วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งอาณาจักรอยุธยา
    สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชสมภพที่ทุ่งพระอุทัย หรือในปัจจุบันเรียกว่า ทุ่งหันตรา โดยเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) จะยกกองทัพลงไปตีเมืองพระนครหลวง (นครธม) นั้น ได้รวมพลและตั้งพลับพลาเพื่อประกอบพิธีกรรมตัดไม้ข่มนามที่ทุ่งพระอุทัย ขณะนั้นพระอัครชายาซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 กษัตริย์แห่งพระราชวงศ์พระร่วง กำลังทรงพระครรภ์อยู่ ได้ออกไปส่งเสด็จ ได้ประสูติสมเด็จพระบรมไตรนาถที่พลับพลานั้น เมื่อปีกุน จุลศักราช 797 พ.ศ. 1974 ซึ่งในยวนพ่ายโคลงดั้น ระบุว่า แถลงปางพระมาตรไท้ สมภพ ท่านนา แดนด่ำบลพระอุทัย ทุ่งกว้าง
    ทรงเจริญพระชันษาที่เมืองพิษณุโลก พระองค์ทรงครองราชย์ 40 ปีเป็นเวลานานที่สุดในบรรดาพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ แห่งอาณากรุงศรีอยุธยา โดยเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 และก็ยังเป็นพระนัดดาในสมเด็จพระอินทราชา มีพระราชมารดาเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง พระนามมีความหมายถึง "พระพุทธเจ้า" หรือ "พระอิศวร" มีผู้ที่เข้าใจว่าคงเป็นพระสหายมาตั้งแต่วัยเยาว์ชื่อ "ยุทธิษเฐียร" (ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็นผู้ชักนำพระยายุทธิษฐิระ หรือ พระยายุทธิษเฐียร ทรงเป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง เป็นพระร่วงเจ้าสุโขทัยในปี พ.ศ. 2011 จนกระทั่งอาณาจักรล้านนาเสียดินแดนอาณาจักรสุโขทัยแก่อาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ. 2017 นอกจากนี้ พระเจ้าติโลกราชยังทรงแต่งตั้งให้พระยายุทธิษฐิระ เป็นเจ้าเมืองพะเยา)และดูแลหัวเมืองล้านนาตะวันออกตอนล่าง จนถูกปลดในปี พ.ศ. 2022
       สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีลูกยาเธอที่ปรากฏพระนาม 3 พระองค์ ไม่ปรากฏพระนามพระองค์ 1 ที่ปรากฏพระนามนั้นคือ  พระบรมราชา ซึ่งพระราชทานอภิเษกให้อยู่ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสด็จขึ้นไปครองราชสมบัติอยู่ ณ เมืองพิษุโลก พระบรมราชานี้ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองราชสมบัติต่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมาอีก 3 ปี จึงสวรรคต แต่หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ เรียกพระนาม(โดยสำคัญผิดพระองค์)ว่า สมเด็จพระอินทราชาธิราช  พระอินทราชา ปรากฏพระนามเมื่อไปรบศึกเชียงใหม่ ต้องปืนที่พระพักตร์ครั้งรบกับหมื่นนคร เห็นจะสิ้นพระชนม์ในคราวนั้น ด้วยไม่ปรากฏพระนามต่อมาอีก พระเชษฐา ที่ได้เสวยราชย์เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สมภพที่เมืองพิษณุโลก ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ฝ่ายพระชนนีจะเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้ากรุงสุโขทัยแต่ก่อนมา ที่ไม่ปรากฏพระนามนั้น คือลูกเธอพระองค์หนึ่งซึ่งกล่าวในหนังสือยวนพ่ายว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจะทรงผนวช รับสั่งให้ลูกเธอพระองค์นี้เสด็จไปนิมนต์พระสงฆ์ในเมืองลังกาเข้ามานั่งหัตถบาต ลูกเธอองค์นี้จะเป็นพระองค์ใดใน 3 พระองค์ที่กล่าวแล้วไม่ได้ จึงเห็นว่าจะเป็นอีกพระองค์หนึ่งต่างหาก
     ศึกเข้ามา หลังการขึ้นครองราชย์แล้ว ก็เสด็จมาประทับที่อยุธยาในช่วงแรกของการครองราชย์ อีกครึ่งหนึ่งเสด็จมาประทับที่พิษณุโลก เชื่อว่าคงเป็นไปเพื่อการควบคุมดูแลหัวเมืองทางด้านเหนือ และคานอำนาจของอาณาจักรทางเหนือ คือ อาณาจักรล้านนา ซึ่งกำลังมีความเข้มแข็งและต้องการแผ่อำนาจลงมาทางใต้ ในยุคของพระเจ้าติโลกราชพระมหากษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ 9 ครองราชย์ พ.ศ. 1985–2030 พระนามเดิมคือ "เจ้าลก" เนื่องจากเป็นพระโอรสองค์ที่ 6 ในพญาสามฝั่งแกน (ลก ในภาษาไทเดิม มีความหมายว่า ลำดับที่ 6) ร่วมรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา
       ***เรื่องรบกับเชียงใหม่
(จากโพสต์ที่แล้วมีท่านผู้อ่านเข้ามาคอมเม้นว่า”สมัยเจ้าสามพระยากรุงอโยธยาเป็นฝ่ายรุกรานล้านนาถึง2ครั้ง​ กวาดต้อนไพร่ราษฎรมาได้เป็นจำน​วน​ แม้จะไม่สำเร็จแต่ก็แสดงว่าแสนยานุภาพนั้นเหนือกว่า​   แต่พอมาสมัยบรมไตรนาฤเหตุใดล้านนาจึงขึ้นมีแสนยานุภาพเทียบเท่าและเป็นฝ่ายรุกรานเข้าตีหัวเมืองเหนือกวาดต้อนไพร่ราษฎรขึ้นไป​ได้ แม้อโยธยาจะรุกไล่ตีโต้กลับแต่ก็ไม่สามารถเอาชนะศึกได้​(สงบศึกเสียก่อน)​ หรือว่ามีเจ้าฝ่ายเหนือนำกำลังขึ้นไปร่วมกับทัพล้านนา”
    ***การสงครามที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทำกับเชียงใหม่นั้น ผิดกับสงครามในรัชกาลก่อนๆ นับตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ มา แต่ก่อนเป็นแต่ยกไปรบเมืองอื่นฝ่ายเดียว แต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ เกิดพระเจ้าติโลกราช คือ ท้าวลก เป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอานุภาพมากขึ้นในเมืองเชียงใหม่ เมืองเชียงใหม่กำเริบลงมาเบียดเบียนอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทำสงครามป้องกันพระราชอาณาเขต ไม่ให้เสียไปแก่เชียงใหม่ จึงเป็นการลำบากกว่าสงครามในรัชกาลก่อนๆ
       ***ถวายวังเป็นวัด
     หนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสวยราชย์ครองกรุงศรีอยุธยา ทรงอุทิศที่พระราชวังเดิมในกรุงศรีอยุธยาสร้างเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ ย้ายพระราชวังลงมาตั้งข้างริมน้ำ การอุทิศพระราชวังถวายเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ครั้งนั้น ไม่ใช่ต้องย้ายวังไปสร้างที่อื่น อย่างหนังสือพระราชพงศาวดารชวนจะให้เข้าใจ ใครได้ไปดูท้องที่แล้วจะเห็นได้ว่าที่จริงเพียงกันเขตพระราชวังส่วนหนึ่งสร้างขึ้นเป็นวัด เป็นวัดอยู่ในกำแพงพระราชวัง อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพฯนี้เอง
     สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2031 เมื่อพระชนมายุ 57 พรรษา ทรงครองราชย์ได้ 40 ปี ยาวนานที่สุดของอาณาจักรอยุธยา และเป็นลำดับ 3 ของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 20 ปี ที่เหลือทรงประทับที่เมืองพิษณุโลกตลอดรัชกาล
..........................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
..........................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ