วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พระกฤษณะ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
12 ฉาก “ชีวประวัติในวัยเด็กของพระกฤษณะ” เทวาลัยไกรลาสนาถ ถ้ำเอลโลร่าที่ 16
“เทวาลัยไกรลาสนาถ” (Kailāsanātha Temple) หรือ “ถ้ำเอลโลร่า ที่ 16” (Ellora 16) เป็นเทวาลัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาถ้ำเจาะ (Rock-cut) เชิงหน้าผาหินบะซอลต์ กว่า 100 จุด เรียกว่า “หมู่ถ้ำเอลโลร่า” (Ellora Caves)  เขตเทือกเขาฆาฏตะวันตก (Western Ghats range) ของที่ราบสูงเดกข่าน (Deccan Plateau)  ในเขตเมืองออรังกาบัด (Aurangabad) รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) 
เทวาลัยไกรลาสนาถ เกิดขึ้นจากการออกแบบทางสถาปัตยกรรมผสมผสานกับการสำรวจเนื้อหินภูเขา จึงเกิดเป็นการสร้างสร้างอาคารที่มีการจัดวางซุ้มประตู ระเบียง เสาประทีป มณฑป วิมานประธาน ให้มีห้องคูหาและรูปสลักในคติฮินดูมากมาย จากการเจาะเนื้อของภูเขาหินเข้าไปเพียงก้อนเดียว (Single rock) ไม่มีการตัดหินมาประกอบเป็นโครงสร้างแบบเทวาลัยอื่น ๆ 
เทวาลัยไกรลาสนาถ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากฤษณะที่ 1 (Krishna I)  ราชวงศ์ราชฐากุฏะ (Rashtrakuta) ในช่วงปลายสุดของพุทธศตวรรษที่ 13 จนถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อสถาปนาเขาไกรลาส (Kailasha) ที่ประทับแห่งองค์พระศิวะ และ สถานที่สถิตของวิญญาณหลังความตายแห่งกษัตริย์ หลอมรวมกับพระศิวะ (ปราสาทหันหน้าไปทางตะวันตก) โดยมี “ห้องครรภคฤหะ” (Garbha-grihya)  หรือ “ปริมณฑลประธาน” (แซงทัม แซงทอรัม - Sanctum Sanctorum) ประดิษฐานรูปศิวลึงค์ (Shiva Lingam) บนฐานโยนีโธรณี (Yonidorini) ทรงกลมขนาดใหญ่ ใจกลางวิมานเทวาลัยประธาน รอบล้อมไปด้วยงานศิลปะรูปสลัก ปูนปั้นและภาพเขียนสีตามคติความเชื่อในวรรณกรรมเทพเจ้า
บริเวณผนังกำแพงข้างมุขหน้าฐานอาคาร “สถามณฑป” (Sabhā-maṇḍapa)  ด้านหน้าของวิมานประธาน ฝั่งทิศใต้สลักเป็นแผงแสดงเรื่องราวของมหากาพย์ “รามายณะ”  (The Epic Rāmāyaṇa Cycle)  ส่วนทางฝั่งทิศเหนือสลักเป็นแผงภาพในเรื่องราวของมหากาพย์ “มหาภารตะ” (The Epic Mahābhārata) ที่ด้านล่างนั้นเป็นเรื่องราว “ชีวประวัติแห่งพระกฤษณะ” (Krishnacaritra)  ในวัยเด็ก (Childhood of Kṛṣṇa) บนแผงภาพจำนวน 12 ฉาก ซึ่งภาพสลักบนแผงนี้เคยมีงานปั้นปูน (Stucco) เป็นรายละเอียดและมีการลงสีสันสวยงาม
--------------------------------------
*** ฉากแรกนั้น เริ่มจากมุมขวาล่างของแผงภาพคือตอน “กำเนิดพระกฤษณะ” (Kṛṣṇajanma) เป็นภาพของนางเทวกี (Devakī) ให้กำเนิดพระกฤษณะ (พระวิษณุ อวตารลงมาจุติเป็นโอรสองค์ที่ 8 )  โดยมีพระวาสุเทพ (Vasudeva)  พระบิดา กำลังเตรียมสับเปลี่ยนลูกของตนกับลูกสาวของนางยโสธา (Yaśodā) ภรรยาของนายนันทะ (Nanda) โคปาลกะ (Gopika ผู้เลี้ยงวัว) เพื่อหนีจากการตามล่าของพญากังสะ (Kaṃsa) กษัตริย์อสูรผู้ปกครองนครมถุรา
*** ฉากที่ 2 คือตอน “การพาพระกฤษณะหนีออกจากที่คุมขัง” (Deliverence from jail) เป็นภาพของพระวาสุเทพกำลังพากฤษณะกุมารหนีออกจากที่คุมขังในยามดึก โดยมีภาพของทหารยามเฝ้าอยู่ ในวรรณกรรมหริวงศ์ (Harivanśha) เล่าว่า ขณะที่พระวาสุเทพกำลังอุ้มกฤษณะกุมารที่นอนหลับอยู่ตะกร้า ตรงประตูทางออกนั้นปรากฏฝูงลา (Donkeys) นอนขวางอยู่ กำลังจะส่งเสียงร้องเมื่อเห็นเขา พระวาสุเทพจึงก้มลง “กราบลา” เพื่อไม่ให้มันตกใจจนทำให้ผู้คุมตื่น กลายมาสุภาษิตโบราณของฝ่ายฮินดูที่ว่า "ถ้าจะทำงานให้สำเร็จลุล่วง จะต้องกราบลาเสียก่อน” (To get one's work done, one has to prostrate even before a donkey) 
*** ฉากที่ 3 คือตอน “ความปิติยินดีที่โคกุลา” (Rejoicing in Gokula) เป็นภาพของเหล่า พระวาสุเทพ นำพระกฤษณะกุมมาร ข้ามแม่น้ำยมุนา (Yamuna) มายังหมู่บ้านคนเลี้ยงวัวชื่อว่า “โคกุลา” เหล่าโคปาลกะและนางโคปี (Gopis - ผู้หญิงเลี้ยงวัว) ต่างแสดงความยินดีปรีดา ในวรรณกรรมเล่าว่า มีการเล่นดนตรี เป่าขลุ่ย ตีกลองรำมะนา และการฟ้อนรำของเหล่านางโคปีอย่างอบอุ่นและยิ่งใหญ่
*** ฉากที่ 4 คือตอน “ปุตนาวธ” (Pūtanāvadha) สังหารนางอสูรที่มีชื่อว่า “ปุตนา” (Pūtanā) เป็นภาพของนางยโสธา กำลังตำข้าว โดยมีพระกฤษณะกุมารในพระอู่-เปล กำลังดูดนมจากเต้าของนางปุตนา แม่นมอสูรที่แอบเข้ามาให้นมพิษ หมายจะสังหารพระกฤษณะ แต่พิษก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ทั้งยังถูกพระกุมารดูดพลังชีวิตของนางออกทางหน้าอกจนแห้งตาย
*** ฉากที่ 5 คือตอน “นมและการปั่นเนย” (Navanītacaurya) เป็นภาพวิถีชีวิตของชาวหมู่บ้านโคกุลา ที่เลี้ยงโคนม นางโคปีจะเป็นคนรีดนม นำน้ำนมใส่หม้อดินมาปั่นเป็นเนยสดและโยเกิร์ต
*** ฉากที่ 6 สันนิษฐานว่า คือตอน  “โควรรธนะธารณ” (Govardhanadhāraṇa) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พระกฤษณะกุมารกำลังยกภูเขาโควรรธนะให้เป็นที่พักพิง ช่วยเหลือเหล่าโคปาลกะและปศุสัตว์จากความพิโรธของพระอินทร์จากเหตุที่ผู้คนเลี้ยงโคไม่เซ่นสรวงบูชาพระองค์ จึงบันดาลฝนตกหนัก 7 วัน 7 คืน 
*** ฉากที่ 7 สันนิษฐานว่า คือตอน “โคโธหนะ” (Godohana) หรือ ตอนพระกฤษณะกุมารรีดนมวัว (ภาพยังสลักไม่เสร็จ) เป็นช่วงเวลาที่พระกฤษณะกุมาร ถูกนางโคปีนำมาฝึกรีดนมวัวพร้อม ๆ กับ “พระพลราม” (Balarāma) ผู้เป็นพี่ชาย และเหล่าลูกหลานของครอบครัวโคปาลกะ ในคอกวัวของ “พฤษภานุมหาราชา” (Vrishabhanu Maharaja) ที่มีวัวมากมายนับแสนตัว ซึ่งในวรรณกรรมเล่าว่า พระกฤษณะกุมารแสนซนได้หลอกให้ “นางราธา”  (Radha) เด็กสาวโคปีมาฝึกรีดนมกับพระองค์ แล้วพระกฤษณะกุมารก็ได้เล็งให้น้ำนมจากเต้าพุ่งไปใส่หน้าของเธอจนเปียกโชกให้เป็นที่ขบขันกัน 
แต่นั่นก็คือ จุดเริ่มต้นของความรักครั้งแรกในวัยเด็ก ระหว่างพระกฤษณะกับพระแม่ราธาเทวีครับ
*** ฉากที่ 8 “ พระกฤษณะกุมารแอบขโมยนมเนยมากิน” (Ulūkhalabandhana)  ภาพสลักแสดงตอนที่พระกฤษณะ กำลังแอบเข้าไปลักกินนมและโยเกิร์ตซึ่งเป็นอาหารโปรดของพระองค์ ซึ่งในวรรณกรรมเล่าว่า ด้วยเพราะพระกฤษณะกุมารชอบชักชวนพระพลรามกุมารแอบเข้าไปในห้องเก็บเนยและโยเกิร์ตเป็นประจำ เหล่านางโคปีแต่ละบ้านจะนำนม เนยสดและโยเกิร์ต ไปซ่อนไว้ในห้องมืด หากสองกุมารแอบเข้ามาก็จะมองเห็นแสงสว่างออกมาจากพระวรกายของทั้งสอง หลายบ้านยังได้แขวนหม้อเก็บเนยสดและโยเกิร์ตไว้กับเพดาน แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นฝีมือของทั้งสอง ที่ช่วยกันวางแผ่นไม้ต่อขึ้นไปจากครกบด และถ้ายังไม่สามารถขึ้นไปถึงปากหม้อได้ พระกฤษณะกุมารก็จะเจาะรูที่ก้นหม้อและนำลงมาแบ่งกันทานอย่างเอร็ดอร่อย 
*** ฉากที่ 9 คือตอน “สังหารบากาสูร-อสูรจนกนกกระเรียน” (Killing Bakāsura)  เป็นภาพของพระกฤษณะกุมารนอนอยู่บนเตียง กำลังบีบคออสูรนกกระเรียนที่มีชื่อว่าบากาสูร และมีภาพของอสูรยักษ์กำลังแสดงท่าพ่ายแพ้อีกตนหนึ่งที่ปลายเตียงที่อาจมีความหมายถึงเหล่าอสูรอื่น ๆ ที่พญากังสะส่งมาสังหารพระกฤษณะกุมาร ทั้ง อสูรเหินฟ้า ศักตาสูร (Saktasura) อสูรลมหมุน ตรีนะวัตร (Trinavasta) หรืออสูรยักษ์ ประลัมพะ (Pralamba) 
*** ฉากที่ 10 อาจหมายถึงเหตุการณ์ตอน “เทวีผู้ชนะความตาย” (The Goddess victorious over death)  ที่ย้อนกลับไปตอนที่พระวาสุเทพได้แอบนำพระกฤษณะกุมารไปสับเปลี่ยนกับกุมารีของนายนันทะกับนางยโสธา แล้วได้นำไปมอบให้พญากังสะ ซึ่งพญากังสะจึงได้จับขาของทารกน้อยโยนเข้ากระแทกกับกำแพงเพื่อให้สิ้นชีวิต แต่ทารกนั้นกลับกลายร่างเป็นเทวีผู้ชนะความตาย มีสิงห์เป็นวาหนะ (อาจหมายถึง “พระแม่ชคัทธาตรี” (Jagaddhatri) อวตารแห่งพระแม่ทุรคา “พระแม่มายา” (Māyā Devi) หรือพระแม่กาตยายะณี" (Kātyāyanī) ที่เหล่านางโคปีบูชา เพื่อให้พระกฤษณะเลือกตนเป็นภรรยา)  เทวียังได้กล่าวกับพญากงส์ก่อนกลับสู่สวรรค์ว่า “...บัดนี้ผู้ที่จะมาสังหารท่าน ได้ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกแล้ว.."
*** ฉากที่ 11 “สังหารอสูรรถเข็น” (The smashing of the Cart Demon) ย้อนกลับไปตอนที่พระกฤษณะกุมารที่ยังเป็นทารกแรกเกิด เพิ่งผ่านพิธีรับขวัญลงพระอู่ “อุธานา” (Uthana ceremony)  นางยโสธาได้เผลอวางพระกฤษณะกุมารในเปลตะกร้าไว้บนรถเข็น ที่เป็นอสูรนามว่า “ศากตะภังก้า”  (Śakaṭabhaṅga)  โดยไม่รู้ว่าเป็นอสูรแปลงร่างมา อสูรได้แล่นล้อหมุนออกไปอย่างรวดเร็วเพื่อพาทารกไปสังหาร แต่พระกุมารที่ยังเป็นทารกน้อยก็ได้ใช้ขากระแทกด้วยพลังที่รุนแรงจนล้อแยกออกจากดุมเพลา รถเข็นพลิกคว่ำพังพินาศ สิ่งของบนรถกระจัดกระจายกระจัดกระจาย นางยโสธากับเหล่านางโคปีก็ให้งุนงงว่า รถเข็นนั้นพังได้อย่างไร เด็ก ๆ ที่เห็นเหตุการณ์ ต่างก็เล่าว่า พระกุมารเป็นผู้ทำลาย แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าทารกน้อยนั้นจะมีพละกำลังมากมายได้เช่นนี้ “.. มันควรเป็นความโชคดีของพระกุมาร จากอุบัติเหตุมากกว่านะคะเด็ก ๆ ...” 
*** ฉากที่ 12  “กังสะวธ” (Kaṃsavadha) หรือ “ สังหารพญากงส์” (Killing of Kamsa) เป็นเรื่องราวตอนสุดท้ายในวัยเด็ก เมื่อพระกฤษณะและพระพลรามเติบโตขึ้น พระอวตารทั้งสองไปเดินทางข้ามแม่น้ำยมุนา ไปยังเมืองมถุรา ตามคำลวงของพญากงส์ที่ได้จับพระวาสุเทพและนางเทวกีเป็นตัวประกัน ทั้งสองเดินฝ่าเข้าไปในท้องพระโรงใหญ่ของพระราชวังแห่งมืองมถุรา เข้าต่อสู้และสังหารนักมวยปล้ำอสูร จาณูระและมุสติกะ (Cāṇūra - Muṣṭika) รวมทั้งนักมวยปล้ำผู้เป็นบริวารจนราบคาบทั้งหมด พระกฤษณะได้ทรงกระโดดขึ้นไปบนพลับพลาที่ประทับของพญากงส์อย่างรวดเร็ว ทรงยืนชี้หน้ากล่าวประณามถึงความผิดบาปและความชั่วช้าสามาลย์ที่พญากงส์ได้ก่อขึ้นไว้แก่พระวาสุเทพและพระนางเทวกีผู้เป็นบิดามารดาของพระองค์ รวมทั้งกษัตริย์อุกรเสนะและเหล่าประชาราษฏร 
พญากงส์ลุกขึ้นจากบัลลังก์ทองด้วยความโกรธ คว้าดาบและโล่พุ่งเข้ามาหมายสังหารพระกฤษณะในทันที
พระกฤษณะกระโดดเอาศีรษะกระแทกเข้ากับหน้าผากของพระยากงส์จนมงกุฎหลุดกระเด็น แล้วคว้าผมยาวของเขาไว้ในมือ จากนั้นก็ลากพญากงส์ลงมาจากท้องพระโรง ขว้างร่างอสูรไปบนพื้นดินของเวทีมวยปล้ำด้วยพละกำลังอันมหาศาล พญากงส์พยายามลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถต้านทานพลังของหนุ่มน้อยผู้เป็นพระอวตารได้
พระกฤษณะเหยียบพระบาทบนหน้าอก กดทับพญากงส์ราบไว้กับพื้นลาน แล้วประสานมือเป็นกำปั้นใหญ่ ทุบเข้าไปที่หน้าอกเป็นครั้งสุดท้ายจนพญากงส์สิ้นชีวิตในทันที พระองค์ลากร่างพญากงส์ไปรอบ ๆ ลานประลอง ผู้คนต่างตะโกนร้องปลงสังเวช และกล่าวพระนาม “กฤษณะ ๆๆๆๆๆ” ร่วมสรรเสริญยินดีในชัยชนะอย่างกึกก้อง 
พระกฤษณะกุมารได้ถวายพระราชสมบัติคืนแก่กษัตริย์อุกรเสนะ (Ugrasena) ผู้ทรงคุณธรรม ให้คืนกลับมาปกครองบ้านเมืองมถุราดังเดิม
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า
Ref : Scenes from the Childhood of Kṛṣṇa on the Kailāsanātha Temple, John Stratton Hawley : 1981

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น