วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

พระศรีอาริยเมตไตรย์

ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งหวงยิ่งอด เราไม่หวงเราไม่อด หมดเดี๋ยวก็มา
“พระพุทธเจ้าเมไตรย-ศรีอริยเมตไตรย์” ประติมากรรมสำริดชิ้นเอกอุที่พบในประเทศไทย จากยุคหลังบายน   

ในช่วงยุคหลังบายน (Post-Bayon Period) ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 และในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19ก่อนนครอยุทธยาจะเกิดขึ้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร กลุ่มบ้านเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและสาขาตอนบน รวมถึงลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี  ที่ประกอบด้วย ลโวทยปุระ สุวรรณปุระ- ศรีชยวัชรปุรีและศรีชยเกษมปุรี ราชสำนักขอมเจ้าพระยา (รัฐลูกครึ่งเขมร-รามัญ) ได้หันมานิยมในคติความเชื่อและศิลปะพุทธศาสนาแบบเถรวาท (Theravāda ) นิกาย “กัมโพชสงฆ์ปักขะ” (Kambojsanghapakkha)  โดยมีมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลพบุรี (ละโว้) และ เมืองสุวรรณปุระ (บ้านหนองแจง จังหวัดสุพรรณบุรี) ในภาคกลางของประเทศไทย 
.
ภาพถ่ายและบทความของ Tidnull  โดยการอนุญาตจากพิพิธภัณฑ์เอกชนคิมแบลอาร์ต (Kimbell Art Museum) รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ได้แสดงให้เห็นรูปประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ ที่ใช้เทคนิคการประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน 13 ส่วน ความสูงจากฐานถึงยอดตรีศูลประมาณ 2 เมตร เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องขนาดความสูงประมาณ 1 เมตร แสดงปางมารวิชัย (Bhūmiśparṣa Mudrā - ภูมิสปรรศมุทรา) ประทับนั่งบนปัทมะบัลลังก์หน้าแผงประภาวลี (Altarpiece) แบบโปร่ง รูปซุ้มเรือนแก้ว-รัตนโพธิบัลลังก์ (ปรกโพธิ์อยู่ด้านบนสุด) อธิบายว่าได้มาจากจังหวัดชัยภูมิ (ซึ่งหาพิจารณาตามรูปแบบศิลปะ ก็ไม่น่าจะใช่) ครับ 
.
พุทธศิลป์อันงดงามของรูปประติมากรรมสำริดแสดงถึงการผสมผสานระหว่างงานศิลปะแบบบายน คติวัชรยานตันตระ กับคติความเชื่อแบบเถรวาทรามัญนิกายและศิลปะแบบปาละ-เสนะ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ในเขตภาคกลางของเจ้าพระยา ที่จะพบรูปงานพุทธศิลป์สำริดในรูปแบบเดียวกันเป็นจำนวนมากที่เมืองโบราณหนองแจง จังหวัดสุพรรณบุรี   
.
รูปประติมากรรมสำริดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องในความหมายของ “พระพุทธเจ้าเมไตรย” ในคติมหายาน และ “พระพุทธเจ้าศรีอริยเมตไตรย์” ในคติเถรวาท ซึ่งเป็นคติที่ใกล้เคียงกันของทั้งสองนิกายทางพุทธศาสนา    
พระพักตร์ยังคงเค้าเหลี่ยม พระขนงเชื่อมกันเกือบเป็นเส้นตรงที่นิยมในงานศิลปะบายน มีอุณาโลมที่พระนลาฏ สวมศิราภรณ์อุณหิสทรงเทริด  แต่ประดับลายแตกต่างไปจากแบบบายนเดิม มวยพระเกศาทรงกรวยเป็นบัวกลุ่มซ้อนชั้น สวมกุณฑล (ตุ้มหู)  เปลือยพระอุระ ทรงกรองศอ-พาหุรัด-ข้อพระกร นุ่งผ้าสบง รัดพระองค์ด้วยผ้าแถบมีพู่ระย้าห้อย ชักชายผ้าด้านหน้าออกมาที่ขอบบน ประทับบนฐานปัทมบัลลังก์ ตกแต่งหน้ากระดานด้วยลายประจำยาม บัวคว่ำบัวหงาย ท้องไม้เป็นรูปบุคคลที่อาจหมายถึงกองทัพมารหรือผู้แบกฐานครับ  
.
ซุ้มเรือนแก้วปรกโพธิ์ มีลวดลายที่ละเอียดอลังการตามแบบฉบับศิลปะขอมลุ่มเจ้าพระยา บนซุ้มทำเป็นก้านขดใหญ่ 4 หยัก ตรงกลางยอดเป็นพุ่มดอกไม้กลีบซ้อน ปลายซุ้มทั้งสองข้างทำเป็นรูปสิงห์ทะทานที่มีแผงขนคอเรียงกันแบบศิลปะบายน โค้งแอ่นทองออกมาจากปลอกรัดข้อ รองรับด้วยเสาซุ้มที่มีบัวหัวเสาตามแบบปราสาทเขมร มีพระพุทธรูปปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้วเล็กบนยอดเสา อาจแทนความหมายของพระพุทธเจ้าสามพระองค์ ตามคติการจัดวางรูปเคารพแบบเรียงสามองค์ (Trinity) บนระนาบเดียวกันตามคติ “รูปวิภัติ 3 เพศ (ลิงค์)” จากอิทธิพลของฝ่ายตันตระเดิมจากยุคบายน ข้างเสาทำเป็นเปลวรัศมีรูปกระหนกใบไม้ ด้านละ 10 พวย มีรูปอดีตพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย (ตรัสรู้ – ผจญมารไปแล้ว) แทรกภายในอยู่ 
.
เหนือหน้าซุ้มเรือนแก้วทำเป็นรัศมีรูปกระหนกใบไม้ด้านละ 6 พวยใบ ภายในเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ไปแล้วปางมารวิชัย พุ่มใบตรงกลางเป็นพระสมณโคตมปางมารวิชัยใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ (ที่ได้ชนะมารไปแล้ว) ปรกด้านบนด้วยศิลปะของกิ่งโพธิ์และใบโพธิ์เรียวอันเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของกลุ่มรัฐขอมเจ้าพระยาที่แตกต่างไปจากขนบใบระกาพวยใบไม้ต่อก้านในงานศิลปะบายน ยอดบนสุดเป็นนภาศูลรูปตรีศูลที่นิยมในงานศิลปะบายนครับ
.
------------------------------------
*** งานประติมากรรมสำริดพระพุทธเจ้าไมเตรยะ (ในงานศิลปะหลังบายน-ขอมเจ้าพระยา) ที่กลายมาเป็นพระศรีอาริยเมตไตรย์ (ในคติเถรวาท) อันมีพุทธศิลป์อันงดงามเป็นเอกอุและมีขนาดใหญ่นี้ จึงน่าเป็นงานฝีมือในระดับราชสำนักของกษัตริย?ผู้ปกครอง จากชุมชนในรัฐโบราณของเขตภาคกลางของเจ้าพระยา โดยเฉพาะจากเมืองละโว้ (กัมโพช) ศูนย์กลางที่มีการผสมผสานระหว่างคติเถรวาทและศิลปะวัชรยานบายนเป็นครั้งแรก หรือ เมืองสุวรรณปุระ (บ้านหนองแจง สุพรรณบุรี) ที่มีการขุดพบรูปประติมากรรมสำริดในคติและศิลปะหลังบายนแบบเดียวกันนี้เป็นจำนวนมากครับ 
เครดิต:
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า

1 ความคิดเห็น:

  1. ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
    A giver is always be love. _/|\_

    ตอบลบ