชและพลม้านำขบวน
*** ขบวนกองทัพ ที่ 11 มี “กมฺรเตง อัญ ธนัญชัย” เสนาบดี 1 ใน 4 ขุนศึกคู่พระทัยจากเขาศิวบาท สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ไหล่ซ้ายและเอว ถือ “ผดาก” (พร้าแป๊ะกั๊ก) มือรั้งเชือกยืนบนสัปคับ ประดับด้วยฉัตรสัปทน 10 คัน และธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 3 ผืน มีธงชัยกระบี่ธุชและพลม้านำขบวน
*** ขบวนกองทัพในลำดับที่ 12 เป็นภาพของ "วรบาท กมรเตงอัญ ปรมวิษณุโลก” (ตามจารึก) สวมชุดเกราะหนัง สะพายดาบไว้ด้านหลัง ประทับยืนอยู่บนสัปคับหลังช้างศึกทรงมงกุฎทอง แวดล้อมด้วยเครื่องสูงอย่าง “ฉัตรสัปทน”ถึง 15 คัน ธงยาวปลายริ้วโค้ง 4 ผืน เครื่องราชกกุธภัณฑ์อย่าง “แส้จามร พัดโบก พัดวาลวิชนี” พระหัตถ์ขวาจับเชือกบังคับช้าง พระหัตถ์ซ้ายถืออาวุธที่เรียกว่า “พร้าแป๊ะกั๊ก” ซึ่งเป็นอาวุธที่เหมาะกับการต่อสู้แบบประชิดตัว ใช้ในการฟันกระแทกเช่นเดียวกับดาบ ขวาน ง้าว พร้า ใบมีดทำมาจากเหล็กมีคมด้านเดียวอีกด้านเป็นสันหนา โคนส่วนที่เป็นก้านมีดเสียบทะลุด้ามเพื่อให้มีความมั่นคง ส่วนใหญ่ด้ามเป็นไม้กลึงกลมค่อนข้างยาว แต่ไม่ยาวอย่างหอกหรือทวน ส่วนที่ติดกับใบมีดโค้งเว้าขึ้น 
ด้านหน้าช้างทรง เป็นยอดเสาธงชัยรูป “วิษณุครุฑพ่าห์” ในความหมายของกองทัพกษัตริย์ผู้เป็นเสมือนอวตารของพระวิษณุ. ซึ่งก็ยังใช้สืบเนื่องต่อมาในกลุ่มรัฐขอมเก่าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในคติ “รามาธิบดี”
ด้านล่างเป็นภาพกองทัพหลวงราชองครักษ์เดินเท้า สวมชุดเกราะหนังถือหอกซัดและใช้เขนโล่ สวมเทริดหัวสัตว์และหัวลายกนกยอดแหลม เดินขนานกันเป็นคู่อย่างมีระเบียบ
*** ขบวนทัพที่ 13 นำหน้าทัพหลวง มีขุนศึกที่เปรียบเหมือนองครักษ์ “อนัก สัญชัก ไตรโลกยปุระ”(ผู้มีชัยสามโลก) เหน็บมีดสั้นที่ข้างเอวและไหล่ซ้าย มือรั้งเชือกบนสัปคับ ประดับด้วยฉัตรสัปทน 8 คัน พัดโบก 1 และธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 5 ผืน มีธงชัยกระบี่ธุชแกว่งคทานำขบวน 
*** ขบวนทัพที่ 14 นำโดย “วฺร กมฺรเตง อัญ มูล ศรีวรรทธะ” เสนาบดี 1 ใน 4 ขุนศึกคู่พระทัยจากเขาศิวบาท สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ข้างเอวและไหล่ซ้าย ถือหอกซัดและสวมเขน ยืนองอาจบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 12 คัน และธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 3 ผืน มีธงชัยกระบี่ธุชแกว่งดาบฝักปลีนำขบวน
*** กองทัพที่ 15 มีขุนศึก “อนัก สัญชัก อโส (ขาว) ลนิส ” นามว่า “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีราเชนทร วรรมม” สวมเกราะหนัง ถือ กระบี่ พาดไว้บนบ่า เหน็บมีดสั้นที่ข้างเอว นั่งห้อนขาขวาบนสัปคับหัลงช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 8 คัน และเสาธงยาวริ้ว 3 ผืน มีธงชัยกระบี่ธุชน่ายรำและพลม้านำขบวน 
*** ขบวนที่ 16 เป็นขบวนอัญเชิญหอพระเพลิงกลาโหม-พระสังเวียนพิธีกูณฑ์ โดยมีเขบวนเหล่าพราหมณ์และราชโหตาจารย์ สวดมนตราฤคเวทบูชาเทพเจ้าด้านหลัง ราชโหตาจารย์นั่งบนเปลมีคานหามและหลังคา ประดับด้วยพัด 13 คัน ธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 3 ผืน แวดล้อมด้วยเหล่านั้นบวช หรือ “บัณฑิต” มัดเกล้ามวยผมสูง
ด้านหน้าเป็นขบวนอัญเชิญหอ “พระเพลิง” (วฺร เวลิง) ประดับด้วยฉัตรสัปทน 10 คัน พัดวาลวิชนี 3 คน พัดโบก 4 มีธงชัยกระบี่ธุชร่ายรำนำขบวน ด้านหน้าสุดเป็นขบวนนักดนตรีประโคม สังข์ แตร ฆ้องกอลง และนักแสดง ประดับธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 7 ผืน
*** ขบวนทัพที่ 17 มีขุนศึก “อนัก สัญชัก ตรวาง สวาย ” นามว่า “วฺร กมฺรเตง อัญ ปฤถวีนเรนทร” สวมเกราะหนัง ถือหอกซัดและโล่ เหน็บมีดสั้นที่ข้างเอว ประดับด้วยฉัตรสัปทน 6 คัน มีพลเดินเท้าใส่เทริดรูปหัวสัตว์จำนวนมากและพลม้านำขบวน
*** ขบวนที่ 18 มีขุนศึก “อนัก สัญชัก กวีศวร” (ผู้เป็นเลิศในกวี) นามว่า “วฺร กมฺรเตง อัญ มหาเสนาปติ ศรีวีเรนทรวรรมม” สวมเกราะหนัง เหน็บมีดสั้นที่ข้างเอว มือรั้งเชือกบนสัปคับ ประดับด้วยฉัตรสัปทน 7 คัน มีพลเดินเท้าใส่เทริดรูปหัวสัตว์จำนวนมากนำขบวน
*** ขบวนกองทัพที่ 19 มี “วฺร กมฺรเตง อัญ ศรีสิงหวีรวรรมม” ถือหอกซัดและสวมเขน เหน็บมีดสั้นที่ข้างเอว อาการฮึกเหิมบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 7 คัน ธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 2 ผืน มีพลเดินเท้าใส่เทริดรูปหัวสัตว์จำนวนมากและพลม้านำขบวน
ขบวนกองทัพที่ 20 นำทัพโดย “วร กมรเตง อัญ ศรี ชัย สิงหวรรมม” นำพล เมืองละโว้ (โลฺว) ถือ “ผดาก” (พร้าแป๊ะกั๊ก) และโล่ ยืนสง่าบนสัปคับหลังช้าง ประดับด้วยฉัตรสัปทน 17 คัน พัดโบก 1 คัน ธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 2 ผืน มีพลเดินเท้าใส่เทริดรูปหัวสัตว์จำนวนมากและพลม้านำขบวน
จำนวนฉัตรร่มที่มีจำนวนมากของกองทัพนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองละโว้ ในฐานะฐานที่มั่นสำคัญของราชวงศ์ พระญาติพระวงศ์ห่าง ๆ ผู้ปกครองดินแดนฝั่งตะวันตกอันกว้างใหญ่ไพศาล 
*** ขบวนที่ 21 นำทัพโดย “เนะ สฺยำกุกฺ” (ผู้ปกครองกลุ่มชนผิวดำ ? – ตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา) ถือธนูและลูกศร ยืนสง่าบนสัปคับหลังช้าง ถักผมเป็นลอน สวมหมวกประดับดอกไม้ พลเดินเท้าถือหอกยาวแยกเป็นแง่งแหลม สวมชุดลายดอก ประดับด้วยอุบะสร้อยระย้า
ที่น่าสนใจ แต่ไม่เคยมีการพูดถึงกันก็คือลวดลายของ “สัปคับหลังช้าง” ที่มีความแตกต่างไปจากสัปคับของนายทัพฝ่ายเขมรทั้งหมด โดยทำเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย พนักของสัปคับฉลุเป็นลวดลายโค้ง คล้ายดอกไม้ 4 กลีบ มีความคล้ายคลึงกับลายดอกไม้ประดับในศิลปะแบบทวารวดีของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา/หรือบ้านเมืองในเขตลุ่มน้ำมูลมากเลย
*** ขบวนกองทัพที่ 22 เป็นทัพหน้าสุดของทั้งหมด นำโดย “อนัก ราชการยย ภาค ปมญ อเชงฺญาล” (ประเทศราช พลธนูจากเมืองเชงฺญาล) เป็นพลเดินเท้าและพลม้า ไม่มีช้างประกอบขบวน ประดับด้วยฉัตรสัปทน 8 คัน พัดโบก 1 คัน ธงชัยริ้วยาวปลายแหลม 2 ผืน
--------------------------------------------------
**** ถัดไปทางตะวันออกของโคปุระกลาง ผนังระเบียงคดอีกฟากหนึ่งแกะสลักเป็นเรื่องราวการตัดสินความของพระยมราชา ขบวนเสด็จตอนต้นภาพ จะแบ่งออกไปสองทาง  ผู้จงรักภักดีของพระองค์ทุกคนจะเดินตามเส้นทางด้านบนผนังขึ้นไปสู่สวรรค์ ส่วนศัตรูผู้ชั่วร้ายและผู้คิดคดทรยศนั้น ล้วนเดินไปตามเส้นทางด้านล่าง  เพื่อรับการพิพากษาลงโทษทัณฑ์ ให้ตกลงสู่นรกในขุมต่าง ๆ อย่างน่าสยดสยอง ดังที่ปรากฏในภาพสลักส่วนล่างของผนัง
*** ในที่สุดแล้ว พระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 ก็ได้รับการรับรองคุณงามความดี เสด็จขึ้นไปสู่สวรรคาลัย ดั้งปรากฏภาพของพระองค์ประทับในวิมาน ผนังสุดท้ายทางตะวันออกสุดของผนังภาพ พรั่งพร้อมด้วยพระมเหสี นางใน ข้าราชบริพาร ขุนทหารและผู้ภักดี ตามเสด็จขึ้นไปด้วยทั้งหมด
เครดิต ;
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ