วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
ลงทัณฑ์ “สำมนักขา” 
ปฐมเหตุแห่งมหาสงคราม ที่ปราสาทหินพิมาย
ในมหากาพย์รามายณะ (Rāmāyaṇa Sanskrit epic)  สำนวนของวาลมิกิ (Vālmīki)  ในภาคอรัณยกัณฑ์ (Araṇya-Kāṇḍa) เล่าว่า  เมื่อองค์ศรีราม องค์ลักษมันและนางสีดา (ชนกี - Janaki)  ออกจากออกจากรุงอโยธยา รอนแรมมาตั้งอาศรมในบริเวณป่า “ปัญชะวาตี” (Panchavati) อันเป็นไพรสณฑ์ใหญ่ที่มีความร่มรื่นงดงามกลางอนุทวีป
ในวันหนึ่งขณะที่องค์ศรีราม กำลังสรงน้ำที่ริมแม่น้ำโคธาวารี (Godavari) นางยักษ์หม้ายนาม “สำมนักขา-ศูรปนขา” (Shurpanakha) พระขนิษฐาเพียงตนเดียวของท้าวราพณ์-ราวาณะหรือทศกัณฐ์แห่งกรุงลงกา ได้มาพานพบเข้าโดยบังเอิญ
ด้วยความว้าเหว่และอ้างว้าง  เพราะเสียสามี “ชิวหา” ไปจากเหตุความเข้าใจผิดเป็นเวลายาวนาน นางจึงเกิดกำหนัดในความหลงใหล ปรารถนาจะได้องค์ศรีรามผู้สง่างามมาเคียงกาย จึงเนรมิตกายเป็นสาวแรกรุ่นรูปโฉมงดงาม อ้อนแอ้นอรชร ตรงเข้าไปหาองค์ศรีราม ทำมารยายั่วยวนด้วยลูกไม้ต่างๆ นานา เพื่อเกี้ยวพาราสี แต่องค์ศรีรามก็มิได้สนใจและขับไล่ให้กลับไป ทั้งยังบอกแก่นางยักษ์ว่า พระองค์นั้นมีคู่อภิเษกแล้วและจะภักดีต่อนางแต่ผู้เดียวเท่านั้น แต่นางสำมนักขาไม่สนใจ ยังคงติดตามพัวพันดักหน้าดักหลังมาจนถึงอาศรม
เมื่อมาถึง นางเหลือบไปเห็นองค์ลักษมัน เห็นว่ามีใบหน้าหล่อเหลางดงามไม่แพ้องค์ราม นางสำมนักขาจึงเปลี่ยนใจเข้าไปยั่วยวนองค์ลักษมันผู้น้องอีกคน ซึ่งองค์ลักษมันก็ได้กล่าวแก่นางว่า เรานั้นมีนางอุรมิลา (Urmilā) เป็นคู่อภิเษก นางได้เสียสละนิทราแทนเราอยู่ที่กรุงอโยธยา เพื่อให้เราได้ตื่นตัวดูแลองค์ศรีรามและนางสีดาได้ตลอดเวลา เราจึงไม่ขอปรารถนาหญิงอื่นใดอีกแล้ว 
เมื่อมาถึงอาศรม นางสีดาออกมาต้อนรับด้วยไมตรี นางสำนักนักขาก็ให้ตกตะลึงในความงามพร้อมสรรพ เผลอจ้องมองสีดาอยู่เป็นนาน จึงคิดอิจฉาด้วยหลงตนเอง กล่าวหาว่านางสีดานี่แหละที่เป็นต้นเหตุให้องค์ศรีรามและองค์ลักษมันไม่สนใจตน จึงคืนร่างกลับเป็นนางอสูร เข้าอาละวาดตบตีนางสีดาเป็นอุตลุด
องค์ศรีรามเข้าขัดขวางและชิงตัวนางสีดาออกมาได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่องค์ลักษมันคว้าคันศรหวดตีนางสำมะนักขาจนสะบักสะบอม ล้มลงนอนหมอบสิ้นฤทธิ์ ด้วยความโกรธ องค์ลักษมันจึงคิดจะฆ่านางสำมนักขา แต่ก็เกรงว่าจะเสียพระเกียรติ์แห่งองค์ศรีราม ผู้คนในสามโลกจะดูหมิ่นว่าฆ่าสตรีไม่มีอาวุธ จึงใช้เพียงมีดตัดปลายจมูกและปลายหูของนาง ไล่ตะเพิดกลับไป
นางสำมนักขาทั้งเจ็บปวด หวาดกลัว อับอายและเจ็บแค้น หนีเตลิดไปยังเมืองโรมคัล เข้าเฝ้า “พญาขร” (คาร่า – Khara) ผู้เป็นพระเชษฐา แล้วตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จว่า นางถูกสองดาบสเข้ามารังแก หมายข่มเหงลวนลามแต่ตนนั้นได้ขัดขืนต่อสู้ จึงถูกทำร้ายอย่างสาหัส
พญาขรไม่รู้ความจริง จึงให้เจ็บแค้นดุจดังไฟสุมอก ส่งไพร่พลรากษส 7 ตน  ไปยังอาศรมแห่งองค์ศรีราม  ด้วยเพราะคิดว่าเป็นเพียงดาบสทั่วไป ที่สามารถข่มเหงสังหารได้โดยง่าย  
กลายมาเป็นปฐมเหตุของมหาสงครามระหว่างองค์ศรีราม-องค์ลักษมัน กับเผ่าพงศ์ยักษา เป็นครั้งแรก
------------------------------------------
***  ทับหลังประดับซุ้มประตูทิศฝั่งตะวันออกของเรือนธาตุวิมานปราสาทหินพิมาย แสดงเรื่องราวขององค์ลักษมันกำลังลงโทษนางยักษ์สำมนักขา ฉากหลังเป็นต้นไม้ใหญ่ แผ่กิ่งก้าน นกหัสดีลิงค์คาบช้างและสิงห์ แสดงสัญลักษณ์และความหมายที่ชัดเจนว่า เหตุการณ์ในทับหลังนี้ เกิดขึ้นใน “ป่าปัญชะวาตี” โดยมีภาพขององค์ศรีรามตระกองกอดปลอบประโลมนางสีดา ที่นั่งอยู่บนพระเพลา
บุคคลหน้ายักษ์ที่นั่งกองลงกับพื้น ใส่ชุดขาสั้น ทิ้งชายผ้า มีลักษณะการแต่งกายแบบเดียวกับรูปสลัก “นางโยคิณี” (Yogini) ธิดาแห่งเหวัชระทั้ง 8 ที่มีใบหน้าแบบอสูร-ยักษ์ บนทับหลังอีกชิ้นหนึ่งในงานศิลปะนิยมแบบพิมาย  ภาพบุคคลนี้จึงมีความหมายถึงนางยักษ์สำมนักขานั่นเอง 
เครดิต ;
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ