"18 มงกุฎ" รามเกียรติ์แห่งปราสาทเขาพนมรุ้ง
ถึงแม้ว่าเรื่องราวของ “วานรทั้ง 18” หรือ “18 มงกุฎ” ในวรรณคดี “รามเกียรติ์” (Ramakian) อาจเป็นเพียงเนื้อความที่ปรากฏเฉพาะในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มิใช่เรื่องราวที่สืบทอดมาจาก “มหากาพย์รามายณะ” (Rāmāyaṇa Sanskrit epic) โดยตรงก็ตาม แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ของรามเกียรติ์ ก็ยังคงยึดหลักการดำเนินเรื่องมาจากรามายณะเป็นสำคัญ
หนุมานในรามายณะ ไม่เจ้าชู้ ถือเพศพรหมจรรย์ ต่างจากรามเกียรติ์ ที่กลายมาเป็นลิงจอมเจ้าชู้ ทั้งนางเบญกาย นางบุษบามาลี นางสุวรรณมัจฉา เรียกว่า “ไม่เลือกหน้าถ้าถูกใจ” เช่นเดียวกับวานร 18 มงกุฎ ที่ไม่ปรากฏในรามายณะ แต่กลับโลดแล่นมีตัวตนในวรรณคดีรามเกียรติ์
18 มงกุฎ เป็นวานรที่มาจากสองเมืองคือ เมืองขีดขิน (Kiṣhkindhā –นครกีษกินธา) ที่ปกครองโดยพญาสุครีพ (Sugriva) และเมืองชมพูของท้าวมหาชมพู (Champhuvarat) (*กองทัพเมืองขีดขิน 27 สมุทร กองทัพเมืองชมพู 50 สมุทร รวมเป็น 77 กองทัพ) ดังบทละครรามเกียรติ์ ที่กล่าวว่า
๏ เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่
ต่างทูลอาสาพระภูวไนย .....จะขอไปเป็นพลพระอวตาร
มาล้างเหล่าอสุรพาลา ..... ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน
พระราหูฤทธิไกรชัยชาญ ......เป็นทหารชื่อนิลปานัน
พระพินายนั้นเป็นนิลเอก .....พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน
พระเกตุเป็นเสนีกุมิตัน .....พระอังคารเป็นวิสันตราวี
พระหิมพานต์จะเป็นโกมุท .....พระสมุทรนิลราชกระบี่ศรี
พระเพลิงเป็นนิลนนท์มนตรี .....พระเสารีเป็นนิลพานร
พระศุกร์เป็นนิลปาสัน .....พระหัสนั้นมาลุนทเกสร
พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน..... พระจันทรเป็นสัตพลี
วิรูฬหกวิรูปักษ์สองตระกูล .....เป็นเกยูรมายูรกระบี่ศรี
เทวัญวานรนอกนี้บาญชี .....เจ็ดสิบเจ็ดสมุด*ตรา ฯ
ซึ่งแต่เดิม วานรทั้งหมดก็คือเทพเจ้า 18 องค์บนสวรรค์ ทั้งทิศปาลก (ผู้รักษาทิศ) และเทพนพเคราะห์ ที่อาสามาตามพระนารายณ์อวตารมาเป็นพระราม หรือ “รามจันทราวตาร”อันได้แก่
1. “เกยูร” (Gayoon) คือ “ท้าววิรุฬหก” ผู้เป็นใหญ่ในยักษ์ทั้งหลายและเป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศใต้ ได้แบ่งภาคมาเป็นเกยูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงแก่ มักปรากฏชื่อในกองทัพตอนรบกับเหล่าอสูรหลายตอน ซึ่งตอนหนึ่งปรากฏขึ้นในการจัดทัพรวมพลเมืองขีดขินและเมืองขมพู เพื่อยกไปลงกา สุครีพจัดกองทหารประกอบด้วยเสนาวานรสิบแปดมงกุฎ
2. “มายูร” (Mayoon) คือ “ท้าววิรูปักษ์” ผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาค เป็นหนึ่งในจตุโลกบาลประจำทิศตะวันตก แบ่งภาคมาเป็นมายูร วานรเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า สีม่วงอ่อน ได้รับการกล่าวถึงในกระบวนทัพเช่นเดียวกับเกยูร
3. “โกมุท” หรือ “โคมุท” (Gomut) คือ “พระหิมพานต์” ผู้ดูแลรักษาป่าหิมพานต์ มีฤทธิ์เดชเก่งกล้ามาก รบชนะพวกยักษ์เสมอ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีดอกบัวโรย – ชุมพูซีด (บ้างก็ว่าหุบปาก) อยู่ในกองทัพที่รบกับอสูรเช่นกัน และเมื่อเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายซ้ายเมืองขีดขิน คู่กับไชยามพวาน
4. “ไชยามพวาน” (Chiyapavan) คือ “พระอีศาณหรือพระวิศาลเทวบุตร” แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน เมื่อเสร็จศึกได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาฝ่ายขวาเมืองขีดขิน
5. “ไวยบุตร” (viyabut) คือ “พระพิรุณ” เทพแห่งฝน แบ่งภาคเป็นวานรเมืองขีดขินมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีเมฆครึ้มฝน หรือสีมอครามแก่
6. “สุรกานต์” (Surakan) คือ “พระมหาชัย” แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน คุมกำลัง 30 สมุทรมาช่วยรบ เมื่อเสร็จศึกได้ครองเมืองโรมคัลซึ่งเป็นเมืองของยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเหลืองจำปา
7. “นิลเอก” (Nilaek) คือ “พระพินาย” แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีทองแดงแก่ (บางแห่งก็ว่าหุบปาก) มีบทบาทในการรบไม่น้อย เช่น ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต
8. “นิลขัน” (Nillkan) คือ “พระพิเนกหรือพระพิฆเนศ” แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ช่วยพระรามรบกับพวกยักษ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีหงดินแก่ หรือสีอิฐแก่ (หงคือสีแดงเจือขาว)
9. “กุมิตัน” (Gumitan) คือ “พระเกตุ” หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ มาแบ่งภาคมา ไม่ปรากฏว่าเป็นฝ่ายใด บ้างก็ว่าอยู่เมืองชมพู ปรากฏในคราวกระบวนทัพครั้งพระมงกุฎพระลบรบกับท้าวคนธรรพ์นุราช หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ (บางทีก็ว่าปากอ้า) สีทอง หรือ สีเหลืองรง (รง คือ ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่มียางสีเหลือง)
10. “นิลราช” (Nillraj) คือ “พระสมุทร” แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู นอกจากมีบทบาทสำคัญในการรบแล้ว ยังมีหน้าที่เอาก้อนหินไปถมทะเลในตอนจองถนน เพราะต้องคำสาปของฤๅษีคาวิน ว่าเมื่อเอาสิ่งใดทิ้งน้ำจะจมอยู่กับที่ไม่ขยับไปไหน จึงต้องเป็นผู้อาสาเอาศิลาไปทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า (บ้างก็ว่าปากหุบ) สีน้ำไหลหรือสีฟ้าอ่อนเจือเขียว
11. “สัตพลี” (Satapee) คือ “พระจันทร์” หนึ่งในเทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน นอกจากมีหน้าที่จดความดีความชอบของเหล่าทหารแล้ว ยังมีบทบาทเด่นเป็นผู้เขียนสารส่งไปยังกรุงลงกา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาลักษณ์แห่งเมืองขีดขิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบ สีขาวผ่อง
12. “วิสันตราวี” (Visantarvi) คือ “พระอังคาร” เทพแห่งสงคราม หนึ่งในเทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในตอนพระพระพรตพระสัตรุดทำศึกกับท้าวทศพิน หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแดงลิ้นจี่
13. “สุรเสน” (Surasane) คือ “พระพุธ” เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ความเก่งกาจเกือบเทียบได้กับหนุมาน เมื่อเสร็จศึกได้ไปครองเมืองอัสดงค์ของสัทธาสูร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีแสด หรือสีเขียว
14. “นิลปานัน” (Nillpanan) คือ “พระราหู” เทวดานพเคราะห์ แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพูมาช่วยรบ หัวโขนจะเป็นหน้าวานรปากอ้า สีสำริด
15. “มาลุนทเกสร” (Maruntakesorn) คือ “พระพฤหัสบดี” เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในคราวพระรามรบกับมังกรกัณฐ์ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้า (บ้างก็ว่าปากหุบ) สีเมฆ หรือสีม่วงครามอ่อน
16. “นิลปาสัน” (Nillpasan) คือ “พระศุกร์” เทวดานพเคราะห์แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองชมพู ปรากฏในการรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรปากอ้าสีเลื่อมเหลือง หรือสีหมากสุก
17. “นิลพานร” หรือ “วิมล” (Nillpanara-Vimul) คือ “พระเสาร์ฎ เทวดานพเคราะห์ที่แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน ปรากฏในการรบตอนหกรถรบหกวานร หัวโขนเป็นหน้าวานรปากหุบสีดำหมึก
18. “เกสรทมาลา” (Kesorntamala) คือ “พระไพศรพณ์” แบ่งภาคมาเป็นวานรเมืองขีดขิน (บางแห่งว่าไม่ปรากฏเป็นฝ่ายใด) ปรากฏในตอนรบกับกุมภกรรณ หัวโขนเป็นหน้าวานรอ้าปากสีเหลืองอ่อน หรือเลื่อมเหลือง
-------------------------------------------
*** เรื่องเล่าร่วมสมัยกล่าวว่า ในช่วงรัชกาลที่ 6 มีกลุ่มมาเฟียนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนักเลงการพนัน คุมบ่อนเบี้ยโรงจีน ชอบสักตามตัวเป็นรูปวานร 18 มงกุฎ ชาวบ้านจึงนิยมเรียกพวกนักเลงการพนันว่า “พวกสิบแปดมงกุฎ” ติดปากกันเรื่อยมา
ชื่อนาม "18 มงกุฎ" จากเทพเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ในความดี กลับถูกนำไปใช้เปรียบกับพวกนักเลงการพนัน พวกที่มีเล่ห์เหลี่ยมกลโกง นักต้มตุ๋นไปเสีย เพียงเพราะการนำรูปรอยสักไปสักไว้ตามตัว พลอยทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณความดีของวานรสิบแปดมงกุฎในวรรณกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เลือนหายไปจากความทรงจำ อีกทั้งยังกลายความหมายไปในทางไม่ดี
ยิ่งในทุกวันนี้ คำว่า “สิบแปดมงกุฎ” มิใช่สำนวนที่ใช้จำกัดเรียกขานเฉพาะพวกนักเลงการพนันเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย เป็นสำนวนที่พบเห็นบ่อยมากตามสื่อมวลชนต่าง ๆ มีความหมายถึงพวกที่ยักยอก ต้มตุ๋น หลอกลวงด้วยกลอุบาย หรือคำพูดล่อลวง ปั้นเรื่อง สร้างภาพตัวเองให้ดูดี มีความรู้ หลอกให้ผู้อื่นหลงเชื่อ ตายใจแล้วหาผลประโยชน์ทางด้านเพศให้แก่ตน หรือยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินผู้อื่นมาเป็นของตน
ซึ่งตอนนี้ก็มีให้เห็นมากมายเหลือคณานับ
---------------------------------------
*** ถึงแม้ว่ามันอาจไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ที่หน้าบันสลักหินแผ่นหนึ่งเหนือซุ้มประตูเล็กด้านปีกขวาของโคปุระทางเข้าทิศตะวันออกของปราสาทประธานพนมรุ้ง ปรากฏภาพสลักของยักษ์ ที่กำลังถูกเหล่าวานรโรมรัมพันตู ทั้งขบกัด ยื้อยุด ฉุดกระชาก จิกผม แย่งอาวุธ เป็นฉากสำคัญในขนบภาพของ “ศึกกุมกรรณ” (Kumbhakarna Battles The Monkeys)
ซึ่งหากนับจำนวนกันดี ๆ ก็จะนับวานรได้ 18 ตัวพอดี ....อะไรมันจะบังเอิญกันได้ขนาดนั้น
หรือภาพสลักนี้ จะเป็นฉากของเรื่องราววานร 18 มงกุฎ เหล่าเทพเจ้าผู้อวตารมาช่วยพระนารายณ์จากวรรณกรรมรามายณะในยุควัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่กลายมาเป็นต้นเรื่องของรามเกียรติ์ในราชสำนักสยาม กำลังต่อสู้กับความชั่วร้าย ในความหมายของยักษ์
อย่างไรก็ตาม มันก็ช่างเป็นความบังเอิญที่ลงตัวเอามาก ๆ ถ้าหากเราจะถือโอกาสหยุดยืน แล้วบอกเล่าเรื่องราวของ 18 มงกุฎ บนหน้าบันของประตูทางเข้าสู่มหาเทวาลัยวิมานแห่งพระศิวะ ผ่านภาพสลักพันปีที่ข้ามเวลา “มาก่อนกาล” กับรอยต่อของรามายณะแบบอินเดียกับรามเกียรติ์แบบสยาม บอกเล่าถึงวีรกรรมของวานร 18 มงกุฎ ในความกล้าหาญและดีงามทางวรรณกรรม
เรื่องเล่าและจินตนาการ จะนำพาให้การท่องเที่ยวปราสาทเขาพนมรุ้งมีชีวิตชีวา ขึ้นกว่าเดิม
ไชยามพวาน ทหารหน้า .....เกสรทมาลากล้ากลั่น
นิลราช กาจฉกรรจ์ .....เคียงคู่ นิลขัน ชาญชัย
นิลเอก ฤทธิไกรดังไฟกัลป์ .....คู่ นิลปานัน ทหารใหญ่
วิมล รณรบว่องไว ......ถัดไปชื่อ วิสันตราวี
มาลุน เริงแรงกำแหงหาญ .....เคียงขนาน เกยูร กระบี่ศรี
ทั้ง มายูร พูนพลังแข็งขันดี ......คู่กับ สัตพลี มีเดชา
สุรเสน เจนจบรบรอนราญ ......คู่กับ สุรกานต์ ทหารกล้า
โกมุท วุฒิไกรไวปัญญา .....เคียงมากับกระบี่ กุมิตัน
ไวยบุตร รำบาญราญแรง .....เคียงแข่งกับ นิลปาสัน
ครบสิบแปดมงกุฎสุดฉกรรจ์ .....ทหารเอกทรงธรรม์รามราชา
*** ปล. จริง ๆ แล้ว ที่รมยคีรีศรีวนัมรุ้งนี้ อาจเคยมีฝูงลิงอาศัยอยู่มากมาย ขนาดต้องทำทำป้ายหิน เพื่อเตือนนักท่องเที่ยวในสมัยโบราณ ให้ระวังการให้อาหารลิง แต่คนในยุคสมัยใหม่นี่สิ ไปบอกว่าเป็นภาพสงครามอะไรต่อมิอะไร .....ช่างไม่เข้าใจป้ายเตือน “ห้ามให้อาหารลิง” กันบ้างเลย ไม่งั้นจะโดนลิงรุมแบบนี้
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
.....................................................
วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
สิบแปดมงกุฎ
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always beloved.
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
ตอบลบMy blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.