วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

เจดีย์ศรีสุริโยทัย

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
เจดีย์ศรีสุริโยทัย
พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ปกครองกรุงหงสาวดี ตรงกับรัชสมัยเดียวกันกับ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา 
    สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เดิมมีพระนามว่าพระเฑียรราชา ในครั้งนั้น พระไชยราชาเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อสิ้นพระชาม์พระราชโอรสคือพระยอดฟ้า ได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์แต่ยังทรงพระเยาว์ พระเฑียรราชาจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมาถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ พระราชมารดาของพระยอดฟ้าใส่ร้าย พระเฑียรราชาจึงเสด็จไปทรงผนวชที่วัดราชประดิษฐาน เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์ และขุนวรวงศา ถูกขุนพิเรนทรเทพและพรรคพวก ตัดหัวเสียบประจาน แล้วจึงเอาเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์อลงการ ไปทูลเชิญให้พระเทียรราชาทรงลาผนวชมาเป็นพระมหากษัตริย์ ครองกรุงศรีอยุธยาต่อไป
    ในสมัยนั้น ประเทศต่าง ๆ ในแถบสุวรรณภูมิ ถือกันว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด มีช้างเผือกไว้ในครอบครอง ถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีบุญญาธิการ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงมีช้างเผือกคู่บารมีถึง 7 ช้าง จนได้ชื่อว่า พระเจ้าช้างเผือก แต่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ไม่มีช้างเผือกเลยสักช้างเดียว เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชย์ได้ 6 เดือน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ในช่วงผลัดแผ่นดิน จึงยกทัพมาหมายบุกยึดกรุงศรีอยุธยา 
     การศึกในครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ยกทัพออกไปหยั่งกำลังข้าศึก พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีสุริโยทัย และพระราชโอรสอีก 2 พระองค์ คือพระราเมศวร และพระมหินทร์ เมื่อถึงทุ่งลุมพลี ได้ประจันหน้ากับทัพของพระเจ้าแปร และได้กระทำยุทธหัตถีกัน ช้างของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที ถูกช้างพระเจ้าแปรไล่ฟัน สมเด็จพระศรีสุริโยทัย จึงไสช้างเข้าขวางหน้าและถูกพระเจ้าแปร ฟันด้วยของ้าว สิ้นพระชนม์บนหลังช้าง สมเด็จพระศรีสุริโยทัย จึงเป็นวีรสตรีไทย ที่ปกป้องพระสวามี มิให้เป็นอันตราย เพื่อจะได้เป็นแม่ทัพต่อสู้กับอริราชศัตรูต่อไป
     เมื่อสมเด็จพระศรีสุริโยทัย สิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็มิได้ถอดพระทัย กลับต่อสู้กับกองทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อย่างสามารถทำให้ทัพพม่าแตกหนีไป พระราเมศวรและพระมหินทร์ นำกำลังทหารเข้าตามขับไล่พม่า แต่ไปเสียทีถูกจับตัวไปถวายพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงมีสารไปขอตัวพระราชโอรสทั้ง 2 พระองค์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ก็ทรงคืนพระราเมศวรและพระมหินทร์มาให้ แต่ทรงขอช้างเผือกเพื่อแลกเปลี่ยนกัน 2 ช้าง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นแก่ไมตรีของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ จึงมอบพลายศรีมงคล และพลายมงคลทวีปแก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ โดยนำไปส่งให้ทัพพม่าที่ตั้งอยู่ที่ชัยนาท แต่เนื่องจากช้างผิดกลิ่นควาญ จึงอาละวาดจนทัพพม่าที่ชัยนาทระส่ำระสาย สุดท้าย พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ตัดสินพระทัย คืนช้าง 2 ช้างกลับมายังกรุงศรีอยุธยา ดังเดิม
     เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เสด็จกลับไปถึงกรุงหงสาวดีโดยไม่มีช้างเผือกกลับไปด้วย ประเทศราชต่าง ๆ ก็เริ่มแข็งเมือง ไม่ยอมอยู่ใต้ร่มเศวตฉัตรของกรุงหงสาวดี เพราะถือว่า บารมีไม่ถึง ต่อมาพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ มีทหารรับจ้างเป็นชาวโปรตุเกส อยู่ในกองทัพพม่า มีทหารโปรตุเกสคนหนึ่งต้มเหล้าเก่งมาก นำเหล้ามาถวายให้ดื่ม ตั้งแต่นั้นมาพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ก็ติดสุรา และถูกลอบปลงพระชนม์ในเวลาต่อมา 
     เมื่อสิ้นพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้แล้ว บุเรงนอง ก็ได้ขึ้นครองกรุงหงสาวดี ทรงมีพระนามว่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง 
    พระเจ้าบุเรงนอง มีพระราชโอรสองค์หนึ่งชื่อว่า พระเจ้านันทบุเรง 
    พระเจ้านันทบุเรง มีพระราชโอรสองค์หนึ่ง ชื่อมังสามเกียด 
    มังสามเกียด เป็นพระสหายกับพระองค์ดำ หรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ย่อความจากหนังสือ บุคคลสำคัญในตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดย โรม บุนนาค

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ