วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พระนารายณ์๑๐ปาง

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
การปรากฏรูปพระพุทธเจ้า ตามคติ “นารายณ์ 10 ปาง” ในงานศิลปะเป็นครั้งแรก  
ตามความเชื่อของชาวฮินดูโบราณ ชื่อนามพระนารายณ์ (Narayana) จากนิกายปาญจราตระ (Pāñcarātras) และพระวิษณุ ในนิกายภาควัต (Bhagavata) ที่หล่อหลอมรวมกัน เกิดเป็น “ไวษณพนิกาย” (Vaishnavism) สร้างวรรณกรรมเรื่องราวขึ้นเป็นเทพเจ้าผู้ “ปกปักษ์รักษาโลก” ดังปรากฏใน “ภาควัตปุราณะ” (Bhāgavata Purāṇa) พระนามของพระองค์มีมากมาย ในแต่ละนิกายและยุคสมัย พระนามสำคัญคือ “พระหริ” (นิกายไวษณพ) แปลว่าผู้ดูแลแห่งจักรวาล “พระนารายณ์” (นิกายปาญจราจระ) ผู้ที่เคลื่อนไปในน้ำ (เกษียรสมุทร) “พระกฤษณะ” (นิกายภาควัต) ผู้เป็นบุตรของฤาษีวาสุเทพ ในบทสวด “ภควคีตา”ของคัมภีร์มหาภารตะอันเก่าแก่
     แต่ละปุราณะกล่าวตรงกันว่า พระวิษณุหรือพระนารายณ์จะประทับบนสรวงสวรรค์ที่มีนามว่า “ไวกูณฐ์” มีพื้นแผ่นดินเป็นทองคำ วิมานทั้งปวงทำด้วยแก้วมณี เสาประดับด้วยแก้วนพเก้า ประทับบนอาสนะบัวขาว และอนันตนาคราช โดยมีพระลักษมีประทับทางเบื้องขวา มีพาหนะ คือ “พญาครุฑ” (พญาสุบรรณ หรือ เวนไตย) มี 4 พระกร ถือ สังข์ปัญจชันยะ, จักรสุทรรศน์ หรือ วัชระนาถ, คทาเกาโมทกี, ธนูสารัน และพระขรรค์นนทกะ
     ส่วนในคัมภีร์ “ปัทมปุราณะ” (Padma Purāṇa) กล่าวว่า พระวิษณุทรงถือ ดอกบัว ลูกศร ดอกไม้ หรือเชือกบ่วงบาศ และสายฟ้า
     แต่ละปุราณะของฝ่ายไวษณพนิกาย  ทั้งภาควัตปุราณะ มัสยาปุราณะ (Matsya Purāṇa) มารกัณเฑยะปุราณะ(Mārkaṇḍeya Purāṇa) วิษณุปุราณะ (Viṣṇu Purāṇa) พราหมณะปุราณะ(Brahmāṇḍa Purāṇa) ครุฑปุราณะ (Garuda Purāṇa)  วราหะปุราณะ(Varāha Purāṇa) ปัทมปุราณะ  อัคนีปุราณะ  (Agni Purāṇa) หริวงศ์ปุราณะ (Harivaṃśa) มหากาพทย์มหาภารตะ (Mahābhārata) และรามายณะ (Rāmāyaṇa) ก็ล้วนแต่ระบุลำดับ เนื้อเรื่องและเวลาของการอวตาร (Avatar) หรือการลงมาจุติลงมาเป็นร่างของ “มนุษย์ – สัตว์ – อมนุษย์” เพื่อปราบยุคเข็ญและปกป้อง “ธรรม” ให้กับโลก (ดังความที่เขียนไว้ในภควัทคีตาว่า "เมื่อใดก็ตามที่ความชอบธรรมลดลงและที่ใดก็ตามที่มีความชั่วเข้าครอบงำ เราจะลงมาจุติบนโลก) ของพระวิษณุแตกต่างกันไป แต่เมื่อรวบรวมเรื่องราวการอวตารจากคัมภีร์ปุราณะแต่ละฉบับนั้น จะพบว่ามีมากถึง 39 ครั้ง เลยทีเดียวครับ 
     หลายพระอวตารของพระวิษณุที่ไม่ค่อยถูกล่าวถึง ก็คือ “มหิงสาวตาร” หรือพญามหิงษา เพื่อกำจัดอสูรมหิงษา ที่เข้าทำลายเข้าพระสุเมรุ อวตารเป็น “พระนารา-นารายะ” นักบวชคู่แฝด เพื่อการทบทวนการปฏิบัติธรรม  “อัปสราวตาร- อนันตนารีวตาร” คือนางอัปสร ที่หลอกล่อยักษ์นนทก ให้ร่ายรำจนชี้นิ้วเพชรไปที่ขาของตน อวตารเป็นนางโมหิณี  ไปทำลายกลุ่มฤๅษี-ฤๅษิณีที่ป่าตรรกะพร้อมกับพระศิวะ “โมหิณีอวตาร” ในตอนกวนเกษียรสมุทร”  อวตารเป็นยักษ์แก่ ไปยืนดักท้าวราวาณะ เอาต้นไม้กลับหัวลงดินเพื่อเตือนสติ ที่ไปขอเอาพระนางปารวตีเป็นรางวัลในการยกเขาไกรลาสมาจากพระศิวะ หรือ “หัยครีพวตาร” (หัวม้า) สังหารอสูรมธุและไกฏกะ ฯลฯ
     จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 เรื่องราวพระอวตารแห่งพระวิษณุหรือพระนารายณ์ในคัมภีร์อัคนีปุราณะ จึงได้ถูกกำหนดให้เหลือเพียง 10 ปาง ที่เรียกว่า "ทศาวตาร” (daśāvatāra) เป็นครั้งแรก ๆ ซึ่งในยุคสมัยต่อมา ก็จะนิยมกล่าวถึงเรื่องราวพระอวตารเพียง 10 ปาง เท่านั้น
---------------------------
***  ทับหลังวงกบประตูชิ้นหนึ่งที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อินเดียน  (Indian Museum (ในตู้กระจก บนระเบียงชั้นบน) เมืองกัลกัตต้า รัฐเบงกอลตะวันตก สลักด้วยหินบะซอลต์ ศิลปะนิยมในยุคราชวงศ์ปาละ ( Pala Dynasty) ได้แสดงเรื่องราวของพระอวตารตามคติทศาวตาร หรือนารายณ์ 10 ปาง จัดเรียงลำดับเรื่องราวเวลาของการอวตาร ที่นิยมในอินเดียเหนือช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ตามอัคนีปุราระและครุฑปุราณะ 
     การอวตารของพระวิษณุจะเริ่มต้นจากภาพสลักทางขวาสุด คือ 
     ๑ “มัสยาวตาร” (Matsya) อวตารเป็นปลาชื่อว่า “ศะผะริ" (Shaphari) ช่วยเหลือกษัตริย์ "ไววสวัตมนู" (Vaivasvata Manu) นำผู้คนและสรรพสัตว์หนีมหาอุทกภัย รวมทั้งปราบสังข์อสูร ทำเป็นรูปปลาเหนือฐานบัวกลุ่ม (งานศิลปะฝ่ายฮินดูจะทำเป็นรูปพระวิษณุออกมาจากปาก มีตัวเป็นปลาคล้ายนางเงือก)  
     ถัดมาทางซ้าย คือ ๒“กูรมาวตาร” (Kurma) อวตารเป็นเต่ายักษ์ เพื่อปกป้องโลกจากเขามัทรคีรี/มันดารา ในการกวนเกษียรสมุทร (งานศิลปะฝ่ายฮินดูจะทำเป็นรูปพระวิษณุออกมาจากกระดองเต่า) 
     ลำดับ๓  คือ “วราหาวตาร” (Varaha)  อวตารเป็นหมูป่าเพื่อปราบหิรัญยักษ์ (Hiranyaksha) ที่ในงานศิลปะจะสร้างอยู่ในรูปของ นาค- งู ในความหมายของสิ่งที่อยู่ใต้ดินหรือใต้บาดาล โดยยกพระนางภูมิเทวี ในความหมายของแผ่นดินหรือโลกที่ได้กู้คืนกลับมาจากบาดาล ยกเอาไว้ที่แขน ในหลายปุราณะยังเล่าว่า  เมื่อพระวิษณุนำแผ่นดินกลับมาก็ได้แต่งงานกัน และมีบุตรชื่อ “นรกาสูร” (Narakasura) 
     ลำดับที่๔ คือ “นรสิงหาวตาร” (Narasimha) เป็นมนุษย์ครึ่งสิงห์ อวตารมาสังหารหิรัญยกศิปุ (Hiranyakashipu)
     ลำดับที่๕  คือ “วามาวตาร” (Vamana) อวตารเป็นพรามหณ์เตี้ยนามว่า  “วามน” เพื่อกำหราบอสูรมหาพลี ทำเป็นรูปบุคคลถือร่ม 
     ลำดับที่๖ คือ “กฤษณาวตาร” (Krishna) อวตารเป็นพระกฤษณะ กษัตริย์แห่งกรุงทวารกา ทำเป็นภาพบุคคลถือขลุ่ย   
     ลำดับที่๗ คือ “ปรศุรามวตาร” (Parashurama)  อวตารมาเป็นพราหมณ์ถือขวาน เพื่อปราบกษัตริย์ผู้มีพันกรชื่อ “กรรตวิรยะอรชุน” (king Kartavirya Arjuna) ทำเป็นรูปบุคคลถือขวาน 
     ลำดับที่๘ คือ “รามาจันทราวตาร” (Rama) อวตารเป็น “องค์ศรีราม" เพื่อปราบท้าวราวาณะ (Ravana) ในมหากาพย์รามายณะ ทำเป็นบุคคล 4 กร มีรูปนาคปรก
     ลำดับที่๙ คือ “พุทธาวตาร” (Buddha) อวตารเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อหลอกแยกพวกนอกรีตฮินดูให้เลิกนับถือศิวลึงค์ แยกออกไปจากศาสนา ทำเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร
     รูปสลักสุดท้าย ๑๐ ทางซ้ายสุด คือ “กัลกิยาวตาร” (Kalki) อวตารเป็น “พระกัลกี”  อวตารสุดท้ายของพระวิษณุที่จะปราบสิ่งชั่วร้ายทั้งหมดในช่วงสุดท้ายของกลียุค (Kali yuga) แกว่งดาบยาวประดุจดาวหาง ขี่ม้าขาว ฆ่าผู้คนที่อยู่นอกรีต “ธรรมแห่งฮินดู”จนสิ้น 
*** การจัดเรียงลำดับของรูปประติมากรรมอวตารแห่งพระวิษณุบนทับหลังคานประตูนี้ แสดงให้เห็นว่า คติทศาวตารของยุคราชวงศ์ปาละนั้นจะวางเรื่องพระกฤษณะไว้ก่อนเรื่องพระปรศุราม โดยไม่มีเรื่องพระพลรามตามอย่างครุฑปุราณะ ซึ่งอาจได้รับอิทธิพบมาจากมหาภารตะและภาควัตที่มีความนิยมในเรื่องพระกฤษณะ  แตกต่างไปจากคัมภีร์ปุราณะฉบับอื่น ๆ ในยุคก่อนหน้า ที่จะวางเรียงลำดับให้พระปรศุรามมาก่อนองค์ศรีรามและพระกฤษณะ
     งานศิลปะที่มีการจัดเรียงลำดับการอวตารของพระนารายณ์ 10 ปาง ปรากฏรูปพระพุทธเจ้าแบบทับหลังชิ้นนี้ ยังไม่เคยปรากฏให้เห็นในยุคก่อนหน้าที่นิยมวางรูปของพระพลราม ซึ่งอาจเป็นหลักฐานแสดงว่า เพิ่งมีการสร้างวรรณกรรมพระอวตารที่มี “ พระพุทธเจ้า” เข้าไปอยู่ร่วมในคติทศาวตารด้วยครั้งแรก ไม่เกินช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -15 เป็นอย่างเร็วครับ 
เครดิต :
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ