พระร่วงโรจนฤทธิ์
วัดพระปฐมเจดีย์
พระคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม
พระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นพระยืนองค์ใหญ่ประดิษฐานในมุขหน้าพระวิหารทิศเหนือ ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบซุ้มพระอย่างสวยงามยิ่ง เป็นศรีสง่าแห่งพระคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม
ประวัติความเป็นมาของพระร่วงโรจนฤทธิ์นั้นมีอยู่ครบถ้วนกระบวนความ ในประกาศของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เสนาบดีกระทรวงวังครั้งรัชกาลที่ 6 ดังนี้
ประกาศถวายพระนามพระพุทธปฏิมา ที่พระวิหารด้านอุดรแห่งองค์พระปฐมเจดีย์
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า พระพุทธปฏิมาซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ด้านอุดรแห่งพระปฐมเจดีย์นั้น เดิมเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือในพ.ศ. 2451 ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัยโบราณราชธานี กอปรด้วยลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมาก ยังคงเหลืออยู่แต่พระเศียรพระหัตถ์และพระบาท ซึ่งสันนิษฐานได้แน่ว่าเป็นพระพุทธรูปยืนห้ามญาติ จึงโปรดเกล้าให้เชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นให้สมบูรณ์เต็มพระองค์ เมื่อการทำหุ่นเสร็จเป็นอันจะเททองได้แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสถาปนาพระพุทธรูปพระองค์นั้น ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2456 ตรงกับวันมหามงคลสมัยฉลองและเฉลิมพระชนมพรรษาที่วัดพระเชตุพน เมื่อการหล่อสำเร็จแล้ว มีขนาดสูงจากพระบาทถึงพระเกศ 12 ศอก 4 นิ้ว ต้องด้วยลักษณะบริบูรณ์ทุกประการ จึงโปรดเกล้าฯให้เชิญไปประดิษฐานไว้ยังพระวิหารพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ออกจากกรุงเทพพระมหานครเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 เจ้าพนักงานจัดการตกแต่งประกอบตั้งต่อมาจนแล้วเสร็จบริบูรณ์ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
ครั้นกาลต่อมา ได้ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระพุทธปฏิมากรองค์นั้นว่า ยังหาได้สถาปนาพระนามให้สมพระราชหฤทัยประสาทการและเป็นอัครปูชนียฐานไม่ จึงได้ถวายพระนามพระพุทธปฏิมาพระองค์นั้นว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอิทราทิตย์ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนิยบพิตร" เพื่อเป็นเครื่องเฉลิมพระราชศรัทธาสืบไป
ประกาศมา ณ วันที่ ตุลาคม พ.ศ. 2466
(ลงนาม เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์)
มหาเสวกเอก เสนาบดีกระทรวงวัง
ในการปฏิสังขรณ์พระร่วงโรจนฤทธิ์นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมศิลปากรดำเนินการ นับเป็นการใหญ่เพราะช่างไม่เคยหล่อพระยืนองค์ใหญ่มาก่อน มีข้อน่าสังเกตุว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ดูลงพุงเล็กน้อย เหมือนพระรูปโฉมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความเลื่อมใสผูกพันกับพระร่วงโรจนฤทธิ์มาก ในเบื้องปลายพระชนม์ชีพ ได้ทรงมีพระราชพินัยกรรมในข้อสุดท้ายว่า
"พระอังคารขอให้บรรจุใต้ฐานพระพุทธชินสีห์ในวัดบวรส่วน 1 อีกส่วนหนึ่งขอให้กันไว้บรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่องค์พระปฐมเจดีย์ ในโอกาสอันเหมาะสม ซึ่งไม่ติดต่อกับงานพระเมรุ"
ปัจจุบันพระบรมราชสรีรางคารส่วนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารทิศเหนือตรงผนังด้านหลังองค์พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ แต่เป็นเรื่องแปลกที่สุดที่ไม่นับวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 ทั้งๆที่คุณสมบัติของวัดประจำรัชกาลคือ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิหรือพระบรมราชสรีรางคาร และก็เป็นเช่นนี้ทุกวัด
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระปฐมเจดีย์ ทรงเสด็จบูชาพระปฐมเจดีย์ในพระวิหารหลวงทิศตะวันออกอันเป็นด้านหน้าของพระปฐมเจดีย์ แต่ปัจจุบันพระร่วงโรจนฤทธิ์ที่อยู่ทิศเหนือกลายเป็นด้านหน้าไปเสียแล้ว ผู้คนจำนวนมากต่างมาที่พระปฐมเจดีย์เพื่อไหว้พระร่วงโรจนฤทธิ์ โดยไม่ได้ไหว้พระปฐมเจดีย์เลย
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love. _/|\_