วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

วันแห่งชัยชนะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ศิลปะแห่ง “วันวิชัยทัสสมิ” พระแม่ทุรคาเทวีพิชิตมหิงษาอสูร
ในวันที่  26 ตุลาคม พ.ศ. 2563 นี้ ผู้นับถือฮินดูในประเทศไทย ถือว่าเป็นวัน “วิชัยทัสสมิ” หรือวันแห่งการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระแม่มหาทุรคา (Goddess Durga) ที่ได้ทรงพิชิต “มหิงษาอสูร” (Mahishasura) ได้สำเร็จ 
*** เรื่องราวของ “มหิงษาอสูร มรรทินี - มหิงษาสุรมรรทินี"  (Mahishasura Mardini) หรือการปราบอสูรควายของพระแมทุรคา ปรากฏในงานวรรณกรรมเรื่อง “มหาภารตะ” (The Epic Mahābhārata)  มาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 2 ส่วนในงานศิลปะนั้น ปรากฏชัดเจนในช่วงราชวงศ์กุษาณะ ราวพุทธศตวรรษที่ 7 และเป็นที่นิยมในช่วงราชวงศ์คุปตะ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 – 10 เป็นต้นมา
บทฉันทลักษณ์อันไพเราะ “มหิงษาสุรมรรทินีสโตรตรัม” (Mahishasura Mardini Stotram)  ได้พรรณนาว่า มหิงษาอสูรคือภาพลักษณ์แห่งความชั่วร้าย เป็นบุตรของ “อสูรรัมภะ” (Rambha)  แล้วย้อนเท้าความว่า เมื่อครั้งหนึ่งมีอสูรสองพี่น้อง คนพี่นามว่า “กาลัมภะ” (Karambha)  และ “รัมภะ” (Rambha) ผู้น้อง ทั้งสองอสูรปรารถนาที่จะมีพลังอำนาจและความเป็นอมตะ จึงเข้าบำเพ็ญตบะญาณบารมี โดยอสูรกาลัมภะผู้พี่ เลือกบำเพ็ญในน้ำเย็นถวายแด่พระวรุณเทพ (Varuna Deva) ส่วนอสูรรัมภะ เลือกที่จะบำเพ็ญตบะในเพลิงไฟ เพื่อขอพรจากพระอัคนีเทพ (Agni Deva) 
แต่พระอินทราเทพล่วงรู้ในแผนการ จึงแปลงร่างเป็นจระเข้ยักษ์สังหารอสูรกาลัมภะผู้พี่ในธารน้ำ (เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นการตายจากสัตว์ร้ายโดยบังเอิญ) ส่วนอสูรรัมภะได้รับความช่วยเหลือจากอัคนีเทพให้รอดตาย อสูรผู้น้องเกิดความเสียใจมากและเก็บความแค้นเคืองพระอินทร์ไว้ คว้าดาบจะตัดหัวตัวเองเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยบูชาพระอัคนีเพื่อขอพร (ในวรรณกรรมฮินดู การตัดคอตนเองสังเวย ถือเป็นการถวายสิ่งมีค่าสูงสุด) พระอัคนีเทพจึงประสาทพรให้เป็นอมตะ ไม่อาจตายได้โดยเทพเจ้า อสูร หรือมนุษย์ แต่ก็แนบท้ายพรไว้ว่า จะมีเพียง "คนตาย" และ “สัตว์” เท่านั้นที่สามารถสังหารอสูรรัมภะได้
เมื่อได้รับการประสาทพรจากพระอุคนี อสูรรัมภะได้เริ่มต้นออกอาละวาดสังหารผู้คนไปทั่วสารทิศ จนมาวันหนึ่งได้พลันมาพบกับนางควายเผือกที่ดูงดงาม เกิดความหลงรักนางควายสาว จึงแปลงร่างเป็นควายเผือกเข้าไปสมสู่อยู่กินด้วย จนนางควายสาวตั้งท้องขึ้นมา อสูรรัมภะจึงพานางควายท้องแก่เดินทางกลับไปยังเมืองของตน
ระหว่างทางได้พบกับควายหนุ่มซึ่งเป็นควายเปลี่ยวที่ชายป่าใกล้เมือง เกิดการต่อสู้ที่ยาวนานเพื่อแย่งชิงนางควายสาว อสูรรัมภะในร่างควายมีอายุมากสู้แรงของควายหนุ่มไม่ได้ จึงพลาดท่าถูกควายหนุ่มสังหารจนตาย ควายหนุ่มวิ่งไล่กวดนางควายเผือกไปถึงประตูเมืองของอสูรรัมภะ ทหารในเมืองจึงช่วยกันรุมฆ่าควายหนุ่ม แล้วนำนางควายเผือกท้องแก่และศพของอสูรรัมภะกลับเข้าเมือง
นางควายเผือกอาศัยอยู่ในเมืองจนคลอดบุตรชาย ที่สามารถเปลี่ยนร่างเป็นควายหรือร่างผสมที่จะมีหัวเป็นอสูรหรือเป็นควายก็ได้ (รูปลักษณ์ทางศิลปะ จึงมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เป็นควาย ร่างผสมควายหรือเป็นร่างอสูรโดยตรง) บุตรชายแห่งอสูรรัมภะจึงมีชื่อว่า “มหิงษาอสูร” (Mahishasura) 
ด้วยความแค้นเคืองในสายเลือดที่ถ่ายทอดมาจากบิดา มหิงษาอสูรสั่งให้สะสมไพร่พลกองทัพอสูร รากษส เพื่อเตรียมทำสงครามกับเหล่าเทพเจ้า แล้วบำเพ็ญตบะญาณบารมีเพื่อขอพรอมตะจากพระพรหมธาดา ซึ่งก็ได้รับประสาทพรให้เป็นอมตะ ไม่มีสิ่งใดและไม่มีผู้ใดสามารถสังหารได้ แม้แต่เหล่ามหาเทพ เทพเจ้า มหาเทวี มหาฤๅษี มนุษย์ อมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่แล้วในสามโลก
แต่พระพรหมธาดาก็ได้บันทึกแนบท้ายพรไว้เหมือนทุก ๆ ครั้ง ที่ต้องให้พรอันศักดิ์สิทธิ์แก่เหล่าอสูรผู้ชั่วร้าย ถึงแม้จะเป็นอมตะดังคำขอ แต่จะต้องตายเมื่อถูกอิสตรีสังหาร มหิษาอสูรจึงต่อรองพรแห่งพรหมาว่า ขอให้อิสตรีผู้นั้นจะต้องเกิดโดยผิดปกติวิสัย ไม่ได้เกิดจากครรภ์มารดพา ไม่ได้ถืออวตารมาจากเหล่าเทพเทวีบนสรวงสวรรค์ อิสตรีนั้นจะต้องมีฤทธาอานุภาพดั่งมหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีทั้งปวง และมีศาตราวุธทุกอย่างที่เหล่ามหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีใช้อยู่รวมกัน จึงจะสามารถสังหารตนได้
มหิงษาอสูรเชื่อมั่นว่าในสามโลกนี้ จะไม่มีอิสตรีนางใดที่จะมีคุณสมบัติได้เพียบพร้อมดังที่ได้กล่าวขอพรสกัดเอาไว้ได้อย่างแน่นอน
เมื่อได้รับประสาทพรอันยิ่งใหญ่ มหิงษาอสูรได้ออกอาละวาดรุกราน เข่นฆ่าทำลายล้างไปทั้งสามโลก นำกองทัพบุกขึ้นสวรรค์ ทำลายวิมานอินทรา (บางตำนานเล่าว่า พระอินทร์ได้ส่งวัชระให้กับควายหนุ่มกลายมาเป็นเขา จึงสามารถฆ่ารัมภะอสูรผู้เป็นบิดา อาวุธอินทราหรือ “ตรีศูล – วัชระ” จึงเป็นส่วนหนึ่งของความแค้น) ซึ่งไม่มีเทพเจ้าองค์ใดสามารถต่อกรกับมหิงษาอสูรได้เลย
เหล่าเทพเจ้าจึงรวมตัวกัน หนีมาเข้าเฝ้ามหาเทพตรีมูรติ เพื่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ เหล่ามหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษี จึงร่วมกันทำพิธีสร้างอิสตรี ผู้ที่จะลงมาปราบมหิงษาอสูรตามคำประสาพรแห่งพระพรหม พระศิวะจึงเปิดพระเนตรที่สามบนพระนลาฏสร้างดวงไฟใหญ่ขึ้นบนท้องฟ้า ร้อนแรงและทรงพลังยิ่งกว่าอำนาจแห่งพระสุริยะ (บางปุราณะ เล่าว่า มหิษาอสูรได้รับพรจากพระศิวะ เหล่าเทวดาร่วมกันเปล่งแสงแห่งความโกธา) ให้เป็น  “ครรภคฤหะแห่งอิสตรี” อันมิได้เป็นปกติวิสัย มหาเทพ มหาเทวี และมหาฤๅษีทั้งหลาย มอบศาสตราวุธและร่วมกับส่งพลังอำนาจเข้าสู่เพลิงครรภ์ พระศิวะถวายตรีศูล พระวิษณุถวายจักร พระอินทร์ถวายวัชระ อัคนีเทพถวายหอก พระวรุณเทพถวายหอยสังข์ พระสุริยะถวายคันธนูและลูกศร พระศรีลักษมีถวายดอกบัว ฯ
*** ปุราณะฝ่ายศากตะ – ศักติ (ผู้บูชาพลังสตรี) ก็เล่าว่า พระนางทุรคานั้นเกิดขึ้นบนโลกแบบเดียวกับนางปารวตี แต่มิได้เกิดจากครรภ์สตรี เป็นภาคหนึ่งของ “อาทิศักติ” (Adi Shakti หรือ “พระตรีศักติ”) 
เพลิงครรภ์แห่งรุทรเทนตร ได้บังเกิดมหาเทวีทรุคา (นางกาตยายนี) ผู้มีความงามและแสงสว่างดุจดวงอาทิตย์พันดวง มีสามเนตร 18 กร เสด็จลงมาท้าทายและเข้าต่อสู้กับมหิษาอสูรที่เชิงเขา “วินธัย” (Vindya) กองทัพมหาอสูรและเหล่าแม่ทัพนายกองได้ถาโถมบุกเข้าใส่พระนางพร้อมกันอย่างฮึกเหิม แต่ด้วยความน่าสะพรึงและโหดร้าย เทวีทุรคาได้ซัดอาวุธที่ได้รับมาจากเหล่าเทพเข้าสังหารอสูรทั้งหมดพร้อมกันในคราวเดียว จนเลือดอสูรานองปัฐพี ด้วยความโกรธแค้น มหิงษาอสูรในร่างของควายจึงเข้าโจมตี พระนางก็จับจอมอสูรมัดไว้ด้วยเชือก อสูรหลุดจากพันธนาการเปลี่ยนร่างเป็นสิงโตแล้วกระโจนเข้าใส่ นางทุรคาจึงตัดศรีษะอสูรด้วยดาบ อสูรแทรกร่างออกมาจากส่วนหัวที่ถูกตัดแล้วใช้ดาบเข้าต่อสู้ แต่พระนางก็ตรึงร่างของจอมอสูรด้วยห่าลูกศร อสูรไม่ยอมแพ้กลายร่างเป็นช้างยักษ์ แต่ก็ถูกพระนางฟันด้วยดาบจนสาหัส ก่อนตายได้กลับกลายร่างเป็นควายเผือก เทวีทุรคาเนรมิตกายเป็นเสือโคร่งใหญ่กระโจนเข้าตะปบกัดจนควายเผือกสิ้นแรงกลับคืนร่างเป็นอสูร แล้วพระนางจึงกลับร่างเป็นอิสตรี (ที่มิได้เกิดจากครรภ์) แล้วใช้ตรีศูลแทงเข้าที่หน้าอก จนสังหารมหิงษาอสูรได้สำเร็จ 
---------------------------------------
*** เล่ากันต่อมาว่า “เสือโคร่ง” (อินเดีย) ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากอำนาจแห่งเทวีทุรคา จึงเป็นเสมือนตัวแทนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของมหาเทวี จากเรื่องราว “มหิงษาอสูร – มรรทินี” นี้เอง
ส่วนในคติฮินดูสายตรีมูรติ ถือว่าเทวีทุรคาเป็นภาคหนึ่งของนางปารวตี (อุมา) จึงนิยมสร้างงานศิลปะเป็นรูปของเทวีทรงสิงโต ไม่ได้ทรงเสือโคร่งตามแบบวรรณกรรมของฝ่ายศากตะ (ศักติ) 
ในทุก ๆ ปี ประมาณเดือนตุลาคมถึงกันยายน ตามปักษ์จันทรคติของฮินดู ในอินเดียใต้จะจัดงานเทศกาลบูชาเหล่าพระแม่เทวี (Fortnight of the Goddess) โดยในระหว่างวันที่หกถึงวันที่สิบ จะมีงานเทศกาล “ทรุคาบูชา (Durga Puja)” เพื่อระลึกถึงชัยชนะของเทวีทุรคาเหนือมหิงษาอสูร อันมีความหมายถึงชัยชนะของความดีงามเหนือความชั่วร้ายและการปกป้องผู้คนที่ศรัทธาในพระองค์
------------------------------
*** งานศิลปะจากคติวรรณกรรมเรื่อง “มหิงษาสุมรรทิณี” ปรากฏความนิยมเป็นอย่างมากในหลายยุคสมัย สะท้อนความนิยมในลัทธิศักติ ที่บูชาอำนาจแห่งเพศสตรีมาแต่ในอดีต ดูตัวอย่างงานศิลปะจากรูปประกอบได้เลยนะครับ
เครดิต
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า  

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ