“ท้าวกำมะทา - พญา ตบ อก” และนิทานพื้นถิ่นลาวใต้ ที่ปราสาทวัดพู
“ปราสาทวัดพู” (Wat Phou Pr.) ปรากฏนามในจารึกว่า “มหาตีรถะสถาน” (Mahātīrtha) “ลิงคปรวตา-ลึงคบรรพต” (Lingaparvata) และ “ลิงคปุระ” (Lingapura) ที่ตั้งอยู่บนลานชะง่อนผาเชิงเขาภูควาย (หน้าเขาภูเกล้า – เก้า) มีร่องรอยการใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการสร้างปราสาทอิฐขึ้นครั้งแรกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการสร้าง “อาคารมหามณฑป” (Maha-Maṇḍapa-The Sanctuary) เชื่อมต่อเข้ากับปราสาทประธานก่ออิฐหลังเดิม รวมทั้งมีการสร้างหมู่อาคารขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก มาจนถึงช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18
บริเวณทางด้านขวามือ ปลายฐานอาคารโคปุระแผนผังกากบาท ชั้นที่ 2 ก่อนขึ้นบันไดไปชั้นที่ 3 ของ มีรูปสลักของ “ทวารบาล” (Dvarapala) ในท่ายืน ศิลปะนิยมแบบบายน มือขวากุมยอดตะบองยาวที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเท้าด้านหน้า มือซ้ายยกขึ้นมากุมที่หน้าอก ที่หมายถึงการแสดงความเคารพหรือกำลังแจ้งเตือนแก่สาธุชนให้สงบจิตใจ เมื่อเข้ามายังศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์
ถึงแม้รูปประติมากรรมดังกล่าว จะเป็นทวารบาล “มหากาล” (Mahākāla) หรือ “อสูรทวารบาล” ผู้พิทักษ์เบื้องซ้าย คู่กับ “นนทิเกศวร” (Nandikeśvara) เทพบุตรผู้ถือกำเนิดจากสีข้างขององค์พระศิวะ ผู้พิทักษ์เบื้องขวาของทางเข้าศาสนสถาน (ในความหมายเขาไกรลาส) แต่ในนิทานพื้นบ้านของชาวลาวใต้จะเล่าต่างกันไปว่า นี่คือรูปของ “ท้าวกำมะทา”หรือ “พญา ตบ อก” ผู้สร้างปราสาทวัดพูแห่งนี้ ส่วนมือซ้ายที่ยกขึ้นกุมหน้าอกนั้นไม่ใช่การแสดงความเคารพ แต่กำลังทุบอกแสดงความเสียใจ (ชาวลาวจึงเรียกว่าท้าว ตบ อก) ยืนนิ่งด้วยความคับแค้นใจจนกลายเป็นหิน เพราะสร้างวัดพูเสร็จภายหลังพระธาตุพนม ตามโครงเรื่องการแข่งขันสร้างปราสาท ที่นิยมเล่าขานกันในนิทานพื้นบ้านไท–ลาว
---------------------------------
*** ท้าวกำมะทา เป็นชื่อนามที่ถูกนำมาจากพงศาวดารเมืองจำปาศักดิ์ ที่เล่ากันมาว่า “...แต่เดิมนั้น เมืองนครจำปาศักดิ์ก็คือเมือง “จำปานคร” มีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองสืบต่อกันมา แต่ภายหลังจากที่ท้าวพระยาคัชนามสวรรคต เมืองจำปานครก็ร้างผู้คน
“ท้าวกำมะทา” ผู้มีเชื้อแขกจาม ยกไพร่พลมาสร้างเมืองจำปานครขึ้นใหม่ ที่ริมฝั่งแม่น้ำของฟากตะวันตกของแม่น้ำโขงตรงเขาหนองสระ ที่บนเขานั้นท้าวกำมะทา ได้สร้างปราสาท เรือนสนมกำนัลเป็นตึกแถวและถนนกำแพงแก้ว มีป้อมศิลาเป็นชั้นอยู่ตามเนินเขา แล้วท้าวกำมะทาก็ให้ช่างฝีมือแกะสลักรูปของตนไว้ทำด้วยศิลา แต่งตัวสามเทริดใส่สังวาลเหมือนอย่างคน ตั้งไว้ที่หน้าปราสาท ณ บนเขาหนองสระ รูปนั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ (รูปสลักทวารบาลนี้)
ครั้นท้าวกำมะทาสวรรคต เมืองจำปานครก็ว่างกษัตริย์มาช้านาน หามีผู้ใดที่จะปกครองต่อไป มีแต่บ้านเรือนของพวกลาว พวกส่วยทางใต้จึงอพยพเข้ามาตั้งเรียงรายอยู่ที่เมืองเก่าริมฝั่งโขงและตามเชิงเขาหนองสระ จนมีกษัตริย์พระองค์ใหม่ ยกพลเขมรแขกจามขึ้นไปสร้างพระนครที่เมืองจำปานคร ครั้นสร้างเมืองใหม่สำเร็จบริบูรณ์แล้ว จึงตั้งนามเมืองใหม่ว่า “นครกาลจำปากนาคบุรีศรี” และผูกสัมพันธไมตรีไว้กับพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี
------------------------------
*** เรื่องราวของท้าวกำมะทาในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์นี้ ได้กลายมาเป็นนิทานพื้นบ้านในท้องถิ่นวัดพู เช่นเดียวกับตำนานรักสามเส้า “ท้าวบาเจียง นางมะโรงและท้าวจัมปาสัก” ที่เล่าว่า".... กาลครั้งหนึ่งในอดีต หนุ่มลาวลุ่มคนหนึ่งออกมาล่าสัตว์ เกิดตกอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง โชคดีมีพรานหนุ่มลาวเทิง (ที่สูง) มาช่วยไว้ได้ทัน สองหนุ่มตกลงกันไว้ว่า ในภายภาคหน้าหากทั้งสองฝ่ายมีบุตรชายหรือบุตรสาวก็จะให้ผูกเสี่ยวเป็นสหายรักกัน แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งได้ลูกชาย ฝ่ายหนึ่งได้ลูกสาว ก็จะให้มาแต่งงานกินดองเป็นทองแผ่นเดียวกัน
เมื่อเวลาผ่านไป หนุ่มลาวลุ่มได้ลูกสาวสวยสุดเซ็กซี่ชื่อว่า “นางมะโรง” ฝ่ายพรานหนุ่มลาวเทิงได้ลูกชายกำยำล่ำสัน แต่หน้าตาไม่หล่อชื่อ “ท้าวบาเจียง” เมื่อมาพบกัน ท้าวบาเจียงได้เกิดหลงรักนางมะโรง แต่พ่อของนางกลับได้ตกลงใจมอบหมายนางให้ “ท้าวจัมปาสัก” บุตรชายของเจ้านครลาวลุ่มเพื่อแลกกับทรัพย์สินจำนวนมหาศาลไปแล้ว และนางมะโรงก็มีใจให้กับท้าวจัมปาสักที่ร่ำรวยและแสนดี นางมะโรงจึงทำใจไม่ได้ว่าต้องออกเรือนไปกับท้าวบาเจียงตามคำสัญญาของพ่อ ท้าวจัมปาสักรู้เรื่องจึงมาชวนให้นางมะโรง “โตนหนี” (หนีตามกัน) นางมะโรงไปนอนคิดจนเกิดเป็น “ภูมะโรง” (ตั้งอยู่บนทางผ่านถนนที่มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองปากเซ) ในที่สุดทั้งคู่ก็ตัดสินใจหนีตามกันไป (จนได้)
ท้าวบาเจียงจัดขบวนขันหมากของชาวภูไปสู่ขอตามที่ตกลงไว้ ได้ถูกพ่อของนางมะโรงปฏิเสธขันหมากเพราะนางมะโรงหนีไปกับท้าวจัมปาสักแล้ว ด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ ท้าวบาเจียงจึงได้เทเครื่องขันหมากโดยเฉพาะไก่ต้ม (ภูกองไก่ - เทไก่ทิ้ง) และเหล้า (ภูส่าหล้า – เทเหล้าทิ้ง) ทิ้งทั้งหมด ทิ้งห้องหอ (ตาดผาส้วมคือห้องหอที่ท้าวบาเจียงสร้างเอาไว้รอนางมะโรง) ก่อนกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย แต่ก่อนตายท้าวบาเจียงก็ได้สาปแช่งให้นางมะโรงและท้าวจัมปาสักต้องทนทุกข์ทรมานไม่สมหวังในความรักเช่นเดียวกับตน หน้าผาที่ท้าวบาเจียงฆ่าตัวตายมีชื่อว่า “ภูบาเจียง” จนเมื่อนางมะโรงได้อยู่กินกับท้าวจัมปาสัก จึงเกิดความทุกข์และความเลวร้ายในชีวิตคู่มาโดยตลอด จนนางมะโรงไม่อาจทนอยู่ต่อไปได้ ทั้งคู่พากันไปจบชีวิตที่กลางมหานทีสีพันดอน..."
-----------------------------
*** ชาวลาวในปัจจุบันเล่าเรื่องกันสนุกว่า ตอนที่มีการสร้างปราสาทวัดพูนั้น กษัตริย์ต้องหาช่างฝีมือจำนวนมากมาก่อสร้าง แต่ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการสร้างพระธาตุพนม เหล่าช่างฝีมือได้เดินทางไปสร้างพระธาตุพนมกันหมดแล้วยังไม่ยอมกลับ บอกว่าเมืองพนมน่าอยู่กว่า ยังไงก็ไม่ยอมกลับ และได้ฝากความลับไปถึงเหล่าช่างที่กำลังสร้างปราสาทวัดพู ว่าเมืองพนมนั้นน่าอยู่มาก ทำให้ช่างทุกคนลองติดตามไปและก็ไม่มีใครกลับมาช่วยสร้างปราสาทวัดพู จึงยังคงไม่เสร็จสมบูรณ์อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อถูกซักถามว่า ที่เมืองพนมมีอะไรดีกันล่ะ ช่างฝีมือจึงพากันหนีไปเที่ยวกันหมด ก็จะเล่าต่อว่า ที่เมืองพนมมีแต่ผู้สาวสวย ๆ บ่ใส่เสื้อ ช่างมาเห็นสาวปะนมก็เลยติดใจ ไม่กลับมาวัดพูแต่อยู่สร้างพระธาตุพนม
*** พระธาตุพนมเดิมจึงมีชื่อว่า “พระธาตุปะนม” แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อเป็นพระพนมในภายหลังครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................
ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
ตอบลบA giver is always be love.
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
ตอบลบMy blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.