วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปรางค์แขกเมืองลพบุรี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
“ปรางค์แขก” เมืองลพบุรี ปราสาทหินหลังแรกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลพบุรี 
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 วัฒนธรรมเขมรโบราณจากศูนย์กลางเมืองยโสธระปุระ และแคว้นศรีจานาศะในอีสานใต้ เริ่มขยายตัวเข้ามาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งอิทธิพลทั้งอำนาจทางการเมือง ศิลปะนิยมและคติความเชื่อ ปรากฏหลักฐานจาก “จารึกปักษีจำกรง” (K.286) ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15 ได้กล่าวถึงเขตแดนของพระเจ้ายโศวรมัน ที่ทรงมอบให้แก่ พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 ผู้สืบราชสมบัติ ว่า มีเขตตะวันตกจรดแดน Sūkṣmakāmrāta  (ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ตีความว่าเมืองพะโค (หงสาวดี) หรือเมืองสะเทิม แต่ในปัจจุบัน มีการสันนิษฐานว่าคือเมืองอู่ทอง) สอดรับกับชื่อพระนาม “พระเจ้าศรีหรรษวรมะ” และ “ศรีอีศานวรมะ” กษัตริย์เมืองพระนคร ในจารึกแผ่นทองแดง ที่พบจากจากเมืองโบราณอู่ทอง รวมทั้งทับหลังรูปเกียรติมุขคายท่อนพวงมาลัยในศิลปะแบบพะโค – บาแค็ง ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 15 ที่พบในเขตจังหวัดลพบุรี
ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 15 อาจได้เริ่มมีการสร้างปราสาทหินขึ้นที่เมืองลวปุระ (ลพบุรี) ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา – ลพบุรี เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับการสร้างปราสาทเมืองแขก ปราสาทกู่บ้านปราสาทและปราสาทโนนกู่ ในเขตแคว้นศรีจานาศะ ที่ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15    
---------------------------
*** ปราสาทหินแบบเมืองพระนครที่สร้างขึ้นหลังแรก คงเป็น “ปรางค์แขก” ในตัวเมืองโบราณลพบุรี ใกล้กับพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ที่เป็นปราสาทก่ออิฐ 3 หลัง หันหน้าไปทางตะวันออก เรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ มีซุ้มประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว อีก 3 ด้านทำเป็นประตู (หลอก) ประดับผนัง โดยที่ปราสาทประธานตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่าปราสาทบริวารที่ขนาบข้าง ใช้เทคนิคการก่อเรียงอิฐแบบชิดแนบติดกันสอด้วยยางกรด ใช้หินทรายในส่วนโครงสร้างรองรับน้ำหนัก ทั้งกรอบประตูและประตูหลอก    
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของปรางค์แขก เป็นอาคารเรือนธาตุก่ออิฐผังสี่เหลี่ยม ยกเก็จ-เพิ่มมุม ด้านละหนึ่งกระเปาะ กลางเก็จยกเป็นซุ้มประตู เหนือกรอบประตูทำเป็นแผ่นทับหลังปลอม หน้าบันสูง ขึ้นไปในระดับเดียวกับบัวรัดเกล้าที่มีการวางชุดลวดบัวหลายชั้น
ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงไปจากเดิมในหลายส่วน แต่รูปแบบหน้าบันที่มีขนาดใหญ่สูง เว้นช่องสามเหลี่ยมตรงกลาง รวมทั้งรูปแบบเรือนธาตุของปรางค์แขกส่วนดั้งเดิมที่พอเห็นอยู่ได้แสดงให้เห็นว่า เรือนธาตุของปรางค์แขกนั้นมีความคล้ายคลึงกับเรือนธาตุปราสาทพะโค (Preah Ko) เมืองหริหราลัย (Hariharalaya)  ที่สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 และยังคงเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่นิยมมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 อย่างเรือนธาตุของปราสาทกระวาน (Kravan) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครธม ที่สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมัน ซึ่งเป็นช่วงศิลปะนิยมแบบแปรรูป  
ส่วนประกอบสำคัญของปราสาทปรางค์แขกอันได้แก่ทับหลัง กรอบประตู เสาประดับประตูและรูปประติมากรรม อาจได้สูญหายหรือถูกเคลื่อนย้ายออกไปตั้งแต่ที่เมืองละโว้ร้างผู้คนไปกว่า 200 ปี  จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ได้ทรงโปรดให้ซ่อมแซมบูรณะตัวปราสาททั้งสามองค์ โดยน่าจะมีการก่อยอดวิมานที่พังทลายลงมาขึ้นไปใหม่ จึงมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมตามแบบปรางค์ไทยแบบอยุธยาตอนปลาย ไม่ใช่ทรงศิขระวิมานแบบเขมรเดิม พร้อมทั้งสร้างวิหารเล็กไว้ด้านหน้า เพื่อเปลี่ยนตัวปราสาทเป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์ในพุทธศาสนาแบบเดียวกับปรางค์สามยอด
แต่มีทับหลังชิ้นหนึ่ง จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ที่ใช้หินทรายสีน้ำตาลอ่อนเป็นวัสดุแกะสลักแบบเดียวกับส่วนกรอบวงกบประตูและอกเลาของประตูประดับที่ยังเหลือติดอยู่ในปรางค์แขก แต่ไปพบทับหลังนี้อยู่ที่วัดมหาธาตุ ซึ่งน่าจะเป็นทับหลังของตัวปราสาทปรางค์แขก ก่อนที่ยอดจะพังทลายลงมาและถูกเคลื่อนย้ายออกไปเก็บรักษาในฐานะที่เป็นสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญมาจากยุคก่อน   
ทับหลังสลักรูปพระอินทร์ยกวัชระในพระหัตถ์ขวา ยกพระชงฆ์แบบมหาราชลีลาสนะแต่เขย่งตัวยกขึ้นเล็กน้อยคล้ายการร่ายรำบนช้างเอราวัณหัวเดียวตวัดงวงไปด้านข้าง มีสิงห์คู่คายท่อนพวงมาลัยแบบท่อนกลมคั่นด้วยกลีบบัวโค้งออกไป ส่วนปลายมีสิงห์คายกระหนกพุ่มใบม้วนตวัดตั้งขึ้นไปเป็นตัวจบลายที่ขอบ ทางด้านซ้ายเป็นรูปบุคคลถือคันธนู ที่อาจหมายถึง “พระอรชุน” (Arjuna) ที่เป็นบุตรของพระอินทร์ในวรรณกรรมมหาภารตะ กำลังแผลงศรสู้กับฝ่ายเการพ ทั้งองค์ภีษมะหรือกรรณะผู้เป็นพี่ร่วมมารดา (นางกุนตี) แต่ยังคงสลักเป็นโกลนค้างไว้  กระหนกใบไม้ตั้งแทรกรูปบุคคลอันหมายถึงเหล่าเทพเจ้าเข้าไปตรงกลาง ด้านบนเป็นแถวของมหาฤๅษีแห่งสวรรค์ทั้ง 7 “สัปตฤๅษี” (Saptarishis) ที่ยังแกะสลักไม่เสร็จ
รูปแบบทางศิลปะของทับหลังชิ้นนี้ เป็นศิลปะที่มีความนิยมในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ที่เรียกว่าศิลปะแบบ “เกาะแกร์ – แปรรูป” (Kohker – Prerup Style) ที่มีความนิยมอยู่ในช่วงประมาณ 30 – 40 ปี ซึ่งการใช้เรื่องราวในวรรณกรรมมหาภารตะมาประกอบในงานศิลปะเขมรนั้น ปรากฏความนิยมครั้งแรก ๆ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 อย่างกลุ่มรูปประติมากรรมลอยตัว “การประลองคทายุทธ” ระหว่าง “ภีมะ – ภีมเสน” (Bhima) กับ“ทุรโยธน์” (Duryodhana) เคยตั้งอยู่โคปุระ ทิศตะวันตกของปราสาทเชิน (Prasat Chen) ปราสาทสามหลัง ที่เมือง “โฉกครรกยาร์” (Chok Gargya) “ลึงคปุระ” (Lingapura) หรือเมืองเกาะแกร์ (Koh ker – ป่ามรดก) ห่างจากเมืองเสียมเรียบไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 120 กิโลเมตร
-----------------------------
*** รูปแบบศิลปะและการจัดวางองค์ประกอบบนทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่า ปราสาทปรางค์แขกนั้น ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ตามรูปแบบเดียวกันกับทับหลังของปราสาทแม่บุญตะวันออก ทับหลังชิ้นหนึ่งที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี  และร่องรอยของโกลนสลักบนทับหลังแบบมีท่อนมาลัยโค้งจากปราสาทกู่บ้านปราสาท จังหวัดนครราชสีมา
เครดิต ;
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ