วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

มาตังคฤาษี

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

อานุภาพของมาตังคฤาษี

อานุภาพของมาตังคฤาษี

มาตังคชาดก
อานุภาพของมาตังคฤาษี


พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุเทนราชวงศ์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ท่านปิณโฑลภารทวาชะ ได้ไปยังพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ชื่ออาวัฏฏกะใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคาในกรุงโกสัมพี ซึ่งเป็นที่ที่ท่านเข้าไปพักผ่อนอยู่เสมอ ๆ ท่านนั้นนั่งพักกลางวัน ดื่มด่ำกับสมาบัติ ณ โคนต้นไม้ร่มเย็นใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคานั้น.
ในวันนั้นพระเจ้าอุเทนเสด็จไปประพาสพระราชอุทยาน ทรงเพลิดเพลินอยู่ในพระราชอุทยาน ด้วยการฟ้อนรำขับร้องเป็นต้นตลอดวัน ทรงมึนเมาเพราะดื่มจัด บรรทมเอาเศียรหนุนบนตักของหญิงคนหนึ่ง บรรดาหญิงนอกนั้นคิดว่าพระราชาบรรทมหลับแล้วจึงพากันลุกไปเก็บดอกไม้และผลไม้เป็นต้นในพระราชอุทยาน
ครั้นเห็นพระเถระแล้วจึงห้ามกันเองว่าอย่างส่งเสียงดัง แล้วค่อย ๆ พากันเข้าไปไหว้แล้วนั่งห้อมล้อมพระเถระ พระเถระออกจากสมาบัติ แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น หญิงเหล่านั้นต่างชื่นใจตั้งใจฟังแล้วกล่าวว่า สาธุ สาธุ ดังนี้ หญิงคนที่นั่งเอาเศียรของพระราพาดตักคิดว่า แม่พวกเหล่านี้ทิ้งเราไปสนุกกัน เกิดริษยาในหญิงพวกนั้นจึงขยับขาให้พระราชาทรงตื่น พระราชาครั้นทรงตื่นบรรทมไม่เห็นนางสนม รับสั่งถามว่า พวกหญิงเหล่านี้หายไปไหน หญิงนั้นทูลว่า หญิงเหล่านั้นไปนั่งล้อมพระสมณะองค์หนึ่ง
พระราชานั้นทรงพิโรธได้เสด็จมุ่งหน้าไปหาพระเถระ หญิงเหล่านั้นเห็นพระราชาบางพวกก็ลุกขึ้น บางพวกก็ไม่ลุกโดยทูลว่า ข้าแต่มหาราช พวกหม่อมฉันฟังธรรมในสำนักของนักบวช เมื่อหญิงเหล่านั้นทูลอย่างนั้น พระราชาทรงพิโรธหนักขึ้น ด้วยความเมา พระราชาไม่ทรงไหว้พระเถระเลย ตรัสถามว่า ท่านมาเพื่ออะไร พระเถระถวายพระพรว่า เพื่อความวิเวก มหาบพิตร พระราชาตรัสว่าท่านมาเพื่อความวิเวก นั่งให้พวกนางสนมของเราแวดล้อมอยู่อย่างนี้แหละหรือ แล้วตรัสต่อไปว่า ท่านจงบอกวิเวกของท่านดูทีหรือ พระเถระแม้ชำนาญในการกล่าวถึงวิเวก แต่ก็ได้นิ่งเสียด้วยคิดว่า พระราชานี้ตรัสถามเพราะประสงค์จะรู้ก็หาไม่
พระราชาตรัสว่า หากท่านไม่บอก เราจะให้มดแดงกัดท่าน แล้วทรงเด็ดรังมดแดงที่ต้นอโศกต้นหนึ่ง เพราะความเมา จึงทำให้รังมดแดงรังหนึ่งแตก ตัวมดแดงกระจายตกเรี่ยรายลงบนพระกายของพระองค์ ทรงปัดมดแดงออกจากพระกายแล้วเด็ดรังอื่นมุ่งหน้าไปหาพระเถระ พระเถระคิดว่า หากพระราชานี้ทำเช่นนั้นกับเรา พระราชาก็จะพึงไปอบาย เพื่อจะอนุเคราะห์พระราชามิให้กระทำกรรมที่จะทำให้ตกไปในอบายได้สำเร็จ ท่านจึงเหาะขึ้นสู่อากาศด้วยฤทธิ์ แล้วเหาะลอยไปลงตรงประตูพระคันธกุฎีที่พระเชตวันนั่นเอง เมื่อพระตถาคตเจ้าตรัสถามว่า เธอมาจากไหนจึงกราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภารทวาชะ พระเจ้าอุเทนเบียดเบียนบรรพชิตทั้งหลาย แต่ในชาตินี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในชาติก่อนก็เบียดเบียนมาแล้วเหมือนกัน ครั้นเมื่อพระปิณโฑลภารทวาชะทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาลเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระมหาสัตว์บังเกิดในกำเนิดตระกูลคนจัณฑาลภายนอกพระนคร มารดาบิดาขนานนามเขาว่า มาตังคมาณพ ในเวลาต่อมามาตังคมาณพเจริญวัยแล้ว ได้มีนามปรากฏว่ามาตังคบัณฑิต ในกาลนั้นธิดาเศรษฐีในเมืองพาราณสี ชื่อ ทิฏฐมังคลิกา เมื่อถึงวาระเดือนหนึ่ง หรือกึ่งเดือน ก็พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก จะไปยังอุทยานเพื่อเล่นสนุกสนานกัน อยู่มาวันหนึ่ง พระมหาสัตว์มาตังคบัณฑิต เดินทางเข้าไปยังพระนครด้วยกิจธุระบางประการ ได้เห็นนางทิฏฐมงคลิการะหว่างประตู จึงหลบไปยืนแอบอยู่ ณ บริเวณหนึ่ง นางทิฏฐมังคลิกามองดูตามช่องม่าน เห็นพระโพธิสัตว์จึงถามว่า นั่นเป็นใคร ? เมื่อบริวารชนตอบว่า ข้าแต่แม่เจ้าผู้นั้นเป็นคนจัณฑาล จึงคิดว่า เราเห็นคนที่ไม่สมควรจะเห็นแล้วหนอ ดังนี้แล้วจึงล้างตาด้วยน้ำหอม แล้วไม่เดินทางไปต่อ กลับแค่นั้น
ส่วนมหาชนที่ออกไปกับธิดาของท่านเศรษฐีก็ได้บริภาษพระมหาสัตว์ว่า เฮ้ยไอ้คนจัณฑาลชาติชั่ว เพราะอาศัยเจ้าแท้ ๆ วันนี้ พวกเราจึงไม่ได้ลิ้มสุราและกับแกล้มที่ไม่ต้องซื้อหา แล้วจึงรุมซ้อมมาตังคบัณฑิตด้วยมือและเท้าจนถึงสลบแล้วหลีกไป มาตังคบัณฑิตสลบไปชั่วครู่ เมื่อรู้ตัวกลับฟื้นขึ้นก็คิดว่า บริวารชนของนางทิฏฐมังคลิกาทุบตีเราผู้ไม่มีความผิดโดยหาเหตุมิได้ ต่อเมื่อเราได้นางทิฏฐมังคลิกาเป็นภรรยาแล้วนั่นแหละ จึงจะยอมลุกขึ้น ถ้าไม่ได้จักไม่ยอมลุกขึ้นเลย ครั้นตั้งใจดังนี้แล้วจึงเดินไปนอนที่ประตูเรือนบิดาของนางทิฏฐมังคลิกานั้น เมื่อเศรษฐีผู้บิดาของนางทิฏฐมังคลิกามาถามว่า เพราะเหตุไร เจ้าจึงมานอนที่นี่ ? มาตังคบัณฑิตจึงตอบว่า เหตุอย่างอื่นไม่มี แต่ข้าพเจ้าต้องการนางทิฏฐมังคลิกาเป็นภรรยา
ล่วงมาได้วันหนึ่ง เศรษฐีนั้นก็มาถามอีก พระโพธิสัตว์ก็ตอบยืนยันอยู่อย่างนั้น จนล่วงมาถึงวันที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ และ ที่ ๖ พระโพธิสัตว์ก็ยังคงนอนและตอบยืนยันอย่างนั้น ธรรมดาว่าการอธิษฐานของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายนั้นย่อมสำเร็จ เพราะเหตุนั้น เมื่อครบ ๗ วัน คนทั้งหลายมีท่านเศรษฐีเป็นต้น จึงนำนางทิฏฐมังคลิกามามอบให้มาตังคบัณฑิต ลำดับนั้น นางทิฏฐมังคลิกา กล่าวกะมาตังคบัณฑิตว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี เชิญท่านลุกขึ้นเถิด เราจะไปเรือนของท่าน มาตังคบัณฑิตจึงกล่าวว่า นางผู้เจริญ เราถูกบริวารชนของเจ้าทุบตีเสียยับเยินจนทุพลภาพ เจ้าจงยกเราขึ้นหลังแล้วพาไปเถิด นางก็ทำตามสั่ง เมื่อชาวพระนครกำลัง มองดูอยู่นั่นแล ก็พามาตังคบัณฑิตออกจากพระนครไปสู่จัณฑาลคาม
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ก็มิได้ล่วงเกินนางให้ผิดประเพณีแห่งเผ่าพันธุ์วรรณะ ให้นางพักอยู่ในเรือนสองสามวันแล้วคิดว่า เมื่อตัวเราจักกระทำให้นางถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภยศ จำต้องบวชเสียก่อน จึงจักสามารถกระทำได้ นอกจากนี้แล้วไม่มีทาง ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงเรียกนางมากล่าวว่า ดูก่อนนางผู้เจริญ เมื่อเรายังไม่ได้นำอะไร ๆ ออกมาจากป่า การครองชีพของเราทั้งสองย่อมเป็นไปไม่ได้ เจ้าอย่ากระสันวุ่นวายไปจนกว่าเราจะกลับมา เราจักเข้าไปสู่ป่าดังนี้แล้ว กล่าวเตือนบริวารว่า แม้พวกเจ้าผู้อยู่เฝ้าเรือนก็อย่าละเลย ช่วยดูนางผู้เป็นภรรยาของเราด้วย ดังนี้แล้วก็เข้าไปสู่ป่าบรรพชา เพศเป็นสมณะ มิได้ประมาทมัวเมา บำเพ็ญสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดขึ้น ในวันที่ ๗ คิดว่า บัดนี้เราจักสามารถเป็นที่พึ่งแก่นางทิฏฐมังคลิกาได้ จึงเหาะมาด้วยฤทธิ์ไปลงตรงประตูจัณฑาลคาม แล้วได้เดินไปสู่ประตูเรือนของนางทิฏฐมังคลิกา
นางได้ยินข่าวการมาของมาตังคบัณฑิตแล้วจึงออกจากเรือน แล้วร้องไห้คร่ำครวญว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี เหตุไฉนท่านจึงไปบวช ทิ้งฉันไว้ให้ไร้ที่พึ่งเล่า
ลำดับนั้น มาตังคดาบสจึงปลอบโยนนางว่า ดูก่อนน้องนางผู้เจริญ เจ้าอย่าเสียใจไปเลย คราวนี้เราจักกระทำให้เจ้ามียศใหญ่ยิ่งกว่ายศที่มีอยู่เก่าของเจ้า ก็แต่ว่า เจ้าจักสามารถประกาศแม้ข้อความเพียงเท่านี้ ในท่ามกลางบริษัทได้ไหมว่า มาตังคบัณฑิตไม่ใช่สามีของเรา ท้าวมหาพรหมเป็นสามีของเรา ดังนี้
นางรับคำว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี ดิฉันสามารถประกาศตามที่ท่านว่าได้
มาตังคดาบสจึงกล่าวว่า คราวนี้ถ้ามีผู้ถามว่า สามีของเธอไปไหน? ก็จงตอบว่า ไปพรหมโลก เมื่อเขาถามว่าเมื่อไรจักมา จงบอกเขาว่า นับแต่วันนี้ไปอีก ๗ วัน ท้าวมหาพรหมผู้เป็นสามีของเราจักแหวกพระจันทร์มาในวันเพ็ญ
ครั้นมหาสัตว์เจ้ากล่าวกะนางอย่างนี้แล้ว ก็เหาะกลับไปสู่หิมวันตประเทศทันที ฝ่ายนางทิฏฐมังคลิกาก็เที่ยวไปยืนประกาศข้อความตามที่พระโพธิสัตว์สั่งไว้ ในที่ทุกหนทุกแห่งท่ามกลางมหาชนในพระนครพาราณสี.มหาชนชาวพาราณสีพากันเชื่อว่า ท้าวมหาพรหมของเรามีอยู่จริง จะยังไม่ได้เป็นอะไรกันกับนางทิฏฐมังคลิกา ข้อนั้นจักเป็นความจริงอย่างนี้แน่.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ ครั้นถึงวันบุรณมีดิถีเพ็ญ ๑๕ ค่ำ ในยามเมื่อพระจันทร์ตั้งอยู่ท่ามกลางทิฆัมพร ก็เนรมิตอัตภาพเป็นท้าวมหาพรหมบันดาลแว่นแคว้นกาสิกรัฐทั้งสิ้น ซึ่งมีอาณาเขตกว้างยาว ๑๒ โยชน์ ให้รุ่งโรจน์สว่างไสวเป็นอันเดียวกัน แล้วแหวกมณฑลแห่งพระจันทร์ เหาะลงมาเวียนวนเบื้องบนพระนครพาราณสี ๓ รอบ เมื่อมหาชนบูชาอยู่ด้วยเครื่องสักการะ มีของหอม และดอกไม้เป็นต้น ก็ได้บ่ายหน้าไปหมู่บ้านจัณฑาลคาม บรรดาประชาชนที่นับถือพระพรหมก็มารวมกันแล้วพากันไปยังหมู่บ้านจัณฑาลคาม ช่วยกันเอาผ้าขาวที่บริสุทธิ์สะอาด ปิดบังมุงเรือนของนางทิฏฐมังคลิกา แล้วไล้ทาพื้นเรือนด้วยของหอมจตุรชาติ โปรยดอกไม้เรี่ยรายไว้ จัดแจงปักไม้ดาดเพดานเบื้องบน แต่งตั้งที่นอนใหญ่ไว้แล้วจุดตามประทีปด้วยน้ำมันหอม แล้วช่วยกันขนทรายขาวราวกับแผ่นเงินมาโปรยไว้ที่ประตูเรือน แล้วแขวนพวงดอกไม้ ผูกธงทิวปลิวไสวงดงาม
เมื่อมหาชนตกแต่งบ้านเรือนอย่างนี้เสร็จแล้ว พระมหาสัตว์จึงเลื่อนลอยลงจากนภากาศเข้าไปภายใน แล้วนั่งบนที่นอนหน่อยหนึ่ง ในกาลนั้น นางทิฏฐมังคลิกากำลังมีระดู ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ เอาหัวแม่มือเบื้องขวาลูบคลำนาภีของนาง นางตั้งครรภ์ทันที ต่อมาพระมหาสัตว์จึงเรียกนางมาบอกว่า น้องนางผู้เจริญเจ้าตั้งครรภ์แล้ว จักคลอดบุตรเป็นชาย ทั้งตัวเจ้าและบุตรจักเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยลาภยศอันเลิศล้ำ น้ำสำหรับล้างเท้าของเจ้าจักเป็นน้ำอภิเษกสรงของพระราชาในชมพูทวีปทั้งสิ้น สำหรับน้ำอาบของเจ้า จักเป็นโอสถอมตะ ชนเหล่าใดนำน้ำอาบของเจ้าไปรดศีรษะ ชนเหล่านั้นจักหายจากโรคทุก ๆ อย่างทั้งปราศจากเสนียดจัญไร กาลกรรณี อนึ่ง ผู้คนที่วางศีรษะลงบนหลังเท้าของเจ้า กราบไหว้อยู่ จักให้ทรัพย์พันหนึ่ง ผู้ที่ยืนไหว้ในระยะทางที่ฟังเสียงได้ยิน จักให้ทรัพย์แก่เจ้าหนึ่งร้อย ผู้ที่ยืนไหว้ในชั่วคลองจักษุ จักให้ทรัพย์หนึ่งกหาปณะ เจ้าจงเป็นผู้ไม่ประมาท ครั้นให้โอวาทนางแล้ว ก็ออกจากเรือนท่ามกลางสายตาของมหาชนที่กำลังมองดูอยู่นั่นเทียว ก็เหาะลอยเข้าไปสู่จันทรมณฑล.
ประชาชนที่นับถือพระพรหม ต่างยืนประชุมกันอยู่จนเวลารัตติกาลผ่านไป ครั้นเวลาเช้า จึงเชิญนางทิฏฐมังคลิกา ขึ้นสู่วอทอง แล้วยกขึ้นด้วยเศียรเกล้า พาเข้าไปสู่พระนคร มหาชนต่างพากันหลั่งไหลเข้าไปหานาง ด้วยสำคัญว่าเป็นภรรยาของท้าวมหาพรหม แล้วบูชาด้วยเครื่องสักการะ คนทั้งหลายผู้ได้ซบศีรษะบนหลังเท้า กราบไหว้ ได้ให้ถุงกหาปณะพันหนึ่ง ผู้ที่ยืนไหว้อยู่ในระยะโสตสดับเสียงได้ยินให้ร้อยกหาปณะ ผู้ที่ยืนไหว้ในชั่วระยะคลองจักษุ ให้หนึ่งกหาปณะ ประชาชนผู้พานางทิฏฐมังคลิกาเที่ยวไปในพระนครพาราณสี อันมีอาณาเขต ๑๒ โยชน์ ได้ทรัพย์นับได้ ๑๘ โกฏิ ด้วยอาการอย่างนี้
ลำดับนั้น ประชาชนทั้งหลาย ครั้นพานางทิฏฐมังคลิกาเที่ยวไปรอบพระนครแล้ว จึงนำเอาทรัพย์นั้นมาสร้างมหามณฑปใหญ่ท่ามกลางพระนคร แวดวงด้วยม่าน ปูลาดที่นอนใหญ่ไว้ แล้วเชิญนางทิฏฐมังคลิกา ให้อยู่อาศัยในมณฑปนั้น ด้วยสิริโสภาคอันใหญ่ยิ่ง แล้วเริ่มจัดการก่อสร้างปราสาท ๗ ชั้น มีประตูซุ้มถึง ๗ แห่ง ไว้ ณ ที่ใกล้มหามณฑปนั้น การก่อสร้างอย่างมโหฬารได้มีแล้วในครั้งนั้น
นางทิฏฐมังคลิกา ก็คลอดบุตรในมณฑปนั่นเอง ต่อมาในวันที่จะตั้งชื่อกุมาร พราหมณ์ทั้งหลายจึงมาประชุมกันขนานนามกุมารว่า มัณฑัพยกุมารเพราะเหตุที่คลอดในมณฑป แม้ปราสาทนั้นก็สร้างสำเร็จโดยใช้เวลา ๑๐ เดือน พอดี นับแต่นั้นมา นางก็อยู่ในปราสาทนั้นด้วยยศบริวารเป็นอันมาก แม้มัณฑัพยกุมาร ก็เจริญวัย พรั่งพร้อมด้วยหมู่บริวารเป็นอันมาก
ในเวลาที่มัณฑัพยกุมาร มีอายุได้ ๗ - ๘ ปี อาจารย์ผู้อุดมด้วยวิทยาการทั้งหลายในพื้นชมพูทวีป จึงประชุมกันให้กุมารนั้นเรียนไตรเพท ๓ พระคัมภีร์ มัณฑัพยมาณพนั้นนับแต่อายุครบ ๑๖ ปีบริบูรณ์ ก็เริ่มตั้งนิตยภัตสำหรับพวกพราหมณ์ทั้งหลาย พราหมณ์หมื่นหกพันคน ก็ได้บริโภคอาหารในสำนักของมัณฑัพยมาณพเป็นประจำ เขาถวายทานแก่พราหมณ์ทั้งหลายที่ซุ้มประตู ที่ ๔
ต่อมาในวันประชุมใหญ่คราวหนึ่ง มัณฑัพยมาณพให้จัดเตรียมข้าวปายาสไว้ในเรือนเป็นอันมาก พราหมณ์ทั้งหมื่นหกพันก็นั่ง ณ ซุ้มประตูที่ ๔ บริโภคข้าวปายาสอันปรุงดีแล้ว ด้วยเนยข้น เนยใส และน้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด ที่เขาจัดมาถวาย ด้วยถาดทองคำ แม้มัณฑัพยมาณพก็ประดับประดาตกแต่ง ด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง สวมรองเท้าทอง มือถือไม้เท้าทอง เที่ยวตรวจตราการเลี้ยงดู สั่งบริวารชนว่า ท่านทั้งหลายจงให้เนยใสในสำรับนี้ จงให้น้ำผึ้งที่สำรับนี้ ดังนี้
ขณะนั้น มาตังคบัณฑิตนั่งอยู่ที่อาศรมบทในหิมวันตประเทศ ตรวจดูว่า ความประพฤติแห่งบุตรของนางทิฏฐมังคลิกา เป็นอย่างไร ? เห็นการกระทำของเขาโน้มเอียงไปในลัทธิอันไม่สมควร แล้วคิดว่า วันนี้แหละ เราจักไปทรมานมาณพ ให้บริจาคทานกับบุคคลที่ให้แล้วจักมีผลมาก แล้วจึงกลับมา คิดแล้วก็เหาะไปสู่สระอโนดาตโดยทางอากาศ ทำกิจวัตรมีการล้างหน้าเป็นต้นแล้ว ยืนอยู่ที่พื้นมโนศิลา ครองจีวรสองชั้น คาดรัดประคตมั่น แล้วห่มผ้าสังฆาฏิ อันเป็นผ้าบังสุกุล เสร็จแล้วถือเอาบาตรดินเหาะมาทางอากาศ เลื่อนลอยตรงโรงทานที่ซุ้มประตูที่ ๔ แล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง
มัณฑัพยมาณพกำลังตรวจตราดูแลทางโน้นทางนี้อยู่ แลเห็นพระดาบสนั้นแต่ไกล คิดว่า บรรพชิตรูปนี้ มีรูปร่างคล้ายยักษ์ปีศาจ เปื้อนฝุ่นเห็นปานนี้ มาสู่ที่นี่ ท่านมาจากที่ไหนหนอ ดังนี้แล้ว เมื่อจะสนทนาปราศรัยกับมาตังคดาบสนั้น จึงกล่าวว่า
ท่านเป็นผู้นุ่งห่มผ้าเก่าขาดเป็นรอยต่อ ไม่ได้ซักชำระสะสางเลย เป็นผู้สกปรกลามก ครองผ้าเห็นเส้นด้ายมากมาย หลุดลุ่ยห้อยย้อยลง คล้ายกับปีศาจยืนอยู่ที่กองขยะ สวมใส่ผ้าท่อนเก่าที่เก็บได้ในกองหยากเยื่อ ท่านเป็นผู้ไม่สมควรแก่ทักษิณาทาน มาสู่สถานที่นั่งของพระทักขิเณยยบุคคลชั้นเยี่ยมเหล่านี้ แต่ที่ไหนเล่า ?
พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้น เมื่อจะสนทนากับมัณฑพยมาณพ ด้วยจิตที่เยือกเย็นอ่อนโยน จึงกล่าวว่า
ข้าวน้ำนี้ท่านจัดไว้เพื่อท่านผู้เรืองยศ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมขบเคี้ยวบริโภค และดื่มข้าวน้ำของท่านนั้น ท่านรู้จักข้าพเจ้าว่า เป็นผู้อาศัยโภชนะที่ผู้อื่นให้นั้นเลี้ยงชีวิต แม้ถึงจะเป็นคนจัณฑาล ก็ขอจงได้ก้อนข้าวบ้างเถิด ดังนี้
ลำดับนั้น มัณฑัพยกุมารจึงกล่าวว่า ข้าวน้ำของเรานี้ เราจัดไว้เพื่อพราหมณ์ทั้งหลาย ทานวัตถุนี้ เราเชื่อว่า ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ตน ท่านจงหลีกไปเสียจากที่นี่ จะมายืนอยู่ที่นี่เพื่อ อะไร เจ้าคนเลว คนอย่างเราย่อมไม่ให้ทานแก่เจ้า
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ กล่าวว่า
ดูก่อนกุมาร ชาวนาทั้งหลาย เมื่อหวังผลข้าวกล้า ย่อมหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหารลงในเนื้อที่นา แม้ทั้ง ๓ อย่าง
ในกาลที่ฝนตกมากเกินไป ข้าวกล้าในนาดอนนั้น ย่อมสำเร็จผล ข้าวกล้าในนาลุ่มย่อมเสียหาย ส่วนข้าวกล้าที่อาศัยแม่น้ำและพึงกระทำในที่ราบเสมอกัน ไม่ลุ่ม ไม่ดอน ย่อมถูกทำลายโดยห้วงน้ำพัดไปเสีย
ในเมื่อฝนตกเล็กน้อย ข้าวกล้าในนาดอน ย่อมเสียหายไม่ได้ผล ข้าวกล้าในนาลุ่มย่อมได้ผลเล็กน้อย ส่วนข้าวกล้าในนา ที่ไม่ลุ่มไม่ดอน คงได้ผลดีทีเดียว
ในกาลที่ฝนตกสม่ำเสมอไม่มากไม่น้อย ข้าวกล้าในนาดอนได้ผลเล็กน้อย แต่ข้าวกล้าในนานอกนี้ ย่อมได้ผลบริบูรณ์ ดี
เพราะฉะนั้น ชาวนาทั้งหลาย เมื่อหวังผลข้าวกล้า ย่อมเพาะหว่านในเนื้อนาทั้ง ๓ อย่างฉันใด แม้ท่านก็จงบริจาคทานแก่ปฏิคาหกทั้งหลายผู้มาแล้ว ๆ ทั้งหมด ด้วยศรัทธาคือผลนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อท่านบริจาคทานอยู่อย่างนี้ ไฉนเล่าจะพึงให้ยินดี คือได้ทักขิเณยบุคคลที่ดี ดังนี้
ลำดับนั้น มัณฑัพยมาณพจึงกล่าวว่า เรานั้นควรจะปลูกพืชทั้งหลายในเขตเหล่าใด เขตเหล่านั้นเราย่อมรู้แจ้งแล้ว ในโลก พราหมณ์เหล่าใด สมบูรณ์ด้วยชาติแลมนต์ พราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าเป็นเขต มีศีลเป็นที่รักในโลกนี้ ดังนี้
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้กล่าวว่า กิเลสทั้งหลายเหล่านี้ คือ ชาติมทะ ความเมาเพราะชาติ ๑ อติมานะ ความดูหมิ่นท่าน ๑ โลภะ ความโลภอยากได้ของเขา ๑ โทสะ ความคิดประทุษร้าย ๑ มทะ ความประมาทมัวเมา ๑ โมหะ ความหลง ๑ ทั้งหมดเป็นโทษ มิใช่คุณ ย่อมมีในชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นไม่ใช่ชนอันรักในศีล กิเลสทั้งหลายเหล่านี้คือ ชาติมทะ อติมานะ โลภะ โทสะ มทะ และโมหะ ทั้งหมดเป็นโทษ มิใช่คุณ ไม่มีในชนเหล่าใด ชนเหล่านั้นจัดว่าเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักในโลกนี้ ดังนี้
ก็บุคคลทั้งหลายเช่นนี้ผู้ที่มิได้มีความรักในศีล ก็เป็นเหมือนกับจอมปลวกอันเต็มไปด้วยอสรพิษฉะนั้น ทานที่บุคคลให้แล้วแก่บุคคลเช่นนี้ ย่อมไม่มีผลมาก เพราะฉะนั้น ท่านอย่าสำคัญ ชนทั้งหลายเหล่านี้ว่าเป็นเนื้อนาบุญอันดี เพราะว่า พราหมณ์ผู้มีชาติและมนต์มิใช่เป็นผู้ที่จะไปสวรรค์ได้ ส่วนชนเหล่าใด เป็นอริยชน เว้นจากการถือชาติและมานะเป็นต้นได้ อริยชนเหล่านั้น เป็นเนื้อนาบุญอันดี มีศีลเป็นที่รัก ทานที่บุคคลให้แล้วในอริยชนเหล่านั้นย่อมมีผลมาก ทั้งอริยชนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ที่ทำให้ไปสวรรค์ได้ ดังนี้
เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวอยู่บ่อย ๆ เช่นนี้ มัณฑัพยมาณพนั้นก็เกิดความขุ่นเคือง จึงพูดว่า ดาบสผู้นี้พูดเพ้อเจ้อมากเกินไป คนเฝ้าประตูทั้งสามคือ อุปโชติยะ อุปวัชฌะ และภัณฑกุจฉิ ไปไหนกันเสียหมดเล่า ท่านทั้งหลาย จงลงอาญา และเฆี่ยนตีคนจัณฑาลนี้ แล้วลากคอคน ลามกนี้ไสหัวไปให้พ้น ดังนี้
ฝ่ายคนเฝ้าประตูเหล่านั้น ได้ยินถ้อยคำของมัณฑัพยมาณพแล้วก็รีบมาไหว้แล้ว กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐจะสั่งให้พวกผมทำอะไร ? มัณฑัพยมาณพจึงบอกว่า ท่านทั้งหลายเห็นคนจัณฑาลชาติชั่วคนนี้ที่ไหน ?
พวกนายประตูกล่าวว่า ท่านผู้ประเสริฐ พวกกระผมไม่เห็นเลย จึงไม่รู้ว่าเขามาจากที่ไหน ?
เขาดำริว่า ชะรอยมันจะเป็นนักเล่นกล หรือโจรวิชาธรบางคนเป็นแน่ ดังนี้ แล้วกล่าวสำทับพวกนายประตูว่า บัดนี้พวกเจ้ายังจะยืนเฉยอยู่ทำไม ?
นายประตูทั้งสามจึงถามว่า ข้าแต่ท่านผู้ประเสริฐ จะโปรดให้พวกผมทำอะไร ?
มัณฑัพยมาณพ ตอบว่า พวกท่านจงโบยตี ตบ ต่อย ปากเจ้าคนถ่อยจัณฑาล ผู้นั้นทีเดียว แล้วเอาเรียวไม้ไผ่สำหรับลงอาญา โบยถลกหนังมันขึ้น แล้วฆ่ามันเสีย จับคอลากเจ้าคนลามกนี้ไป ให้พ้นจากที่นี่
เมื่อนายประตูทั้ง ๓ ยังไม่ทันมาใกล้ชิด พระมหาสัตว์ก็เหาะลอยขึ้นไปยืนอยู่บนอากาศกล่าวคาถาความว่า ผู้ใดบริภาษฤๅษี ผู้นั้นชื่อว่าขุดภูเขาด้วยเล็บ ชื่อว่าเคี้ยวกินก้อนเหล็กด้วยฟัน ชื่อว่าพยายามกลืนกินไฟ
ครั้นพระมหาสัตว์กล่าวดังนี้แล้ว ขณะที่มาณพและพราหมณ์ทั้งหลายกำลังแลดูอยู่นั่นแล ก็ได้ได้แล่นลอยไปในอากาศ พร้อมกับประกาศว่า มาตังคฤๅษี ผู้มีสัจจะเป็นเครื่องก้าวไปเบื้องหน้าเป็นสภาพ แล้วได้เหาะหลีกผ่านไปในอากาศ
มาตังคดาบสนั้นแล บ่ายหน้ามุ่งสู่ทิศปราจีน เหาะไปลง ณ ถนนสายหนึ่ง แล้วอธิษฐานว่า ขอรอยเท้าของเราจงปรากฏ แล้วบิณฑบาตใกล้ประตูด้านทิศปราจีน รวบรวมอาหารที่ได้รับมาปนกัน แล้วไปนั่งฉันภัตตาหารที่เจือปนกัน ณ ศาลาแห่งหนึ่ง
เทพยดาผู้รักษาพระนครทั้งหลายเห็นว่า มัณฑัพยกุมารผู้นี้ พูดก้าวร้าวเบียดเบียนพระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายดังนี้ ก็อดทนไม่ได้ จึงมาประชุมกัน ลำดับนั้น ยักขเทวดาผู้เป็นหัวหน้า ก็จับคอของมัณฑัพยกุมารบิดกลับเสีย เทวดาที่เหลือก็พากันจับคอของพราหมณ์ที่เหลือทั้งหลายบิดกลับเสียอย่างนั้นเหมือนกัน แต่เพราะเทวดาเหล่านั้นมีจิตอ่อนน้อมในพระโพธิสัตว์ จึงไม่ฆ่ามัณฑัพยมาณพเสีย ด้วยคิดว่าเป็นบุตรของพระโพธิสัตว์ เพียงแต่ทำให้ทรมานลำบากอย่างเดียวเท่านั้น ศีรษะของมัณฑัพยมาณพ บิดกลับไป มีหน้าอยู่เบื้องหลัง มือและเท้าเหยียดตรง แข็งทื่อตั้งอยู่ กระดูกทั้งหลายก็กลับกลายเป็นเหมือนกระดูกของคนที่ตายแล้ว เขามีร่างกายแข็งกระด้างแซ่วอยู่ ถึงพราหมณ์ทั้งหลายก็สำรอกน้ำลายไหลออกทางปาก กระเสือกกระสนไปมา
คนทั้งหลายรีบไปแจ้งเรื่องราวแก่นางทิฏฐมังคลิกาว่า ข้าแต่แม่เจ้า บุตรของท่านเกิดเป็นอะไรไปไม่ทราบได้ ? นางทิฏฐมังคลิการีบมาโดยเร็ว เห็นบุตรแล้วกล่าวว่า นี่อะไรกัน ? ศีรษะของลูกเราบิดกลับไปอยู่เบื้องหลัง แขนเหยียดตรงไม่ไหวติง นัยน์ตาขาวเหมือนคนตาย ใคร มาทำบุตรของเราให้เป็นอย่างนี้
ลำดับนั้น คนผู้ยืนอยู่ในที่นั้นจึงกล่าวว่า สมณะรูปหนึ่ง นุ่งห่มสกปรกดุจปีศาจ เปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นละออง สวมใส่ผ้าขี้ริ้ว ที่ได้จากกองขยะไว้ที่คอ ได้มา ณ ที่นี้ สมณะรูปนั้นได้ทำบุตรของท่านให้เป็นอย่างนี้
นางทิฏฐมังคลิกาได้ฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า นี้ไม่ใช่พลังของผู้อื่น คงจักเป็นมาตังคบัณฑิตสามีของเราโดยไม่ต้องสงสัย ก็แต่ว่า ท่านมาตังคบัณฑิตนั้นเป็นนักปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยเมตตาภาวนา คงจักทรมานคนพวกนี้ให้ลำบาก แล้วไปเสีย และท่านจักไปทิศไหนเล่าหนอ แล้วนางจึงกล่าวว่า ดูก่อนมาณพทั้งหลาย สมณะผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ได้ไปแล้วสู่ทิศใด ท่านทั้งหลายจงบอก เนื้อความนั้นแก่เรา เราจักไปยังสำนักของท่าน ขอให้ท่านอดโทษนั้นเสีย ทำอย่างไรหนอ เราจะพึงได้ชีวิตบุตรคืนมา
ลำดับนั้น มาณพทั้งหลาย ผู้ยืนอยู่ในที่นั้นได้กล่าวว่า ฤๅษีผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ได้ไปแล้วในอากาศวิถี ราวกับพระจันทน์ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ อันตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างอากาศ อนึ่ง พระฤๅษีผู้มีปฏิญาณมั่นในสัจจะ ทรงคุณธรรมอันดีงามนั้น ท่านได้ไปทางทิศบูรพา
นางทิฏฐมังคลิกานั้น สดับคำของมาณพเหล่านั้นแล้วจึงคิดว่า เราจักไปค้นหาสามีของเรา จึงใช้ให้ทาสีถือเอาน้ำเต้าทองคำกับขันน้ำทองคำ แวดล้อมด้วยหมู่ทาสี เดินไปจนถึงสถานที่ที่พระโพธิสัตว์อธิษฐานเหยียบรอยเท้าไว้ จึงเดินตามรอยเท้านั้นไป เมื่อพระโพธิสัตว์กำลังนั่งฉันภัตตาหารอยู่บนตั่งที่ศาลานั้น นางจึงเดินเข้าไปสู่ที่ใกล้พระมหาสัตว์ ทำความเคารพ แล้วยืนอยู่
พระโพธิสัตว์เห็นนางแล้ว จึงเหลือข้าวสุกไว้ในบาตรหน่อยหนึ่ง นางทิฏฐมังคลิกาจึงถวายน้ำแก่พระโพธิสัตว์ด้วยน้ำเต้าทอง พระโพธิสัตว์จึงล้างมือบ้วนปากลงในบาตรนั้นเอง ลำดับนั้น นางทิฏฐมังคลิกา จึงถามพระโพธิสัตว์ว่า ศีรษะของลูกเราบิดกลับไปอยู่เบื้องหลัง แขนเหยียดตรงไม่ไหวติง นัยน์ตาขาวเหมือนคนตาย ใครมาทำบุตรของเราให้เป็นอย่างนี้
พระโพธิสัตว์ได้สดับแล้ว จึงตอบนางทิฏฐมังคลิกาว่า ยักษ์ทั้งหลายผู้มีอานุภาพมากมีอยู่แล ยักษ์เหล่านั้นพากันติดตามพระฤๅษีผู้มีคุณธรรม เมื่อยักษ์เหล่านั้นมาแล้วรู้ว่าบุตรของท่านมีจิตคิดประทุษร้าย ก็เกิดความโกรธเคือง จึงทำบุตรของท่านให้เป็นอย่างนี้แล
นางทิฏฐมังคลิกากล่าวว่า ถ้ายักษ์ทั้งหลายได้ทำบุตรของดิฉันให้เป็นอย่างนี้ ขอท่านผู้เป็นพรหมจารีอย่าได้โกรธบุตร ดิฉันเลย ดิฉันขอเอาฝ่าเท้าของท่านนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ข้าแต่ท่านผู้เป็นภิกษุ ดิฉันตามมาก็เพราะความเศร้าโศกถึงบุตร
พระมหาสัตว์มาตังคบัณฑิตกล่าวตอบว่า ในคราวที่บุตรของท่านด่าเราก็ดี และเมื่อท่านมาอ้อนวอนอยู่ ณ บัดนี้ก็ดี จิตคิดประทุษร้ายแม้หน่อยหนึ่งมิได้มีแก่เราเลย แต่บุตรของท่านเป็นคนประมาท เพราะความมัวเมา ว่าเรียนจบไตรเพท แม้จะเรียนจบไตรเพทแล้ว ก็ยังไม่รู้จักสิ่งที่เป็นประโยชน์
นางทิฏฐมังคลิกาได้สดับดังนั้นแล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นภิกษุ ความจำของบุรุษย่อมหลงลืมได้โดยครู่เดียวเป็นแน่แท้ ท่านผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ขอได้โปรดอดโทษสักครั้งเถิด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เป็นผู้มีความโกรธเป็นกำลัง
พระมหาสัตว์เห็นนางทิฏฐมังคลิกาอ้อนวอนขอโทษบุตรชายอยู่อย่างนี้ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเราจักให้อมฤตโอสถไปเพื่อขับไล่ยักษ์ทั้งหลายเหล่านั้นให้หนีไป แล้วกล่าวว่า มัณฑัพยมาณพบุตรของท่านผู้มีปัญญาน้อย จงบริโภคก้อนข้าวที่เราฉันเหลือนี้เถิด ยักษ์ทั้งหลายจะไม่พึงเบียดเบียนบุตรของท่านเลย อนึ่ง บุตรของท่านจะหายโรคในทันที
นางทิฏฐมังคลิกา ฟังถ้อยคำของมหาสัตว์แล้วจึงน้อมขันทองเข้าไป กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นสามี ท่านได้โปรดให้อมฤตโอสถเถิด พระมหาสัตว์จึงเทข้าวสุกที่ฉันเหลือกับน้ำล้างมือลงในขันทองนั้นแล้วสั่งว่า ท่านจงหยอดน้ำครึ่งหนึ่งจากส่วนนี้ ใส่ในปากบุตรของท่านก่อนทีเดียว ส่วนที่เหลือจงเอาน้ำผสมใส่ไว้ในตุ่มให้หยอดลงในปากพราหมณ์ที่เหลือทั้งหลาย ชนเหล่านั้น ทั้งหมดก็จะเป็นผู้หายโรคภัยไข้เจ็บทันที ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ก็เหาะลอยกลับไปสู่หิมวันตประเทศในทันที
ฝ่ายนางทิฏฐมังคลิกา ก็เอาศีรษะทูนขันทองนั้น กล่าวว่า เราได้อมฤตโอสถแล้ว และก็รีบไปยังนิเวศน์ของตน เมื่อถึงก็จัดแจงหยอดน้ำล้างมือปนข้าวใส่ในปากบุตรชายของตนก่อน ยักษ์ผู้เป็นหัวหน้ารักษาพระนครก็หนีไป มัณฑัพยมาณพก็ลุกขึ้นปัดฝุ่นที่เปื้อนกายแล้วถามว่า ข้าแต่คุณแม่ นี่อะไรกัน ? นางจึงกล่าวกะบุตรชายว่า เจ้านั่นแหละจงรู้สิ่งที่ตนทำไว้ มาเถิด พ่อคุณ เจ้าจงไปดูความวิบัติแห่งทักขิเณยยชนของเจ้าบ้าง
มัณฑัพยมาณพเห็นพราหมณ์เหล่านั้นเสือกสนสลบอยู่ ก็ได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนใจ ลำดับนั้น นางทิฏฐมังคลิกา ผู้มารดาจึงกล่าวกะมัณฑัพยมาณพว่า พ่อมัณฑัพยกุมาร เจ้าเป็นคนโง่เขลา ไม่รู้จักบุคคลที่จะให้ทานมีผลมากขึ้น ชื่อว่าทักขิเณยยบุคคลทั้งหลาย มิใช่ผู้มีสภาพเห็นปานนี้ ต้องเป็นเช่นกับมาตังคบัณฑิต นับแต่นี้ต่อไป เจ้าอย่าให้ทานแก่คนทุศีลจำพวกนี้เลย จงให้ทาน แก่ผู้มีศีลทั้งหลายเถิด มาเถิดลูกรัก เราจักให้พวกพราหมณ์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยชอบพอของเจ้า ดื่มอมฤตโอสถแล้วทำให้หายโรคเสียให้หมด ดังนี้แล้ว จึงให้เอาข้าวสุกที่เป็นเดนเหลือของพระโพธิสัตว์เทใส่ลงในตุ่มน้ำ แล้วให้หยอดลงในปากของพราหมณ์ทั้งหลาย ทั้งหมื่นหกพันคน พราหมณ์แต่ละคนก็ได้สติลุกขึ้นปัดฝุ่นที่กายของตน ๆ
ลำดับนั้น พราหมณ์ทั้งหลายเหล่าอื่นพากันติเตียนว่า พราหมณ์เหล่านี้พากันดื่มกินน้ำเดนเหลือของคนจัณฑาล แล้วยกโทษทำไม่ให้เป็นพราหมณ์ต่อไป พราหมณ์เหล่านั้นมีความละอาย จึงออกจากพระนครพาราณสี ไปสู่แคว้นเมชฌรัฐ แล้วพำนักอยู่ในสำนักของพระเจ้าเมชฌราช ส่วนมัณฑัพยมาณพยังคงอยู่ในพระนครพาราณสีนั้นต่อไปตามเดิม
ในครั้งนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อชาติมันต์ บวชเป็นดาบสอยู่ที่ริมฝั่งน้ำเวตตวตีนที อาศัยเวตตวตีนครเป็นแหล่งโคจร เนื่องเพราะหยิ่งทะนงในวรรณะพราหมณ์ของตน ก่อเกิดมานะคือความถือตัวอย่างยิ่ง พระมหาสัตว์มาตังคบัณฑิต คิดว่า เราจักทำลายมานะคือความถือตัวของพราหมณ์นี้ จึงไปยังสถานที่นั้น อาศัยอยู่ด้านเหนือน้ำใกล้สำนักของ ชาติมันตดาบส
อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เคี้ยวไม้สีฟันแล้วอธิษฐานว่า ไม้สีฟันนี้จงลอยไปติดอยู่ที่ชฎาของดาบสชาติมันต์ ดังนี้แล้วทิ้งไม้สีฟันนั้นลง ไปในแม่น้ำ ไม้สีฟันก็ลอยไปติดอยู่ที่ชฎาของชาติมันตดาบส ผู้กำลังอาบน้ำชำระกายอยู่ ชาติมันตดาบสเห็นดังนั้นก็กล่าวบริภาษว่า คนฉิบหาย คนวายร้าย แล้วคิดว่า ไอ้คนกาลกรรณีนี้ มันมาจากไหน เราต้องไปตรวจดู จึงเดินไปตามฝั่งเหนือน้ำ พบพระมหาสัตว์แล้วถามว่า ท่านเป็นชาติอะไร ? พระมหาสัตว์ตอบว่า เราเป็นชาติจัณฑาล ชาติมันตดาบสถามว่า ท่านทิ้งไม้ สีฟันลงไปในแม่น้ำใช่ไหม ? พระมหาสัตว์ตอบว่าใช่ ข้าพเจ้าทิ้งไปเอง ชาติมันตดาบสจึงบริภาษว่า คนฉิบหาย คนวายร้าย คนจัณฑาล คนกาลกรรณี เจ้าอย่าอยู่ในสถานที่นี้เลย จงไปอยู่เสียที่ฝั่งใต้น้ำทางโน้น เมื่อพระมหาสัตว์ ไปอยู่ฝั่งใต้นที ทิ้งไม้สีฟันลงไปในแม่น้ำ ไม้สีฟันนั้นกลับลอยทวนน้ำขึ้น ไปติดอยู่ในชฎาของดาบสนั้นอีก ชาติมันตดาบสโกรธ กล่าวว่าไอ้คนฉิบหาย ไอ้คนถ่อย ถ้าเจ้ายังอยู่ในที่นี้ ศีรษะของเจ้าจักแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง ภายในเจ็ดวัน
พระมหาสัตว์ดำริว่า ถ้าเราจักโกรธดาบสผู้นี้ ศีลของเราจักขาด ไม่เป็นอันรักษา เราจะทำลายมานะของดาบสด้วยอุบายวิธี ครั้นถึงวันที่ ๗ จึง บันดาลฤทธิ์ห้ามมิให้พระอาทิตย์ขึ้น มนุษย์ทั้งหลายพากันวุ่นวาย เข้าไปหาชาติมันตดาบส ถามว่า ท่านขอรับ ท่านห้ามมิให้พระอาทิตย์ขึ้นหรือ ? ดาบสตอบว่า กรรมนั้นไม่ใช่ของเรา แต่มีดาบสจัณฑาลผู้หนึ่งอาศัยอยู่ที่ริมฝั่งนที ชะรอยกรรมนี้จักเป็นของดาบสจัณฑาลผู้นั้น มนุษย์ทั้งหลายพากันเข้าไปหาพระมหาสัตว์เจ้าถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ให้พระอาทิตย์อุทัยขึ้นหรือ ? พระมหาสัตว์รับว่า ใช่ เราห้ามไม่ให้ขึ้นไปเอง พวกมนุษย์จึงถามว่า เพราะเหตุอะไร ? พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า พระดาบสผู้คุ้นเคยในตระกูลของท่านทั้งหลายได้สาปแช่งข้าพเจ้า ผู้หาความผิดมิได้ เมื่อดาบสผู้นั้นมาหมอบลงแทบเท้าของข้าพเจ้าเพื่อขอขมาโทษ ข้าพเจ้าจึงจักปล่อยพระอาทิตย์ให้อุทัยขึ้น
มนุษย์เหล่านั้นพากันไปฉุดลากชาติมันตดาบสนำมา บังคับให้หมอบลงแทบเท้าของพระมหาสัตว์ให้ขอขมาโทษ แล้วจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ท่านโปรดปล่อยพระอาทิตย์ให้อุทัยขึ้นเถิด พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า เรายังไม่อาจที่จะปล่อยได้ ถ้าหากว่า เราจักปล่อยพระอาทิตย์ขึ้นไซร้ ศีรษะของดาบสผู้นี้จักแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง ลำดับนั้น มนุษย์ทั้งหลายจึงถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายจะทำอย่างไร ? พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงนำเอาก้อนดินเหนียวมา ครั้นให้นำมาแล้ว สั่งว่า จงเอาดินเหนียววางไว้บนศีรษะของดาบสนี้ แล้วบังคับให้ลงไปยืนในน้ำ แล้วจึงปล่อยพระอาทิตย์ให้อุทัยขึ้น ก็เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้นไปกระทบเข้าเท่านั้น ก้อนดินเหนียวก็แตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง ดาบสก็ดำลงไปในน้ำ
ครั้นพระมหาสัตว์เจ้าทรมานดาบสนั้นแล้ว จึงใคร่ครวญว่า พราหมณ์หมื่นหกพันเหล่านั้นไปอยู่ ณ ที่แห่งใดหนอ ? ทราบว่า ไปอยู่ในสำนักของพระเจ้าเมชฌราช คิดว่า เราจักไปทรมานพราหมณ์เหล่านั้น แล้วเหาะไปด้วยฤทธิ์ลงที่ใกล้พระนคร ถือบาตรสัญจรไปเพื่อบิณฑบาตในเวตตวตีนคร พราหมณ์ทั้งหลายเห็นพระมหาสัตว์แล้ว คิดว่า แม้เมื่อพระดาบสนี้ มาอยู่ในที่นี้ เพียงวันสองวัน ก็จักทำให้เราทั้งหลายไม่มีที่พึ่ง จึงพากันไปยังราชสำนักโดยเร็ว กราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า มีวิชาธรนักเล่น กล ตนหนึ่งเป็นโจรมาอาศัยอยู่ในพระนครนี้ ขอพระองค์โปรดตรัสสั่งให้จับมันเถิด พระราช ก็ตรัสรับรองว่า ดีละ เราจะจัดการ พระมหาสัตว์ได้มิสสกภัตแล้ว จึงนำมานั่งบนตั่ง พิงฝาแห่งหนึ่งฉันอยู่ ลำดับนั้น ราชบุรุษที่พระราชาส่งมา ติดตามมา เอาดาบฟันคอพระมหาสัตว์ซึ่งกำลังบริโภคอาหารอยู่โดยมิได้ระมัดระวังตัวให้ถึงชีพิตักษัย พระมหาสัตว์นั้นทำกาลกิริยาแล้วไปเกิดในพรหมโลก
ได้ยินว่า ในชาดกนี้พระโพธิสัตว์ได้เป็นผู้ทรมานโกณฑพราหมณ์ แล้ว และถึงซึ่งชีพิตักษัยเพราะเป็นผู้ขวนขวายที่จะทรมานผู้อื่นเท่านั้น เทพยดาทั้งหลายพากันโกรธเคืองจึงบันดาลให้ฝนเถ้ารึงอันร้อนตกลงในเมชฌรัฐทั้งสิ้น ทำให้แว่นแคว้นพินาศไปสิ้น สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ว่า เมื่อพระเจ้าเมชฌราช เข้าไปทำลายชีวิตท่านมาตังคบัณฑิตผู้ยงยศ วงศ์กษัตริย์ เมชฌราช พร้อมด้วยราชบริษัท ก็ได้ขาดสูญในกาลครั้งนั้น พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน พระเจ้าอุเทนราช ก็ทรงเบียดเบียนบรรพชิตเหมือนกัน แล้วทรงประชุมชาดกว่า มัณฑัพยกุมาร ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระเจ้าอุเทน ส่วนมาตังคบัณฑิต ได้มาเป็นเราผู้สัมมาสัมพุทธเจ้า นี้แล 


1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ