“พระศิวะ 10 กร” ในศิลปะทวารวดี องค์เดียวในประเทศไทย จากวัดเขาเหลือ ราชบุรี
รูปสลักบนหินปูนสีเข้ม วัสดุยอดนิยมในยุควัฒนธรรมภารตะภิวัฒน์-ทวารวดี (Indianization-Dvaravati) ชิ้นหนึ่งจากวัดเขาเหลือ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ปรากฏรูปนูนสูงของ “พระศิวะ”(Shiva-śiva) ที่มี 10 กร มีศิลปะตามแบบพระพุทธรูปทวารวดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 - 14 ที่มีใบพระพักตร์ป้านกลม พระพระนลาฏ (หน้าผาก) แบนแคบ พระขนงต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน เบิกพระเนตรกว้าง มีเส้นพระกาฬเนตร พระนาสิกเป็นสัน (ถูกทุบ) พระโอษฐ์บนล่างหนาเป็นแนวตรง ติ่งพระกรรณยาวเป็นร่อง กลางพระนลาฏสลักนูน ขีดเวนขอบเป็นรูปโค้งรีแบบข้าวสารอ้วนป้อม ในความหมายของพระเนตรที่สาม (รุทรเนตร) รวบเส้นพระเกศาเป็นเส้นขึ้นไปมวยรัดเกล้าผม ปลายมวยตัด แบบที่เรียกว่า “ชฏามุกุฏ” (Jaṭāmukuṭa) หรือ “จันทราศิขระ” (Chandrasekhara) หน้ามวยผมประดับด้วยปิ่น “พระจันทร์เสี้ยว” (Crescent moon) อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญขององค์พระศิวะ
ด้านหลังพระเศียรสลักเป็นประภารัศมีวงกลม ด้านข้างปรากฏร่องรอยการสลักรูปพระกร 10 พระกร ส่วนพระวรกายที่เห็นอยู่นั้น กลับดู “ลักลั่น” ไม่ได้สัดส่วนอย่างชัดเจน รูปพระกรข้างพระวรกายยืดยาวลงไปด้านล่าง ส่วนพระอุระลงมาที่พระโสณี (เอว) ก็เล็กคอดและแคบไม่รับสัดส่วนกับพระเศียรอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็เป็นเพราะว่า ในยุคหลังครั้งหนึ่ง ซึ่งก็น่าจะเป็นสมัยกรุงศรีอยุธยา คงได้มีการขนย้ายรูปประติมากรรมพระศิวะไปที่วัดเขาเหลือ โดยช่างได้พยายามกะเทาะสกัดแก้ไขให้เป็นพระพุทธรูปยืนตรงแบบ “สมภังค์” (Samabhaṅga) เจาะหินเป็นร่องเอว เพื่อใช้เป็นโกลนร่างพอกปูนปั้นทับอีกที แต่ก็ดูเหมือนว่า การดัดแปลงจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ เพราะหินส่วนล่างไม่เพียงพอ จึงทิ้งรูปสลักค้างคาไว้ที่วัดเขาเหลือครับ
เมื่อวางสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นภาพลายเส้นลงไปบนรูปสลักพระศิวะ จึงพบว่า รูปสลักนี้ในครั้งแรกสร้าง ก่อนที่จะถูกสกัดผิวหินด้านหน้าออก เป็นรูปประติมากรรมพระศิวะ 10 กรแบบ “ประทับนั่ง” พระกรด้านใน (ติดกับตัว) จะยาวลงมารับกับรอยแตกที่เหลืออยู่อย่างสมสัดส่วน พระหัตถ์ทั้งสองวางกุมอยู่ที่พระชานุ (หัวเข่า) ที่ยังคงเห็นรอยโค้งของพระหัตถ์ล่างด้านซ้ายอย่างชัดเจน
รูปศิลปะพระศิวะประทับนั่ง 10 กร ดูเหมือนว่าจะเป็นงานศิลปะที่หาพบได้ยากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์ที่พบจากวัดเขาเหลือจึงเป็นเพียงประติมากรรมเพียงรูปเดียวที่พบในประเทศไทย ซึ่งก็ยังมีอีกองค์หนึ่งในรูปแบบเดียวกัน เป็นพระศิวะ 10 กร ประทับนั่งบนดอกบัวจาก “ปราสาททัปแบ๊งอิท” (Tháp Bánh Ít) (ขนมมัน-ขนมเทียนเวียดนาม) ในจังหวัดบินห์ดินห์ (Bình Định) ศิลปะแบบหมี่เซิน A1 พุทธศตวรรษที่ 16 -17 ซึ่งการประทับนั่งบนดอกบัว น่าจะมาจากคติ “โยคะทักษิณา” หรือ “มหาโยคีทักษิณามูรติ” (MahaYogi-Dakshina-murti) หรือพระศิวะในภาพลักษณ์ของมหาฤๅษีบรมครู “คุรุ-กูรู” ผู้สดับรู้ทุกสรรพสิ่ง เป็นมูรติหรือปางที่ทรงลงมาสั่งสอนวิชา 18 แขนง แก่เหล่าฤๅษี ฤษิณี มุนี ดาบส เทพเจ้า มนุษย์ และอสูร อย่างภาพสลักพระศิวะประทับนั่ง 8 กร ที่ผนังวิมาน“เทวาลัยไกรลาสนาถ” (Kailāsanātha Temple) หรือ “ถ้ำเอลโลร่า ที่ 16” (Ellora 16) ในเขตเมืองออรังกาบัด (Aurangabad) รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ศิลปะในยุคราชวงศ์ราชฐากุฏะ (Rashtrakuta) ในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 13 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ครับ
รูปแบบทางศิลปะของประติมากรรมพระศิวะ – โยคะทักษิณามูรติ จากวัดเขาเหลือ แกะสลักจากหินปูนสีเข้มในท้องถิ่น ด้วยงานศิลปะแบบเดียวกับรูปปูนปั้นที่พบจากเมืองโบราณคูบัว นอกจากใบพระพักตร์ที่แสดงความเป็นศิลปะทวารวดีพื้นถิ่นอย่างชัดเจนแล้ว ยังใช้รัดเกล้ามวยผมเป็นห่วงกลม รวบผมขึ้นไปมวยแบบเรียบ ๆ ทั้งยังปรากฏการใช้ตุ้มหู (Earring) แบบตุ้มก้ามปู คล้องเขากับช่องเจาะติ่งพระกรรณที่ยืดยาวลงมา
ถึงแม้ว่าในยุควัฒนธรรมทวารวดี จะมีอิทธิพลของพุทธศาสนาจากอินเดียอานธระ ปาละและลังกา แต่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 คติฝ่ายฮินดู (Hinduism) โดยเฉพาะไศวะนิกาย (Shaivism) ที่นิยมในอินเดียใต้ คงได้เข้ามาพร้อมกับการค้าทางทะเล พ่อค้าชาวฮินดู คงได้ให้มีช่างท้องถิ่นได้แกะสลักรูปพระศิวะ-โยคะทักษิณามูรติ ขึ้นไว้เพื่อการสักการบูชาในเขตสถานีการค้าของตน แกะสลักบนแผ่นเพื่อไปประกบติดกับผนังศาสนสถานขนาดเล็ก กำแพงหรือวางตั้งในที่แจ้งโดด ๆ ซึ่งต่อมาเมื่อเมืองโบราณคูบัวร้างลาลงไปในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 16 รูปสลักพระศิวะจึงถูกทิ้งไว้ ถูกทุบทำลาย จนได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปในสมัยอยุธยาครับ
เครดิต ;FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
..........................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
..........................................................
วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
พระศิวะสิบกร
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always beloved.