วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กำเนิดนางสีดา

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
กำเนิด  “นางสีดา”  ในรามายณะ เธอไม่ใช่ธิดาของทศกัณฐ์ 
ในมหากาพย์รามายณะ ภาษาสันสกฤตของวาลมิกิ (Valmiki) และ มหากาพย์ “รามาวาตารัม” (Ramavataram) หรือรามายณะฉบับภาษาทมิฬ ที่เขียนโดย “คามบัน” (Kamban) กวีชาวทมิฬ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ได้เล่าถึงกำเนิดของ “นางสีดา” (Sita) คล้ายคลึงกันว่า นางสีดานั้นเป็นธิดาของ “พระแม่ภูมิเทวี” (Bhūmi Devi ) (พระแม่แห่งแผ่นดิน - Goddess Earth - Mother Earth - Mother goddess พระแม่ภูมิเทวียังมีพระนามอื่นอีกมากมาย เช่น พระแม่ธรณี (Dharani), วสุธา (Vasudha) วสุนธรา (Vasundhara) พระปฤถิวี (Prithvi) ธรติ (Dharti) เอลร่า (Ella) เอลลาวาติ (Elavaani) ฯลฯ) เป็นมารดาผู้ให้กำเนิดหล่อเลี้ยงโลกและแผ่นดิน เทวีแห่งแผ่นดินผู้อำนวยความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง ค้ำจุนสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์อีกด้วย
แตกต่างไปจากรามเกียรติ์ และนิทานพื้นบ้านของอินเดียฉบับอื่น ๆ ที่บ้างก็เล่าว่านางสีดาเป็นอวตารของพระแม่ลักษมี ตามพระวิษณุลงมากำเนิดบนโลก
บางฉบับก็เล่าว่านางสีดาเคยเป็นนางอัปสรานามว่า “เวทวดี” (Vedavati) (บุตรีของ “พรหมรรษี” (Brahmarishi) หลานของพระพฤหัส (Brihaspati) บิดาของนางใช้เวลาตลอดชีพสวดแต่พระเวท พระเวททุกบทนี้จึงบังเกิดรูปสตรีที่มิได้เกิดจากกามารมณ์ นางเวทวดีจึงเกิดมาด้วยความงามและความบริสุทธิ์ยิ่ง บิดานางไม่ยอมยกนางให้กับผู้ใด ตั้งใจถวายนางต่อพระวิษณุเพียงผู้เดียว นางจึงได้บำเพ็ญตนภาวนาเพื่อให้พระวิษณุมารับนางเป็นชายา
แต่ท้าวราพณ์ – ทศกัณฐ์ ได้มาพบและขืนใจนาง นางจึงตั้งตบะเผาร่างตนเองจนมอดไหม้ในระหว่างที่ท้าวราพณ์กำลังข่มเหง ก่อนนางจะเผาตนเองจนสิ้นนั้น นางได้เอ่ยปากว่านางไม่เคยคิดอยากสาปแช่งเพราะจะทำให้บารมีแห่งศักติที่อุตส่าห์บำเพ็ญมาลดน้อยถอยไปด้วยใจอาฆาต
ในนิทานพื้นบ้านอินเดียใต้กลับเล่าต่างกันไปว่า นางเวทวดีที่ถูกทศกัณฐ์ข่มขืนนั้นไม่ได้เผาตัวเองจนตาย แต่ตั้งครรภ์ คลอดลูกออกมาเป็นนางสีดา จึงฝากคำสาปล้างแค้นไว้ที่บุตรสาว 
----------------------------------
*** บางสำนวนก็เล่าว่า นางสีดาเป็นพระธิดาของพระชนก – (จานัก Janaka) โดยตรง ไม่ได้ถูกเก็บมาเลี้ยง บ้างก็อธิบายว่า เป็นธิดาของท้าวราพณ์ (ทศกัณฐ์) กับนางวิทธยาธรมายา (Vidyadhara Maya) หรือนางมณโฑ (Mandodari) ทศกัณฑ์มีบุตรที่เกิดจากเมียแบบต่าง ๆ (คน สัตว์ อัปสรา เที่ยวข่มขืนสตรีทุกพันธุ์ที่พึงใจ) จำนวนมาก แต่ก็หามีพระธิดาไม่ นางมณโฑแค้นใจที่ทศกัณฐ์มากรัก รู้ใจว่าทศกัณฐ์อยากได้ลูกสาวมากจึงคิดแก้แค้น พอนางตั้งครรภ์ใหม่ สังหรณ์ว่าจะได้บุตรเป็นหญิงจึงไม่ได้บอกกับใคร ออกเดินทางทำทีเป็นกลับไปเยี่ยมบิดาของนาง แล้วได้แอบคลอดลูกฝากนางสีดาไว้ที่กับพระแม่แห่งแผ่นดิน ก่อนกลับมากรุงลงกา 
ในรามายณะ ฉบับวาลมิกิ และคามบัน เล่าว่า นางสีดานั้นถูกพบโดย “ท้าวชนก” (Janaka) กษัตริย์แห่ง มิถิลา (Mithila) แคว้นวิเทหะ (Videha) พร้อมพระมเหสี “สุเนนา” (Sunaina - นางรัตนมณี ในรามเกียรติ์) ในระหว่างการไถหน้าดินพิธีแรกนาขวัญ พระแม่แห่งแผ่นดินภูมิเทวีได้มอบนางสีดาผ่านรอยแยกของ “รอยไถ” ขึ้นมา แปลตรงตัวในภาษาสันสกฤตว่า “สีตา - สีดา” 
แต่ในฉบับ “รามเกียรติ์” ของไทยเล่าว่า เดิมนั้นนางสีดาถูกนำใส่ผอบลอยน้ำมาจากกรุงลงกา ตามคำนายของพิเภกว่าเป็น “กาลกิณี” จะทำลายเผ่าพงศ์ยักษ์จนพินาศ ผอบลอยทวนน้ำมายังอาศรมของฤๅษีชนก ฤๅษีพบพระธิดาสีดาก็ให้รักใครเอ็นดู เสกน้ำนมออกมาจากปลายนิ้วให้ดื่มกิน แต่ไม่นานนักก็ได้นำนางสีดาฝังไว้ในผอบดังเดิม นำไปฝากให้พระแม่ธรณี – ภูมิเทวี เป็นผู้ดูแล จนเวลาผ่านไป 16 ปี ฤๅษีชนกบำเพ็ญตบะไม่สำเร็จ จึงคิดกลับมาครองเมืองมิถิลา จึงได้ทำพิธีขอพระแม่ธรณี ไถผอบนางสีดากลับคืนมาเพื่อนำไปเลี้ยงเอง
“นางสีดา” ในรามายณะ จึงเป็นบุตรีของพระแม่แห่งโลก เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความงดงามและมั่งคั่งของมนุษย์ ที่มอบเป็นธิดาบุญธรรมแก่ท้าวชนก – จานักกะ อีกทีหนึ่ง นางสีดาในรามายณะจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า ธิดาแห่งท้าวชนก - "ชนกี" (Janaki) ครับ
ภายหลังจากที่ท้าวชนกได้รับนางสีดามาจากพระแม่ภูมิเทวี (Bhumi – Godness Earth) ทรงเลี้ยงดูนางสีดาจนเติบโตขึ้นเป็นสาวแรกรุ่น ที่มีความงดงามยิ่งกว่าหญิงนางใดในพิภพ ดังพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ได้บรรยายความงามของนางสีดาไว้ว่า
“ งามพักตร์ดั่งดวงศศิธร
งามขนงก่งงอนดั่งเลขา
งามเนตรดั่งเนตรมฤคา
งามนิสิกแฉล้มงามกรรณ
งามโอษฐ์โอษฐ์เอี่ยมดั่งจะแย้ม
งามทั้งสองแก้มงามถัน
งามจริตกิริยาวิลาวัณย์
สารพันพริ้มพร้อมทั้งกายา”
--------------------------
*** ครั้งเมื่อถึงเวลา ท้าวชนกเห็นว่านางสีดาถึงวัยที่ควรจะมีคู่ครองได้แล้ว จึงให้จัดพิธียกศร “มหาธนูโมลี” (พินากะ – Pinaka ในรามายณะ) อันเป็นอาวุธที่พระศิวะประทานให้แก่ท้าวชนก (มหาธนูโมลี พระศิวะเคยใช้ปราบอสูรตรีบูรัม และนำมาฝากไว้ที่เมืองมิถิลา เพื่อมอบแก่พระรามอวตาร "เมื่อถึงกาลอันควร คันศรนี้จะเผยตัวบุคคลที่จะเป็นผู้ปราบยุคเข็ญออกมาให้ได้ทราบกัน") เพื่อหาผู้สมควรเป็นคู่ครองให้แก่พระราชธิดาของพระองค์ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ใครก็ตามที่สามารถยกธนูนี้ขึ้นได้ก็จะได้นางสีดาเป็นมเหสี โดยทรงอธิฐานขอให้มหาธนูหนักอึ้งดุจขุนเขา ผู้ที่เป็นเนื้อคู่ของนางสีดาเท่านั้นจึงจะยกขึ้นได้

ในพิธีนี้ “พระฤๅษีวิศวามิตร” (Vishvamitra) ได้แนะนำให้พระรามและพระลักษมณ์เข้าร่วมในงานพิธีดังกล่าว เมื่อพิธีเริ่มขึ้น มีกษัตริย์และเจ้าชายจากนครต่าง ๆ มาร่วมประลองยกคันศรกันเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถยกขึ้นมาได้เลยซักพระองค์ 
จนถึงจังหวะของท้าวราพณ์ (ทศกัณฐ์) แห่งกรุงลงกา ที่แฝงตัวเข้ามาร่วมพิธีประลอง เมื่อกษัตริย์อสูรจับคันศรก็รู้สึกร้อนดังไฟเผาขึ้นมาทันที แต่ก็พยายามอดกลั้น กัดฟันยกคันศรขึ้นมาอย่างสุดแรง แต่คันศรนั้นก็หาได้เคลื่อนขยับ ท้าวราพณ์ยังไม่ยอมลดละ พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าในท่วงท่าต่าง ๆ จนเป็นที่ขบขันแก่เหล่าผู้เข้าร่วมพิธี สร้างความอับอายให้แก่พญาอสูรเป็นยิ่งนัก
ในลำดับสุดท้ายของพิธี คือ พระราม (Rama) และพระลักษณ์ (Lakshmana) ในรามเกียรติ์เล่าว่า พระลักษณ์เข้ายกศรก่อน เพื่อหยั่งดูว่าหนักเพียงใด แต่เมื่อพระลักษณ์จับ คันศรก็ขยับสามารถยกได้เลยในทันที แต่พระลักษณ์ไม่ได้ยกขึ้นเอง ถอยกลับออกมาให้พระรามผู้เป็นเนื้อคู่ที่แท้จริงของนางสีดาเข้ามายก 
ด้วยพระหัตถ์เพียงข้างเดียว พระรามก็สามารถก็ยกคันศรชูขึ้นได้อย่างง่ายดาย แล้วทรงน้าวศรสำแดงฤทธิ์ ดีดปล่อยสายธนู เกิดเสียงดังสนั่นกระจายไปทั่วพิภพและสวรรค์
---------------------------
*** ในรามายณะ ยังกล่าวถึงบทบาทของพระแม่ภูมิเทวี ที่ได้กลับมารับนางสีดาผู้เป็นบุตรี ในคราวที่พระรามยังคงดื้อดึงที่จะให้นางสีดาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ด้วยการลุยไฟครั้งที่ 2 ต่อหน้าผู้คนชาวอโยธยา หลังจากที่เนรเทศนางไปอยู่ป่า โดยไม่คิดถึงใจของนางสีดาที่เจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นางจึงเลือกขอพระแม่ภูมิเทวีเป็นผู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ หากหัวใจของนางยังภักดีกับองค์ศรีราม มิได้ปันใจให้แก่ชายอื่นอย่างที่พระรามกล่าวหา ขอให้พระแม่ภูมิเทวีมารับนางกลับไปบาดาล ซึ่งเมื่อสิ้นคำนางสีดา พื้นแผ่นดินของท้องพระโรงนครอโยธยาก็แยกออก พระนางภูมิเทวีขึ้นมารับนางสีดาต่อหน้าองค์ราม องค์ลักษมัณ พระลว (ลพ) และพระกุศ (พระมงกุฎ) โอรสแฝด รวมทั้งเหล่าข้าราชบริพารและชาวอโยธยาที่ยังคงตกตะลึง ลาจากโลกมนุษย์ไปอย่างไม่หวนกลับมาอีกเลย 
------------------------------
*** ภาพสลักบนหน้าบันด้านใน ประตูเล็กข้างซุ้มประตูใหญ่ฝั่งทิศใต้ของอาคารหอพิธีกรรม/หอรามายณะ อาคารด้านหน้าสุดของ “หมู่ปราสาทบันทายฉมาร์” สลักเล่าเรื่องราวสำคัญสามตอน ของมหากาพย์รามายณะ ในภาพสลักเดียว โดยตอนแรกเป็นภาพของนางภูมิเทวี – พระแม่แห่งแผ่นดิน ประทับนั่งบนผืนดินเหนือพญานาค (ในความหมายของโลก แผ่นดิน ความอุดมสมบูรณ์) กำลังอุ้ม (เลี้ยงดู) นางสีดา มุมด้านล่างฝั่งซ้ายของภาพ เป็นภาพของพระนาง“สุเนนา” (นางรัตนมณี ในรามเกียรติ์) โดยมีภาพบุคคลไว้เครานั่งชันเข่าซ้อนอยู่ด้านหลัง (ผู้หญิงใส่ผ้าซิ่นชันเข่าไม่ได้) อันหมายถึง “ท้าวชนก” กษัตริย์แห่ง มิถิลา ทั้งสองถือเครื่องมือ ที่แสดงการแซะ หรือไถ ไปยังฐานแผ่นดินของพระแม่ภูมิเทวี อันเป็นเหตุการณ์ตอนได้นางสีดามาจากร่องไถ ในพระราชพิธีแรกนาขวัญ 
ทางขวามือของหน้าบันในภาพ เป็นภาพสลักของพระรามและพระลักษณ์ โดยที่พระรามนั้นจะถือคันศรพรหมมาสตร์เป็นเอกลักษณ์ พระกรและพรหัตถ์ด้านขวา กำลังยกคันศรโมลี (พินากะ – Pinaka) เป็นเหตุการณ์ในรามายณะตอนพิธียกศรมหาธนูเพื่อเลือกคู่ครองของนางสีดานั่นเองครับ
เครดิต ;
วรณัย พงศาชลากร 
EJeab Academy 
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ