วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พุทธกิจ ๕ ประการ

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา

พุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ

เล่ม ๑๑ อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย  สีลขันธวรรค
อรรถกถา ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค
พรหมชาลสูตร

พรรณนาพุทธกิจ  ๕  ประการ


ขึ้นชื่อว่ากิจนี้มี ๒ อย่าง คือ กิจที่มีประโยชน์และกิจที่ไม่มีประโยชน์.บรรดากิจ  ๒  อย่างนั้น
กิจที่ไม่มีประโยชน์  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเพิกถอนแล้วด้วยอรหัตตมรรค ณ  โพธิบัลลังก์.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีกิจแต่ที่มีประโยชน์เท่านั้น.

กิจที่มีประโยชน์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมี ๕ อย่าง  คือ

      ๑.  กิจในปุเรภัต
      ๒.  กิจในปัจฉาภัต
      ๓.  กิจในปุริมยาม
      ๔.  กิจในมัชฌิมยาม
      ๕.  กิจในปัจฉิมยาม

๑.  ปุเรภัตตกิจ คือ  กิจก่อนเสวยอาหาร
  ในบรรดากิจ  ๕  อย่างนั้น กิจในปุเรภัตมีดังนี้ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่  ทรงปฏิบัติพระสรีระ  มีบ้วนพระโอฐเป็นต้น  เพื่อทรงอนุเคราะห์อุปฐากและเพื่อความสำราญแห่งพระสรีระเสร็จแล้วทรงประทับยับยั้งอยู่บนพุทธอาสน์ที่เงียบสงัด

จนถึงเวลาภิกษาจารครั้งถึงเวลาภิกษาจาร  ทรงนุ่งสบง  ทรงคาดประคดเอว  ทรงครองจีวร  ทรงถือบาตร  บางครั้งเสด็จพระองค์เดียว  บางครั้งแวดล้อมไปด้วยภิกษุสงฆ์  เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังคามหรือนิคม  บางครั้งเสด็จเข้าไปตามปกติ  บางครั้งก็เสด็จเข้าไปด้วยปาฏิหาริย์หลายประการ. คืออย่างไร ? 

เมื่อพระบรมโลกนาถเสด็จเข้าไปบิณฑบาต  ลมที่พัดอ่อน ๆพัดไปเบื้องหน้าแผ้วพื้นพสุธาให้สะอาดหมดจด พลาหกก็หลั่งหยาดน้ำลงระงับฝุ่นละอองในมรรคา  กางกั้นเป็นเพดานอยู่เบื้องบน  กระแสลมก็หอบเอาดอกไม้ทั้งหลายมาโรยลงในมรรคา ภูมิประเทศที่สูงก็ต่ำลง ที่ต่ำก็สูงขึ้น ภาคพื้นก็ราบเรียบสม่ำเสมอในขณะที่ทรงย่างพระยุคลบาท

หรือมีปทุมบุปผชาติอันมีสัมผัสนิ่มนวลชวนสบายคอยรองรับพระยุคลบาท พอพระบาทเบื้องขวาประดิษฐานลงภายในธรณีประตู  พระฉัพพรรณรังสีก็โอภาสแผ่ไพศาล  ซ่านออกจากพระพุทธสรีระพุ่งวนแวบวาบประดับปราสาทราชมณเฑียร  เป็นต้น  ดั่งแสงเลื่อมพรายแห่งทอง  และดั่งล้อมไว้ด้วยผืนผ้าอันวิจิตร

บรรดาสัตว์ทั้งหลาย มี  ช้าง  ม้า  และนก เป็นต้นซึ่งอยู่ในสถานที่แห่งตน ๆ  ก็พากันเปล่งสำเนียงอย่างเสนาะ  ทั้งดนตรีที่ไพเราะ  เช่น  เภรี  และพิณ  เป็นต้น  ก็บรรเลงเสียงเพียงดนตรีสวรรค์และสรรพาภรณ์แห่งมนุษย์ทั้งหลาย ก็ปรากฏสวมใส่ร่างกายในทันที ด้วยสัญญาณอันนี้

ทำให้คนทั้งหลายทราบได้ว่า  วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในย่านนี้  เขาเหล่านั้นต่างก็แต่งตัวนุ่งห่มเรียบร้อยพากันถือของหอมและดอกไม้  เป็นต้น  ออกจากเรือนเดินไปตามถนนบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยของหอมและดอกไม้  เป็นต้น  โดยเคารพถวายบังคมแล้ว

กราบทูลขอสงฆ์ว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขอพระองค์โปรดประทานภิกษุแก่พวกข้าพระองค์  ๑๐ รูป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์โปรดประทานภิกษุแก่พวกข้าพระองค์  ๒๐ รูป แก่พวกข้าพระองค์๕๐ รูป  แก่พวกข้าพระองค์  ๑๐๐  รูป  ดังนี้  แล้วรับบาตรแม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปูลาดอาสนะน้อมนำถวายบิณฑบาตโดยเคารพ.

พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทำภัตกิจเสร็จแล้ว  ทรงตรวจดูจิตสันดานของสัตว์เหล่านั้น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดให้บางพวกตั้งอยู่ในสรณคมน์  บางพวกตั้งอยู่ในศีล ๕ บางพวกตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผลอย่างใดอย่างหนึ่ง  บางพวกบวชแล้วตั้งอยู่ในพระอรหัต  ซึ่งเป็นผลเลิศ  ทรงอนุเคราะห์มหาชน

ดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว  ทรงลุกจากอาสนะเสด็จไปยังพระวิหาร  ครั้นแล้วประทับนั่งบนพุทธอาสน์อันบวรซึ่งปูลาดไว้ในมัณฑลศาลา  ทรงรอคอยการเสร็จภัตกิจของภิกษุทั้งหลาย ครั้นภิกษุทั้งหลายเสร็จกิจเรียบร้อยแล้ว ภิกษุผู้อุปฐากก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ  ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จเข้าพระคันธกุฎี.นี้เป็นกิจในปุเรภัตก่อน.

๒.  ปัจฉาภัตตกิจ  
   ครั้งนั้นแล  พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงบำเพ็ญกิจในปุเรภัตเสร็จแล้วอย่างนี้  ประทับนั่น  ณ  ศาลาปรนนิบัติใกล้พระคันธกุฎี ทรงล้างพระบาทแล้วประทับยืนบนตั่งรองพระบาท ประทานโอวาทภิกษุสงฆ์ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อนด้วยความไม่ประมาทเถิด และว่า

      ทุลลภญจ  มนุสสตตํ  พุทธุปปาโท จ ทุลลโภ
      ทุลลภา  ขณสมปตติ  สทธมโม  ปรมทุลลโภ
      ทุลลภา  สทธาสมปตติ  ปพพชชา จ ทุลลภา
      ทุลลภํ  สทธมมสสวนํ
         ความเป็นมนุษย์  หาได้ยาก
         ความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า หาได้ยาก
         ความถึงพร้อมด้วยขณะ  หาได้ยาก
         พระสัทธรรม  หาได้ยากอย่างยิ่ง
         ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา  หาได้ยาก
         การบวช  หาได้ยาก
         การฟังพระสัทธรรม  หาได้ยาก
 

ณ  ที่นั้น  ภิกษุบางพวกทูลถามกรรมฐานกะพระผู้มีพระภาคเจ้า.แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทานกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตของภิกษุเหล่านั้น. ลำดับนั้น  ภิกษุทั้งปวงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า  แล้วไปยังที่พักกลางคืนและกลางวันของตน ๆ.

บางพวกก็ไปป่า บางพวกก็ไปสู่โคนไม้ บางพวกก็ไปยังที่แห่งใดแห่งหนึ่ง  มีภูเขา เป็นต้น บางพวกก็ไปยังภพของเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ฯ ล ฯ  บางพวกก็ไปยังภพของเทวดาชั้นวสวัดดี  ด้วยประการฉะนี้.

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ถ้ามีพระพุทธประสงค์ ก็ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ สำเร็จสีหไสยาครู่หนึ่ง  โดยพระปรัศว์เบื้องขวา
 

  ครั้นมีพระวรกายปลอดโปร่งแล้วเสด็จลุกขึ้นตรวจดูโลกในภาคที่สอง. ณ  คาม หรือนิคมที่พระองค์เสด็จเข้าไปอาศัยประทับอยู่  มหาชนพากันถวายทานก่อนอาหาร ครั้นเวลาหลัง อาหารนุ่งห่มเรียบร้อย ถือของหอมและดอกไม้  เป็นต้น  มาประชุมกันในพระวิหาร.

ครั้นเมื่อบริษัทพร้อมเพรียงกันแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปด้วยพระปาฏิหาริย์อันสมควร ประทับนั่ง  แสดงธรรมที่ควรแก่กาลสมัย ณ บวรพุทธอาสน์ที่บรรจงจัดไว้ ณ ธรรมสภา  ครั้นทรงทราบกาลอันควรแล้วก็ทรงส่งบริษัทกลับ. เหล่ามนุษย์ต่างก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วพากันหลีกไป.  นี้เป็นกิจหลังอาหาร.

๓.  ปุริมยามกิจ
   พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น  ครั้นเสร็จกิจหลังอาหารอย่างนี้แล้ว ถ้ามีพระพุทธประสงค์จะโสรจสรงพระวรกาย ก็เสด็จลุกจากพุทธอาสน์เข้าซุ้มเป็นที่สรงสนาน  ทรงสรงพระวรกายด้วยน้ำที่ภิกษุผู้เป็นพุทธุปฐากจัดถวาย.
 

ฝ่ายภิกษุผู้เป็นพุทธุปฐากก็นำพุทธอาสน์มาปูลาดที่บริเวณพระคันธกุฎี.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครองจีวรสองชั้นอันย้อมดีแล้ว ทรงคาดประคดเอว  ทรงครองจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง  แล้วเสด็จไปประทับนั่งบนพุทธอาสน์นั้น.  ทรงหลีกเร้นอยู่ครู่หนึ่งแต่ลำพังพระองค์เดียว.

ครั้นนั้น  ภิกษุทั้งหลายพากันมาจากที่นั้น  ๆ แล้วมาสู่ที่ปรนนิบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ณ  ที่นั้น  ภิกษุบางพวกก็ทูลถามปัญหา  บางพวกก็ทูลขอกรรมฐาน  บางพวกก็ทูลขอฟังธรรม.  พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยับยั้งตลอดยามต้น ทรงให้ความประสงค์ของภิกษุเหล่านั้นสำเร็จ.นี้เป็นกิจในปฐมยาม.

๔.  มัชฌิมยามกิจ
ก็เมื่อสิ้นสุดกิจในปฐมยาม  ภิกษุทั้งหลายถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหลีกไป  เหล่าเทวดาในหมื่นโลกธาตุทั้งสิ้น  เมื่อได้โอกาสก็พากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ต่างทูลถามปัญหาตามที่เตรียมมา โดยที่สุดแม้อักขระ  ๔  ตัว.  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบปัญหาแก่เทวดาเหล่านั้น ให้มัชฌิมยามผ่านไป
นี้เป็นกิจในมัชฌิมยาม.
 

๕.  ปัจฉิมยามกิจ

   ส่วนปัจฉิมยาม  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแบ่งเป็น  ๓  ส่วน  คือ
ทรงยับยั้งอยู่ด้วยการเสด็จจงกรมส่วนหนึ่ง  เพื่อทรงเปลื้องจากความเมื่อยล้าแห่งพระสรีระอันถูกอิริยาบถนั่งตั้งแต่ก่อนอาหารบีบคั้นแล้ว.

ในส่วนที่สอง  เสด็จเข้าพระคันธกุฎี  ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ  สำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา.

ในส่วนที่สาม เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งแล้วทรงใช้พุทธจักษุตรวจดูสัตว์โลกเพื่อเล็งเห็นบุคคลผู้สร้างสมบุญญาธิการไว้ ด้วยอำนาจทานและศีล เป็นต้น  ในสำนักของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ.
นี้เป็นกิจในปัจฉิมยาม.

ก็วันนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงยังกิจก่อนอาหารให้สำเร็จในกรุงราชคฤห์แล้ว
ถึงเวลาหลังอาหารเสด็จดำเนินมายังหนทาง
ตรัสบอกกรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลายในเวลาปฐมยาม
ทรงแก้ปัญหาแก่เทวดาทั้งหลายในมัชฌิมยาม
เสด็จขึ้นสู่ที่จงกรม  ทรงจงกรมอยู่ในปัจฉิมยาม
ทรงได้ยินภิกษุประมาณ  ๕๐๐  รูปสนทนาพาดพิงถึงพระสัพพัญญุตญาณนี้
ด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั่นแล  ได้ทรงทราบแล้ว.

ด้วยเหตุนั้น  ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า  เมื่อทรงกระทำกิจในปัจฉิมยาม  ได้ทรงทราบแล้ว.
ก็และครั้นทรงทราบแล้ว  ได้มีพระพุทธดำริดังนี้ว่า
ภิกษุเหล่านี้กล่าวคุณพาดพิงถึงสัพพัญญุตญาณของเรา ก็กิจแห่งสัพพัญญุตญาณไม่ปรากฏแก่ภิกษุเหล่านี้ปรากฏแก่เราเท่านั้น  เมื่อเราไปแล้ว  ภิกษุเหล่านี้ก็จักบอกการสนทนาของตนตลอดกาล.

แต่นั้นเราจักทำการสนทนาของภิกษุเหล่านั้นให้เป็นต้นเหตุ  แล้วจำแนกศีล  ๓  อย่าง
บันลือสีหนาทอันใคร ๆ  คัดค้านไม่ได้ ในฐานะ  ๖๒  ประการ  ประชุมปัจจยาการกระทำพุทธคุณให้ปรากฏ

จักแสดงพรหมชาลสูตร  อันจะยังหมื่นโลกธาตุให้หวั่นไหว  ให้จบลงด้วยยอดคือพระอรหัต
ปานประหนึ่งยกภูเขาสิเนรุราชขึ้น  และดุจฟาดท้องฟ้าด้วยยอดสุวรรณกูฏ
เทศนานั้นแม้เมื่อเราปรินิพพานแล้ว  ก็จักยังอมตมหานฤพานให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายตลอดห้าพันปี
ครั้นมีพระพุทธดำริอย่างนี้แล้ว  ได้เสด็จเข้าไปยังศาลามณฑลที่ภิกษุเหล่านั้นนั่งอยู่ ด้วยประการฉะนี้.

บทว่า  เยน  ความว่า  ศาลามณฑลนั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงเสด็จเข้าไปโดยทางทิศใด.
อีกอย่างว่า  บทว่า  เยน  นี้  เป็นตติยาวิภัตติ  ลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
เพราะฉะนั้น  ในบทนี้จึงมีเนื้อความว่า  ได้เสด็จไป ณประเทศที่มีศาลามณฑลนั้น ดังนี้

คำว่า ปญญตเต อาสเน นิสีทิ  ประทับเหนืออาสนะที่บรรจงจัดไว้ความว่า
ข่าวว่า  ในครั้นพุทธกาล สถานที่ใดๆ ที่มีภิกษุอยู่แม้รูปเดียวก็จัดพุทธอาสน์ไว้ทุกแห่งทีเดียว.

เพราะเหตุไร ? เขาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมนสิการถึงเหล่าภิกษุที่รับกรรมฐานในสำนักของพระองค์แล้ว  อยู่ในที่สำราญว่า ภิกษุรูปโน้นรับกรรมฐานในสำนักของเราไป  สามารถจะยังคุณวิเศษให้เกิดขึ้นหรือไม่หนอ  ครั้นทรงเห็นภิกษุรูปนั้นละกรรมฐานตรึกถึงอกุศลวิตกอยู่

ลำดับนั้น  มีพระพุทธดำริว่า  กุลบุตรผู้นี้รับกรรมฐานในสำนักของศาสดาเช่นเรา
เหตุไฉนเล่า  จักถูกอกุศลวิตกครอบงำให้จมลงในวัฏฏทุกข์อันหาเงื่อนต้นไม่ปรากฏ
เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ภิกษุรูปนั้น จึงทรงแสดงพระองค์  ณ  ที่นั้นทีเดียว
ประทานโอวาทกุลบุตรนั้น แล้วเสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศกลับไปยังที่ประทับของพระองค์ต่อไป.

   ลำดับนั้น  ภิกษุเหล่านั้นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานโอวาทอยู่อย่างนี้ คิดกันว่า พระบรมศาสดาทรงทราบความคิดของพวกเรา  เสด็จมาแสดงพระองค์ประทับยืน  ณ  ที่ใกล้พวกเรา  เป็นภาระที่พวกเราจะต้องเตรียมพุทธอาสน์ไว้  สำหรับทูลเชิญในขณะนั้นว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญขอพระองค์โปรดประทับนั่งบนพุทธอาสน์นี้  ขอพระองค์โปรดประทับนั่งบนพุทธอาสน์นี้.
  


อ้างอิง
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=2
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=09&A=1&Z=1071


"พุทธกิจประจำวัน ๕ ประการและพุทธจริยา ๓ ประการ"
งานการสอนธรรม เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นงานที่ละเอียดประณีต เพราะทรงมุ่งให้เป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่คนทั้งปวงและอำนวยผลให้เป็นความสุข พระพุทธเจ้า จึงทรงมีกิจหลักที่เรียกว่าพุทธกิจ ในแต่ละวันทรงมีพุทธกิจหลัก ๕ ประการ เพื่อบำเพ็ญพุทธจริยา ๓ ประการ เพื่อบำเพ็ญพุทธจริยา ๓ ประการ ของพระพุทธเจ้าให้สมบูรณ์ คือ
     พุทธจริยาประการที่หนึ่ง โลกัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ในฐานะที่พระองค์เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมโลก ความสำเร็จในจริยาข้อนี้ทรงอาศัยพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการคือ
     พุทธกิจประการที่ ๑ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกผู้ต้องการบุญ
     พุทธกิจประการที่ ๒ ในเวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่คนผู้สนใจในการฟังธรรม
     พุทธกิจประการที่ ๓ ในเวลาค้ำทรงประทานพระโอวาทให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย
     พุทธกิจประการที่ ๔ ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรม และตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย
     พุทธกิจประการที่ ๕ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งประองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น

     พุทธกิจประการที่ ๕ นี้เอง เป็นจุดเด่นในการทำงานของพระพุทธเจ้า จนทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา บางคนมีความรู้สึกว่าทำไมคนแต่ก่อนสำเร็จกันง่ายเหลือเกิน ถ้าศึกษารายละเอียดแล้วจะพบว่าไม่มีคำว่าง่ายเลย เพราะนอกจากจะอาศัยวาสนาบารมีของคนเหล่านั้นเป็นฐานอย่างสำคัญแล้ว การแสดงธรรมของพระองค์นั้น เป็นระบบการทำงานที่มีการศึกษาข้อมูล การประเมินผล การสรุปผลในการแสดงธรรมทุกคราว
     หลังจากที่บุคคลนั้น ๆ ปรากฏในข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าคือทรงรู้ว่าเขาเป็นใคร ? มีอุปนิสัยบารมีอย่างไร ? แสดงธรรมอะไรจึงได้ผล ? หลังจากแสดงธรรมแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ? ดังนั้นการแสดงธรรมทุกครั้งของพระพุทธองค์ จึงบังเกิดผล เป็นอัศจรรย์เพราะจะทรงแสดงเฉพาะแก่ผู้เป็นพุทธเวไนย คือสามารถแนะนำให้รู้ได้เป็นหลัก
     พุทธจริยาประการที่สอง ญาตัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ เช่นการทรงมีพระพุทธานุญาตพิเศษ ให้พรญาติของพระองค์ ที่เป็นเดียรถีย์ (นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา) มาก่อน ให้เข้าบวชในพระพุทธศาสนาได้ โดยไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาสก่อน (ติตถิยปริวาส คือ วิธีอยู่กรรมสำหรับเดียรถีย์ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องประพฤติปริวาส (การอยู่ชดใช้หรืออยู่กรรม) ก่อน ๔ เดือน หรือจนกว่าพระสงฆ์พอใจจึงจะอุปสมาบทได้) หรือการที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแนะนำให้พระญาติซึ่งกำลังจะทำสงครามกันได้เข้าใจในเหตุผล สามารถปรองดองกันได้
     พุทธจริยาประการที่ ๓ พุทธัตถจริยา ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เช่น ทรงวางสิกขาบทเป็นพุทธอาณา สำหรับควบคุมความประพฤติของผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ทรงแนะนำให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตน ทรงวางพระองค์ต่อผู้ที่เข้ามาบวชและแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา ในฐานะของบิดากับบุตร ผู้ปกครองกัลยาณมิตร ศาสดาผู้เอ็นดูเป็นต้น ตามสมควรแก่บุคคลและโอกาสนั้น ๆ จนสามารถประดิษฐานเป็นรูปสถาบันศาสนาสืบต่อกันมาได้




ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข


2 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ
  2. ททมาโน ปิโย โหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always beloved. _/|\_

    ตอบลบ