อัตชีวประวัติ หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ
เจ้าอาวาส วัดสังฆทาน
หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ เกิดเมื่อวันพุธขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๕ (๔ ฯ ๕) ปีวอก ตรงกับวันที่
๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ. สุพรรณบุรี( เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2555 นายบุญเลิศ โสภา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 24 ส.ค.2555 ได้รับรายงานว่า พระอธิการสนอง กตปุญฺโญ หรือ "หลวงพ่อสนอง" เจ้าอาวาสวัดสังฆทาน อ.เมือง จ.นนทบุรี มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคไต ในระหว่างที่กำลังจำพรรษาอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรม กตปุญโญ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี สิริอายุ 68 ปี 4 เดือน พรรษา 48 ซึ่งทางคณะศิษยานุศิษย์ได้เคลื่อนศพหลวงพ่อสนองมาไว้ที่ศาลาทรงไทย วัดสังฆทาน)
ในตระกูล โพธิ์สุวรรณ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๘ คน
๑. นางจอง ศรีสำแดง
๒. นางลูกจันทร์ วงกต
๓. นางบรรจง ปานสุวรรณ
๔. นายบุญทรง โพธิ์สุวรรณ
๕. นางชะอม บุญประสม
๖. หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญ
๗. นายเสนาะ โพธิ์สุวรรณ
๘. พระพงษ์ศักดิ์ สีลเปโม
หลวงพ่อสนอง กตปุญฺโญอุปสมบทเมื่ออายุ ๒๐ ปี ในวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗ ณ วัดดอนไร่ ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
โดยมีพระครูสุวรรณวุฒาจารย์ (มุ่ย) วัดดอนไร่ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระบุญยก วัดดอนไร่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระบุญทรง วัดหนองไผ่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
การจำพรรษา
พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๗
วัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
หลังจากที่อุปสมบทแล้วหลวงพ่อสนองได้ปฏิบัติตามศีลอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะข้อ ๑๐
(ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะณา เวระมะณี) - เจตนาเว้นจากการรับเงินทองหรือยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ท่านออกธุดงค์ประมาณ ๗ เดือน ได้ข่าวโยมแม่บวชชีที่วัดทุ่งสามัคคีธรรม จึงรีบเดินทางมาพบโยมแม่ด้วยความดีใจ และได้พบหลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อสังวาลย์ได้แนะนำให้หลวงพ่อสนองเข้าห้องกรรมฐานบ่มอินทรีย์เจริญสติปัฏฐานสี่ ณ ป่าช้าวัดหนองไผ่ เช่นเดียว กับที่ท่านเคยปฏิบัติที่ป่าช้าวัดบ้านทึง โดยสมาทานไม่พูด ไม่เขียน (พูดเขียนได้แต่เฉพาะกับหลวงพ่อสังวาลย์รูปเดียวเท่านั้น) และได้สมาทานธุดงค์ ๗ ข้อคือ
๑. เตจีวริกังคะ ถือเพียงไตรจีวรเป็นวัตร
๒. เอกาสนิกังคะ ถือนั่งฉันเพียงอาสนะเดียวเป็นวัตร
๓. ปัตตปิณฑิกังคะ ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร ไม่ใช้ภาชนะใส่อาหารเกินหนึ่งอย่าง คือ บาตร
๔. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ถือห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร แม้อาหารที่ถวายภายหลังจะประณีตกว่า
๕. โสสานิกังคะ ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร
๖. ยถาสันถติกังคะ ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่เขาจัดให้เป็นวัตร
๗. เนสัชชิกังคะ ถือการนั่งเป็นวัตร เว้นการนอน อยู่ได้เพียง ๓ อิริยาบถ
(เฉพาะข้อ ๗ เริ่มปฏิบัติหลังจากอยู่ป่าช้าแล้ว ๓ เดือนแล้วถือมาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งโยมมารดาถึงแก่กรรม จึงได้เลิกเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย)
พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐พรรษาที่ ๒-๔ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๑๐
ป่าช้าวัดหนองไผ่ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ. สุพรรณบุรี
การปฏิบัติในป่าช้า หลวงพ่อสังวาลย์จะมาสอบอารมณ์กรรมฐานหลวงพ่อสนอง ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน ต่อครั้ง ผลการปฏิบัติในป่าช้าทำให้ท่านเชื่อในนรกสวรรค์ เชื่อว่ามรรคผลนิพพานมีจริง หลวงพ่อสังวาลย์กล่าวชมหลวงพ่อสนองว่าเป็นพระภิกษุสุวโจ คือเป็นคนที่ว่าง่าย สอนง่าย ไม่ดื้อ ไม่รั้น สอนอะไรก็ทำตามได้หมด
พรรษาที่ ๕-๖ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๒
สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี
หลังจาก ๓ ปีผ่านไป หลวงพ่อสนองขออนุญาตหลวงพ่อสังวาลย์ออกจากห้องกรรมฐาน หลวงพ่อสังวาลย์เห็นสมควรแล้วจึงอนุญาต และได้พูดถึงความดีของพระสงฆ์ให้ฟัง หลวงพ่อสนองกราบลาหลวงพ่อสังวาลย์เพื่อออกธุดงค์หาที่วิเวกและเที่ยวชมวัดร้าง โดยไม่คิดที่จะเป็นครูบาอาจารย์สอนใคร แต่หลวงพ่อสังวาลย์คิดว่าพระรูปนี้ต่อไปจะต้องสั่งสอน คนแน่นอน จึงมอบกลดของท่านที่หลวงพ่อเกลื่อนทำถวาย ซึ่งหลวงพ่อสังวาลย์ใช้เดินธุดงค์เป็นเวลาหลายปีให้กับหลวงพ่อสนอง การเดินธุดงค์ของหลวงพ่อสนองจะเดินไปตลอด ไม่ยอมขึ้นรถ เมื่อพบคนไม่มีรองเท้าก็ถอดให้ ตัวท่านเองจะเดินเท้าเปล่า ปี ๒๕๑๑ วัดร้างวัดแรกที่ท่านมาชมโดยมิได้ตั้งใจคือวัดสังฆทาน มีเพียงองค์หลวงพ่อโตและฐานอิฐเก่าๆ สถานที่สงบร่มรื่น เหมาะกับการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อสนองพิจารณาแล้วคิดสร้างวัดสังฆทานให้เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงคกรรมฐาน เพราะที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้แหล่งรวมของผู้มีปัญญาและกำลังซึ่งจะเป็นกำลังของศาสนาได้ดี แต่ขณะนั้นตัวท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่เพียงพอที่จะเป็นผู้นำที่นี่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น การจะเข้ามาทำอะไรนั้นทำได้ยาก จะต้องให้เขาเห็นดี ให้เขาเข้าใจ เพราะเป็นการเผยแผ่ธรรมะให้กับผู้มีปัญญา ท่านจึงธุดงค์กลับไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพุข่อย จ.สุพรรณบุรี แต่มีเหตุให้ต้นไม้ล้มขวาง เส้นทางลบหายไปหมด ท่านจึงเดินย้อนมาอีกทาง ก็มาพบเขาถ้ำหมี จึงเปลี่ยนใจปฏิบัติธรรมที่เขาถ้ำหมี ฝึกกสิณดินและกสิณไฟ ได้ดวงกสิณดินที่ถ้ำหมีนั่นเอง
พรรษาที่ ๗-๙ พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๕
ถ้ำกะเปาะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
หลวงพ่อสนองเดินทางมาที่ถ้ำกะเปาะ พิจารณาแล้วว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติของพระมาก แต่มีไข้มาลาเรียชุกชุม ที่นี่หลวงพ่อได้มาฝึกกสิณน้ำ กสิณลม ส่วนกสิณไฟได้มาฝึกต่ออีกครั้งจนเกิดดวงกสิณ การเผยแผ่ในช่วงนี้จะมีเพียงเล็กน้อย มีโยมมาฝึกสมาธิบ้าง ที่ถ้ำกะเปาะมีเหตุการณ์ที่สนุกประทับใจหลายเรื่อง มีพระที่ตามไปปฏิบัติธรรมกับท่านคือหลวงพ่อประทีป สมฺปุณฺโณ ต่อมาหลวงพ่อได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดต้นตาลโตน จ. เชียงใหม่ มรณภาพเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๑๖ สำนักป่าพุทธอุทยานเขาถ้ำหมี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี หลวงพ่อสนองเดินทางกลับมาที่ถ้ำหมีอีกครั้งเพื่อมาโปรดญาติโยมและสร้างโรงเรียน มีญาติโยมศรัทธามาปฏิบัติเป็นประจำ ในวันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปบนยอดเขาและได้ก้าวพลาดตกลงมา หลังกระแทกกับหินทำให้กระดูกที่หลังแตก จากนั้นเป็นต้นมาท่านจะปวดหลังตลอดเวลา ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ปวดจนเป็นปกติ เวลานั่งสอนสมาธิก็จะเจ็บปวด ขาทั้งสองจะชามาก ท่านไม่ได้ให้หมอรักษา แต่ใช้ความอดทนข่มความเจ็บปวดเนื่องจากไม่ต้องการให้ใครทราบและเป็นห่วง โดยเฉพาะโยมแม่ซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดสังฆทาน แต่หลังจากโยมแม่ถึงแก่กรรม (ปี พ.ศ. ๒๕๓๒) ท่านจึงได้เล่าให้ญาติโยมฟังและไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช
พรรษาที่ ๑๑-๒๔ พ.ศ. ๒๕๑๗-๒๕๓๐
วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
หลังจากที่ฝึกกสิณดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเวลา ๖ ปี หลวงพ่อสนองจึงเดินทางกลับมาวัดสังฆทานอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ หลังจากนั้นก็มีพระเณรตามมาแต่ก็หนีกลับ เพราะบิณฑบาตแล้วไม่พอฉัน ท่านใช้การเผยแผ่ด้วยความสงบ ด้วยการปฏิบัติ ท่านเล่าว่ามีนิมิตเกิดขึ้นคือ หมีเดินเข้ามาหา ต่อมาหมีก็กลายเป็นหมู จากหมูก็กลายเป็นเณรมานั่งตักท่าน นโยบายของหลวงพ่อเริ่มต้นด้วยการสร้างบุคลากรโดยมุ่งฝึกพระที่มาบวช พระที่จะออกมาทำงานให้กับสังคมต้องเก็บตัวก่อน จนกว่าจะมีธรรมะและสามารถนำธรรมะมาใช้ได้ จึงจะให้ออกมาทำงาน ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านได้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธ-อเนกประสงค์ วัดสังฆทานขึ้นเพื่อช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา และจะช่วยหมู่คณะได้ดีขึ้น มูลนิธิฯ จะเป็นตัวแทนของท่านในอนาคต
พรรษาที่ ๒๕ พ.ศ. ๒๕๓๑
วัดสังฆทาน เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
หลวงพ่อสนองได้เดินทางไปจำพรรษา ณ วัดสังฆทาน เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ โดยมีพระสุรชัย อภิชโย (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อพยายามฝึกฝนเรียนภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะใช้สอนสมาธิ อธิบายธรรมะให้กับชาวต่างชาติ เพราะต่อไปเมืองไทยจะมีชาวต่างชาติมาศึกษาสมาธิกันมาก และจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาพุทธให้กับชาวต่างชาติ ที่อังกฤษมีญาติโยมคนไทยมาฝึกสมาธิและทำบุญประมาณ ๕๐๐ ครอบครัว
พรรษาที่ ๒๖-๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๔๐
วัดสังฆทาน ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี
หลวงพ่อสนองกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดสังฆทาน จ.นนทบุรี หลังจากที่ได้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามหลักธุดงค-กรรมฐานที่ประเทศอังกฤษแล้ว ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แม่ชีแม้น โพธิ์สุวรรณ (มารดาของหลวงพ่อสนอง) ถึงแก่กรรม ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ หลวงปู่เอม อริยวํโส อายุ ๙๔ ปี พรรษา ๓๔ (บิดาของหลวงพ่อสนอง) มรณภาพเมื่อ วันที่ ๕ พ.ย. ปี ๒๕๔๐ หลวงพ่อสนองสร้างสำนักสงฆ์ที่เขายายแสง ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
พรรษาที่ ๓๕-๓๙ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๕
วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
หลวงพ่อสนองได้เปลี่ยนชื่อสำนักสงฆ์เขายายแสงเป็น วัดถ้ำกฤษณาธรรมาราม ดำริให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพระภิกษุ พื้นที่รอบเขาปลูกเป็นป่ากฤษณา มีอุโบสถเป็นถ้ำ พื้นที่ติดต่อกับบ้านสว่างใจซึ่งเป็นสถานที่เข้าคอร์สสมาธิตามหลักสติปัฏฐานสี่สำหรับสาธุชนทั่วไปรวมทั้งชาวต่างชาติ เป็นสถานที่ที่มีอากาศที่หนาวเย็นสบาย พื้นที่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของหลวงพ่อสนองดำเนินไปในนามของมูลนิธิพุทธอเนกประสงค์ วัดสังฆทาน เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมวลมนุษย์ด้วยความเมตตา
ที่มา ;
http://www.sbbtv999.com/
****************************
..........................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
..........................................................
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always beloved.
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
ตอบลบMy blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.