วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

พระสองปางในองค์เดียวกัน

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
“พระสองปางในองค์เดียวกัน” พุทธศิลป์ลุ่มเจ้าพระยาในช่วง 100 ปี หลังยุคบายน
ภาพหลังการสิ้นอำนาจทางการเมืองของจักรวรรดิบายนในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 พระราชโอรส ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา อิทธิพลของเมืองพระนครในเขตตะวันตกเสื่อมถอยลง พระญาติพระวงศ์ “พระบาทกมรเตง”  ผู้ปกครองดินแดน  “ขอมเจ้าพระยา -รัฐลูกครึ่งเขมร-รามัญ” ทั้ง ศรีจานาศะ- ลโวทยปุระ (หลอหู่) สุวรรณปุระ (เสียน กั๋ว กวั่น) และ ศรีชยเกษมปุรี(ซั่งสุ่ยสูกูตี่ - สุโขทัย) ได้ลดความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจกับราชสำนักใหม่ในเมืองพระนคร หันไปนิยมงานศิลปะและคติความเชื่อจากฝั่งตะวันตก ผ่านอ่าวเบงกอล พุกาม รามอญ ตะนาวศรี เมืองพันนคร มีพัฒนาการของสังคมและวัฒนธรรม คติความเชื่อ ศิลปะ พุทธศิลป์ เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง  
.
ลูกหลานพระญาติพระวงศ์ทั้งสามกลุ่มรัฐยังคงรักษาความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น มีความเป็นญาติมิตรเกี่ยวดองกัน มีการติดต่อทั้งทางการค้า เศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทั้งสามรัฐยังคงใช้แบบแผนจารีต คติความเชื่อ ศิลปะและภาษาทางการ (เขมร)  จากยุคก่อนหน้าเหมือนกัน  ต่อเนื่องมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 หรือที่เรียกว่า “ยุคหลังบายน” (Post-Bayon Period) ครับ 
.
ในขณะที่ราชสำนักเมืองพระนครหลวงศรียโสธรปุระได้หันกลับไปนิยมศรัทธาตามคติความเชื่อ “ไศวะนิกาย-ปศุปตะ” (Saivism) ฟื้นฟูงานศิลปะฮินดู ในยุคสมัยอันยาวนานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8  ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 พุทธศาสนาสายมหายาน (วัชรยาน -กาลจักรตันตระ) ที่เคยนิยมในราชสำนักสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถูกลดบทบาทและถูกทำลายล้างจนหายไปจากอาณาจักร แต่ราชสำนักของกลุ่มสามรัฐขอมลุ่มเจ้าพระยาที่เคยนิยมพุทธศาสนาแบบวัชรยานตันตระตามอำนาจเมืองพระนคร ก็ได้แต่เพียงลดความนิยมลง ไม่มีการสร้างรูปเคารพแบบลัทธิโลกเศวร (บูชาพระโพธิสัตว์) คงสืบทอดมาแต่ความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปที่มีนาคปรกตามแบบบายนอยู่ช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น
.
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 และพุทธศตวรรษที่ 19  กลุ่มบ้านเมืองในรัฐขอมเจ้าพระยาได้รับอิทธิพลใหม่ ๆ จากภายนอก ทั้งคติความเชื่อและพุทธศิลป์จากอาณาจักรปาละ – เสนะ ในเบงกอล และศิลปะจีน ผ่านมาทางพุกาม ทั้งที่เป็นพุทธศาสนาในคติเถรวาทและคติมหายาน ทั้งยังได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบเถรวาทลังกาวงศ์ผ่านรามัญประเทศ (มอญ) มาทางเมืองนครพัน อ่าวเมาะตะมะ เข้ามาผสมผสานกับคติและศิลปะพุทธศาสนาแบบวัชรยานตันตระเดิมจากยุคจักรวรรดิบายน กลายมาเป็นคติความเชื่อและรูปลักษณ์ทางพุทธศิลป์ลูกผสม ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นลุ่มน้ำเจ้าพระยา จนเกิดเป็นพุทธศาสนาในคติเถรวาท (Theravāda – Theravādin) นิกาย “อริยะ” หรือ “อริยารหันตปักขะภิกขุสงฆ์” (Ariyā rahantapakkha bhikkhu sangha) มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลพบุรี (ละโว้) นิยมเรียกพุทธศิลป์ที่พบในนิกายนี้ว่า “กัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha) ตามความหมายในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ที่เรียกเมืองละโว้- ลวะปุระว่ากัมโพชครับ
.
คณะกัมโพชสงฆ์ปักขะเป็นพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่ได้รับเอาคติความเชื่อพิธีกรรมและการปฏิบัติธรรมจากนิกายมหายาน (ปาละเสนะ- จีน) วัชรยาน (ตันตระยาน – บายน) และเถรวาทมหาวิหารเดิม (ทวารวดี-มอญ-พุกาม) มาผสมกับขนบแบบแผนทางบาลีของรามัญนิกาย เกิดเป็นงานพุทธศิลป์ที่ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยุคหลังบายนก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 
.
ในยุคนี้เกิดการปรับเปลี่ยนดัดแปลงงานพุทธศิลป์รุ่นก่อนหน้าครั้งใหญ่ ด้วยเพราะคติเถรวาทจะไม่นิยมสร้างพระนาคปรกแบบศิลปะบายน จึงเกิดการแกะสลักแก้ไขรูปจีวรเดิมให้มีเป็นผ้าสังฆาฏิ เดินเส้นจีวรเฉียงพาดพระอุระ เดินเส้นขอบจีวรที่พระเพลาแบบพระภิกษุ บางรูปเปลี่ยนเครื่องประดับอย่างอุณหิสศิราภรณ์ แก้ไขขมวดพระเกศา เอากุณฑล (ตุ้มหู) ออก บางรูปเอาขนดนาคและนาคปรกด้านหลังออกทั้งหมดครับ
.
พุทธศิลป์หลังบายนคณะกัมโพชสงฆ์ปักขะ นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ สวมอุณหิสกระจังรูปกลีบบัวหรือพระพุทธรูปสวมเทริดขนนก (Crowned Buddha) ที่พระกรรณประดับกรรเจียกจอนโค้งลงมาด้านล่าง สายก้านด้านบนสั้นโค้งมาหยุดทำเป็นปลายงอนที่กุณฑล ทิ้งชายเป็นริ้วลงมาที่พระอังสาทั้งสองข้าง นอกจากนั้น กรองศอทับจีวร บนปัทมบัลลังก์ บางรูปมีแผ่นประภาวลี (Altarpiece) ขอบกระหนกเปลวเพลิงเป็นแผ่นหลัง มีธงทิวหรือมีก้านพระศรีมหาโพธิ์อยู่ใต้ฉัตรด้านบน หรือประกอบแผ่นเรือนแก้ว รูปรัตนปราสาทหรือรูปรัตนโพธิบัลลังก์ ซึ่งเป็นพุทธศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากราชวงศ์ปาละเสนะ ผ่านมาทางพุกาม-หริภุญชัย มาตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว
.
อีกทั้งยังนิยมสร้างงานประติมากรรมสำริด แบบหมายชิ้นส่วนมาประกอบเดือยเข้าติดกัน ทั้งสถูปเจติยะสำริดขนาดเล็กที่มียอดหม้อบัวตูม-กัลปลตา พระพุทธรูป 3 องค์ (Trinity) มีพระเนตรที่พระนลาฏตามคติวัชรยานตันตระเดิม เทวดาทูนแผงรูปพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าไมเตรย พระสมณโคตมในซุ้มเรือนแก้วปรกโพธิ์ โดยยังคงนิยมสร้างพระพุทธรูปตามแบบเดิม อย่างแบบประทับขัดสมาธิราบปางสมาธิ (ธยานะมุทรา) ตามแบบบายน ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยตามแบบเถรวาทลังกา ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยถือตาลปัตรตามคติรามัญนิกาย ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัยนาคปรกตามแบบศิลปะบายน ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัย และพระทรงเครื่องพระจักรพรรดิราชตามแบบศิลปะปาละเสนะและศิลปะจีนครับ
.
ส่วนพระพุทธรูปยืน ก็ยังคงนิยมทำเค้าพระพักตร์เหลี่ยมแบบบายน พระขนงเชื่อมกันเป็นเส้นตรง พระเกศาถัก พระเมาลีแบนรัดด้วยพวงประคำหรือทรงกรวย รัศมีเป็นต่อมกลมหรือลูกแก้ว หรือพระอุษณีษะเป็นฐานรองรับ พระรัศมีทรงกรวยเรียบ ครองจีวรห่มดอง ชายจีวรเป็นแถบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชายผ้าเป็นแถบใหญ่ ขอบสบงด้านบนคาดด้วยรัดพระองค์เป็นแถบคาดประดับลาย สบงมีแถบพับหน้านางซ้อนตรงกลางแบบเรียบและแบบ ลวดลาย  ทั้งปางประทานอภัยแบบยกพระหัตถ์ขึ้นทั้งสองข้างตามแบบศิลปะบายน และปางประทานอภัย (ห้ามพระญาติ-ห้ามพยาธิ) แบบยกขึ้นพระหัตถ์ขึ้นเพียงข้างเดียว และปางแสดงธรรมพระหัตถ์แสดงวิตรรกะมุทรา  ซึ่งปางทั้งหมดแสดงด้วยพระหัตถ์เพียงข้างเดียว  
.
ในพุทธศิลป์กัมโพชสงฆ์ปักขะนี้ ได้ปรากฏคติความนิยมในการสร้างพุทธศิลป์ที่มีลักษณะ “พระสองปางในองค์เดียวกัน” ตามแบบคติมหายานของฝ่ายปาละที่ส่งอิทธิพลผ่านมาทางพุกาม-หริภุญชัย คือมีการแสดงท่าพระหัตถ์ 2 ปาง ในพระพุทธรูปองค์เดียวกัน อย่างการแสดงท่าปางประทานอภัยที่พระหัตถ์ขวา แต่พระหัตถ์ซ้ายทิ้งลงด้านข้าง หงายแบออกแสดงท่าปางประทานพร หรือ พระหัตถ์ขวาแสดงท่าวิตรรกะมุทรา (แสดงธรรม) พระหัตถ์ซ้ายหงายแบบออกทิ้งลงด้านข้างพระวรกายแสดงปางประทานพร และ พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงท่าวิตรรกะมุทรา แต่พระหัตถ์ซ้ายทิ้งลงข้างพระวรกายแต่แสดงท่ามือวิตรรกะมุทราเช่นเดียวกันครับ   
.
---------------------
*** พุทธศิลป์พระสองปางในองค์เดียวกันจากเมืองละโว้ คงได้ส่งต่ออิทธิพลเข้าไปยังเมืองพระนคร ดังปรากฏการสร้างพระยืนใหญ่ตามคติรามัญ  “พระจัตุรมุข” วิหารพระยืน 4 ทิศ ที่แสดงท่าปางแสดงธรรม (วิตรรกะมุทรา)ทั้งสองพระหัตถ์ โดยพระหัตถ์ซ้ายทิ้งลงแบหงายออกตามแบบหริภุญชัย ที่ปราสาทพระขรรค์แห่งกำปงสวาย สร้างขึ้นในช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 สมัยของพระเจ้าศรีนทรวรมัน หรือ ศรีนทรชัยวรมัน ผู้เป็นพระโอรสที่ขึ้นเป็นกษัตริย์สืบต่อ เป็นช่วงเวลาที่มีความนิยมในคติพุทธศาสนาแบบเถรวาทขึ้นเป็นครั้งแรกในอาณาจักรเขมรครับ 
เครดิต :
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น