วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พระพุทธบาทสำริด

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

ความงามแห่งศรัทธาบน “พระพุทธบาทสำริด” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ได้เกิดความนิยมในการสร้างรูป “พระพุทธบาท” (จำลอง) จากอิทธิพลของฝ่ายลังกาวงศ์-สีหลภิกขุและพุกาม ขึ้นในกลุ่มรัฐสุโขทัย ล้านนาและอยุทธยา ปรากฏหลักฐานชัดเจนใน “จารึกนครชุม” (หลักที่ 3) ด้านที่ 2 ที่กล่าวถึงพระยาธรรมิกราชได้ไปจำลองรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าที่เขาสุมนกูฎในเกาะลังกา นำรอยพิมพ์พระพุทธบาทกลับมาประดิษฐานในอาณาจักรสุโขทัย 4 แห่ง คือ ที่จอมเขาสุมนกูฎเมืองสุโขทัย  เมืองศรีรัชนาลัย จอมเขานางทองเมืองบางพาน (อำเภอพรานกระต่าย กำแพงเพชร)และจอมเขาที่เมืองปากพระบาง (ยอดเขากบ  วัดวรนาถบรรพต นครสวรรค์)
“....พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์เอารอยตีน………………พระเป็นเจ้าเถิงสิงหลอันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฎบรรพตประมาณเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้จุ่งคนทั้งหลายแท้…….………อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองศรีสัชนาลัยเหนือจอมเขา…………………อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองสุโขทัยเหนือจอมเขาสุมนกูฎอันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองบางพาน เหนือจอมเขานางทองอันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาที่ปากพระบาง จารึกก็ยังไว้ด้วยทุกแห่ง ฯ...”
จารึกเขาสุมนกูฎ (หลักที่ 8)   ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 กล่าวถึงสัญลักษณ์มงคล 108 ประการที่ประกอบอยู่ในพระพุทธบาทจำลองไว้ว่า “....เขาอันนี้ชื่อสุมนกูฏบรรพต…เรียกชื่อดังอั้นเพื่อไปพิมพ์เอารอยตีนพระพุทธเจ้าเรา ....อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต…ในลังกาทวีปพู้น มาประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาอันนี้แล้วให้คนทั้งหลายได้เห็นรอยฝ่าตีนพระพุทธเป็นเจ้าเรานี้ มีลายอันได้ร้อยแปดสีส่อง.... ดับหนทางแต่เมืองสุโขทัยมาเถิงจอมเขานี้งามหนักหนาแก่กมสองขอก หนทางย่อมตั้งกัลปพฤกษ์ใส่รมยวล ดอกไม้ตามไต้เทียนประทีปเผาธูปหอมตระหลบ…ศักราช 1281 ปีกุน เมื่อพระศรีบาทลักษณ์ขึ้นประดิษฐานไว้ในเขาสุมนกูฏบรรพต...”
สัญลักษณ์ 108 มงคล (อัฏฐุตรสตมงคล) เกิดขึ้นบนเกาะลังกา ด้วยอิทธิพลของฝ่ายคณะอภัยคีรีวิหาร (Abhayagiri-vihāra)  หรือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแบบลังกา  ที่ต้องการสร้างเรื่องราวให้พระพุทธเจ้านั้นมีความเป็นอภินิหารและอยู่เหนือความเป็นมนุษย์/เหนือโลกตามแบบมหายานมากขึ้น (เหยียบอยู่เหนือโลกุตรทั้งปวงในอดีตก่อนปรินิพพาน)  ดังที่กล่าวถึงในคัมภีร์ชินลังการฎีกา ประกอบด้วย หอก, แว่นส่องหน้า, ที่อยู่ของพระศรี, ดอกพุด, สวัสติกะ, พวงมาลัย, ภาชนะราชูปโภค, แท่นที่ประทับ,ขอสับช้าง, ปราสาท, ซุ้มประตู, เศวตรฉัตร,พระขรรค์, พัดใบตาล, กำหางนกยูง, แส้หางจามร, มงกุฎประดับเศียร, แก้วมณี, บาตร, พวงมาลัย, มาลัยมะลิ, ดอกบัวสีน้ำเงิน, ดอกบัวสีแดง, ดอกบัวหลวงสีแดง, ดอกบัวหลวงสีชมพู, ดอกบัวหลวงสีขาว,หม้อที่มีน้ำเต็ม, ถ้วย, ภาชนะที่มีของบรรจุเต็ม, มหาสมุทรทั้ง 4,จักรวาล, ป่าหิมพานต์, เขาพระสุเมรุ, ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์, กลุ่มดาวนักษัตร 27 ดวง, ทวีปใหญ่ทั้ง 4  พระเจ้าจักรพรรดิและข้าราชบริพาร 7 ประการ, สังข์ทักษิณาวัต, ปลาทองคู่, จักรคู่, แม่น้ำสำคัญ 7 สาย, ภูเขาสำคัญ 7 ลูก, สระใหญ่ทั้ง 7 ในป่าหิมพานต์, พระยาครุฑทอง, จระเข้, รูปธง, เสลี่ยงทอง, พัดโบกทอง (จามร), เขาไกรลาส, พระยาราชสีห์, พระยาเสือโคร่ง, พระยาม้าวลาหก ,พระยาช้างอุโบสถ, พระยาช้างฉัททันต์, พระยานาควาสุกี, พระยาหงส์, พระยาโคอุสุภราช, พระยาช้างเอราวัณ, มังกรทอง, เรือใหญ่, แม่โคและลูก, กินนร, กินนร, นกดุเหว่า, นกการวิก, พระยานกยูง, พระยานกกระเรียน, พระยานกจากพราก, พระยานกไก่ฟ้า, เทวโลกกามาพจร 6 ชั้น และรูปพรหมโลก 16 ชั้น เข้ามาจัดวางอยู่ภายในฝ่าพระพุทธบาท
รูปศิลปะพระพุทธบาทในรัฐสุโขทัย ยังคงนิยมจัดวางรูปสัญลักษณ์มงคลในช่องตารางแบบเต็มพระบาท แบ่งด้วยเส้นลวดและไม่แบ่งด้วยเส้นลวด ตรงกลางเว้นพื้นที่กลมเป็นรูปธรรมจักรหรือดอกบัวตามแบบลังกา จัดวางสุคติภูมิแห่งจักรวาลในมิติด้านตั้ง (ถือพระอังคุฏ-นิ้วหัวแม่เท้าเป็นด้านบน) มีโสฬสพรหมโลกอยู่ในระดับสูงที่สุด ไล่ลงมาเป็นเทวโลก เขาพระสุเมรุ ทวีป จักรวาลและมหาสมุทร โลกมนุษย์ ไล่ระดับลดหลั่นลงมา มีทั้งแบบแนวมิติราบและแนวตั้ง ซึ่งการจัดวางรูปมงคลแบบนี้เป็นคติที่ยังคงความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน
-------------------------------------------
***  รอยพระพุทธบาทสำริด ที่พบจากวัดเสด็จ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นรูปพระพุทธบาทจำลองที่หล่อขึ้นจากสำริดที่เก่าแก่ในประเทศไทย  มีขนาดประมาณ 105.5 ซม. * 154 ซม. สภาพชำรุด เป็นพระพุทธบาทเบื้องขวา แบบตั้งขวางเพื่อประดิษฐานแบบวางพิง (ผนัง) หันนิ้วพระบาทไปทางเวียนซ้าย มีรูปสังข์ในทุกกลางร่องหัวนิ้วพระบาท สกัดลายเส้นรูปลายสัญลักษณ์มงคลล้อมรอบกลุ่มบัวตรงกลางในมิติราบตามแผนผังของจักรวาทินในแนวโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตรงกลางฝ่าพระบาทเป็นรูปวงกลมล้อซี่แบบพระธรรมจักร หมายถึง “เขาพระสุเมรุ” ล้อมรอบด้วยวงกลมมีกลีบบัวรวน 7 ชั้น หมายถึงเทือกเขาสัตบริภัณฑ์และมหาสมุทร  โดยมีวงของนทีสีทันดรอยู่ด้านนอกสุด วงใน 27 รูป วงสอง 36 รูป เป็นรูปของ สัตว์มงคล พืชพรรณ ทวีป มนุษย์ สัตว์หิมพานต์ ปราสาทจตุโลกบาล เครื่องสูงและสมบัติของพระมหาจักรพรรดิ มีเทวโลกและพรหมโลก 28 รูป อยู่รอบนอกสุดโดยไม่มีการแบ่งกรอบเส้นลวด มีลักษณะการจัดวางรูปสัญลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับพระพุทธบาทสลักหินทรายที่พบจากวัดพระราม พระนครศรีอยุธยา แต่มีการจัดวางลำดับความสำคัญแตกต่างไป คือ วางรูปพรหมโลกและเทวโลกไว้ด้านใน (รอบเขาพระสุเมรุและเขาสัตตบริภัณฑ์คีรี) ส่วนดวงดาว ทวีป โลก มนุษย์ สัตว์หิมพานต์ แม่น้ำ ภูเขาและดอกไม้เครื่องสูง วางสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์และลาภยศไว้วงด้านนอกสุด คั้นด้วยกรอบเส้นลวดแบบเดียวกับพระพุทธบาทไม้วัดพระรูป จังหวัดสุพรรณบุรี
ด้านบนของพระพุทธบาทสำริดวัดเสด็จเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้า 27 พระองค์ คงเหลืออยู่ 13 พระองค์ (องค์ที่เหลือติดกับส้นพระบาทที่ถูกฉีกขาดออกไป)  มีชื่อนามจารึกอักษรขอมสุโขทัยกำกับไว้ด้านบน นับจากซ้ายมาขวา เริ่มจาก พระปทุมุตตระ พระนารทะ พระปทุมะ พระพุทธอโนมทัสสี พระพุทธโสภีตะ พระพุทธเรวัตตะ พระสุมนธีระ พระพุทธสุมังคละ พระโกญฑัญญะ พระทีปังกระ พระสรณังกระ พระพุทธเมธังกระและพระพุทธตัณหังกระ
ขอบด้านข้างมีจารึก ว่า “...ทรง เดช บุญ ศักดิ์ พิเศษทั่วหล้า ใช้ข้าผู้ดีธรรมรุจี (ได้) จําหลักลายบาทลักษณ์ทั้งมวล ก็ (แล้ว) เสร็จในพระบาทพระสรรเพชญก็ (จน) บริบูรณ์เท่านี้ สิริเป็นทอง (สำริด) 1500,000  (ให้)บําเหน็จ (แก่) ช่างหล่อ 10 ตําลึง สิริประสม (รวม) เป็นเงิน 36 ตําลึง ดังนี้แล...”
ด้านข้างทางขวาที่เหลืออยู่ เป็นรูปพระอัครสาวกในกรอบสี่เหลี่ยม ติดกับปลายพระอังคุฏ มีจารึกระบุว่าเป็น “พระมหาโกญฑัญญเถระ” ถัดลงมาเป็น “พระกุมารกัสสปะและพระกัสสปเถระ” ในกรอบสี่เหลี่ยมเดียวกัน ลงมาเป็น “พระคยานันที” และ “พระอุรุเวฬกัสสปะ” ในกรอบเดียวกัน ถัดลงมาเป็นท้าวโลกบาล (Lokapalas) “วิรุณหกราชะ” (วิรุฬหก-ทิศใต้) และ “ธัฏฐรัฏฐราชะ” (ธตรฐ-ตะวันออก) ในกรอบเดียวกัน ล่างสุดเป็นรูป “พระขัตตคามะ” (ขัตตุคาม) ทวารบาลถือพระขรรค์ยาว สวมเทริดแบบกรัณฑมงกุฎ
ด้านล่างเป็นรูปพระมหาสาวกเดินเรียงแถวแสดงอัญชลี เหลืออยู่ 20 องค์ มีจารึกกำกับชื่อนาม (เรียงจากซ้ายตรงรอยแตกไปทางขวา) เริ่มจาก สาคโต สุคโต โสภทฺโท ปภงฺกร สมิทฺธี โลลุทฺธายี กาฬุทายี อุทายี ควมฺปติ สิมฺพลี อุบาลี ภทฺทรชิ อสฺสชิ วักกลิ ปุณณเถระ พระภารัทวาชะ พระสุภูตะ อังคุลิมาละ นาคเถระและรัฏฐปาละ
------------------------------------
*** จากรูปแบบเครื่องแต่งกายของทวารบาล ฐานตั่งแข้งสิงห์-ปีฐกะ รวมถึงอายุของตัวอักษรขอมสุโขทัยที่ใช้จารึก พระพุทธบาทสำริดนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นในเมืองกำแพงเพชร ในช่วงที่รัฐสุโขทัยกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุทธยา ประมาณปลายรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 โดยเป็นงานศิลปะสุโขทัยใต้/กำแพงเพชรที่ได้รับอิทธิพลศิลปะและคติจากอยุทธยา แต่ยังไม่ปรากฏงานศิลปะรูปดอกไม้จีนอย่างดอกโบตั๋น ดอกไม้หลายกลีบและดอกบัวอย่างที่เป็นความนิยมในเวลาต่อมา
เครดิต ;FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
.....................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
.....................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.
.....................................................


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love.

    ตอบลบ
  2. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ