วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ฉากสุดท้ายขององค์ลักษมัณ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

ฉากสุดท้ายของ “รามจันทราวตาร” ที่ปราสาทเบงเมเลีย
ในปัทมปุราณะ (Padma Purāṇa)  ได้เล่าถึงเรื่องราวฉากสุดท้ายขององค์ลักษมัณ (Lakṣmaṇa)    และองค์ศรีราม (Rāmā) หลังจากที่ได้ปกครองอาณาจักรอโยธยายาวนานนับสิบเอ็ดพันปี อาณาจักรแห่งความดีงามได้เติบใหญ่และมั่นคง องค์ศรีรามได้แบ่งอาณาจักรให้แก่เหล่าพระโอรสและพระราชนัดดาขึ้นปกครองเป็นกษัตริย์อย่างเท่าเทียม และเมื่อนางสีดา (Śīta) คืนกลับจากโลกไปกับพระนางภูเทวี  ก็เป็นเวลาที่องค์อวตารจะต้องออกเดินทางกลับสู่สวรรค์วิมานไวกูณฐ์ (Vaikuṇṭha)
“...มันถึงเวลาสิ้นสุดบนโลกขององค์อวตารแล้ว...” “กาลเทวะ” (Kala Deva) ได้กล่าวขึ้นกับองค์ศรีราม   พระองค์เห็นว่าเป็นเรื่องอันสำคัญ ที่ไม่อาจจะให้ผู้ใดล่วงรู้ได้ ด้วยเพราะการจากไปของพระองค์กลับสู่เกษียรสมุทรนั้น จะทำให้ชาวโลกระทมเศร้า ความชั่วร้ายอาจหวนกลับคืนมา
จึงทรงมีรับสั่งแก่องค์ลักษมัณว่า ในการเจรจาเพื่อคืนกลับสู่สวรรค์ของพระองค์กับพระกาลในครั้งนี้ ให้พระลักษณ์คอยเฝ้า ห้ามมิให้ผู้ใดล่วงรู้เรื่องราวอันสำคัญนี้ และห้ามเข้ามาอย่างเด็ดขาด หากมีผู้หลงเข้ามา พระองค์จะสังหารเสียทันที ไม่ว่าจะเป็นผู้ใดก็ตาม
แต่เมื่อองค์ลักษมัณกำลังเฝ้าประตูอยู่นั้น “ฤๅษีทุรวาส” (Sage Durvasa) อวตารของพระอิศวร ที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวและโกรธง่าย มีฤทธามาก จะขอเข้าพบพระรามในเวลาอันสำคัญนี้ แต่องค์ลักษมัณไม่ยินยอม พยายามที่จะเหนี่ยวรั้งด้วยเหตุผลนานัปการ โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องราวการกลับสู่สวรรค์ขององค์ศรีราม แต่ฤๅษีทุรวาสไม่สนใจ ทั้งยังขู่ว่า หากองค์ลักษมัณทไม่ยอมให้ตนเข้าไปพบองค์ศรีราม จะสาปให้ชาวอโยธยาและลูกหลานทั้งหลายของกษัตริย์ประสบความพินาศฉิบหายไปตราบนานชั่วนาน
องค์ลักษมัณทรงใคร่ครวญ และตัดสินใจที่จะรับความผิดบาปนี้ไว้ด้วยตัวเองทั้งหมด จึงละเมิดคำสั่งอันศักดิ์สิทธิ์เดินเข้าไปให้ห้องเจรจาความ เพื่อแจ้งแก่องค์ศรีรามถึงการมาของพระฤๅษีทุรวาส องค์ศรีรามตกใจกับการกระทำขององค์ลักษมัณ จึงต้องลงมือสังหารพระอนุชาตามที่ได้มีรับสั่งไว้
องค์ลักษมัณขอเลือกที่จะจบชีวิตด้วยตนเอง เพื่อมิให้ความผิดบาปทั้งหลายนั้นกลับไปตกแก่องค์ศรีราม แล้วจึงประนมหัตถ์อัญชลี เดินลงไปสู่แม่น้ำ “สรยุ” (Sarya River) แม่น้ำแห่งกรุงอโยธยา เพื่อจบชีวิตของตนบนโลก กลับคืนสู่ความเป็นพญาอนันตนาคราช บัลลังก์แห่งพระวิษณุเช่นเดิม
เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดอันเป็นที่รับรู้ถึงวาระสุดท้ายแห่งองค์อวตาร  องค์ศรีรามก็ได้สละชีวิต ด้วยการเดินลงสู่แม่น้ำสรยุ ตามองค์ลักษมัณ กลับคืนสู่สวรรค์เช่นเดียวกัน
แต่เพื่อมิให้โลกต้องระทมทุกข์กับการจากไปของพระองค์และองค์ลักษมัณ ทั้งสองทรงกลับมาปรากฏกาย ณ ที่จุดเดิม ในร่างของพระวิษณุ (พระราม) ประทับบนอนันตนาคราช (พระลักษณ์) ทรงอวยพรให้กับผู้คนที่มาชุมนุม ณ ที่แห่งนั้น ทรงอวยชัยให้อาณาจักรอโยธยาของพระองค์ได้เจริญรุ่งเรืองไปตราบนานคู่ความยืนยาวแห่งมหาฮินดูกูช
-------------------------------------------
**** "ปราสาทเบงเมเลีย" (Beng Mealea– บึงมาลา) ตั้งห่างออกไปทางทิศตะวันออกของเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ประมาณ 50 กิโลเมตร ได้รับการขนานนามว่า “นครวัดตะวันออก” ด้วยเพราะมีขนาดความใหญ่โตที่ใกล้เคียงกับปราสาทนครวัดในอัตราส่วน 2 : 3 นี้ (คูน้ำมีความกว้าง 900 เมตร ยาว 1,200 เมตร ขนาดของปราสาท วัดจากมุมปราสาทมณฑปริมระเบียงคด มีความกว้าง 125 เมตร ยาว 181 เมตร วางผังตามแนวแกนทิศตะวันออกมาทิศตะวันตก)  ตามรูปแบบการจัดวางผัง คติและงานศิลปะ มหาปราสาทหลังนี้ควรสร้างขึ้นในช่วงสมัยของ “พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 - พระเจ้ายโศวรมันที่ 2” ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ในคติ “ไวษณพนิกาย” ที่ยังคงสืบทอดความศรัทธามาจากยุคปราสาทนครวัด และยังปรากฏภาพสลักในคติพุทธศาสนาวัชรยานอีกด้วย
ภาพสลัก บนหน้าบันมุขประตูของอาคารวิหาร (หอคัมภีร์-พิธีกรรม) ขนาดใหญ่ ปีกทิศใต้ ที่ตั้งอยู่ภายในระเบียงคดชั้นนอก อยู่บนเส้นทางบันไดสะพานไม้ยกสูงที่ทำไว้สำหรับการเดินท่องเที่ยวปราสาทในท่ามกลางต้นไม้ที่ร่มรื่นโดยเฉพาะ เป็นภาพของกลุ่มบุคคลกำลังความเคารพ โดยมีภาพของบุคคลหนึ่งนอนพนมมืออยู่ในน้ำ มีภาพของฤๅษี ภาพบุคคลชายหญิง และภาพบุคคลหนึ่งทางขวามีขนาดใหญ่กว่าบุคคลธรรมดา มีหางยาว ซึ่งก็ควรหมายถึงวานร ภาพสลักบนหน้าบันนี้จึงเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับวรรณกรรมรามายณะ (Rāmāyaṇa Sanskrit epic) อย่างไม่ต้องสงสัย
บุคคลที่นอนอยู่ด้านล่าง คือถึงองค์ศรีราม กลุ่มบุคคลคือเหล่าพระอนุชา พระราชโอรสและพระราชนัดดา และพญาสุครีพ (Sugriva) กษัตริย์วานรแห่งนครขีดขิน (Kiṣhkindhā –นครกีษกินธา) พันธมิตรแห่งองค์ศรีราม ต่างมาร่วมกันส่งเสด็จองค์ศรีรามที่ริมแม่น้ำสรยุ
ส่วนด้านบน ควรเป็นรูปสลักของเหล่าเทพเจ้าที่กำลังทูนพระวิษณุที่ประทับบนพญาอนันตนาคราช (แต่หักหายไป) ที่กลับขึ้นมาจากแม่น้ำ เป็นภาพไฮไลท์สำคัญของรูปสลักบนหน้าบันมุขหน้านี้
--------------------------------------
***   "สะพานไม้หรรษา" ของปราสาทเบงเมเลีย เป็นเส้นทางเดินท่องเที่ยวภายในปราสาทที่จะพาลัดเลาะไปตามก้อนหินที่พังทลาย เดี๋ยวเดินขึ้น เดี๋ยวเดินลง ลัดเลาะไปในท่ามกลางซากปราสาทที่ปกคลุมด้วยร่มไม้ เมื่อเดินมาถึงซุ้มโคปุระตะวันออกของระเบียงชั้นที่สอง ก็จะต้องเดินลงไปด้านล่าง ตามเส้นทางภายในระเบียงคดชั้นกลางที่มืดสลัว บางครั้งจะมีช่องแสงเล็ดลอดเข้ามา ดูเป็นที่น่าตื่นเต้นและสนุกสนาน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ความสะดวกในการปีนป่ายก้อนศิลาเป็นระยะ ๆ
ในท่ามกลางกองหินที่พังทลาย สภาพดิบ ๆ เดิม ๆ ของงานศิลปะช่างหลวงในป่าไพรสณฑ์ แต่กลับยิ่งดูมีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์และกลิ่นอายแห่งอดีต ให้น่าเรียนรู้ น่าสัมผัสอย่างบอกไม่ถูก จนเหมือนเป็นการท่องเที่ยวที่ได้อารมณ์แบบนักผจญภัย นักหาสมบัติผสมผสานเข้ามาในอารมณ์ไปพร้อมกันด้วย
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
.....................................................


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ
  2. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ