วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กฐิน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
หลังวันออกพรรษา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ก็ย่างเข้าสู่ “กฐินกาล”  หรือฤดูกาลทอดกฐินสามัคคี โดยมีระยะเวลารวมทั้งหมด ๓๐ วัน คือ นับตั้งแต่ วันแรม ๑ ค่ำ  เดือน ๑๑ (วันตักบาตรเทโว) ไปจนถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (วันลอยกระทง) 
“กฐินกาล” เป็นประเพณีที่อยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนไทยมาช้านาน นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยสันนิษฐานว่าเริ่มมีมาแต่แรกรับพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท(นับถือตามอาจารย์) เข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจมีมาตั้งแต่สมัยทวราวดี เพียงแต่มาปรากฏหลักฐานชัดเจน ดังปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ 
     คำว่า “กฐิน” หมายถึง กรอบไม้แม่แบบ (สะดึง) สำหรับทำจีวร และ เป็นชื่อเรียก “ผ้าไตรจีวร” ที่ถวายแด่พระสงฆ์เพื่อกรานกฐิน ที่พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยให้ภิกษุกรานกฐินได้เพียง ๑ เดือน คือ จากวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น หลังจากนั้นแล้วไม่นับเป็นกฐินค่ะ
     ปฐมเหตุที่ทรงอนุญาตกฐิน
     ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร หรือวัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ ๓๐ รูป ล้วนถือธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อ อาทิเช่น อารัญญิกังคธุดงค์ คือ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร, ปิณฑปาติกังคธุดงค์ คือ ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร, และเตจจีวริกังคธุดงค์ คือ ถือผ้า ๓ ผืน (ไตรจีวร) มีความตั้งใจจะพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ซึ่งจำพรรษาในเมืองสาวัตถี แต่ต้องเดินทางไกล และเผอิญถึงฤดูกาลเข้าพรรษาเสียก่อน เดินทางต่อไปไม่ได้ จึงตกลงกันอธิษฐานใจอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกต ตลอดไตรมาส ครั้นล่วง ๓ เดือนออกพรรษาทำปวารณาเสร็จแล้วก็เดินทางไปเมืองสาวัตถีโดยเร็ว
     ครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสถามถึงสุขทุกข์และความก้าวหน้าแห่งการปฏิบัติธรรม พระภิกษุเหล่านั้นต่างพากันกราบทูลให้ทรงทราบถึงความลำบากตรากตรำในระหว่างเดินทางของตน เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน มีจีวรเก่า พากันเดินเหยียบย่ำโคลนตม จีวรเปรอะเปื้อนโคลนเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน พระพุทธองค์ทรงทราบความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้นจึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้ที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว รับผ้ากฐินของผู้มีจิตศรัทธาถวายได้

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ