วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

เราคือ “พระโพธิสัตว์” ผู้ปรารถนาความดีงามและความสุขแก่มวลมนุษย์
แต่ในยามศึก เราคือ “อวตารแห่งพระวิษณุ”
ถึงแม้จะปรากฏหลักฐานจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งจักรวรรดิบายนนั้น จะได้แสดงพระองค์เป็นเสมือนสมมุติเทพในคติพุทธศาสนาวัชรยานตันตระ ผ่านรูปงานศิลปะ ทั้ง “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ธยานิโพธิสัตว์แห่งพระอมิตาภะ “พระมหาโพธิสัตว์สมันทรภัทร – สมันทรมุข” ธยานิโพธิสัตว์แห่งพระไวโรจนะ (ใบหน้าบนยอดปราสาท ประตูโคปุระ) และ พระมานุษิพุทธเจ้า (พระนามมหาบรมสุคตบท และรูปประติมากรรม)
แต่จากภาพสลักนูนต่ำบนผนังกำแพงระเบียงคดที่ปราสาทบันทายฉมาร์ กลับได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ของพระองค์กับ “พระวิษณุ” เทพเจ้าในคติความเชื่อฮินดู ลัทธิไวษณพนิกาย (Vaishnavism –Vishnuism) ที่เป็นความนิยมของราชสำนักในช่วงยุคก่อนหน้าพระองค์ไว้อย่างน่าสนใจ
ในโศลกที่ 29 และ 31 ของ “จารึกปราสาทพระขรรค์” (K.908)  ได้เปรียบเทียบระหว่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กับ “พระราม” ในมหากาพย์รามายณะไว้ว่า  
“...พระรามและพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ต่างได้ทรงทำงานเพื่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์เป็นผลสำเร็จ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยที่มีความจงรักภักดีต่อพระบิดาเต็มที่ .....พระองค์แรก (พระราม) ได้ทรงสร้างถนนด้วยหินเพื่อว่าพลวานรบริวารสามารถข้ามมหาสมุทรไปได้ ในขณะที่องค์หลัง (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7) ได้สร้างถนนด้วยทองคำ เพื่อทำให้มนุษย์ข้ามห้วงมหรรณพแห่งสังสารวัฏไปได้...”
“...พระรามและองค์ภีษมะยังได้รับการยกย่องสรรเสริญเมื่อพระราชบิดาเสด็จลงมาจากสวรรค์เพียงสั้น ๆ แล้วพระองค์ (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7) จะได้รับการสดุดีขนาดไหน ในเมื่อพระโลเกศวรผู้เกิดขึ้นเองและมีสี่พระกร (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) ได้รับการถวายสักการบูชามาตลอดกาล...”
เมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นครองราชย์ประมาณปีพ.ศ. 1724 นั้น พระองค์ทรงโปรด ฯ ให้แก้ไขประเพณีการแบ่งชั้นวรรณะ ซึ่งพราหมณ์มหาราชครู (กมรเตง - สเตงอัญ) ในยุคฮินดูไศวะนิกายได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ฉะนั้นตลอดรัชกาลอันยาวนานของพระองค์ ผู้คนในจักรวรรดิใหม่จึงได้มีโอกาส หันมานับถือพระพุทธศาสนาวัชรยานตันตระและเถรวาทจากลังกามากขึ้น แต่กระนั้น พิธีกรรมแบบพราหมณ์หรือฮินดูก็ยังคงมีอิทธิพลในราชสำนักอยู่เช่นเดิม
พระองค์ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนามหายาน นิกายวัชรยาน ตามที่ได้มีการค้นพบประติมากรรมและวัด (ราชวิหาร) ในพุทธศาสนาหลายแห่ง แต่พระองค์ก็มิได้ละเลยในการสนับสนุนศาสนาฮินดู โดยเฉพาะในคติไวษณพนิกายตามแบบพระราชบิดา รูปศิลปะทั้งพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระวิษณุและศิวลึงค์ จึงยังคงมีการแกะสลักและได้รับการบูชาเสมอเหมือนกัน
ในรัชกาลของพระองค์วรรณกรรมภาษาสันสกฤตได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จารึกหลายหลักและภาพสลักหลายแห่ง ได้แสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมอันเกี่ยวกับเรื่องมหาภารตยุทธและวรรณคดีเรื่องรามายณะ เป็นที่นิยมกันแพร่หลาย รวมทั้งยังทรงสนับสนุนการศึกษาในราชสำนักและอุทิศราชทรัพย์จำนวนมาก เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของราษฎร
----------------------------------
*** ที่ภาพสลักนูนต่ำระเบียงคดด้านหน้าปีกทิศใต้ ปราสาทบันทายฉมาร์ ปรากฏภาพ “ปิ่นปักผม” ประดิษฐ์เป็นรูป “พระวิษณุ 4 กร” บนมวยพระเกศาเฉพาะรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่ไม่มีในรูปของศรีนทรกุมาร พระราชโอรส และจะปรากฏในสถานการณ์การสู้รบในสงครามทั้งทางบกและทางน้ำเท่านั้น แต่ไม่ปรากฏปิ่นรูปพระวิษณุบนพระเกศาภาพสลักที่แสดงว่าอยู่ในยามสงบ
ประกอบกับรูปการเคลื่อนกองทัพเข้าสู่สนามรบบนผนังกำแพงระเบียงคดทิศตะวันตก ฝั่งปีกทิศเหนือ ได้แสดงภาพของขบวนแห่อัญเชิญรูปพระวิษณุที่ประดิษฐานอยู่บนราชยานคานหาม ด้านหน้าราชรถเทียมม้าของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างชัดเจน
หากมองตามวรรณกรรม “รามายณะ” พระองค์ได้แสดงให้เห็นว่าทรงเป็นเสมือนเช่น “พระราม” ที่อวตารมาจากพระวิษณุ เพื่อลงมาปราบท้าวราวณะ และความชั่วร้ายบนโลก (ตามเรื่องราวในภาพสลักของระเบียงคดใกล้เคียงกัน ที่เรียกกันว่า “ภารตราหู”) ส่วนอาวุธของพระองค์ก็จะแสดงเป็นคันศรและธนู เช่นเดียวกับการใช้ “ศรพรหมมาตร”ของพระราม
ภาพสลักที่ปราสาทบันทายฉมาร์ จึงเป็การเฉลิมพระเกียรติสดุดีพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในครั้งที่ทรงได้รับชัยชนะเหนืออาณาจักรจามปา ในศึกสงครามครั้งสำคัญของอาณาจักร พระองค์จึงเปรียบเสมือนพระราม อวตารแห่งพระวิษณุ เช่นเดียวกับพระรามในวรรณกรรมศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่พระเจ้าอินทรวรมันที่ 4 เป็นเสมือนกับ “ราวณะ-ทศกัณฐ์” ที่พ่ายแพ้ (ในโศลกที่ 68 และ 70 ของจารึกปราสาทพิมานอากาศ K.485) สอดรับกับภาพสลักเรือพระที่นั่งในการพระราชสงครามเข้าตีวิชัยนครของพระองค์ ที่สลักหัวเรือเป็นรูปพญาอนันตนาคราช
*** ซึ่งในยามสงบสุข พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ยังคงเป็นเสมือนพระโพธิสัตว์ ผู้ประสงค์จะช่วยเหลือราษฎรให้พ้นจากโรคทางกายและความทุกข์ใจ และมุ่งสู่สุคตบท (นิพพาน) ด้วยการบำเพ็ญจนเป็นมานุษิพุทธเจ้านั่นเองครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.........................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
..........................................................


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ
  2. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ