วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ครุฑยุดนาค

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
“ครุฑยุดนาค” จากธรรมชาติ สู่คติความเชื่อ วรรณกรรมและงานศิลปะ
เรื่องราวของ “ครุฑ” (Garuda) หรือ “ผู้มีปีก - มนุษย์นก” นั้น  ปรากฏในวรรณกรรมฮินดูมาแล้วมากกว่า 3,000 ปี จากอิทธิพลของราชวงศ์ อาร์เคเมนิด (Achaemenian) แห่งจักรวรรดิเปอร์เซีย มีความหมายถึงเทพยดาผู้มีปีก ผู้ปกปักษ์รักษาความดี ซึ่งในยุคแรกนั้นยังไม่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมการเป็นวาหนะ (Vāhana) ของพระวิษณุ และยังไม่ปรากฏวรรณกรรมในเรื่องความขัดแย้งกับนาค 
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 4  เริ่มปรากฏงานศิลปะรูป “ครุฑ – ผู้มีปีก” ครั้งแรกในอินเดียเหนือ เป็นรูปของบุคคลมีปีกหรือมนุษย์นก แบบเดียวกับ เทพยดามีปีก – เทวดา ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากอิทธิพลงานศิลปะนิยมของชาวกรีกเบคเตรีย-เมโสโปเตเมีย-เปอร์เซีย อย่างรูปสลักบนผนังหินกำแพงล้อม “สถูปภารหุต” (Bharhut Stupa) เป็นรูปครุฑบนยอดเสาในความหมายของอำนาจเหนือธรรมชาติของฝ่ายดี ผู้ปกปักษ์รักษา   
     ในเวลาเดียวกันนั้น ก็ได้ปรากฏการนำรูป “นกมีจะงอยปากแหลมกำลังต่อสู้กับงู” (Serpent – งูที่กำลังส่ายหัว ในงานศิลปะจึงทำให้ดูมีหลายหัว) เลียนแบบเรื่องจริงตามธรรมชาติของนกอินทรีย์และงู มาสร้างเป็นงานศิลปะที่สื่อความหมายในเรื่องสรรพสัตว์ในป่าและธรรมชาติ (มาบูชาพระพุทธเจ้าในรูปศรีมหาโพธิ์) บนผนังคานฝั่งด้านในของซุ้มประตูโตรณะตะวันออก “สถูปสาญจี” (Sanchi Stupa) ทางเหนือของเมืองโภปาล รัฐมัธยมประเทศ อายุในช่วงราชวงศ์ศุงคะ (Shunga) ปลายพุทธศตวรรษที่ 4  รวมทั้งรูปศิลปะ “งูพันคอนกอินทรีย์” บนผนังคานโตรณะจากซากศาสนสถานในศาสนาเชน (Jainism) ชื่อว่า “กัณกาลิ ติระ” (Kankali Tila) ในเขตเมืองมถุรา รัฐอุตรประเทศ ในอิทธิพลของราชวงศ์ซาตราปเหนือแห่งมถุรา (Mathura Northern Satraps) ช่วงพุทธศตวรรษที่ 6 – 7 
    ถึงเวลานี้ ก็ยังไม่ปรากฏวรรณกรรมและงานศิลปะ “ครุฑยุคนาค” (Khrut yut nak - Garuda holding Nāga) นอกจากงานศิลปะเลียนแบบธรรมชาติ รูปนกอินทรีย์จับงูเป็นอาหารตามธรรมชาติเท่านั้น 
-----------------------------------------
*** ในพุทธศตวรรษที่ 9 ช่วงราชวงศ์คุปตะ (Gupta Dynasty) คติและวรรณกรรมเรื่อง “ครุฑ-ผู้มีปีก” ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็น 3 แนว คือ  
(1)  ในมหาภารตะ (Mahābhārata) และ ครุฑปุราณะ (Garuda Purāṇa) อธิบายว่า ครุฑ เป็นบุตรคนที่สองของพระฤๅษีกัศยปเทพ (Kashyapa) กับนางวิน(ะ)ตา (Vinata) เป็นพี่น้องร่วมอุทรเดียวกับพระอรุณ สารถีแห่งพระสุริยเทพ ในขณะที่เหล่านาค (Nāga) นับ 1,000 ก็กำเนิดขึ้นจากพระฤๅษีกัศยปเทพกับนางกัท(ะ)รุ (Kadru) ซึ่งเป็นพี่น้องกับนางวินตา ธิดาท้าวทักษะด้วยกันทั้งคู่ ทั้งครุฑและนาคจึงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน แต่ด้วยเพราะคำสาปของพระอรุณ (Aruna) (บุตรที่เกิดจากไข่ใบแรก แต่เพราะนางวินตารีบกะเทาะเปลือกนำออกมา จึงทำให้พิการมีครึ่งตัว) นางวินตาโดนโกงพนันสีม้าพระอาทิตย์แก่นางกัทรุ นางและครุฑ บุตรจากไข่ใบที่สองจึงต้องเป็นทาสแก่นางกัทรุและพวกนาคยาวนานกว่า 500 ปี แต่ครุฑได้ไปนำน้ำอมฤตมาจากสวรรค์ เพื่อปลดปล่อยมารดาให้พ้นจากความเป็นทาส จนได้ต่อสู้กับเหล่าเทพเจ้า และพระอินทร์ เป็นที่มาของชื่อนาม “สุบรรณ” ที่หมายถึงขนนกอันสวยงาม 
เมื่อพญาครุฑรู้ว่า นางกัทรุและเหล่านาคโกงการพนันสีม้าพระอาทิตย์ จึงเป็นที่มาของการจับนาคกินเพื่อล้างแค้น กลายมาเป็นรูปงานประติมากรรมครุฑยุคนาคในงานศิลปะทางความเชื่อ
(2)  ครุฑผู้เป็นวาหนะ ที่ในวรรณกรรมของฝ่ายไศวะบางสำนวนกล่าวว่า พญาครุฑนั้นเกิดขึ้นจากเทวอำนาจของพระวิษณุเจ้าเพื่อเป็นวาหนะโดยตรง ในมหาภารตะกล่าวว่า ในระหว่างการชิงน้ำอมฤต พระวิษณุเห็นความดีงามในความกตัญญูและพลังอำนาจ จึงได้เจรจายกย่อง ขอให้เป็นวาหนะโดยมิได้ต่อสู้กัน ส่วนใน “พราหมณะปุราณะ” (Brahmāṇḍa Purāṇa) ก็กล่าวถึงครุฑวาหนะ ที่ดื้อดึงจะกินนาคที่ได้รับพระจากพระศิวะ แต่ก็พ่ายแพ้ต่ออำนาจแห่งพระวิษณุ เพียงถูกนิ้วก้อยกดเหนือศีรษะเท่านั้น   
(3) ในมหากาพย์มหาภารตะ ยกให้ครุฑเป็นผู้รักษาธรรมเช่นเดียวกับพระวิษณุ ที่ต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมและขจัดความชั่วร้าย ส่วนนาคนั้นถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของความชั่ว ครุฑจึงถูกนำมาใช้ในคติเรื่องพลังอำนาจ ความกล้าหาญ ความรวดเร็วและรุนแรงในการต่อสู้กับศัตรู เปรียบประดุจครุฑ (นกอินทรีย์) โฉบลงจากท้องฟ้าลงมาโจมตีนาค (งู) ตามที่พบเห็นในธรรมชาติ  ครุฑคือผู้แข็งแกร่งและจะเป็นผู้ชนะเหนือศัตรูที่ชั่วร้ายในการทำสงคราม รูปของครุฑกับนาคกลายมาเป็นของคู่กันในคติความหมาย “ความถูกต้อง – ความดี (ครุฑ) ความไม่ถูกต้อง – ความชั่ว (นาค)” 
-------------------------------------
*** ถึงจะดูเหมือนว่าปรากฏวรรณกรรมและคติเรื่อง “ครุฑยุดนาค” ขึ้นมาในอินเดียเหนือแล้วก็ตาม แต่รูปครุฑในงานศิลปะในราชวงศ์คุปตะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 – 10  ที่ยังคงนิยมทำเป็นรูปแบบของมนุษย์มีปีกหรือมนุษย์นกต่อมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่  11 - 12 จึงเกิดเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของใบหน้าและแขนขาให้กลายเป็นรูปของนกอินทรีย์มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ปรากฏรูปศิลปะ “ครุฑยุดนาค” ขึ้นโดยตรง คงมีแต่ ภาพสลักเรื่อง “คเชนทราโมกษะ” (Gajendra Moksha) ในภาควัตปุราณะ (Bhāgavata Purāṇa)  บนผนังทิศตะวันตกของปราสาททศวาตาร  เมืองทิโอการ์ รัฐอุตตรประเทศ ที่แสดงภาพพระวิษณุทรงครุฑ ลงมาปกป้องช้างคเชนทรา (อดีตชาติคือพระเจ้าอินทรายุมมา Indradyumna กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่จากมหาภารตะ) ที่กำลังชูดอกบัวเพื่อบูชาพระวิษณุ ขอความช่วยเหลือจากภัยจระเข้ร้าย แต่ในงานศิลปะได้ใช้รูปนาคพันที่ขาช้าง ในความหมายของความชั่วร้าย – ความไม่ถูกต้องแทนรูปจระเข้
ครุฑ ในความหมายของความดี (วาหนะของพระวิษณุผู้รักษาธรรม) เข้าปะทะกับนาค (แทนรูปจระเข้) ในความหมายของความชั่ว เป็นครั้งแรกในงานศิลปะแบบคุปตะ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 นี้เอง
--------------------------------------
*** ในช่วงประมาณหลังพุทธศตวรรษที่  11 เป็นต้นมา ได้มีการผสมผสานคติ “พระวาหนะแห่งพระวิษณุ”  เข้ามาอยู่ในรูปเดียวกันกับงานศิลปะรูปครุฑยุคนาค กลายมาเป็นศิลปะนิยมในอีกรูปแบบหนึ่ง 
ประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ 12  คติความเชื่อ วรรณกรรมและงานศิลปะ เรื่อง “ครุฑยุดนาค” ในความหมายของ “ความดี (ครุฑ) เหนือความชั่ว (นาค)” ของฝ่ายฮินดูจากอินเดียใต้ เริ่มเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นช่วงแรก ปรากฏเป็นภาพของครุฑยุดนาคในงานศิลปะแบบถาลาบริวัตร (Thala Boriwat Style) ดังตัวอย่างจากทับหลังวัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี และภาพที่คล้ายคลึงกันอีกหลายแห่งในกัมพูชาและลาวที่ยังคงทำเป็นรูปครุฑอ้วน ขาสั้นอวบมีขนเป็นนก มีใบหน้าเป็นมนุษย์ที่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นจะงอยปากนก มือทั้งสองจับยุดนาคตามคติวรรณกรรม
ในขณะที่รูปศิลปะครุฑยุดนาคจากวรรณกรรมและปุราณะในอินเดียเหนือ ก็เพิ่งจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นครั้งแรก ๆ  
------------------------------------------
*** งานศิลปะครุฑยุดนาค ทั้งในความหมายของความดีเหนือความชั่ว และแบบพระวาหนะของพระวิษณุจากอินเดีย ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องในวัฒนธรรมเขมร ชวาและจามปา แต่ในคติพุทธศาสนามหายาน-วัชรยานในยุคจักรวรรดิบายน ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 จะนิยมเฉพาะศิลปะและคติของรูปครุฑยุคนาคที่ไม่มีรูปพระวิษณุประกอบ ต่อเนื่องมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้นำเอาคติและงานศิลปะครุฑยุดนาค มาดัดแปลงเพื่อใช้ประดับศาสนสถานในคติพุทธศาสนาเถรวาทมาจนถึงในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีความนิยมในวรรณกรรมพญาครุฑ ตามคติความหมายแห่งเทพปักษา ผู้พิทักษ์ความดีเหนือความชั่ว พลังอำนาจฝ่ายดี มีชัยชนะเหนือศัตรู และการป้องกันพิษร้ายต่อเนื่องมาจากอดีต
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ