วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ไม้ไผ่และการจักสาน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always beloved.

ร่องรอย “ไม้ไผ่และการจักสาน” ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่ประตูผา ลำปาง
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในเขตร้อนชื้นจะมีพัฒนาการควบคู่กันมากับพันธุ์พืชมหัศจรรย์อย่าง "ไผ่ (Bamboo)" ที่มีอยู่ดาษดื่นตามธรรมชาติ และเจริญพันธุ์อยู่ทั่วภูมิภาคของโลกมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ 
ไผ่ เป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีความแข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบา มีความทนทานแต่กลับยืดหยุ่นและย่อยสลายได้ง่ายในธรรมชาติ ให้สัมผัสที่ราบเรียบ ตั้งตรงสามารถแปรรูปและประยุกต์มาใช้งานได้ง่าย และยังหาได้ง่ายในป่า
ช่วงเริ่มแรกของการตั้งถิ่นฐานในสังคมเกษตรกรรม (Agricultural Society) สังคมของมนุษย์ได้สร้างความคุ้นเคยกับธรรมชาติรอบตัวด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกัน จนพัฒนาไปสู่การอยู่ร่วมกันในทุกส่วนทางวัฒนธรรม จนเกิดขึ้นเป็นวิถี  "ภูมิปัญญา"  ในวัฒนธรรมโบราณ เพื่อการแปรรูปพืชพันธุ์จากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ สะสมความรู้มาจนเป็นเวลายาวนาน
ร่องรอยหลักฐานทางโบราณบรรพชีวินแสดงให้เห็นว่า มนุษย์โฮโม อิเรคตัส (Homo Erectus ) อันได้แก่ มนุษย์ปักกิ่ง (Paking Man) และมนุษย์ชวา (Java Man) ในเอเชียนั้น ได้ใช้ประโยชน์จากป่าดิบอันอุดมสมบูรณ์ของเส้นศูนย์สูตร อันมีพันธุ์ไม้ไผ่และไม้เถายาว (อย่าง หวาย – Rattan) นานาชนิดอยู่อย่างหนาแน่นยาวนานกว่า 8 แสนปีมาแล้ว
ในช่วงเวลาเริ่มแรกของวัฒนธรรม สังคมของมนุษย์ยังไม่มีความสามารถในการแปรรูปโดย "การจักสาน” (Wickering) พืชพันธุ์ในธรรมชาติ  แต่ในช่วงเวลาต่อมาไม่นานนัก นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าในยุคน้ำแข็ง "ไพลสโตซีน" ที่มีเวลาในช่วง 5 แสนปีจนถึง  10,000 ปีที่แล้วนั้น มนุษย์ได้เริ่มมีพัฒนาการเริ่มต้นอย่างหยาบ ๆ ในการแปรรูปจักสานพันธุ์ไผ่ หวายและไม้เถาต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ก่อนที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผา ดังหลักฐานจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียของลุ่มแม่น้ำไทกรีส-ยูเฟรตีส  อายุกว่า 5,000 – 6,000 ปี แสดงให้เห็นร่องรอยของการจักสานเป็นครั้งแรกปรากฏเป็นรอยพิมพ์บนเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเกิดจากการไล้ดินเหนี่ยวลงในเครื่องจักสาน เมื่อดินเหนียวแข็งตัวจากการตากแสงแดดจึงนำไปเผาไฟในอุณหภูมิต่ำ
สำหรับร่องรอยการจักสานตามหลักฐานทางโบราณคดีในประเทศไทย ก็พบร่องรอยการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้เขตร้อนนานาชนิดทั่วภูมิภาค มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 6,000 ปีที่ผ่านมา จากร่องรอยการเข้าเดือยของเครื่องมือหินประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องมือหินแบบมีบ่า ยึดเข้ากับรูไม้ที่เจาะไว้ (ทั้งทางตรงด้านบน และทางขวาง) ไม้ที่ใช้มีหลายประเภทรวมทั้งไม้ไผ่ และมีการพัฒนาการจักสานหวายหรือไม้เถาพร้อมกับการใช้ยางไม้เพื่อยึดเหนี่ยวเครื่องมือมือกับไม้ด้ามจับให้แข็งแรง
ซึ่งก็ยังพบร่องรอยการใช้ไม้ไผ่เพื่อเป็นเครื่องมือตัดหินทำกำไล โดยปั่นแกนของต้นไผ่ให้หมุนด้วยความเร็ว จนไปกดกัดเซาะหินแผ่นจนเป็นร่องลึก เกิดเป็นรูกลมกำไลทั้งแกนนอกและแกนใน  พบหลักฐานเป็นร่องรอยของหินที่เรียกว่า "แกนกำไล-หินงบน้ำอ้อย" ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว และยังไม่ทำไม่เสร็จจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีทั่วประเทศ
รวมถึงหลักฐานร่องรอยของรูเสาไม้ไผ่กลวงในแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่พักชั่วคราว หรือเป็นแหล่งฝังศพ เช่นที่พบในแหล่งโบราณคดีหนองแช่เสา จังหวัดราชบุรี
ในช่วง 4,000 ปี นี้ ยังพบเครื่องจักสานลายขัดสอง ในถ้ำแห่งหนึ่งของอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี แต่อยู่ในสภาพเสียหายมาก ไม่เป็นรูปทรง เพราะสภาพแวดล้อมทางโบราณคดีถูกบุกรุกทำลายไปจนทั้งหมด
-----------------------------------------
***  การใช้ไม้ไผ่และการจักสานในประเทศไทย ปรากฏเป็นหลักฐานชัดเจนมากขึ้นในช่วง 3,000 ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการขุดพบภาชนะดินเผาที่มีร่องรอยการจักสานประทับอยู่บนดินเผา บริเวณภูมิภาคลุ่มน้ำสงคราม อย่างบ้านเชียง อำเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี ซึ่งปั้นโดยการไล้ดินลงไปในกระบุงจักสานแล้วปั้นปากภาชนะ นำไปเผาด้วยความร้อน ชาวบ้านในปัจจุบันจะเรียกว่าภาชนะดินเผาชนิดนี้ว่า “กระบุงดินเผา”
ในบริเวณที่ราบลอนลูกคลื่นภาคกลางลุ่มน้ำป่าสัก – ตาคลี แถบจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรีของภาคกลาง ก็มีการขุดพบร่องรอยของการจักสานบนภาชนะดินเผาที่มีความละเอียดประณีตมากแล้ว (ลายขัดสอง) อายุกว่า 3,000 - 2,500 ปี จากแหล่งฝังศพก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก
แต่กระนั้นก็ยังไม่เคยมีการค้นพบภาชนะจักสานจริง ๆ ที่สมบูรณ์จากการขุดค้นทางวิชาการและลักลอบขุดเพื่อหาสมบัติกันซักที
จนเมื่อมีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณโดยบังเอิญบริเวณดอยประตูผา ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง  ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังศาลเจ้าพ่อประตูผา ที่มีภาพเขียนสีฝุ่นแดงจากแร่เหล็กอันเก่าแก่ปรากฏชัดอยู่บนผนังเพิงผา แสดงถึงความจงใจและตั้งใจของของผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่วาดรูปในหลายลักษณะ ทั้งรูปมือทั้งที่เอามือจุ่มสีและไปแปะ หรืออมสีพ่นไปบนมือกลายเป็นรูปโครงมือ อีกทั้งยังมีรูป วัว ม้า กวาง สุนัข  สัตว์ป่า คน คนล่าสัตว์ ลวดลายเลขาคณิต เป็นกลุ่ม ๆ  ตลอดความยาวของเพิงผากว่า 130  เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุประมาณ 3,000 – 4,000 ปี ก่อน
----------------------------------------
*** ในปี พ.ศ. 2541 จึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณช่องเขาประตูผา เผยให้เห็นหลักฐานของวัฒนธรรมไม้ไผ่และการจักสานที่มีอายุยาวนานกว่า 3,000  ปีที่ชัดเจนที่สุดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
การขุดค้นทางวิทยาศาสตร์ได้พบโครงกระดูกของมนุษย์หลายโครงที่มีร่องรอยการปฏิบัติพิธีกรรมหลังความตาย ของสังคมที่เริ่มมีความซับซ้อน มีคติความเชื่อในเรื่องของชีวิตในโลกหน้า เพราะได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ฝังรวมอยู่เพื่อเป็นการอุทิศแก่คนตาย ทั้งเสื่อ ตะกร้า เสาไม้ไผ่กลวง ฟากไม้ไผ่ ซองใส่สิ่งของและภาชนะดินเผาลายเกล็ดปลาในหลุมฝังศพ
ตามลักษณะของหลักฐานที่ขุดพบ พออนุมานได้ว่า ในพิธีกรรมฝังศพ ได้มีการขุดหลุมดินไม่ลึกนัก วางฟากไม้ไผ่รองพื้น มีการแต่งตัวให้กับผู้วายชนม์เป็นครั้งสุดท้าย พร้อมวางของใช้ของผู้ตายทั้งหมวกผ้า หมวกสาน ตะกร้า กระบุง ซองใส่เครื่องมือ เครื่องมือทำจากกระดูกสัตว์ กระดองเต่ากลม ภาชนะดินเผาลายกดประทับมีเขานูนที่ไหล่ เปลือกหอยทะเล  ขวานหินขัด กำไลหิน (หินอ่อน) ลูกปัดหินรูปทรงหลอด (หินโคลน  หินปูน หินชนวน หินเชิร์ต)  นำอาหารมาใส่ในหม้อดินเผาพร้อมกับทัพพีไม้เขียนลวดลายสีแดง (เป็นทัพพีที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเช่นกัน) ในภาชนะดินเผานั้น เมื่อพูนดินมากลบฝัง จะเป็นเนินฝังศพที่สูงจากพื้นดินเล็กน้อย แล้วสร้างบ้านไม้ไผ่ขนาดเล็กคลุมลงไปบนเนินฝังศพนั้นอีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นบ้านหลังสุดท้ายที่มอบให้กับคนที่รัก ที่จากไปสู่ปรภพเป็นนิรันดร
พันธุ์ไผ่ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นพันธุ์ไม้พื้นถิ่นที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน ทั้งไผ่ซาง ไผ่บง ไผ่ไร่และไผ่รวก ผู้คนที่นอนทอดกายอยู่ที่ประตูผา จึงเคยเป็นเจ้าของแผ่นดินแถบนี้ในยุคสมัยหนึ่งที่อาจเดินทางไปมาระหว่างภูมิภาคหลายแห่ง ที่มีวัตถุดิบทำขวานหิน หินสบู่ เปลือกหอยทะเล เดินทางขึ้นมาเสียชีวิตจึงได้มาฝังศพไว้บนเพิงผาแห่งนี้
หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมไม้ไผ่และเครื่องจักรสานรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำมาจากไม้ นานกว่า 3,000 ปีนั้น จึงไม่ย่อยสลายไปหรือเห็นเป็นแค่ซากไม้ไผ่ผุ ๆ พัง ๆ นั่นก็เพราะความโชคดีอย่างที่สุดที่แหล่งโบราณคดีประตูผาอยู่ในตำแหน่งใต้เพิงผาที่ใหญ่และกว้างเป็นหลังคาขนาดใหญ่ป้องกันพายุฝน พื้นดินแถบนี้จึงแห้งแล้ง ส่งผลดีต่อการเก็บรักษาหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญนี้ไว้เป็นอย่างมาก ทั้งยังห่างไกลจากเส้นการเดินทางของผู้คนในอดีต จึงไม่มีการเข้ามาอยู่อาศัยพักพิง ทับซ้อนจนรบกวนหลุมศพเหล่านี้
ร่องรอยเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากไม้ไผ่จักตอกที่พบในหลุมศพโบราณที่ประตูผา จังหวัดลำปางนี้ จึงนับเป็นหลักฐานของการใช้ไม้ไผ่และการจักสานที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดที่พบในประเทศไทย
*** ภาพการขุดค้น : รายงานการขุดค้นศึกษาและคัดลอกภาพเขียนสีแหล่งโบราณคดีประตูผา อ.แม่เมาะ จังหวัดลำปาง กรมศิลปากร 2541
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
..........................................................
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
http://abhinop.blogspot.com
http://abhinop.bloggang.com
..........................................................
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
..........................................................


1 ความคิดเห็น:

  1. ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
    My blogs link 👆
    https://sites.google.com/site/dhammatharn/
    http://abhinop.blogspot.com
    http://abhinop.bloggang.com
    ..........................................................
    ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved.

    ตอบลบ