วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ตำนานสมเด็จพระนเรศวร

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

หากจะกล่าวถึงสงครามรูปเเบบกองโจรในสมัยโบราณที่รบได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้กำลังคนน้อยรบชนะคนมาก ชิงเชิงภูมิศาสตร์ข้าศึกเพื่อความได้เปรียบ ตีตัดเสบียงทัพข้าศึก ใช้กองทหารม้าโจมตีฉับพลัน รวมถึงเผาค่ายทัพของฝั่งตรงข้ามไม่ให้อยู่เป็นสุข
ผู้ที่คิดค้นรูปเเบบกลยุทธ์ผสมผสานเช่นนี้เป็นคนเเรกได้คือ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราช"สำหรับผมพระองค์ท่านคือกษัตริย์นักกลยุทธ์ที่มี ความสามารถในการวางเเผนรับมือข้าศึกได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยเราเลยทีเดียว
เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวร เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งพ่อของท่านก็เป็นนักกลยุทธ์ที่เก่งกาจอยู่เเล้ว (หากไม่เเน่จริงคงวางเเผนโค่นขุนวรวงศาเเละท้าวสีสุดาจันทร์ไม่ได้) พระองค์คงถูกถ่ายทอดสรรพวิชามาเเต่ยังเล็กอย่างเเน่นอนเเละยิ่งตอนถูกนำไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ท่านยิ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาจากยอดนักรบเเห่งยุคอย่างบุเรงนอง
ทั้งฝีมือดาบ การต่อสู้ การรบบนช้างเเละม้าศึก ตำราพิชัยสงครามทั้งทางฝั่งไทยเเละพม่าจนเเตกฉาน รวมถึงเชิงการรบเเละเชิงการปกครอง บทความนี้ผมจะมาลองวิเคราะห์พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาอ้างอิงว่าทำไม สมเด็จพระนเรศวรถึงสามารถรบชนะข้าศึกศัตรูเเละนำความสงบกลับคืนบ้านเมืองได้หลังจากตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าถึง 15 ปี
1. วิเคราะห์สถานการณ์ ภูมิศาสตร์ เเละหาจุดอ่อนข้าศึก
เรามักจะคิดถึงภาพของสมเด็จพระนเรศวรเป็นนักรบที่ดุดัน ชำนาญเพลงดาบ เพลงทวน การบังคับช้างม้า ปีนค่ายข้าศึก เเต่จุดเด่นของพระองค์ท่านที่เเท้จริงเเล้วคือเป็นนักยุทธวิธีเเละกลยุทธ์ ที่เก่งกาจที่สุดคนนึงเลยทีเดียว ในทุกการศึกพระองค์ท่านจะไม่ค่อยเอาทัพไปปะทะข้าศึกวัดกันตรงๆซะเท่าไร หากไม่ใช่ต้องหนุนขึ้นช่วยทัพของลูกน้องที่เพลี่ยงพล้ำหรือติดอยู่ในวงล้อม
เช่นตอนที่พระเจ้านันทบุเรงใช้ลักไวทำมูมาล้อมจับเป็นพระองค์ท่าน หรือในการศึกยุทธหัตถีที่ต้องดวลเดี่ยวกัน สมเด็จพระนเรศวรท่านจะประเมินกำลังข้าศึกก่อนเเล้วค่อยหาทางเอาชนะโดยทำอย่างไรก็ได้ให้สูญเสียชีวิตไพร่พลน้อยที่สุด
ยกตัวอย่างก็คือศึกเมืองคัง ที่ทั้งเมืองหงสาวดีเเละเมืองตองอูยกทัพตรงๆขึ้นหวังตีเมืองให้ให้ได้ สุดท้ายด้วยเมืองมีทางขึ้นเเค่ทางเดียวคือบีบให้ขึ้นเขาไปเลยเจอเมืองคังเล่นซะเสียไพร่พลไปมาก เเต่สมเด็จพระนเรศวรนั้นระหว่างที่ทั้งสองทัพทำศึกอยู่พระองค์ก็ออกลาดตระเวนดูภูมิศาสตร์บริเวณสมรภูมิจนไปเจอทางลับที่เข้าเมืองได้อีกทาง
เเต่จะยกเข้าไปตรงๆก็คงจะเจอทหารมาอุดช่องหลังได้อีกพอถึงคิวของท่านที่จะเข้าตีท่านก็ให้เเม่ทัพนายกองส่วนน้อยเเกล้งโห่ร้องส่งเสียงอยู่ข้างหน้าทำว่าจะเข้าตีเหมือนเดิมเช่นอีกสองทัพก่อนหน้า ชาวเมืองคังไม่รู้ในอุบายของพระองค์ก็เทไปรักษาเมืองที่ข้างหน้าเหมือนทุกครั้ง พระองค์เห็นดังนั้นก็จึงนำไพร่พลหลักเข้ายึดเมืองคังจากทางลับที่เจอได้สำเร็จสมดังเเผนการที่ทรงวางไว้
หากเราดูในหลายๆสมรภูมิ สมเด็จพระนเรศวรจะชอบใช้ทหารกองน้อยไปตีล่อให้ข้าศึกตามเข้ามาเเละให้ทัพหลักรอซุ่มอยู่สองข้างทางของพื้นที่ ที่เลือกไว้เเล้วว่าจะให้ข้าศึกยกเข้ามาเรียกว่า killing zone เรียกว่าทัพข้าศึกจะเสร็จพระองค์ท่านเเทบทุกครั้งเลยทีเดียว
เช่นทัพเชียงใหม่ที่ยกเข้ามาเป็นทัพหน้าของหงสาวดีหลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพนั้นเจอกลศึกนี้เข้าไปเรียกได้ว่าย่อยยับเสียหายสุดๆ จนทำให้พระเจ้านันทบุเรงหัวร้อนจนต้องยกทัพใหญ่ตามมาในปี 2129 เพื่อล้างอายกันเลยทีเดียว
2. ยอมทอดกาย ออกรบดังทหารเลวได้ใจขุนทหารเเละประชาชน
ต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าการศึกในสมัยโบราณคนที่เป็นกษัตริย์หรือเเม่ทัพมักจะเป็นผู้วางกลยุทธ์ออกคำสั่งให้ลูกน้องไปรบไปตายเเทนมากกว่า เเต่สมเด็จพระนเรศวรท่านออกลุยพร้อมทหารของท่านในทุกสมรภูมิดังทหารเลวคนนึงเลยทีเดียว คือติดวงล้อมข้าศึกก็ติดด้วยกัน เข้าตีก็เข้าตีด้วยกัน ปีนค่ายก็เอากับเค้าด้วย คือใครเป็นทหารที่อยู่กัพระองค์ท่านก็ต้องสู้ตายถวายชีวิตเเหละครับ
ยกตัวอย่างเช่นอย่างตอนที่พระองค์ท่านปีนค่ายเเล้วถูกเเทงตกลงมานั้น เมื่อเรื่องทราบไปถึงพระเจ้านันทบุเรงนั้นก็ได้มีรับสั่งว่า พระนเรศวรนี้กระทำการกล้าหาญนักพระราชบิดาจะรู้หรือไม่ ดังเอาพิมเสนมาเเลกเกลือ หากออกมาตีค่ายอีกเมื่อไรให้เร่งจับเป็นมาให้ได้จะเสียไพร่พลเท่าไรก็จะยอม พระเจ้านันทบุเรงจึงให้ลักไวทำมูซึ่งเป็นนายกองทหารม้าคุมกำลังออกไปรบล่อให้พระนเรศวรเข้าติดกับเพื่อจะจับเป็น
อุบายครั้งนั้นได้ผลสมเด็จพระนเรศวรเราต้องกลศึกเข้าอย่างจัง เเต่สิ่งที่พม่าไม่คาดคิดคือพระองค์ท่านมีฝีมือสูงส่งเกินไป ในการล้อมจับคราวนั้นจบลงที่พระองค์ท่านเเทงลักไวทำมูด้วยทวน เเละใช้ดาบฟันทหารทศที่หมายเข้าจับพระองค์ตายทันทีอีกสองคน เเละรบอยู่ในวงล้อมข้าศึกที่มาล้อมจับนั้นตั้งเเต่เที่ยงยันเย็น จนกองทหารของพระองค์ตามมาทันเเละเเก้ไขนำพระองค์ออกไปได้
หรือเเม้เเต่การศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชหากเป็นคนทั่วๆไปผมว่าสติหลุดไปเเล้วเเต่พระองค์ท่านกลับท้าดวลเค้าตัวๆซะงั้น ซึ่งมันคือทางรอดเดียวจริงๆในสถานการณ์อย่างนั้น หรืออีกทางหนึ่งคือพระองค์น่าจะพอรู้ฝีมือของมหาอุปราชอยู่เเล้ว รวมถึงน่าจะรู้ว่าเป็นคนเสียหน้าไม่ได้เมื่อท้าไปอย่างนั้นด้วยศักดิ์ลูกผู้ชายอย่างไรเสียก็ต้องออกมาลองกันสักตั้งให้รู้ผลไปเลย ส่วนตัวผมเเล้วศึกยุทธหัตถีคือศึกชี้ขาดว่าอยุธยาจะอยู่รอดปลอดภัยหรือดับสูญไปพร้อมกับชีวิตของสมเด็จพระนเรศวร
เพราะขนาดพระองค์ยอมวางชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันให้บ้านเมืองขนาดนี้เหล่าทหารในยุคพระองค์ท่านจึงรบได้ดุดันเเละมีประสิทธิภาพสูงมาก จนพวกพม่าเอาไปพูดว่า"ทหารอยุธยากลัวพระนเรศวรมากกว่ากลัวตาย" เเต่ผมกลับคิดเห็นดังที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ท่านรับสั่งว่าไม่ใช่หรอกเพราะ "ทหารไทยรักพระนเรศวร"
3. เป็นที่รักของพวกมอญเเละชาวไทใหญ่ เป็นหัวขบวนในการปลดเเอกเป็นอิสรภาพจากพม่า
เนื่องด้วยชีวิตในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นของพระองค์ท่านเติบโตมาในเมืองหงสาวดี พระองค์ท่านคงมีมิตรสหายที่เป็นคนหลายเชื้อชาติมากมายที่รักนับถือในฝีมือของกันเเละกัน เพราะในสมัยของบุเรงนองนั้นเหล่าประเทศราชต้องส่งลูกหลานมาเป็นองค์ประกันที่เมืองหงสาวดี บุตรธิดาเหล่านี้จะได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดในราชสำนักของหงสาวดีเพื่อ
จุดประสงค์ในการให้บุตรธิดาเหล่านี้เมื่อเติบใหญ่ก็ให้ไปปกครองอาณาจักรของตนภายใต้ธงของหงสาวดี นี้คือกุศลโลบายที่ชาญฉลาดของบุเรงนอง เเละอีกทางหนึ่งก็คือตัวประกันดีๆนี่เองเพื่อไม่ให้พ่อเเม่ที่เป็นเจ้าเมืองคิดเอาใจออกห่างไม่งั้นลูกหลานของตนจะมีภัยเป็นเเน่นอน
ระหว่างที่อยู่เป็นองค์ประกันที่หงสาวดีนั้น สมเด็จพระนเรศวรท่านต้องมีความสามารถโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในหมู่ลูกเจ้าเมืองด้วยกันอย่างเเน่นอน เพราะจากที่บันทึกในประวัติศาสตร์ก่อนที่พระองค์จะประกาศอิสรภาพที่เมืองเเครงนั้น ทางหงสาวดีได้ออกคำสั่งให้พระยาเกียรติเเละพระยารามซึ่งเป็นขุนนางของมอญให้ออกไปต้อนรับพระนเรศวรก่อนเข้าเมืองหงสาวดี
เมื่อมีจังหวะก็ให้จับประหารเสีย เเต่พระยามอญทั้งสองกลับนำความลับนี้ไปปรึกษาพระอาจารย์ของตนคือ "พระมหาเถรคันฉ่อง" ท่านพระเถระองค์นี้คือคนที่ทำให้พระนเรศวร รอดจากการถูกลอบสังหารครั้งนั้นเพราะท่านให้ลูกศิษย์ทั้งสองนำความนี้ ขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระนเรศวร
เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศลกรรมดังนี้พระองค์ท่านจึงประกาศตัดสินใจประกาศอิสรภาพทันที ณ เมืองเเครงในปี 2127 จากนั้นชาวมอญส่วนใหญ่ก็เข้าร่วมกับทัพพระนเรศวรกลับสู่อยุธยาเพื่อเป็นกำลังสู้รบกับพม่าในศึกใหญ่ที่จะตามมา
หากดูมาถึงตรงนี้เราจะรู้ว่าท่านคุ้นเคยกับพวกคนมอญมาก ถ้าเป็นคนอื่นผมเชื่อว่ามอญทั้งสองคงไม่ลังเลที่จะจับสังหาร เเต่นี่เกิดความลังเลขึ้นเรียกว่าพระบารมีของท่านต้องมีความดีงามสูงเเน่นอน ไม่งั้นมอญเเละไทใหญ่คงไม่กล้าเสี่ยงชีวิตมาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารเป็นเเน่เเท้
ในส่วนของพวกไทใหญ่นั้น มีเรื่องเล่าว่าเจ้าฟ้าไทใหญ่เป็นพระสหายสนิทกับสมเด็จพระนเรศวร เมื่อสมัยยังอยู่ในราชสำนักหงสาวดีด้วยกัน เจ้าชายทั้งสองมีความใฝ่ฝันที่จะปลดเเอกเอกราชให้กับบ้านเมืองของตนตั้งเเต่ยังเยาว์วัย จึงเร่งฝึกฝีมือเพื่อเตรียมการใหญ่ในวันข้างหน้า
จึงไม่น่าเเปลกใจเลยว่าในช่วงที่พระนเรศวรยกพลขึ้นไปตีหงสาวดีหรือตองอู ทัพกรุงศรีอยุธยาสามารถเคลื่อนพลได้อย่างสะดวกมาก เพราะหัวเมืองไทใหญ่มาเข้ากับเราทุกหัวเมือง หากไม่เป็นการยกย่องพระองค์ท่านจนเกินไป
เราอาจพูดได้ว่าพระองค์ท่านเตรียมเครือข่ายหาพันธมิตรไว้ตั้งเเต่ยังเด็กๆเลยทีเดียว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆความคิดความอ่านของพระองค์ท่านนั้นต้องเหนือกว่าคนทั่วไปมากมายจริงๆ
4. การตัดสินใจมีเด็ดขาดสูงมาก
เรื่องความเด็ดขาดของสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่เลื่องลืออย่างมาก เช่น หลังจากที่พระองค์ท่านประกาศอิสรภาพ ก็ได้มีดำริให้เกณฑ์หัวเมืองเหนือทั้งปวงเพื่อมาเป็นกำลังป้องกันกรุงให้อยุธยา เเต่ได้มีเเม่ทัพสองคนที่ได้เเข็งเมืองต่อต้านพระองค์ท่าน
คือ พระยาพิชัยเเละพระยาสวรรคโลก ไม่ยอมทำตามที่พระองค์ได้บัญชาการมา เรื่องของเรื่องคือสองพระยามีชื่อนี้ดันเป็นลูกน้องคนสนิทของพ่อท่านซะด้วย อาจจะเพราะคิดว่าพระนเรศวร ณ ขณะนั้นเป็นเเค่อุปราชไม่ใช่กษัตริย์หรือว่าคิดว่าเเข็งเมืองไปก็สู้หงสาวดีไม่ได้จึงเลือกถือข้างหงสาวดี
เราไม่อาจรู้ใจของพระยาทั้งสองในตอนนั้นได้ พระนเรศวรได้ส่งกรมการของท่านเข้าไปเกลี่ยกล่อม เเต่ดันไปตัดหัวกรมการของท่านโยนใส่หน้าท่าน หยามกันชัดๆพระองค์ท่านเลยจัดทัพเข้าตีไม่เกินสองวันก็ได้เมืองจัดการตัดหัวสองพระยาเสียบประจานไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
หรือตอนที่พระยากำเเพงเพชรคุมกำลังไปเกี่ยวข้าวเตรียมเก็บเสบียง เเต่ดันโดนทัพของพม่าตีเเตกเข้ามาถึงพระนคร พระองค์ท่านเเละน้องชายคือสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงรีบรุดขึ้นไปตีพม่าจนเเตกพ่ายถอยไป ได้ลงโทษสั่งประหารพระยากำเเพงเพชร
เนื่องด้วยเป็นศึกเเรกตั้งเเต่พระองค์คุมทัพมาเเล้วเเตกพ่ายเเก่ข้าศึกเกรงจะทำให้ไพร่พลเสียขวัญเเละอ่อนเเอในการศึกไม่ควรเก็บไว้เป็นเยี่ยงอย่าง เเต่ด้วยความที่พระยากำเเพงเพชรเป็นคนของพ่อท่าน สมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงขอผ่อนผันให้ถอดยศลงเหลือเเค่สามัญชนเเละออกจากราชการ
หรือเเม้เเต่ตอนศึกยุทธหัตถี ที่ทหารตามช้างของท่านเเละน้องชายไม่ทัน ก็ให้ลงอาญารอโทษประหารให้หมด ร้อนไปถึงบรรดาเมียๆของขุนศึกทั้งหลายต้องไปทูลเชิญนิมนต์สมเด็จพระวันรัต วัดป่าเเก้ว ให้มาขออภัยทานชีวิตเเก่ขุนทหารทั้งหมด พระนเรศวรท่านได้สดับธรรมเเละเห็นพระอาจารย์ของท่านขอชีวิตไว้จึงยกชีวิตของเหล่าทหารไว้
เเต่ให้เตรียมไปทำศึกตีเมือง ทะวาย มะริด ตะนาวศรี เป็นการเเก้ตัวเเทนหากไม่ได้ก็มีชีวิตตนเป็นเดิมพัน เหล่าเเม่ทัพนายกองในศึกครั้งนั้นจึงรบพุ่งถวายชีวิตกันเลยทีเดียว จนตีเมืองมาได้ดังพระราชประสงค์โดยไม่ต้องเสด็จนำทัพไปเอง
เรื่องราวเเละตำนานของสมเด็จพระนเรศวรนั้นมีหลากหลายมุมมองให้ศึกษา บทความของผมเป็นเพียงภาพสะท้อนความคิดของตัวผมเองที่มีต่อพระองค์ท่าน โดยกระผมอยากจะยกย่องเชิดชู วีรกรรมอันหาญกล้าเเละหัวใจที่เเข็งเเกร่งของพระองค์ท่านที่ได้เป็นตัวอย่างให้ลูกหลานได้ระลึกเเละบูชาถึงพระเกียรติคุณที่พระองค์ท่านได้สร้างไว้ในเเผ่นดินนี้ตลอดไปครับ
11 ธันวาคม ค.ศ. 2019
"ราชมนู"
เครดิต ; FB
Thai Historian
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ