พระนอนใหญ่ “จันทราชา” ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ปราสาทบาปวน
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 “นักองค์จัน” (Ang Chan I) – “พระญาจันทราชา” (Chan Reachea) หรือ “สมเด็จพระเจ้าบรมราชาที่ 2 - สมเด็จพระบรมราชาองค์บรมบพิตร” ปฐมกษัตริย์อาณาจักรละแวก-ลงแวก (Lovek) (ปัจจุบันคืออำเภอกำปงตระลาจ จังหวัดกำปงชนัง ) ทรงนำกองทัพกลับเข้ามายังเมืองพระนครศรียโสธรปุระที่รกร้าง ดังจดหมายเหตุของชาวโปรตุเกสชื่อ ดิเอโก เดอ คอโต้ (Diego de Couto) ในปี พ.ศ. 2142 ที่บันทึกเรื่องการพบเมืองพระนครย้อนหลังไปในช่วงปี พ.ศ. 2094 ไว้ว่า
“...ในขณะที่กษัตริย์แห่งประเทศกัมพูชาได้เสด็จไปล่าช้างเถื่อนในป่าที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นซึ่งมีอยู่ทั่วราชอาณาจักร ทหารของพระองค์ในการหักร้างถางพงได้ค้นพบการก่อสร้างสำคัญซึ่งมีต้นไม้ขึ้นอยู่ภายในทำให้เขาไม่สามารถจะเข้าไปได้ เขาจึงได้นำความขึ้นกราบทูล....
...พระองค์ได้เสด็จไปยังที่นั่น หลังจากได้ทอดพระเนตรเห็นความยาวและความสูงของกำแพงชั้นในแล้ว พระองค์อยากจะเข้าไปสำรวจภายใน จึงมีรับสั่งให้ไพร่พลตัดต้นไม้ กอไม้และพงหญ้าที่รกรุงรัง ทรงประทับค้างแรมอยู่ ณ ริมแม่น้ำอันสวยงาม ในระหว่างการถากถางดำเนินไปอย่างเรียบร้อย โดยอาศัยคนประมาณห้าหรือหกพันคน ทำงานไม่กี่วันจึงแล้วเสร็จ และหลังจากที่ทุกอย่างได้รับการทำความสะอาดอย่างละเอียดแล้ว พระองค์ได้เสด็จเข้าไปภายใน เมื่อได้ทอดพระเนตรทั่วทั้งหมด พระองค์ทรงตื่นเต้นประทับพระทัยในความยิ่งใหญ่ของการก่อสร้างที่ได้ทรงพบเห็นเหล่านี้...
...และด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้ทรงตัดสินพระทัย ที่จะย้ายราชสำนักของพระองค์มายังเมืองพระนครที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ ในทันที....”
----------------------------
*** ในระหว่างปี พ.ศ. 2094 - พ.ศ. 2109 ช่วงที่กรุงศรีอยุธยาติดพันการพระราชสงครามกับอาณาจักรหงสาวดี พระญาจันทราชา-นักองค์จัน ได้ย้ายราชสำนักกลับเข้ามาฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์เมืองพระนครครั้งใหญ่ มีการสร้างวัดหลวงในพุทธศาสนาขึ้นใหม่หลายแห่งตามแบบคติอยุธยา แกะสลักภาพนูนต่ำบนผนังระเบียงด้านตะวันออกปีกทิศเหนือ (เรื่องชัยชนะของพระกฤษณะเหนือกองทัพอสูร) และผนังระเบียงทิศเหนือปีกฝั่งตะวันตก (เรื่อง พระกฤษณะกำราบท้าวพาณาสูร) เป็นโครงภาพทิ้งค้างไว้ที่ปราสาทนครวัดขึ้นใหม่ ระบุในจารึกว่าสลักในปี พ.ศ. 2101 และ พ.ศ. 2106
ราชสำนักเมืองละแวก ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงปราสาทใหญ่หลายแห่งให้กลายเป็นวัดในพุทธศาสนาเถรวาท (Theravāda) ดังจารึก K.1006 อักษรเขมร ภาษาไทย พบที่เขาพนมกุเลน จารขึ้นในปี พ.ศ. 2126 รวมถึงจารึกภาษาเขมร K.285 และ K.465 ได้กล่าวถึงสมเด็จพระราชมุนีที่มาจากกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทางมายังเขาพนมพระราชทรัพย์ พนมบาแค็ง (ปราสาทพนมบาแค็ง) และเรียกปราสาทนครวัดว่า “วัดพระเชตุพน”
ซึ่งในสมัยพระญาจันทราชานี้ คงได้มีการสร้างพระนอนไสยาสน์ ปางมหาปรินิพพาน-นิรวาณ (Mahaparinirvana-Nirvana) ขนาดใหญ่ ขึ้นที่ด้านหลัง ฝั่งตะวันตกของปราสาทบาปวนที่ตั้งอยู่ใกล้กับปราสาทบายน ทางทิศใต้ของพระราชวังหลวง โดยได้มีร่องรอยการรื้อหินโครงสร้างเดิมของปราสาท บาปวนหลังเดิมมาใช้ ทำให้สิ่งก่อสร้างประกอบทั้งโคปุระ บรรณาลัย ระเบียงคดด้านหลังและด้านข้างเดิม รวมทั้งส่วนยอดปราสาทถูกรื้อหายไปทั้งหมด
พระนอนไสยาสน์ใหญ่มีความสูงประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 70 เมตร (ฐานปราสาท 60 เมตร) นอนตะแคงขวา หันหน้าไปทางตะวันตก หันพระเศียรไปทางทิศเหนือตามคติ “การเสด็จสู่มหาปรินิพพาน” เรียงหินบนฐานชั้นแรกของฐานพีรามิด ปะกบติดกับโคปุระและระเบียงคดของชั้นสองเดิม ใช้อาคารระเบียงคดเป็นผนังค้ำยันด้านหลังหินที่ก่อเรียงขึ้นเป็นแนวยาว ใต้พระเศียรก่อหินยื่นออกมาเตรียมสกัดเป็นส่วนพระกรข้างขวาแบบวางราบหักพระกโบระ (ข้อศอก) ให้พระหัตถ์ขวาไปรองอยู่ใต้พระเศียร มีการก่อเสริมหินยื่นออกมาด้านหน้าฐานปราสาทเดิมตรงกับหน้าพระเศียรเพื่อเป็นฐานรองรับน้ำหนักหินส่วนพระเศียร
ในระหว่างการเรียงก่อหินเป็นโครงร่างขนาดใหญ่ ได้เริ่มมีการสลักส่วนพระพักตร์ขึ้นก่อนเป็นจุดแรก ทำขอบไรพระศก พระขนง พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์หนา สกัดหินส่วนพระหนุ (คาง) และพระศอ (คอ) เป็นแนวโค้งลึกเข้าไป
แต่การก่อสร้างและการแกะสลักก็ได้หยุดลงอย่างกะทันหัน หินก่อเป็นโครงโกลนพระนอนขนาดใหญ่ถูกทิ้งคาไว้ ไม่มีการแกะสลักต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะมาจากการสวรรคตของพระญาจันทราชา และอำนาจที่เสื่อมถอยของอาณาจักรละแวกจากการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระโอรสและพระอนุชาในเวลาต่อมา
ด้วยเพราะน้ำหนักหินก่อพระนอนใหญ่ที่มีมากเกินไปกับโครงสร้างแกนภายในปราสาทบาปวน ที่เป็นเพียงทรายกรวดอัด ทั้งยังไม่มีแรงงานจากราชสำนักมาก่อสร้างต่อหรือมาดูแลรักษา พระนอนใหญ่คงได้เริ่มพังทลายลงมาตั้งแต่ช่วงภายหลังการเสียกรุงละแวกแก่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระบรมรามาธิราชธิบดี (นักพระสัตถา) ช่วงปี พ.ศ. 2136 และได้ถูกลืมเลือนไป ไม่ได้ถูกกล่าวถึงอีกเลย
-----------------------------
*** ในยุคการปกครองของฝรั่งเศส (พ.ศ.2406-2496) สำนักฝรั่งเศสปลายบุรพทิศ (École française d' Extrême-Orient - EFEO) ได้เริ่มการบูรณะปราสาทบาปวนด้วยวิธีการอนัสติโลซิส (Anastylosis) แต่ เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในปี พ.ศ. 2513 การบูรณปฏิสังขรณ์จึงได้หยุดลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 จึงได้เริ่มมีการบูรณะปราสาทบาปวนขึ้นอีกครั้ง โดยการควบคุมของ “ปาสคาล รอแยร์” (Pascal Royère) สถาปนิกจาก EFEO ที่ได้ตัดสินใจ เลือกให้มีการยกหินก่อองค์พระนอนใหญ่ในยุคพระญาจันทราชาขึ้นใหม่อีกครั้ง การบูรณะปราสาทบาปวนอันยาวนานกว่า 51 ปี ได้ยุติลงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2554
ด้วยความยาวกว่า 70 เมตร พระนอนใหญ่จันทราชาที่ปราสาทบาปวน จึงเป็นพระนอนไสยาสน์ปางปรินิพพานในคติเถรวาทจาก “โลกยุคอาณาจักรโบราณ” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปโดยปริยาย
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
..........................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
..........................................................
วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
พระนอนใหญ่
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
ตอบลบMy blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.