วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
แม่ทัพ “นเรนทราทิตย์” ในภาพสลักสงครามกลางเมือง (?) ที่ปราสาทพนมรุ้ง
“จารึกบ้านทาด (Ban That inscription K. 364)  อักษรเขมร ภาษาสันสกฤต ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของ “ปราสาททาดสามปรางค์” (ธาตุสามปรางค์) หรือปราสาทบ้านนาสำรวย  เขตเมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก (บาสัก-Bassac) ประเทศลาว ห่างไปทางทิศใต้ของปราสาทวัดพู ตามเส้นทางถนนโบราณ ประมาณ 18 กิโลเมตร   จารึกขึ้นในสมัยพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 17 บทสรรคะที่ 3 (Sargas) โฉลกที่ 30 กล่าวว่า  
“...พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 (Dharanīndravarman) กษัตริย์ผู้ซึ่งถูกแบ่งอาณาจักรออกเป็น 2 ส่วน ผู้ถูกพิชิตโดยพระเจ้าสุริยวรมัน (ที่ 2) (Suryavarman) ผู้เป็นหลานชายของกษัตริย์ทั้งสอง ”... (R.C. Majumdra 1953)
 สรรคะ 3 โฉลกที่ 33 ว่า
"...Lâchant sur la terre des combats l'océan de ses armées, il livra une terrible bataille; bondissant sur la tète de l'éléphant du roi ennemi, il le tua,comme Garuda, [s'abattant] sur la cime d'une montagne, tue un serpent..."
.
 “....พระองค์ทรงปล่อยให้กองทัพที่มีมากมายประดุจคลื่นมหาสมุทรอันปั่นป่วนต่อสู้กับศัตรู ส่วนพระองค์ทรงทะยานขึ้นหัวช้างและทรงปลงพระชนม์พระราชาผู้เป็นศัตรู ดุจพญาครุฑสังหารพญานาคบนยอดบรรพต...” (L. Finot 1912)
จารึกพนมรุ้ง 7 (K.384) ด้านที่ 3  กล่าวถึง แม่ทัพนเรนทราทิตย์ ว่า “...ในสนามรบอันดุเดือด พระองค์กวัดแกว่งพระขรรค์ปลายแหลมเข้าประหารศัตรู พระองค์กระโจนขึ้นไปในอากาศ เปรียบประดุจกองเพลิงอันร้อนแรง ทรงเข้าสังหารพระราชาผู้เป็นศัตรูด้วยกำลังอำนาจ อุปมาดั่งสายฟ้าอันประเสริฐที่ฟาดฝ่ามาบนยอดเขา พร้อมนำสายฝนแห่งธรรมมาสู่แผ่นดิน...” 
--------------------------------
*** จารึกบ้านทาดและจารึกปราสาทพนมรุ้ง อาจได้กล่าวถึงเรื่องราว “สงครามกลางเมือง” (Civil War)  ในหน้าประวัติศาสตร์ของ "ราชวงศ์มหิธระปุระ – มหรธีปุระ " (Mahidharapura Dynasty)  ราชสำนักแห่งดินแดนวิมายปุระ – อีสานใต้ และเข้าไปปกครองอาณาจักรกัมพุชะเทศะ ปรากฏเป็นสลักอยู่บนหน้าบันซุ้มบัณชร ชั้นเชิงบาตรชั้นที่ 2 ฝั่งทิศใต้ของปราสาทประธานเขาพนมรุ้ง
ภาพการสงครามบนหลังช้าง หรือ “ยุทธหัตถี” ตรงส่วนกลางของภาพ อาจเป็นเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญร่วมสมัยกับการสร้างปราสาท ที่เกี่ยวเนื่องกับแม่ทัพนเรนทราทิตย์-สูริยะ ผู้สถาปนาปราสาทพนมรุ้งอันงดงามขึ้นใหม่ ตามคติ “ไศวนิกาย-ปุศปตะ” (ต่อมา หิรัณยะ ผู้เป็นบุตรได้มีการก่อสร้างต่อ) แตกต่างไปจากความนิยมของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 ที่นิยมคติ “ไวษณพนิกาย”  ไม่น่าจะเป็นภาพสลักบอกเล่าเรื่องทางวรรณกรรมทั้งรามายณะ ที่พบโดยทั่วไปตามขนบแบบแผนของภาพสลักในวัฒนธรรมเขมรโบราณ และไม่ใช่สงครามทุ่งกุรุเกษตร ในมหากาพย์มหาภารตะ ที่มีการพระราชสงครามระหว่างเหล่ากษัตริย์ชมพูทวีปบนราชรถเทียมม้าจำนวนมาก อย่างภาพสลักที่ผนังระเบียงคดด้านตะวันตก ปีกทิศใต้ปราสาทนครวัด ไม่ใช่การยุทธหัตถีบนหลังช้างครับ
ภาพบุคคลที่กระโจนทะยานจากช้างศึกของตนไปยังช้างศึกฝ่ายศัตรูอย่างเก่งกล้าและคล่องแคล่ว สอดรับกับจารึกปราสาทพนมรุ้งหลักที่ 7 - 9 ที่กล่าวถึงนเรนทราทิตย์ว่า “...ทรงมีรูปโฉมที่งดงาม (หล่อ) เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่สตรี เป็นผู้เฉลียวฉลาด มีปัญญาเฉียบแหลม คล่องแคล่ว ในความสามารถในการรบ ทรงเป็นแม่ทัพของพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 ในสงครามสำคัญหลายครั้ง .... ทรงชำนาญการรบบนหลังช้าง และทรงถนัดในการใช้อาวุธหลากชนิด ...”
 “....สงครามและชัยชนะในสมรภูมิของพระองค์ คือชัยชนะของชาวมหิธระปุระ และเป็นชัยชนะของธรรมะ เหนือ ฝ่ายศัตรู ผู้เป็นดั้งอธรรม...” 
ภาพสลักที่แสดงให้เห็นร่างของราชาฝ่ายศัตรูที่ร่วงลงมาอยู่ในงวงช้าง สวมศิราภรณ์ทรงสูงอย่างคนสำคัญ ช้างทรงประดับกลดสัปทน ขบวนกองทัพที่มีธงเครื่องสูงประกอบ อาจเป็นพระราชาคนสำคัญในศึกครั้งใหญ่สุดของแม่ทัพนเรนทราทิตย์ผู้เก่งกล้า ในสงครามกลางเมืองของราชวงศ์ ที่สมรภูมิเมืองพระนครศรียโสธระปุระ
ภาพบุคคลที่หล่นลงมาตรงงวงช้าง อาจเป็นภาพวาระสุดท้ายของ “พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1” พระราชาแห่งราชวงศ์ พระเชษฐาแห่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผู้เป็นพระปิตุลาของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2  ที่พ่ายแพ้ สิ้นพระชนม์ในการสงครามบนหลังช้าง จากศึกชิงอำนาจครั้งสำคัญนี้
เป็นภาพสลักมงคลเพื่อเป็นประจักษ์พยานว่า พระองค์คือผู้ที่สามารถเอาชนะศึกชิงบ้านชิงเมืองในครั้งนั้น ร่วมกับ“พระเจ้าสูริยวรมันที่ 2” นำธรรมะและความสงบสุขมาสู่อาณาจักร
ภาพสลักหน้าบัญชร เชิงบาตร (วิมาน) ชั้นแรกฝั่งทิศเหนือ ยังอาจหมายถึงขบวนกองทัพของนเรนทราทิตย์ที่เดินทางไปทำสงคราม ยึดดินแดนทางเหนือหลายครั้ง ก่อนจะกลับมาอภิเษกเป็นนักพรต บำเพ็ญโยคะวิถีตามแบบพระศิวะอย่างเข้มงวด ตลอด 7 เดือนที่ “รมยคีรี” (Ramya Giri) อันมีปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ที่เปรียบเสมือนวิมานไกรลาส-ศิริศะ แห่งพระศิวะบนโลก ศูนย์กลางของมหิธระปุระนั่นเอง
เครดิต ;
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ