วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เจ้าสามพระยา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
เรื่องเก่า เล่าสนุก 
ยุทธหัตถีครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา! ๒ พี่น้องเปิดศึกชิงราชบัลลังก์ น้อง ๓ ได้ขึ้นครองราชย์!!
เผยแพร่: 28 ก.ย. 2561 10:34   โดย: โรม บุนนาค

เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราช หรือ เจ้านครอินทร์ กษัตริย์พระองค์ที่ ๖ ของกรุงศรีอยุธยาขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.๑๙๕๒ ทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์แรก คือ เจ้าอ้ายพระยา ไปครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยา องค์ที่ ๒ ไปครองเมืองแพรกศรีราชา ซึ่งก็คืออำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทในปัจจุบัน ส่วนเจ้าสามพระยา องค์ที่ ๓ ไปครองเมืองชัยนาทบุรี หรือพิษณุโลก

สมเด็จพระนครินทราธิราชครองราชย์อยู่ ๑๕ ปีสวรรคต เจ้ายี่พระยาทราบข่าวก่อนจึงยกกำลังมาตั้งที่วัดชัยภูมิ ทางจะเข้าตลาดเจ้าพรหม หวังจะขึ้นครองราชย์บัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา ฝ่ายเจ้าอ้ายพระยาทราบว่าพระอนุชายกกองทัพมารอขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงยกกำลังมาตั้งที่วัดพลับพลาชัย ตำบลป่ามะพร้าว หวังจะทวงสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ในฐานะพระเชษฐา เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงช้างต้นมาพบกันที่เชิงสะพานป่าถ่าน จึงทรงพุ่งช้างเข้าทำยุทธหัตถีกัน และทั้งสองพระองค์ก็ทรงมีฝีพระหัตถ์ที่ไม่แพ้กัน ต่างฟันพระแสงง้าวถูกพระศอคู่ต่อสู้ขาดพร้อมกัน มุขมนตรีรีบไปเฝ้าพระเจ้าสามพระยาที่เมืองพิษณุโลก กราบทูลที่พระเชษฐาทั้งสองพระองค์ขาดคอช้าง แล้วเชิญเสด็จมาเสวยราชสมบัติ ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือรู้จักกันในพระนาม เจ้าสามพระยา

คำว่า “ป่า” ของคนกรุงศรีอยุธยาในยุคนั้น หมายถึงย่านใดเป็นที่ชุมนุมของสิ่งใด ก็เรียกว่าเป็นป่าของสิ่งนั้น เช่น ป่าตะกั่ว เป็นที่ขายโซ่แหและเครื่องตะกั่ว ป่ามะพร้าว เป็นที่ขายมะพร้าว ป่าผ้าเหลือง เป็นที่ขายผ้าไตรจีวร ป่าตอง ก็เป็นตลาดขายกล้วยและใบตอง เป็นต้น ป่าถ่าน จึงหมายถึงตลาดขายถ่าน

เจ้าสามพระยาทรงนำพระศพของพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ถวายพระเพลิงที่วัดมหาธาตุ ใกล้สะพานป่าถ่าน และตรงที่สร้างพระเมรุถวายพระเพลิงศพนั้น โปรดให้สร้างขึ้นเป็นวัดราชบูรณะ ทั้งก่อพระเจดีย์สององค์ขึ้นที่เชิงสะพานป่าถ่านตรงที่ทำยุทธหัตถี พร้อมกับให้สร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้นเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชบิดาในวาระนั้นด้วย

เจ้าสามพระยาก็คือกษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ของกรุงศรีอยุธยา แม้จะได้ราชสมบัติมาอย่างบังเอิญ แต่ก็ทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง ปรีชาสามารถทั้งการรบและการปกครอง ทรงเอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎร สร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นให้ประเทศชาติอย่างมาก พระองค์ทรงได้รับการจารึกไว้ว่าเป็นผู้พิชิตขอม ปิดฉากการเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในย่านนี้ โดยยึดได้นครธม เมืองพระนครหลวงของขอม แล้วสถาปนาพระราชโอรสคือ พระนครอินทร์เจ้า เสวยราชสมบัตินครหลวง กวาดต้อนขุนนางขอมพร้อมครอบครัว กับทรัพย์สมบัติจำนวนมากมากรุงศรีอยุธยา กวาดล้างขอมจนหมดสิ้นไปจากเมืองนครหลวง ทำให้ว่างศึกจากการรบกวนในด้านนี้ถึง ๑๐๐ ปี

พระองค์ยังทรงรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยและศรีอยุธยาเข้าเป็นแผ่นดินเดียวกันด้วยกุศโลบายทางการเมืองโดยส่งพระราเมศวร พระราชโอรสที่ประสูติจากพระมเหสีองค์หนึ่งที่เป็นเจ้าหญิงของราชวงศ์สุโขทัย ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งครอบคลุมการปกครองไปถึงอาณาจักรสุโขทัยด้วย เมื่อพระราเมศวรขึ้นครองราชย์ต่อจากเจ้าสามพระยา เป็น สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อาณาจักรสุโขทัยจึงถูกรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้มีกล่าวถึงเจ้าสามพระยาอย่างมากจนถึงปัจจุบัน ก็คือภายใต้พระปรางค์องค์ใหญ่ที่วัดราชบูรณะ ที่พระองค์ทรงสร้างถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระราชบิดานั้น ได้ถูกเปิดเผยเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ มานี่เองว่า มีห้องลับใต้ดินถึง ๓ ชั้น เก็บสมบัติล้ำค่า ทั้งพระบรมสารริกธาตุ พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา
พระแสงขรรค์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องประดับทองคำของพระมหากษัตริย์มากมาย ประมาณว่าเครื่องทองราชูปโภคจากกรุวัดราชบูรณะนี้มีน้ำหนักราว ๑๐๐ กิโลกรัม ซึ่งตามกลับคืนมาจากกลุ่มขโมยที่ลักลอบขุดได้ราว ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สมบัติส่วนนี้รวมกับที่กรมศิลปากรขุดได้ภายหลัง จัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จดหมายเหตุจอง วันวลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่อยู่กรุงศรีอยุธยาหลายปี ได้บันทึกถึงเจ้าสามพระยาไว้ว่า

“พระองค์ทรงเป็นนักเสรีนิยม ทรงสร้างและบูรณะวัดหลายแห่งทรงให้ความช่วยเหลือทั้งพระและคนยากจน
พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีความเมตตามากที่สุดเท่าที่ประเทศสยามเคยมี”

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ